พาณิชย์รุกส่งออกผลไม้ไทย จับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์เจาะตลาดฮ่องกง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง รายงานผลการเจรจา จับคู่เร่งรัดการส่งออกผลไม้รองรับผลผลิตผลไม้ไทยปี 2565 เป็นผลสำเร็จ สร้างมูลค่าทางการค้าทันทีประมาณ 2.6 ล้านบาท และมูลค่าคาดการณ์สั่งซื้อภายใน 1 ปี ประมาณ 183.4 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผลไม้ไทยในฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภค กิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้าและทำการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวฮ่องกง เพื่อกระตุ้นการบริโภคให้มากขึ้น
ที่มา : https://www.naewna.com/business/626197

เปิดประเทศ-ผ่อนคลายมาตรการ ผลักดันอสังหาฯปี 65 ขยายตัว15-20%

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์  (LPN) กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 ว่า มีแนวโน้มเติบโต 15-20% ตามการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโต 3.5-4% ผลจากมาตรการเปิดประเทศ รวมถึงการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) โดยกำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน เป็น100% สำหรับที่อยู่อาศัยทุกประเภท ซึ่งมีผลจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565 โดยปัจจัยเสี่ยงในปี 2565 คือ ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และแนวโน้มการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธ์ “โอมิครอน”
ที่มา: https://www.naewna.com/business/625012

ผัก-ผลไม้ไทยครองจีน พาณิชย์ชี้ FTA สร้างความได้เปรียบ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยสถิติการค้าสินค้าผักและผลไม้ไทยของไทยในจีน พบว่าช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) จีนนำเข้าผักและผลไม้จากไทยสูงเป็นอันดับ 1 โดยไทยครองส่วนแบ่งสูงถึง 45% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน ส่วนชิลีเป็นอันดับ 2 มีส่วนแบ่ง 14.01% และเวียดนามอันดับ 3 มีส่วนแบ่ง 6.45%  ฯลฯ โดยตัวเลขล่าสุด 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) มีการส่งออกมูลค่า 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 81% และนำเข้ามูลค่า 832.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.2% เกินดุลการค้า 5,180.99 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 105% โดยเครื่องมือที่สร้างความได้เปรียบคือ ความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA) เพราะจีนได้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าผักและผลไม้จากไทยทุกรายการตั้งแต่ปี 2546 ส่งผลให้การส่งออกเติบโตอย่างมาก
ที่มา: https://www.naewna.com/business/624782

การค้าระหว่าง ไทย-กัมพูชา มีโอกาสแตะ 7 พันล้านดอลลาร์ ในปีหน้า

รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงต่างประเทศของไทย กล่าวว่า ปัจจุบันอาจจะใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการค้าทวิภาคีที่ได้กำหนดไว้ที่มูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอยู่ในช่วงการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ โดยทางการไทยได้คาดการณ์มูลค่าทางการค้าในปีหน้าว่าจะมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายครึ่งหนึ่ง หรืออยู่ที่ประมาณ 6-7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะยังคงเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยขยายกรอบเวลาเป็นปี 2025 ซึ่งสินค้าหลักที่กัมพูชานำเข้าจากไทยยังคงเป็นน้ำมัน เครื่องดื่ม ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ในทางกลับกัน สินค้าเกษตรยังคงเป็นสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชา ด้านสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เปิดเผยว่าการค้าระหว่างไทยและกัมพูชาเพิ่มขึ้น ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50991395/bilateral-trade-likely-to-be-6-7b-next-year-thai-foreign-minister-says/

Fitch ประกาศคงอันดับเครดิตไทยที่‘BBB+’

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) รายละเอียดดังนี้ 1.ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) มีความเข้มแข็งจากการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 คาดว่า จะขยายตัว 4.5%  2) ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงแข็งแกร่งโดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงเพียงพอใช้จ่ายถึง 9.3 เดือน โดย คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลที่ 0.8% ต่อ GDPและ 3.5% ต่อ GDP ในปี 65 และปี 66 หลังจากขาดดุลที่ 2% ในปี 64
ที่มา: https://www.naewna.com/business/623480

