ครม.เห็นชอบไทยเข้าร่วมข้อตกลงสินค้าเกษตรอาเซียน

ครม. กำหนดกรอบการเจรจาความตกลงด้านมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของอาเซียน ลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) อำนวยความสะดวกทางการค้า รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบการเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของอาเซียน ภายใต้รัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ตามที่กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์เสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดท่าทีของประเทศไทยที่จะไปตกลงในเรื่องดังกล่าว เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) อำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสาระสำคัญคือ 1.กำหนดหรือพิจารณามาตรฐานของอาเซียนด้านระบบการผลิตพืช ปศุสัตว์ และประมง ในระดับฟาร์ม และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ในการตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียน 2.กำหนดขอบข่ายและเงื่อนไขในการยอมรับผลการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 3.พัฒนากลไกการประสานงานของอาเซียนและการปฏิบัติตามความตกลงของประเทศสมาชิก โดยกำหนดกลไกในการดำเนินการให้การยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นไปตามเงื่อนไขในการตกลงในการนำเข้าและส่งออกในภูมิภาค 4.ประเด็นอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติความตกลงนี้ เช่น การระงับข้อพิพาท ความโปร่งใส การเพิ่มบทบาทของอาเซียนและของประเทศสมาชิกอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร การมีผลใช้บังคับ และการแก้ไขความตกลง รวมทั้งประเด็นอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อไทย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/886351

สปป.ลาวสนับสนุนแผนอาเซียนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ศ.ดร. Kikeo Khaykhamphithoune รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สนับสนุนการพัฒนาแรงงานของสปป.ลาว ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ครั้งที่ 23 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แผนการพัฒนาดังกล่าวว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการเปลี่ยนแปลงตามโลกในปัจจุบันรวมถึงโอกาสที่มากขึ้นสำหรับประเทศอาเซียนในการแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงแนวทางปฎิบัติในการดำรงชีวิตในแบบวิถีใหม่ (New Normal) รวมถึงการเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาด้านไวรัสวิทยาควบคู่ไปกับการผลิตยาต้านไวรัสและวัคซีนรวมถึงการเข้าถึงวัคซีนและเวชภัณฑ์ที่เท่าเทียมกันและต้องมีราคาย่อมเยาในที่ประชุมยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทำงานร่วมกันในแผนฟื้นฟูหลังเกิดโรคระบาดเพื่อบรรเทาผลกระทบของ Covid-19 ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจของภูมิภาคอีกด้วย

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos120.php

โควิดหนุน ‘ช้อปออนไลน์’ ฮิตทั่วอาเซียน

ผลวิจัยล่าสุดชี้ นักช้อปชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มซื้อของกินของใช้และสินค้าจำเป็นอื่นๆ ทางออนไลน์ต่อไป แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจะยุติลง โดยผลวิจัยจากบริษัทที่ปรึกษา “เบนแอนด์คัมพะนี” และเฟซบุ๊ค เผยว่ากระแสอีคอมเมิร์ซและดิจิทัลมาแรงทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แรงหนุนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่วานนี้ (9 มิ.ย.) มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 7 ล้านคน ซึ่งหุ้นส่วนเบนแอนด์คัมพะนี จากสิงคโปร์ เผยกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีว่า เทรนด์การซื้อสิ่งของจำเป็นผ่านทางออนไลน์จะดำรงอยู่ต่อไป การซื้อขายของกินของใช้ออนไลน์เป็นภาคส่วนใหญ่ที่ยังไม่ถูกเจาะ ด้วยเหตุผลด้านโลจิสติกส์และอื่นๆ แต่ช่วงไวรัสระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคส่วนนี้โตขึ้นเกือบ 3 เท่า ผู้ใช้ 1 ใน 3 ที่ให้ข้อมูลกล่าวว่า พวกเขามีแผนซื้อของชำผ่านอินเทอร์เน็ตต่อไป ทั้งนี้การใช้จ่ายซื้อของกินของใช้โดยรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ราว 3.5 แสนล้านดอลลาร์ โดยยอดซื้อออนไลน์คิดเป็นเพียงสัดส่วนเล็กๆ ของมูลค่าทั้งหมด แต่ก็เติบโตขึ้นมาก

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/884379

เมียนมาพร้อมอำนวยความสะดวกด้านการค้าภายในอาเซียน

อาเซียนรวมถึงรวมถึงเมียนมาจะร่วมกันเพื่อฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยการเสริมสร้างการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงความพยายามจัดการกับอุปสรรคทางการค้าส่งเสริมการค้าและการลงทุนและขยายสาขาของความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของ COVID-19 โดยมีผู้นำอาเซียน ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีตกลงที่ประสานงานเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดไปยังประเทศของตนและภูมิภาค ซึ่งเมียนมาจะร่วมมือกันเพื่อลดขั้นตอนการนำเข้าและส่งออกภายในภูมิภาค การอำนวยความสะดวกในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์สำหรับการป้องกัน COVID-19 และการยกเว้นอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการนำเข้าและข้อกำหนดของ FDA (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเพื่อรักษาการหมุนเวียนของสินค้าและบริการ ยกเว้นจากการใช้มาตรการที่ไม่จำเป็นที่ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร สินค้ายา และเวชภัณฑ์ในภูมิภาค

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-commits-facilitating-trade-within-asean.html

