วิเคราะห์ก้าวแรกของการพัฒนา CBDC ในภูมิภาค CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

ในปัจจุบัน การคิดค้นเทคโนโลยีกระจายศูนย์ข้อมูล (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งานในด้านการชำระเงิน ได้นำไปสู่การพัฒนาสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่างแพร่หลายในภาคเอกชนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคเอกชน ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้เร่งริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในระบบสถาบันการเงินในประเทศจนเกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

จุดมุ่งหมายของการพัฒนา CBDC โลกที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และคาดว่าจะส่งกระทบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ?

การพัฒนา CBDC โดยธนาคารกลางต่าง ๆ ปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งตามการใช้งานได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

1.ระดับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) : การสร้างเครือข่ายการโอนทรัพย์สินระหว่างสถาบันการเงินทั้งในและระหว่างประเทศ

2.ระดับธุรกรรมรายย่อย (Retail CBDC) : การใช้สกุลเงินดิจิทัลแทนเงินสดในการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนและธุรกิจรายย่อย

ในภาพรวม ทั้ง Wholesale CBDC และ Retail CBDC ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินให้รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์หลักที่ได้จากการนำ DLT (โดยเฉพาะในรูปแบบบล็อกเชน) มาใช้โดยธนาคารกลาง ที่จะทำให้สามารถลดต้นทุนในการประมวลผลธุรกรรมทางการเงินลงได้อย่างมีนัย รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบตัวตนของคู่สัญญาธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CBDC ทั้งสองประเภท หากถูกพัฒนาร่วมกันโดยกลุ่มประเทศในภูมิภาค ยังจะมีแนวโน้มนำไปสู่การเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม และสนับสนุนให้ธุรกรรมระหว่างประเทศ (Cross-border Transactions) เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอีกด้วยเช่นกัน

แต่ทว่าหากมองลึกลงไปกว่าประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น การพัฒนาในระดับ Retail CBDC จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มเติมได้ในอีกหลายด้าน โดยจะเป็นก้าวสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1. การเข้าถึงสถาบันการเงิน (Financial Inclusion) จะเพิ่มมากขึ้น ตามระบบ Retail CBDC ที่จะสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วเพียงผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับบัญชีธนาคาร ซึ่งข้อดีในจุดนี้ โดยเฉพาะสำหรับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะช่วยให้กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้มาก่อนนั้น มีโอกาสหันมาเลือกใช้ Retail CBDC ที่สะดวกกว่าการถือเงินสดเพิ่มมากขึ้น

2. ช่องทางการดำเนินนโยบายทางการคลัง (Fiscal Policy) ของภาครัฐที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังมีการใช้ CBDC แทนเงินสดอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ภาครัฐสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน CBDC โดยประชากรสามารถนำเงินช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัลออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคารหรือเบิกจ่ายกับหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในแต่ละกลุ่มสังคมเศรษฐกิจ (socioeconomic group) ซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน การมี Retail CBDC platform จะช่วยให้ภาครัฐสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายและตั้งเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) โดยการใช้ Retail CBDC แทนเงินสดนั้น จะช่วยให้ธนาคารกลางสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณและการไหลเวียนของเงินในระบบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมี CBDC อีกประเภทที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในการถือครอง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้ส่งผ่านผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยตรง

สถานะการพัฒนา CBDC โลกเป็นอย่างไรและภูมิภาค CLMVT อยู่ตรงจุดไหน?

ผลสำรวจล่าสุดโดย Bank of International Settlement พบว่า 86% ของธนาคารทั่วโลกกำลังดำเนินงานวิจัยเทคโนโลยี CBDC โดย 60% อยู่ในขั้นทดสอบระบบ ขณะที่เพียง 14% ได้เริ่มมีการทดลองใช้จริงในกลุ่มประชากรตัวอย่าง แม้ว่ากลุ่มประเทศที่มีการทดลองใช้ CBDC จริงแล้วประกอบด้วยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และ สหภาพยุโรป แต่เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าภูมิภาค CLMVT อยู่ในจุดที่ล้ำหน้ากว่าหลายชาติอื่นในโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะไทยและกัมพูชา ซึ่งถูกจัดอันดับโดย PwC ว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านการพัฒนา Wholesale CBDC และ Retail CBDC ตามลำดับ

สำหรับไทยนั้น โครงการอินทนนท์ซึ่งเป็น Wholesale CBDC ได้ถูกพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงในปี 2563 ได้พัฒนาไปถึงจุดที่มีการทดสอบการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยเชื่อมต่อกับ Project LionRock ของฮ่องกงได้สำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดในปีนี้ ทาง ธปท. ยังได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยต่อยอดไปสู่การทำ Retail CBDC แล้วเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะมีการทดสอบใช้จริงในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565