วิเคราะห์โอกาสของการเติบโตการส่งออก ระหว่างไทยกับเวียดนามในอนาคต

โดย อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามสามารถสร้าง Growth Story ของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะลำดับการส่งออกในตลาดโลก  ในปัจจุบัน เวียดนามสามารถแซงหน้าทั้งมาเลเซียและไทยไปแล้ว  ในปี 2020 เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 19 ของโลก ขณะที่ไทยและมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 22 และ 23 ของโลก  หลายฝ่ายจึงกังวลว่า ไทยจะสามารถแข่งขันในการส่งออกกับเวียดนามในอนาคตได้อีกหรือไม่  เพื่อตอบคำถามดังกล่าว บทความนี้จะลองวิเคราะห์ 3 ประเด็นสำคัญคือ ส่วนแรก Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่ ส่วนที่สอง โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร และส่วนสุดท้าย พัฒนาการของการส่งออกของไทยและเวียดนาม รวมถึงโอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่

หากมองเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม ความสำเร็จของการส่งออกของประเทศทั้งสองแทบไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นปัจจัยให้เกิด Growth Story อย่างก้าวกระโดดในไทยและเวียดนาม  โดย Growth Story ของไทยเกิดขึ้นก่อนในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ขณะที่ Growth Story ของเวียดนามเกิดขึ้นในทศวรรษ 2010 อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน และการย้ายฐานการลงทุนระหว่างประเทศที่ผลักดันการส่งออกของเวียดนามให้เพิ่มขึ้น จนทำให้เวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นของเอเชีย (Rise of Asia) อย่างชัดเจน

ในสามปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 252 พันล้านเหรียญในปี 2018 เหลือ 231 พันล้านเหรียญในปี 2020 (ลดลงร้อยละ 8.3) ขณะที่เวียดนามสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 244 พันล้านเหรียญในปี 2018 เป็น 281 พันล้านเหรียญในปี 2020 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1)  ด้วยข้อมูลการส่งออกข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนกังวลว่าไทยกำลังเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศไป  อย่างไรก็ดี ความกังวลดังกล่าวยังไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจน เพราะช่วงที่ผ่านมา สิงคโปร์และมาเลเซียก็ประสบปัญหาการส่งออกถดถอยเช่นเดียวกัน และลำดับการส่งออกของไทยในตลาดโลกก็ไม่ได้ลดลงมากนัก (ตารางที่ 1)

โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร

โครงสร้างรายการสินค้าส่งออกสำคัญระหว่างไทยกับเวียดนามมีความน่าสนใจหลายประการ  อย่างแรก ไทยและเวียดนามต่างส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกัน แต่รายการสินค้าส่งออกสำคัญของไทยจะประกอบไปด้วย HDD แผงวงจรรวม และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามจะส่งออกรายการสินค้าโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบของมือถือ แผงวงจรรวม และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค  ประการถัดมา ไทยและเวียดนามต่างก้าวไปเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ในรายการสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกในสินค้า HDD และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามเป็นผู้ส่งออกโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลก เป็นต้น  นอกจากนี้ ไทยและเวียดนามยังมีสินค้าเกษตรกรรมในสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกเหมือนกัน นั่นคือ ข้าว (ไทย) และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (เวียดนาม) (ตารางที่ 2)

ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งคือ โครงสร้างการส่งออกของไทยจะกระจายตัวสูงกว่าเวียดนาม โดยรายการสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกของไทยและเวียดนาม จะมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกเป็นร้อยละ 21.6 และ 34.2  ตามลำดับ  หากสังเกตให้ดีแล้ว เวียดนามพึ่งพาการส่งออกโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบอย่างมาก(ร้อยละ 19.7)  อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไทยและเวียดนามต่างมีระดับการกระจุกตัวของการส่งออกค่อนข้างสูง  จากรายการสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ (HS) จำนวนสิ้น 5,388 รายการ มูลค่าสินค้าส่งออกใน 100 ลำดับแรกของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 60.1 และ 69.2 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าส่งออกลำดับรายการที่ 101 เป็นต้นไป แต่ละรายการมีสัดส่วนมูลค่าไม่ถึงร้อยละ 0.2 เท่านั้น

