ค้าข้ามแดน “ไทย-กัมพูชา” โตร้อยละ 16.63 สู่มูลค่า 1.449 แสนล้านบาท

การค้าข้ามพรมแดนในปี 2021 ระหว่างไทยและกัมพูชาขยายตัวร้อยละ 16.63 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.449 แสนล้านบาท รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการค้าข้ามพรมแดนของไทยเติบโตถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในปี 2022 ไทยตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ร้อยละ 5-7 ด้านการค้ารวมในปี 2021 ของไทยแตะ 1.71 ล้านล้านบาทในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.03 คิดเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.03 ล้านล้านบาท และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 คิดเป็นมูลค่า 684 พันล้านบาท

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501020980/cross-border-trade-with-cambodia-jumps-16-63-percent-to-144-9-billion-baht-in-2021/

ผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย ครั้งที่ 1

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ครั้งที่ 1 หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย จากกลุ่มตัวอย่างภาคธุรกิจทั่วประเทศ จำนวน 1,252 ราย ผลการศึกษา พบว่า

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลยกเลิกการลดหย่อน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อัตรา 90% ในปี 2565 ( ร้อยละ 84.1)  หากมีการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างิ ในอัตราปกติ (100%) จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 88.1) เมื่อรัฐบาลมีการยกเลิกการลดหย่อนภาษีฯ จะส่งผลกระทบโดยรวมต่อธุรกิจโดยรวมต่ำกว่า 5 แสนบาท (ร้อยละ 69.5) จากสถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างคิดว่าไม่เหมาะสมที่ภาครัฐจะดำเนินการจัดเก็บภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) (ร้อยละ 92.2) เหตุเพราะว่าสภาวะเศรษฐกิจยังไม่กลับสู่ภาวะปกติและมีความเปราะบาง(ร้อยละ 44.2) ส่วนเวลาที่เหมาะสมแก่การที่ภาครัฐจะกลับมาเก็บภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) พบว่าไม่สามารถคาดการณ์ได้ (ร้อยละ 62.8) ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน มาตรการหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต้องการได้รับมากที่สุดคือ ขยายกรอบระยะเวลาการลดหย่อนภาษีฯ  (ร้อยละ 30.2) หากภาครัฐขยายกรอบระยะเวลาในการยกเว้นการจัดเก็บภาษีฯ ออกไปในปี 2565-66 กลุ่มตัวอย่างจะนำเงินในส่วนที่จะต้องชำระภาษี ไปใช้รักษาสภาพคล่องของธุรกิจ (ร้อยละ 27.5) สิ่งที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขในกระบวน การจัดเก็บภาษีฯ  คือ หลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน (ร้อยละ 23.0) หากจำเป็นต้องปรับอัตราภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ารัฐบาลควรลดอัตราภาษีลง เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ (ร้อยละ 32.0) และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีฯ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ คือ ลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระแก่ธุรกิจ (ร้อยละ 40.4)

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย                                 เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3MfXiTD

 

 

KKP คาดเงินเฟ้อขึ้นเป็น 2.3% กระทบผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจเล็ก

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร รายงาน “จับตาเงินเฟ้อโลกและไทย ความเสี่ยงใหญ่เศรษฐกิจปี 2022” เผยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยปรับประมาณการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2022 จากระดับ 2% เป็น 2.3% ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นแตะระดับ 3% ได้ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 1 จะปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 3.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 11 ปี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ 3 ประการ คือ ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น มาตรการรัฐในการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟปี 2021 ทั้งนี้ KKP Research ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากที่สุด และยังเชื่อว่าเงินเฟ้อในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

ที่มา : https://www.mitihoon.com/2022/02/08/286044/  

โรงแรม 53% อาจไปต่อได้แค่ 3 เดือน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน ม.ค. ที่ทำการสำรวจวันที่ 10-26 ม.ค. จากผู้ตอบแบบสำรวจ 200 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงแรมสถานที่กักตัวทางเลือก (AQ) 18 แห่ง และฮอสพิเทล 7 แห่ง พบว่า โรงแรม 42% ยังมีความกังวลต่อโควิด-19 อย่างมาก โดยโรงแรม 175 แห่ง (ไม่รวมโรงแรมที่เป็น AQ และ Hospitel) เปิดกิจการปกติ 73% ใกล้เคียงกับเดือน ธ.ค.2564 ที่ 74% โรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีสัดส่วน 3% ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ปิดมามากกว่า 6 เดือน และคาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในครึ่งหลังของปีนี้

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/market/2309647

ผู้ผลิตหมดแรงตรึงราคาสินค้า

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารสมาชิก ส.อ.ท. (CEO Survey) รวม 150 คน จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด เดือน ก.พ.65 ในหัวข้อ “สินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร” ว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่าปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตที่เพิ่มขึ้น และราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ ราคาสินค้าสูงขึ้น คาดว่าราคาสินค้าแพงจะยาวนานไปอย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจถึงสิ้นปีนี้ และน่าจะทำให้เงินเฟ้อของไทยปีนี้สูงถึง 2-4% หากราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะสามารถตรึงราคาสินค้าได้อีก 1-2 เดือนเท่านั้น