แนวโน้มการพัฒนา Retail CBDC สำหรับประเทศ LMVT (สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) จะเป็นอย่างไร? บทเรียนล่าสุดที่ได้จากกัมพูชาคือ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเข้าถึงสถาบันการเงินในระดับต่ำ แต่มีโครงสร้างประชากรที่พร้อมตอบรับเทคโนโลยีใหม่ นับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเงินดิจิทัลให้เข้ามาทดแทนเงินสดและดึงประชากรส่วนมากเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินมากขึ้น สำหรับปัจจัยเหล่านี้ทั้ง สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ล้วนมีประชากรน้อยกว่า 30% ที่เข้าถึงบัญชีธนาคาร ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย (ค่ามัธยฐานต่ำกว่า 30 ปี) แต่มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือในระดับที่สูง (เฉลี่ยมากกว่า 1 เบอร์โทรศัพท์ต่อคน) ด้วยปัจจัยแวดล้อมด้านประชากรที่คล้ายคลึงกับกัมพูชา ทำให้คาดได้ว่าการพัฒนา  Retail CBDC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศเหล่านี้เช่นกัน และมีศักยภาพที่จะตามทันกัมพูชามาได้ในเวลาไม่ช้า

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7775

อาเซียนถกแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ตั้งเป้าชงผู้นำดันอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 40 ผ่านระบบประชุมทางไกล ได้ข้อสรุปดันอาเซียนสู่ความเป็นดิจิทัล ชงแผนผู้นำเห็นชอบ ต.ค.นี้ ไทยย้ำการบังคับใช้ความตกลง RCEP ตามแผนเพื่อเร่งขยายการค้า การลงทุน

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9640000084343

CLMVT+Forum 2021 ฟื้นฟูเศรษฐกิจฝ่าโควิด

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจประเทศกลุ่มกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย หรือ CLMVT ในปี 2563 โดยเฉพาะเวียดนาม ไทย และกัมพูชา มีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ในขณะที่เศรษฐกิจลาวและเมียนมาเผชิญการหดตัวจากปัจจัยด้านลบรายประเทศด้วย ในปีนี้การฟื้นตัวในภาพรวมจะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ทั่วถึง โดยจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศจะต้องอาศัยขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ระหว่างรอการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูมิภาค (herd immunity) นับได้ว่า CLMVT Forum เป็นเวทีหารือสำคัญที่รวบรวมสุดยอดผู้นำทางความคิด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาค CLMVT ซึ่งเป็นทั้งฐานการผลิตที่เข้มแข็งตลาดที่กำลังเติบโต ประชากรรวมกว่า 244 ล้านคน ให้สามารถฝ่าวิกฤตกลับมาเป็นภูมิภาคแห่งการค้าและการลงทุนที่เข้มแข็งกว่าเดิมได้

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-741200

IMT-GT ชูความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ฟื้นวิกฤติหลังโควิด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทย เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ผ่านระบบประชุมทางไกลในที่ประชุมเห็นพ้องแผนงานฟื้นวิกฤติหลังโควิด-19 ชู บีซีจี อุตสาหกรรมฮาลาล “อาคม” ชูแผนงานภูเก็ตแซนบ็อกด์ สมุยพลัสโมเดล ฟื้นท่องเที่ยว ส่วนคนละครึ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของแผนงาน IMT-GT พ.ศ. 2565 – 2569 ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนในเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดมลพิษจากภาคการขนส่ง และการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 5,370 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.79 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของไทยได้ให้ข้อคิดเห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญต่อการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาค อีกทั้งยังสอดรับกับทิศทางของไทยที่กำลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) รวมถึงโครงการเมืองสีเขียว ในเทศบาลนครสงขลาและเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/954439

Sea (Group) เผยผลการสำรวจอินไซต์ผู้ค้าออนไลน์ 5 กลุ่ม ในภูมิภาคอาเซียน สะท้อน ‘ความหลากหลาย’ บนโลกอีคอมเมิร์ซไทย

Sea (Group) บริษัทชั้นนำระดับโลกในด้านการให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มสำหรับผู้บริโภค ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ (Garena) อีคอมเมิร์ซ (Shopee) และบริการด้านการเงินแบบดิจิทัล (SeaMoney) เผยผล “การสำรวจ Online Seller Archetypes” เพื่อจับอินไซต์ว่าบทบาทของอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มมากขึ้น จากกระแสดิสรัปชันและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงผู้ค้าออนไลน์ในภูมิภาคอาเซียนอย่างไร โดยผลสำรวจจากผู้ค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มช้อปปี้ราว 42,000 ราย จากทั้งหมด 6 ประเทศ ประกอบไปด้วย ประเทศไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ชี้ว่า รูปแบบการรับอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มมาใช้งานมีความหลากหลาย และสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ The Homemaker, The Student, The Never-too-late, The Moonlighter และ The Highly-digital ซึ่งใช้งานอีคอมเมิร์ซเพื่อตอบโจทย์ความจำเป็นที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเสริมศักยภาพธุรกิจ สะท้อนให้เห็นถึงแรงกระเพื่อมจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่สนับสนุนให้เกิดความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Resilience & Adaptability) ในผู้ค้าออนไลน์หลากหลายกลุ่มในสังคมวงกว้าง