พัฒนาการการส่งออกของไทยและเวียดนาม โอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

ในบริบทของพัฒนาการการส่งออก ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกของประเทศได้อย่างมากแม้ต้องเผชิญปัจจัยทางลบหลายประการ และสามารถยกระดับผู้ผลิตคนไทยบางส่วนให้กลายเป็นผู้ส่งออกในหลาย ๆ รายการสินค้า หรืออาจกล่าวได้ว่าแม้ว่าการเติบโตของการส่งออกไทยจะถดถอย แต่ไทยก็ยังพื้นฐานของการส่งออกที่ดี นั่นคือ ไทยมีรายการสินค้าส่งออกสูงถึง 4,620 รายการ และมีตลาดส่งออกมากถึง 194 ประเทศ ขณะที่เวียดนามเองก็มีรายการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีสินค้าส่งออกจำนวน 4,127 รายการ แต่กลับมีตลาดส่งออกเพียง 97 ประเทศเท่านั้น (WITS Database) [1]

แม้ช่วงที่ผ่านมาไทยจะประสบปัญหาค่าจ้างแรงงานที่สูงอย่างต่อเนื่องและไม่มีแต้มต่อทางภาษีศุลกากรจากเขตการค้าเสรีในบางตลาดเหมือนดังกรณีเวียดนาม (EU-Vietnam FTA, CPTPP)  แต่ความล้มเหลวของรายการสินค้าส่งออกก็เกิดขึ้นในระดับต่ำ  งานศึกษาเกี่ยวกับความอยู่รอดของการส่งออกในไทยและประเทศคู่แข่งในภูมิภาคพบว่า จีนมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงที่สุด และไทยยังมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงกว่าเวียดนามในทุกรายการสินค้า หรือนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีจำนวนรายการสินค้าส่งออกที่สามารถอยู่รอดมาโดยตลอดของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.2 และ 27.9 ของรายการสินค้าที่ส่งออกไปตลาดต่าง ๆ ในโลก (อลงกรณ์, 2564)

หากเรามองความสามารถในการแข่งขันจากเกณฑ์การเติบโตของการส่งออกเพียงอย่างเดียว ก็คงสรุปได้ว่า ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกเมื่อเทียบกับเวียดนาม แต่บริบทของการพัฒนาการส่งออกข้างต้นจึงไม่สามารถสรุปได้ง่าย ๆ แบบนั้นได้  และที่สำคัญ เวียดนามก็ยังเผชิญปัญหาการส่งออกบางประการเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการกระจุกตัวของการส่งออกที่สูงเกินไปในบางรายการ และอัตราความอยู่รอดของสินค้าส่งออกที่ต่ำกว่าไทย เรื่องดังกล่าวคงเป็นปัจจัยการเติบโตของการส่งออกของเวียดนามในอนาคต

เมื่อพิจารณาโอกาสการเติบโตของการส่งออกไทย ไทยยังคงมีพื้นฐานของการส่งออกที่ดี และสามารถต่อยอดความสำเร็จของการส่งออกในอดีตได้ เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกไทยมีจำนวนสินค้าและตลาดส่งออกหลากหลาย ดังนั้นโอกาสการเติบโตของไทยคงต้องมุ่งกระจายการส่งออกไปยังสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพเหมาะสมกับต้นทุนการผลิตและศักยภาพของผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงกระจายการส่งออกไปตลาดส่งออกต่าง ๆ เพื่อช่วยประคองรายได้จากการส่งออกจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน  นอกจากนั้น ไทยยังมีโอกาสเชื่อมโยงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเข้าไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือสินค้าอื่น ๆ เนื่องจากไทยมีความพร้อมของการเป็นฐานการผลิตสินค้าเหล่านั้นอยู่แล้ว เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสของ Growth Story ใหม่ของไทยในอนาคตได้