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2309667

กสิกรฯฟันธงบอร์ดกนง. คงดอกเบี้ย ไว้ที่เดิม 0.50%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 ก.พ. 2565นี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโอมิครอนในระดับหนึ่ง แต่คาดว่าผลกระทบจะมีจำกัดและน้อยกว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ก่อนหน้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่ตึงตัวเป็นหลัก ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างตรงจุดเท่าใดนัก คาดว่าจะยังไม่พิเลือกใช้นโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกันเงินเฟ้อตามทิศทางธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก

ที่มา: https://www.naewna.com/business/633909

“พิพัฒน์” จ่อเจรจาทราเวลบับเบิลจีน สทท.หนุนเพิ่มดีมานด์ตลาดอาเซียน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามกำหนดการเดินทางไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่ 24 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่าง 3-6 ก.พ.นี้ จะขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ประเทศจีน ถึงความเป็นไปได้ในการทำทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีนโดยไม่ต้องกักตัว และปลายเดือน ก.พ. จะหารือกับทางการมาเลเซียเรื่องทำทราเวลบับเบิล เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีกำหนดเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากสถิติการลงทะเบียนสมัครไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) เมื่อ 1 ก.พ. ตั้งแต่เวลา 9.00-24.00 น. ซึ่งกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนประเภท Test & Go รอบใหม่เป็นวันแรก พบว่ามีผู้ลงทะเบียนในระบบไทยแลนด์พาสรวม 35,046 ราย แบ่งเป็นประเภท Test & Go จำนวน 31,343 ราย แซนด์บ็อกซ์ 3,290 ราย และ AQ หรือการกักตัว 413 ราย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/986185

แรงงานสปป.ลาวมีฝีมือเริ่มกลับมาทำงานที่ไทย

สถิติจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมระบุว่า แรงงานกว่า 246,000 คน ได้เดินทางกลับจากไทยไปยังลาวตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่ เมื่อมีการเลิกจ้างจำนวนมาก โดยมีคนประมาณ 150,000 คน ที่เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว นายพงษ์สายศักดิ์ อินทรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า กว่าร้อยละ 50 ของแรงงานที่กลับมาทำงานในสปป.ลาวได้กลับมาทำงานที่ประเทศไทยแล้ว เขายังกล่าวเสริมว่านายจ้างในประเทศไทยมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้นและเสนอค่าจ้างที่เหมาะสม ในขณะที่บริษัทในลาวยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่รัฐบาลกำลังจัดตั้งศูนย์จัดหางานในทุกจังหวัดของสปป.ลาวเพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่กลับมาโดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานใหม่แก่พวกเขา ศูนย์แห่งใหม่นี้จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ตลาดแรงงาน ทำหน้าที่เป็นฐานสำหรับการติดตามและรายงานเกี่ยวกับนโยบายการจ้างงานและแรงงาน และส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการทำงาน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Skilledlao_22_22.php

ไทย เลิกเก็บภาษี ส่งออกข้าวโพดของเมียนมา

ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 65 ถึง 31 สิงหาคมการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเมียนมา ไปยังไทยผ่านชายแดนเมียวดีจะปลอดภาษี มีการส่งออกไปแล้วมากกว่า 2,000 ตัน แต่ยังน้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจากข้อมูลพบว่าตอนนี้มีโกดังข้าวโพดหลายแห่งในเมียวดีสามารถรองรับบรรทุกได้ถึง 500 คันต่อวัน แม้ว่าข้าวโพดจะได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังจีนได้แล้ว แต่ส่งออกไปยังไทยมากกว่าเนื่องจากจีนมีการเก็บภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรชาวจีน ทั้งนี้การค้าระหว่างสองประเทศต้องหยุดชะงักเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และรถบรรทุกของไทยได้รับอนุญาตให้บรรทุกสินค้าไปยังเขตการค้าและโกดังสินค้าทางฝั่งเมียนมาได้ แต่รถบรรทุกของเมียนมายังไม่ได้รับอนุญาตวิ่งผ่านด่านแม่สอด

ที่มา : https://news-eleven.com/article/224982

รัฐบาล มั่นใจเศรษฐกิจโตตามเป้า ท่องเที่ยว-ส่งออก-การลงทุนต่างชาติ ขยายตัวชัดเจน

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2565 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5) ตามการคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ประเทศและรายได้ครัวเรือน ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้งบประมาณแผ่นดิน 3.1 ล้านล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.07 แสนล้านบาท และพ.ร.ก.เงินกู้ ควบคู่ไปกับการเติบโตของภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างชาติ ที่มีตัวเลขยืนยันเป็นที่ประจักษ์

ที่มา:https://www.matichon.co.th/economy/news_316061