พาณิชย์ เดินหน้าทำเอฟทีเอใหม่สร้างโอกาสทางการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ขณะนี้ไทยกำลังเดินหน้าเร่งเจรจาเอฟทีเอทั้งที่ทำใหม่และที่ยังค้างอยู่ ประกอบ  1.เอฟทีเอระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) หรือ การเจรจาจัดทำ CEPA โดยจะมีการนัดประชุมครั้งที่ 1  ระหว่างวันที่ 16 – 18 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน 2.เอฟทีไทยกับสหภาพยุโรปหรืออียู โดยจะมีการประชุมรอบแรกในเดือน ก.ย. 2566 คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี จบได้ในปี 2568 3.เอฟทีเอไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) 4.เอฟทีเอไทย -ศรีลังกา  ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันมีการเจรจาไปแล้ว 4 รอบ  และได้นัดเจรจารอบที่ 5 ในเดือน มิ.ย. นี้ ตั้งเป้าสรุปผลต้นปี 67 และ 5.เอฟทีเออาเซียน – แคนาดา โดยเริ่มเจรจารอบแรกเมื่อปี 2565  ล่าสุดเจรจารอบ 3 เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้เตรียมจัดประชุมอีก 2 รอบ ตั้งเป้าสรุปผลเจรจา ปี 2567

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1069312

‘อาเซียน – แคนาดา’ ถกเข้ม เจรจา FTA รอบ 3 เร่งปิดดีล ปี 67

‘อาเซียน-แคนาดา’ ประชุมเจรจาจัดทำ FTA รอบ 3 ผ่านระบบประชุมทางไกล คืบหน้าด้วยดี ทั้งการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (TNC) และการประชุมกลุ่มย่อย 17 คณะ เริ่มหารือยกร่างข้อบทความตกลงส่วนใหญ่แล้ว พร้อมหารือประเด็นใหม่ๆ อาทิ แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการค้าที่ให้ความสำคัญทุกภาคส่วน ปีนี้เตรียมจัดประชุมอีก 2 รอบ ตั้งเป้าสรุปผลเจรจา ปี 67

ที่มา : http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N256676811

FTA อาเซียน-จีน ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพ ACFTA 10-12 เม.ย.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายนนี้ กรุงเทพฯ โดยจะเป็นการประชุมแบบพบกันครั้งแรก หลังจากประชุมผ่านระบบออนไลน์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเร่งปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ให้ทันสถานการณ์และรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตั้งเป้าหาข้อสรุปและเจรจาให้เสร็จภายในปี 2567 การประชุมครั้งนี้ จะประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าเพื่อกำกับดูแลภาพรวมการเจรจา และการประชุมคณะทำงาน 5 คณะ ได้แก่ การค้าสินค้า การลงทุน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ประสานงานฝ่ายอาเซียนและเป็นตัวแทนของอาเซียน จะทำหน้าที่เป็นประธานร่วมการประชุมกับฝ่ายจีน โดยจะผลักดันให้การเจรจาคืบหน้ามากที่สุด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการหาข้อสรุปให้ได้ภายในปี 2567 ตามที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งการปรับปรุง FTA อาเซียน-จีน จะช่วยขยายการค้าระหว่างสมาชิก และเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/561013

ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไปตลาดคู่ FTA เดือนม.ค.66 เพิ่ม 8.4% ตลาดอาเซียนเบอร์ 1

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดคู่ FTA เดือนม.ค.66 มีมูลค่ากว่า 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.4% ตลาดอาเซียนเบอร์ 1 เพิ่ม 8.6% มีสัดส่วน 86.5% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว เติบโตได้ดี ส่วนสินค้ามาแรงนม UHT นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม ระบุปัจจุบัน 14 ประเทศคู่ FTA ยกเลิกเก็บภาษีนมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยแล้ว เหลือแค่ 4 ประเทศที่ยังเก็บอยู่

ที่มา : https://www.agrinewsthai.com/domestic-animal/61399

“พาณิชย์” เผยสถิติใช้สิทธิ FTA ส่งออกเดือน ม.ค. อาเซียนแชมป์ RCEP พุ่ง 1,039%

กรมการค้าต่างประเทศเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA จำนวน 12 ฉบับ เดือน ม.ค. 66 มีมูลค่า 5,399.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 16.13% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 71.79% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิสูงสุด ตามด้วยอาเซียน-จีน ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-ญี่ปุ่น และอาเซียน-อินเดีย ส่วน RCEP ใช้สิทธิเพิ่ม 1,039%