สามประเทศอาเซียนเสนอซื้อข้าวจากเมียนมา

มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เสนอที่จะซื้อข้าวของเมียนมา ในจำนวน 300,000 ตันและ 50,000 ตันตามลำดับ ขณะที่อินโดนีเซียยังไม่ได้ยืนยันปริมาณที่ต้องการ เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังเพิ่มปริมาณสำรองข้าวซึ่งเป็นโอกาสสำหรับเมียนมาในการส่งออกระยะยาว แต่เมียนมาต้องชั่งน้ำหนักอุปสงค์ระหว่างประเทศสำหรับข้าวต่อความต้องการภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระงับการส่งออกในเดือนเมษายน แต่อนุญาตให้ส่งออก 150,000 ตัน จนถึงขณะนี้ได้มีการสร้างปริมาณสำรองส่งออกคิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดและซื้อสำรองภายในประเทศ 50,000 ตัน คาดว่าจะส่งออกข้าว 2.5 ล้านตันในปีงบประมาณ 62-63 และมีรายรับมากกว่า 542 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการส่งออกข้าว 1.8 ล้านตันจนถึง 15 พ. ค. 63 ประมาณ 14 % เป็นการส่งออกผ่านชายแดน

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/three-asean-countries-offer-buy-myanmar-rice.html

ออเดอร์ถุงมือยางพุ่ง ช่วงโควิด-19 ส่งออก4 เดือนแรก โต 16%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว เนื่องจากสินค้าดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ป่วย นอกจากนี้ ถุงมือยางยังเป็นสินค้าจำเป็นในยุคความปกติใหม่ (New Normal)เพราะประชาชนตื่นตัวเรื่องสุขอนามัยและหันมาใช้ถุงมือยางเพื่อป้องกันเชื้อโรคมากขึ้น ทำให้ความต้องการถุงมือยางในตลาดสูงขึ้นหลายเท่าตัว สำหรับตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว เช่น จีน ขยายตัว 129.5% มูลค่าส่งออก 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออสเตรเลีย ขยายตัว 79% มูลค่าส่งออก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาเซียน ขยายตัว 77% มูลค่าส่งออก 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 9% มีมูลค่าส่งออก 194 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปี 2562 ไทยผลิตถุงมือยางได้กว่า 2 หมื่นล้านชิ้น มีสัดส่วนการส่งออกถึง 89% ของการจำหน่ายถุงมือยางทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 1,203 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/624459

‘กรมเจรจาฯ’ เผยไทยครองแชมป์ส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เบอร์ 1 อาเซียน เชื่อ FTA และ ITA ช่วยสร้างแต้มต่อและดึงดูดการลงทุนได้จริง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกมีกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไทยที่มีศักยภาพอยู่แล้ว จะพัฒนาเทคโนโลยีให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและขยายการส่งออกในตลาดโลกได้ โดยในปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อันดับที่ 6 ของโลก ทั้งนี้ จากสถิติการค้าระหว่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าไทยส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ มูลค่าสูงถึง 3,943 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 37 ฮ่องกง, อาเซียน, สหภาพยุโรปและจีน เป็นต้น หากจำแนกรายสินค้า พบว่า ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่ม สำหรับการเปิดเสรีทางการค้าถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของไทยเติบโต นอกจากนี้ “ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ทันต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กและเบา ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งควรวางแนวทางปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว และเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก”

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3125668

ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญาอาเซียนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รับโลกของงานที่เปลี่ยนไป

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน (ASEAN Declaration on Human Resources Development for The Changing World of Work) ซึ่งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกของงาน จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และกระแสการส่งเสริมงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีต่อกำลังแรงงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของอนาคตของงานได้ ประกอบด้วยมาตรการสำคัญในด้านการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน เช่น การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดช่วงวัย การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและโอกาสการจ้างงานสำหรับทุกคน โดยเฉพาะสตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ

ที่มา : https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_304231

กรมเจรจาฯ เผยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทยมาแรงในตลาดอาเซียน ในช่วงวิกฤตโควิด-19 แนะใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายส่งออกเพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้ประชาชนลดการเดินทางและอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารแห้ง และอาหารสำเร็จรูปที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการในช่วงวิกฤตนี้ ซึ่งแนวโน้มความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเร่งผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่ จากสถิติการค้าระหว่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 การส่งออกสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปอาเซียน มูลค่า 31.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 27.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งมีกัมพูชาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน ส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 50 ของการส่งออกไปอาเซียน ตามด้วยเมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม ทั้งนี้ อาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสำคัญที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก ประกอบกับนิยมรสชาติอาหารที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ติดอันดับประเทศที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูง 15 อันดับแรกของโลก ส่งผลให้การส่งออกไปอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ไทยส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปอาเซียนมูลค่า 119.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 31 จากปี 2561 นอกจากนี้ยังพบว่า ประชากรในอาเซียนยังมีความนิยมรสชาติอาหารที่คล้ายกัน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ที่ติดอันดับประเทศที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงสูด 15 อันดับแรกของโลก รวมทั้งยังได้รับแรงหนุนจากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ส่งออกจากไทยด้วย

ที่มา : https://dtn.go.th/th/

ครม.เคาะแผนพัฒนาแปรรูปอาหาร 6.6 พันลบ.หวังติด TOP10 ผู้ส่งออกอาหารโลก

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (62-70) โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณประจำปี 63-66 ในการดำเนินการ 6,671 ล้านบาท และการสนับสนุนจากเอกชน 2,224 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตในอาเซียนในปี 70 และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก ในด้านเศรษฐกิจคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจากกลุ่มอาหารจะเติบโตขึ้นเป็น 1.42 ล้านล้านบาท รายได้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% ต่อปี และจะเกิดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ 0.48 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% ต่อปี สำหรับโครงการนี้ มีวิสัยทัศน์ คือ “ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ส่วนสินค้าเป้าหมาย อาทิ ข้าวและธัญพืช ปศุสัตว์ ประมง ผักและผลไม้ อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องปรุงรส เกษตรอินทรีย์ เครื่องดื่มสุขภาพ เป็นต้น

ที่มา : https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=dFpiMHdKelpvbXM9