ที่มา : http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/571

‘ค้าปลีกไทยยักษ์ใหญ่’ เดินหน้าขยายอาณาจักรธุรกิจในเวียดนาม

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. เซ็นทรัล รีเทล ได้เปิดตัวศูนย์การค้า GO! ที่เมืองท้ายบิ่ญ (Thai Binh) ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 21.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ นายคริสเตียน โอลอฟสัน ประธานฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ของเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่าถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัทที่จะเปิดห้างสรรพสินค้าที่สวยงาม ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน และจะส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ พร้อมกับดูแลความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคและพนักงานทุกคน ทั้งนี้ นายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย เปิดเผยว่าการขยายตัวทางธุรกิจของศูนย์การค้า GO! ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างเวียดนามและไทย นอกจากนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่ายอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือน พ.ย. อยู่ที่ราว 17.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สาเหตุสำคัญมาจากกำลังซื้อของคนในพื้นที่กลับมาฟื้นตัว

ที่มา : https://vir.com.vn/thai-retail-giant-continues-expansion-in-vietnam-89960.html

ดุลยภาพใหม่ “ไทย-อาเซียน” รับ สหรัฐฯ ทัวร์ คว่ำบาตรโอลิมปิกจีน

การทำ “อาเซียน” และ “ไทย” ให้เป็น “ดุลยภาพใหม่” คือสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เคยพูดคุยที่ “สิงคโปร์” เพื่อรับมือการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจระหว่าง “สหรัฐ-จีน” สร้างความสมดุล ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของ 10 ประเทศสมาชิก โดยล่าสุดสหรัฐฯ มีแผนการมาเยือน 3 ประเทศ แกนหลักของ “อาเซียน” อย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไทย ของ “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ในระหว่าง 13 -16 ธ.ค.นี้ โดยเป้าหมายแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ เพราะบางประเทศก็กำลังจะมีการเลือกตั้ง ในขณะที่บางประเทศก็อยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่าน โดยเป้าหมายแนะนำตัวอย่างเป็นทางการเพราะบางประเทศก็กำลังจะมีการเลือกตั้ง ในขณะที่บางประเทศก็อยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ กับประเทศในเอเชีย หวังแก้ปัญหาและปรับความเข้าใจ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/977558

เวิลด์แบงก์ คาด GDP ไทยปี 65 ฟื้นโต 3.9% จาก 1% ในปี 64 ก่อนโตเพิ่ม 4.3% ปี 66

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 65 เป็น 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ 3.6% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากปี 64 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 1% ก่อนที่ปี 66 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 65 และ 66 ได้แรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคบริการ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่กลับมาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านคนในปี 65 โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีและเพิ่มขึ้นอีกในปี 66 เป็นประมาณ 20 ล้านคนหรือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/154784

กนอ.เร่งเครื่องดึงลงทุนเข้านิคมฯ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย การขับเคลื่อนของ กนอ. ต่อจากนี้จะเน้นเร่งดึงดูดการลงทุน หาช่องทางธุรกิจใหม่ รวมทั้งนำไทยเป็นศูนย์กลางฐานการผลิตของภูมิภาคอาเซียน สำหรับปี 2565 นอกจากเร่งดึงดูดการลงทุนในนิคมแล้วยังให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการโดยนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม อาทิโครงการ Facility 4.0 ในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม การทำ Digital Twin ระบบบำบัดน้ำเสีย Smart Meter การพัฒนาศักยภาพบุคลากร กนอ. โดยเฉพาะด้าน IT Digital รวมถึงกนอ.จะแสวงหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มสร้างรายได้ในระยะยาว

ที่มา: https://www.naewna.com/business/621926