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9660000030822

FTA ไทย-ยูเออี ประตูการค้าสู่ตะวันออกกลางของไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเตรียมจัดการประชุมระดมความเห็น เปิดประตูการค้าการลงทุนผ่าน FTA ไทย-ยูเออี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับจัดทำ CEPA ไทย-ยูเออี จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสัมคม พร้อมทั้งนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ GCC และ CEPA ไทย-ยูเออี และรับฟังมุมมองและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการค้าในตะวันออกกลาง ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และยังสามารถเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ซึ่งมีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ยูเออี ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ และคูเวต ซึ่งปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลางโดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีมูลค่า 20,824.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+73.90%) เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีสัดส่วนการค้า คิดเป็น 3.53% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/557089

ไทยเร่งยกระดับความร่วมมืออาเซียน เพิ่ม FTA หนุนเศรษฐกิจฟื้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ที่ผ่านมาณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ที่ผ่านมาได้พิจารณาประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งการเร่งติดตามความคืบหน้าในการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (FTA)

ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบประเด็นเรื่องการประชุมดังกล่าว ซึ่งในปีนี้เน้นย้ำถึงประเด็น บทบาทอาเซียนที่มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเจริญเติบโต (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth) พร้อมตั้งเป้าให้เศรษฐกิจอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และยั่งยืน

นอกจากนี้ในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน ยังได้เร่งผลักดันประเด็น การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของ MSMEs การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน การลดกำแพงภาษี ระหว่างภูมิภาค รวมถึงขยายความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค

ที่มา: https://www.thansettakij.com/business/economy/556633

จุรินทร์สวนฝ่ายค้าน! ราคาพืชเกษตรดีทุกตัว เงินเฟ้อลดลง ส่งออกยังบวก ลั่น FTA ไทย กำลังไล่แซงเวียดนาม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงฝ่านค้านในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ว่า ประเด็นที่พาดพิงประเด็นแรกที่พูดถึงเงินเฟ้อ และของแพงทั้งแผ่นดิน เป็นประเด็นเดิมที่อภิปรายแล้ว ไทยเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นเป็นลำดับ เงินเฟ้อลดลง ม.ค. เหลือ 5% อัตราเฉลี่ยของโลก IMF คาดว่าปี 66 เงินเฟ้อโลก 6.5% แต่ไทยจะเฟ้อแค่ 2.8% ดีกว่าหลายประเทศ โดยสินค้าราคาปรับตัวลดลงอย่างมากกว่า 58 รายการ จำเป็นที่ติดตามทุกวันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับการส่งออกไทยตัวเลขส่งออกทั้งปีบวกถึง 5.5% ทำเงินให้ประเทศถึง 9.94 ล้านล้านบาท แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งรัฐฯ ร่วมมือทำงานกับเอกชนที่จะเดินหน้า ให้การส่งออกโต 1-2% แม้ตลาดสำคัญถดถอย แต่บางตลาดมีศักยภาพ เช่น 1.ตะวันออกกลาง 2.เอเชียใต้ 3.CLMV สุดท้ายเรื่อง FTA ขณะนี้ตามหลังเวียดนามจริง แต่รัฐฯ กำลังไล่กวดให้ทันเวียดนามและอนาคตมีโอกาสแซงหน้าเวียดนาม โดยปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ 18 ประเทศ เวียดนามมี 16 ฉบับ 54 ประเทศ

ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3826174

เร่งเอฟทีเอ “อาเซียน-จีน” เสร็จปีหน้า

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้เป็นประธานฝ่ายอาเซียน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 เพื่อหารือการเริ่มเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีน ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมธุรกิจในปัจจุบัน และสามารถรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลก

 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ อาเซียนและจีนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแผนงานการเจรจา ระเบียบวิธีการประชุม โครงสร้างข้อบทที่จะอยู่ในความตกลง และตั้งเป้าหมายเจรจาให้เสร็จสิ้นภายในปี 67 ซึ่งจะช่วยขยายมูลค่าการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายให้เติบโต ผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงให้มากขึ้น รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น สำหรับความตกลง ACFTA ฉบับเดิม เริ่มมีผลใช้บังคับด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ตั้งแต่ปี 2548 2550 และ 2553 ตามลำดับ อาเซียนและจีนจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงเพื่อยกระดับความตกลงดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน โดยช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 65 การค้าระหว่างกัน มีมูลค่า 530,327 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 9.68% เทียบช่วงเดียวกันของปี 64 โดยอาเซียนส่งออก 210,928 ล้านเหรียญฯ และอาเซียนนำเข้า 319,399 ล้านเหรียญฯ.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2628191

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นแตะเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปีที่ผ่านมา

ปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวมกว่า 1,939 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 515 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับญี่ปุ่นที่มูลค่า 1,424 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษและเครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง

ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่ม เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน และพลาสติกจากญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันกัมพูชาเตรียมความพร้อมที่จะกำหนดแผนการจัดตั้งคณะทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจา FTA ทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่นและกัมพูชา เพื่อเป็นการกระตุ้นภาคการส่งออกให้กับประเทศในระยะต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501233908/cambodias-export-to-japan-reached-almost-2b-last-year/