จีนเริ่มสั่งซื้อพริกจากเมียนมา ในราคา 8,000 จัตต่อ viss

สมาคมพัฒนาตลาดและพัฒนาเทคโนโลยีพริกของเมียนมา เผย จากความต้องการพริกแห้งของจีนอย่างต่อเนื่อง ได้สั่งซื้อพริกแห้งจากเมียนมาในราคา 8,000 จัตต่อ viss (1 viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ซึ่งปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวพริกขี้หนูสดในเขตมาเกว อิยาวดี และมัณฑะเลย์ และราคาเริ่มลดฮวบลงเหลืออยู่ที่ 2,000 จัตต่อ viss ขณะที่ปีที่แล้ว ราคาพริกขี้หนูสดอยู่ที่ 4,000 จัตต่อ viss ปีนี้ผลผลิตลดลงเนื่องจากผลกระทบจากสภาพอากาศ นอกจากนี้ จำนวนพื้นที่ในการเพาะปลูกยังลดลงอีกด้วย โดยปกติพริกขี้หนูสดพริกของเมียนมาถูกส่งไปออกยังไทยและจีนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การปิดด่าน Muse ด่านสำคัญระหว่างเมียนมาและจีนตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.64 เป็นต้นมา ส่งผลให้การส่งออกต้องหยุดชะงักลง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/dried-chilli-pepper-valued-at-k8000-per-viss-on-china-demand/#article-title

คาด FTA ผลักมูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้น

คาดการณ์ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หลังทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ในปีนี้ โดยตัวเลขจากสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 341 ล้านดอลลาร์ ไปยังเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในทางกลับกันกัมพูชาได้ทำการนำเข้าสินค้ามูลค่า 623 ล้านดอลลาร์ จากเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการค้าทวิภาคีอยู่ที่ 965 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 โดยกัมพูชาส่งออกรองเท้าและเครื่องแต่งกาย รวมถึงสินค้าเพื่อการเดินทาง เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยาง ยา และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นสำคัญ ส่วนสินค้าที่กัมพูชาได้ทำการนำเข้าจากเกาหลีใต้ได้แก่ยานพาหนะ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัว เครื่องดื่ม ยา และผลิตภัณฑ์พลาสติกสำเร็จรูปจากเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501009466/fta-provides-impetus-for-trade-between-cambodia-and-korea/

FTA ดันไทยส่งออกโปรตีนจากพืชพุ่ง 64% แนะผู้ประกอบการเกาะเทรนด์รักสุขภาพขยายตลาด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าอาหารกลุ่มโปรตีนจากพืช (plant-based products) โดยผ่านกรรมวิธีแปรรูปให้มีลักษณะแบบเดียวกับเนื้อสัตว์ ถือเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากกระแสการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ตลาดสินค้าโปรตีนจากพืชจะขยายตัวสูงกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป สำหรับไทยส่งออกสินค้าอาหารกลุ่มโปรตีนจากพืชอันดับที่ 25 ของโลก และอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2564 ไทยส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืช มูลค่า 2.57 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกไปหลายประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เช่น อาเซียน ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (+43%) อาทิ เมียนมา (+82%) สิงคโปร์ (+195%) และสปป.ลาว (+969%) จีน (+27%) และออสเตรเลีย (+502%) นอกจากนี้ ไทยยังส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืชไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 1.65 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 64% ของการส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืชทั้งหมด ย้ำคู่ค้าส่วนใหญ่ยกเว้นภาษีนำเข้าให้ไทยแล้ว มั่นใจ FTA และ RCEP ช่วยเพิ่มโอกาสส่งออก แนะผู้ประกอบการเกาะติดพฤติกรรมผู้บริโภคและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาด

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3290309

นายกฯชื่นชมทุกหน่วยงานผลักดัน FTA ส่งผลให้มูลค่าส่งออกกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA เดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.67 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกถึง 63,104 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ สูงถึงร้อยละ 78.51 นายกรัฐมนตรีชื่นชมการทำงาน และขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมกันส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และเชื่อมั่นว่าจะส่งผลสำคัญต่อความสำเร็จในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ตลาดที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูงสุด อันดับ 1 อาเซียน (มูลค่า 21,539 ล้านเหรียญสหรัฐ)  นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) และนอร์เวย์ ช่วง 10 เดือนแรก มูลค่ารวม 3,151 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยสามารถส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.11 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ  2,808 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และตลาดมีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ที่ร้อยละ 67.47

ที่มา : https://www.js100.com/en/site/news/view/113721

เวียดนามส่งออก ‘ยาง’ อันดับ 3 ของโลก

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) ระบุว่าในปี 64 เวียดนามส่งออกยาง 3.24 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และส่งออกไปยังตลาดกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ สมาคมยางเวียดนาม (VRA) รายงานว่าภาคอุตสาหกรรมนี้ มีส่วนสำคัญในการผลักดันการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ โดยสินค้าสำคัญ เช่น ธุงมือและปะเก็นยาง ถือเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ คาดการ์ว่าอุปสงค์ทั่วโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการคลายล็อกข้อจำกัดการเดินทางและการกลับมาเปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับมาฟื้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-ranks-third-worldwide-in-terms-of-rubber-export-value-post917823.vov

กัมพูชาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2021

ปริมาณการส่งออกของกัมพูชา (ยกเว้นทองคำ) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 22.6 คิดเป็นมูลค่ารวม 15.61 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2021 ตามการรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่มกราคมจนถึงพฤศจิกายน 2021 ส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสิ่งทอ จักรยาน และสินค้าอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้าส่งออกหลักอื่นๆ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ หนังขนสัตว์ ยาง สายไฟและส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผักและผลไม้ เป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันกัมพูชานำเข้าสินค้ารวมมูลค่า 20.4 พันล้านดอลลาร์ (ยกเว้นทองคำ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกัมพูชานำเข้าวัสดุก่อสร้าง ปิโตรเลียม และอื่นๆ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501005771/cambodias-exports-up-22-percent-in-first-eleven-months-of-2021/

ไทยใช้ FTA ปี 2564 10 เดือน ส่งออกโต 31% ทะลุ 6 หมื่นล้าน

กรมการค้าต่างประเทศ เผย ตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA เดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 มูลค่า 63,104.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.67% โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ เพื่อส่งออกไปอาเซียนยังคงครองอันดับ 1 มีสัดส่วนการใช้สิทธิ สูงถึง 78.51% ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นทุกตลาดและตลาดที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 อาเซียน (มูลค่า 21,539.08 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยตลาดส่งออกสำคัญของอาเซียนคือ เวียดนาม (มูลค่า 6,290.69 ล้านเหรียญสหรัฐ) อินโดนีเซีย (มูลค่า 4,805.12 ล้านเหรียญสหรัฐ) มาเลเซีย (มูลค่า 4,023.43 ล้านเหรียญสหรัฐ) และฟิลิปปินส์ (มูลค่า 3,806.20 ล้านเหรียญสหรัฐ) อันดับ 2 จีน (มูลค่า 21,372.57 ล้านเหรียญสหรัฐ) อันดับ 3 ออสเตรเลีย (มูลค่า 6,891.79 ล้านเหรียญสหรัฐ) อันดับ 4 ญี่ปุ่น (มูลค่า 5,784.20 ล้านเหรียญสหรัฐ) และอันดับ 5 อินเดีย (มูลค่า 3,990.80 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับความตกลงการค้าเสรีที่มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA สูงสุด ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ FTA กับมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีภายใต้กรอบ FTA 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ไทย-เปรู (100%) อันดับ 2 อาเซียน-จีน (96.06%) อันดับ 3 ไทย-ชิลี (94.54%) อันดับ 4 ไทย-ญี่ปุ่น (78.59%) และอันดับ 5 อาเซียน-เกาหลี (70.32%)

ที่มา : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-839857

พาณิชย์พร้อมใช้เทคโนโลยีรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP หนุนส่งออก

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs และระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification) เพื่อใช้ประโยชน์ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้พร้อมเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้นเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยและช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ในอีกทางหนึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากตลาด RCEP มีขนาดใหญ่และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังได้ประโยชน์ในด้านการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าไทยโดยใช้กฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าและส่งออกไปยังประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ณ ประเทศปลายทาง โดยผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความหลากหลายและสามารถนำมาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้จากทุกประเทศที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม RCEP ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตและสร้างแต้มต่อให้แก่ในตลาดต่างประเทศ

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/59593/

กัมพูชาเร่งส่งออกข้าวสารไปยังจีน ภายใต้กรอบโควต้าใหม่

กัมพูชาวางแผนส่งออกข้าวสารภายใต้โควต้านำเข้าของจีนรวม 400,000 ตัน ตามรายงานของสหพันธ์ข้าวกัมพูชา โดย Hun Lak ประธานคณะกรรมการสหพันธ์ข้าวกัมพูชา กล่าวว่า ข้อตกลงการส่งออกข้าวสารที่ได้ลงนามในเดือนพฤศจิกายน 2021 จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 17 เดือน ตามที่ประธานกล่าว ซึ่งโควตาของจีนสำหรับการส่งออกข้าวสารจากกัมพูชาในปี 2014 ถึง 2021 ถือเป็นส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้กับประเทศกัมพูชาอย่างมีนัยสำคัญ โดยจนถึงตอนนี้กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยัง 41 ประเทศทั่วโลก และจีนยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 50 ของการส่งออกข้าวสารทั้งหมด ซึ่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2021 กัมพูชาส่งออกข้าวสารจำนวน 532,179 ตัน สร้างรายได้ 366 ล้านดอลลาร์
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50993301/cambodia-to-export-milled-rice-under-new-quota-to-china/

กระทรวงเกษตรกัมพูชา คาดส่งออกประมงเติบโตปีหน้า

กระทรวงเกษตรคาดว่าการส่งออกสินค้าประมงของกัมพูชาจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกปลาไปยังประเทศจีนที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้านรองอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กล่าวเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ว่าปัจจุบันการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงสดและแปรรูปไปยังตลาดต่างประเทศมีปริมาณรวมกว่า 3,320 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 4.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมองว่าการส่งออกประมงยังไม่แพร่หลายมากนัก รวมถึงตลาดส่งออกยังมีเพียงแค่ประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และสิงคโปร์เท่านั้น โดยรัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ของกรมประมง ซึ่งหวังว่าปีหน้าจะเพิ่มการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำภายในประเทศให้สอดรับกับความต้องการ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50989604/ministry-of-agriculture-expects-fishery-exports-to-increase-significantly-next-year/