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3243154

เปิด 9 สถิติสำคัญ ช่วงสถานการณ์โควิด-19 โลก-อาเซียน-ประเทศไทย

สถานการณ์โควิด-19 โลก อาเซียน และประเทศไทย พบว่า การติดเชื้อของอาเซียนคิดเป็น 8.57% ของประชากรโลก และประเทศไทยคิดเป็น 6.8% จากผู้ติดเชื้อในอาเซียนประมาณ 6.8% เมื่อวันที่ 21 ก.ค. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยข้อมูลสถิติสถานการ์โควิด-19 ทั่วโลก พบผู้ป่วยมากถึง 191,334,088 ราย พบใหม่ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 503,831 ราย เสียชีวิตแล้ว 4,103,526 ราย โดยเสียชีวิต ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 7,847 ราย สำหรับอัตราการติดเชื้อกว่า 191 ล้านคน จากทั่วโลก พบว่า อยู่ในภูมิภาคอาเซียนกว่า 3.26% โดยภูมิภาคอาเซียนติดเชื้อแล้วกว่า 6.3 ล้านราย โดยเป็นของประเทศไทยอยู่ที่ 6.8% และพบผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 4 ล้านราย พบว่าอยู่ที่อาเซียน 2.92% หรือ 1.1 แสนคน พบว่าเป็นผู้เสียชีวิตจากไทย 2.9% สถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 พบทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้วกว่า 3,645 ล้านโดส เป็นภูมิภาคอาเซียนถึง 130 ล้านโดส หรือคิดเป็น 3.57% โดยแบ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ ประชากรมากกว่า 50 ล้านคน ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2564  จากผลการสำรวจพบว่าประเทศโดยส่วนใหญ่ในอาเซียนยังคงต้องเผชิญกับวิกฤตของโควิดในขนาดที่การฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุมประชากรมากนัก เป็นความท้าทายที่สำคัญของรัฐบาลแต่ละประเทศในการข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้

ที่มา : https://mgronline.com/qol/detail/9640000071566

ไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนบวกสาม ผลักดันความร่วมมือด้านสาธารณสุข การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนบวกสาม โดยผลักดันความร่วมมือด้านสาธารณสุข การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยง การพัฒนาที่ยั่งยืนและการดำเนินการตามรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ย้ำถึงความสำคัญของอาเซียนบวกสามในฐานะที่เป็นกลไกหลักในการส่งเสริมความร่วมมือเฉพาะด้านในเอเชียตะวันออก และหารือแนวทางเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทายในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้ผลักดันให้ขยายความร่วมมือในด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ เศรษฐกิจดิจิทัล ความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน ข้อตกลงระเบียงการเดินทางของอาเซียน และให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อการฟื้นฟูที่ยั่งยืน

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/mfa/3234144

ยอดขอ Form E ค้าผ่านแดนไทย-จีน ไตรมาส1 พุ่งเกือบร้อยละ 20

พาณิชย์เผยผลไม้ไทยเนื้อหอม ส่งออกตลาดจีนขึ้นดันยอดขอ Form E ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – เมษายน) กรมฯ ออกหนังสือรับรองฯ Form E ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) จำนวน 80,368 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 232,018 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E สำหรับการส่งออกสินค้าผลไม้ จำนวน 30,431 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 46,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 42,887 ล้านบาท โดยผลไม้ที่มีการส่งออกสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ทุเรียนสด ร้อยละ 46.02  2.ลำไย ร้อยละ 27.09 และ 3.มะพร้าว ร้อยละ 16.38 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – เมษายน) สถิติการค้าผ่านแดนไทย-จีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่ารวม 102,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 66,303 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 51,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.53 และมูลค่าการนำเข้า 50,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.68 โดยไทยยังคงได้ดุลทางการค้าต่อเนื่องที่ 1,316 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ของผู้ประกอบการในช่วงฤดูกาลผลไม้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ที่มา : https://tna.mcot.net/latest-news-719664

‘กรมเจรจาฯ’ เตรียมจัดระดมความคิดเห็นออนไลน์ การจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมจัดสัมนาเรื่อง “การจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา” เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้ง แสดงความคิดเห็นก่อนใช้ประกอบในผลการศึกษาข้อดีข้อเสียและใช้เป็นท่าทีประกอบการตัดสินใจในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-แคนาดา ในเดือน ก.ย. นี้ แคนาดาเป็นประเทศที่ยังไม่มี FTA กับไทยมาก่อน จึงมีบางประเด็นที่ไทยต้องใช้ความรอบคอบในการเจรจาร่วมกับอาเซียน เช่น การเปิดตลาดสินค้าสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดง การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการเข้าถึงยาและการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นทั้งโอกาศที่ดีและน่ากังวลของผู้ส่งออกไทยหากมีการจัดทำ FTA

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3230284

ส่งออกกับชาติคู่ค้า FTA คึกคัก 4 เดือนโต 13.18%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าของไทยกับประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วยจำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ในช่วง 4 เดือนของปี 2564 (มกราคม-เมษายน) มีมูลค่า 108,826.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.18% คิดเป็นสัดส่วน 63.84% ของการค้ารวมของไทย โดยเป็นการส่งออกไป 18 ประเทศคู่ FTA มูลค่า 52,627.81 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.45%

ที่มา : https://www.naewna.com/business/577528