ภาคเอกชนพร้อมหนุนการเติบโตด้านการท่องเที่ยวกัมพูชา

ภาคเอกชนกัมพูชาพร้อมส่งเสริมสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวให้มีศักยภาพ ซึ่งได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมที่มีการจัดขึ้นโดยกระทรวงการท่องเที่ยว ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Sok Soken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ร่วมกับ Hor Sarun รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว และChhay Sivlin ประธานสมาคมการท่องเที่ยวกัมพูชา (CATA) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแทนภาคเอกชนมากกว่า 100 คน ซึ่งกระทรวงได้จัดการประชุมเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชาให้มีความทัดเทียมในระดับนานาชาติ ร่วมกับการพิจารณาถึงความท้าทายที่ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังเผชิญ ผ่านแผนการยกระดับภาคบริการให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และพัฒนาขั้นตอนในการข้ามพรมแดนมายังกัมพูชา เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะประเทศอินเดียและจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366904/private-sector-crucial-to-tourism-growth/

กัมพูชา-ออสเตรเลีย เปิดตัวนวัตกรรมอาหาร หวังดัน SMEs ภาคเกษตรและอาหาร

กัมพูชาและออสเตรเลียพร้อมให้ความร่วมมือระหว่างกันในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมอาหาร เพื่อสนับสนุนกิจการขนาดย่อม (SMEs) ของภาคการเกษตรและอาหาร ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงปรับปรุงสายการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร และเสริมสร้างการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชาผ่านองค์กร Khmer Enterprise และรัฐบาลออสเตรเลียผ่านความร่วมมือ Cambodia Australia Partnership for Resilient Economic Development (CAPRED) ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งโครงการนี้ยังร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติกัมพูชาในการช่วยสนับสนุน SMEs นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้เกิดการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และความคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหารผ่านการจัดงานครั้งแรกเรื่อง Agri-Food Innovation Summit โดยนำ SMEs, นักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันในการแบ่งปันความรู้และความคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหาร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366475/cambodia-and-australia-launch-food-innovation-partnership-to-support-agri-food-smes/

กัมพูชา-อินเดีย ให้คำมั่นร่วมมือพัฒนาภาคการท่องเที่ยวระหว่างกัน

กัมพูชาและอินเดียได้ยืนยันความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาภาคธุรกิจการท่องเที่ยว หวังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งความมุ่งมั่นนี้ได้รับการยืนยันในการประชุมระหว่าง Sok Soken รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยว และ Dr. Devyani Khobragade ผู้ทรงและที่ปรึกษาพิเศษของสาธารณรัฐอินเดียในกัมพูชา โดยในระหว่างการประชุม Sok Soken ได้ขอขอบคุณรัฐบาลอินเดีย สำหรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวของกัมพูชา เช่น โครงการ Quick Impact Projects 3 ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแอพพลิเคชันมือถือเพื่อส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน ด้านรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและทูตยังได้กล่าวเสริมถึงแนวคิดในการสร้างแพ็กเกจท่องเที่ยวทางจิตวิญญาณและศาสนสถาน เพื่อเป็นการชูจุดเด่นของสถานที่และถือเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยทั้งสองประเทศยังตกลงในการส่งเสริมเที่ยวบินตรงระหว่างเมืองพนมเปญกับนิวเดลี ผ่านสายการบินกัมพูชาอังกอาร์แอร์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมา กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากอินเดียทั้งหมด 34,016 คน เพิ่มจาก 840 คน ที่ได้บันทึกไว้ในปี 2021 ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366506/cambodia-and-india-vow-stronger-cooperation-on-tourism-development/

เศรษฐา บินกัมพูชาพรุ่งนี้ พบเพื่อนบ้านในอาเซียนครั้งแรก ถกความร่วมมือทาง ศก.-แก้แก๊งคอล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการครั้งนี้นับเป็นการเยือนเพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ในประเทศอาเซียนครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับผู้นำในโอกาสที่ทั้งนายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเข้ารับตำแหน่งใหม่ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้หารือกับกัมพูชาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ โดยมุ่งเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 15,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 และผลักดันการยกระดับจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชาที่ยังคั่งค้าง รวมไปถึงการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางของทั้งสองประเทศ ผลักดันการท่องเที่ยวและการเดินทางข้ามแดน เพื่อให้มีการใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) สำหรับการเดินทางข้ามแดนทางบก อำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดน และไม่มีหนังสือเดินทาง สามารถขอเอกสารเพื่อใช้เดินทางข้ามแดนได้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นจะติดตามเรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดน เช่น แก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน การแก้ไขปัญหา call center รวมไปถึงความร่วมมือทางด้านแรงงาน ความมั่นคงทางพลังงาน ความสัมพันธ์ระดับประชาชน และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและวิชาการระหว่างไทย-กัมพูชา

ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_4201241

นายกฯ กัมพูชา คาดสนามบินนานาชาติเสียมเรียบดึงนักท่องเที่ยวมายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเนต กล่าวว่า สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ ซึ่งเป็นสนามบินแห่งใหม่ของกัมพูชา ด้วยเม็ดเงินลงทุนมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ พร้อมรองรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้าน บริษัท Angkor International Airport Investment (Cambodia) Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ลงทุนในโครงการสนามบินนานาชาติดังกล่าวได้ปรับยอดการลงทุนจาก 880 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 เป็นมูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 โดยสนามบินนี้จะเริ่มเปิดให้บริการในช่วงกลางเดือนตุลาคมปีนี้ สำหรับกัมพูชายังมีแผนที่จะก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ในจังหวัดตาแก้วบนพื้นที่ขนาดกว่า 2,600 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 20 กิโลเมตร จะเริ่มการก่อสร้างและแล้วเสร็จภายใน 2 ปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366062/video-cambodian-pm-says-new-siem-reap-international-airport-is-a-big-hope-for-tourism/

โอกาสสำหรับนักธุรกิจอเมริกาในประเทศกัมพูชา

สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยมีสินค้าส่งออกรวมร้อยละ 37 ของยอดการส่งออกทั้งหมดที่มูลค่า 4.2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 กล่าวโดยนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต หลังเข้าพบกับสมาชิกสมาคมกลุ่มนักธุรกิจอเมริกันในวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ก.ย.) ในระหว่างงาน “US-Cambodia Business Forum” ในนครนิวยอร์ก ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคธุรกิจของอเมริกันในการพบปะกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา รวมถึงกัมพูชาพร้อมที่จะสนับสนุนต่อบริษัทอเมริกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ามาลงทุนยังกัมพูชาเพิ่มขึ้น เพื่อหวังดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนกัมพูชา เนื่องด้วยกัมพูชาสามารถเป็นซัพพลายเชนส่งต่อไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงมีโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจแบบ 100% ในการครอบครองธุรกิจ

อีกทั้งภาคแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานคนหนุ่มสาวกว่าร้อยละ 65 ของกลุ่มประชากร รวมถึงกัมพูชายังอยู่ภายใต้โครงการ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่เอื้อต่อภาคการส่งออกของกัมพูชา และกัมพูชายังมีสิทธิพิเศษอื่นๆ อาทิเช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ ข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ (CKFTA) เอื้อต่อภาคการส่งออกของประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501365721/an-opportunity-for-american-business-in-cambodia/

7 เดือนแรกของปี ทางการกัมพูชาอนุมัติโครงการก่อสร้างมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์

กระทรวงการจัดการที่ดิน การวางผังเมือง และการก่อสร้าง ได้ออกใบอนุญาตสำหรับโครงการก่อสร้างรวมกว่า 2,036 โครงการสำหรับในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 8 ล้านตารางเมตร ซึ่งรายงานของกระทรวงระบุว่า โครงการก่อสร้างที่จดทะเบียนดังกล่าวคาดว่าจะมีมูลค่ารวมถึงประมาณ 2.97 พันล้านดอลลาร์ โดยจากข้อมูลปัจจุบันกัมพูชามีโครงการก่อสร้างกว่า 63,903 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 181 ล้านตารางเมตร ด้วยเม็ดเงินลงทุน 72.37 พันล้านดอลลาร์ สำหรับภาคการก่อสร้างในกัมพูชากำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในปัจจุบันภาคดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ด้านธนาคารกลางกัมพูชาได้กล่าวเสริมว่าการนำเข้าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ในช่วงเดียวกันเริ่มเห็นการกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าภาคดังกล่าวกำลังกลับมาขยายตัว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501364597/construction-projects-worth-3b-approved-in-7-months/

CDC อนุมัติโครงการลงทุนแห่งใหม่ในจังหวัดสีหนุวิลล์

คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชา (CSEZB) หน่วยงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติการออกใบรับรองการจดทะเบียนสำหรับโครงการลงทุนใหม่ 8 โครงการ มูลค่ารวม 64.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในบรรดาโครงการลงทุนใหม่อย่าง บริษัท Huale Steel (Cambodia) Co., Ltd. ได้ยื่นขอเสนอโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กทุกชนิด ในเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือสีหนุวิลล์ (SPSEZ) พร้อมจ้างงานกว่า 523 คน ทำนองเดียวกัน บริษัท Wangmao (Cambodia) Homeware Co., Ltd. วางแผนจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องใช้ภายในบ้าน ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 6.2 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าจะสร้างการจ้างงานถึง 1,369 ตำแหน่ง ตามมาด้วย บริษัท Cambodian Luheng Food Co., Ltd. ในการจัดตั้งโรงงานอาหารสัตว์ มูลค่าการลงทุน 3 ล้านดอลลาร์ ใกล้กันกับ บริษัท Ultimate Motion Co., Ltd. ที่มีการวางแผนลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ มูลค่าการลงทุน 3 ล้านดอลลาร์ สำหรับ บริษัท Jushi (Cambodia) Co., Ltd. วางแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก สายไฟ และสายเคเบิล ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยโครงการลงทุนของ บริษัท Starblaze (Cambodia) Plastic & Metal Co., Ltd. มูลค่าการลงทุน 3.6 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วย บริษัท Wanan Gas Control (Cambodia) Co., Ltd. คาดว่าจะลงทุน 2 ล้านดอลลาร์ และ บริษัท He Dui Optoelectronics Co., Ltd. วางแผนที่จะลงทุน 1.5 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501364491/cdc-approves-40m-steel-factory-project-in-sihanoukville/

8 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกไปยังอินเดียขยายตัว 39%

กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) รายงานสถานการณ์การส่งออกของกัมพูชาไปยังอินเดียในช่วง ม.ค.-ส.ค. ขยายตัวกว่าร้อยละ 38.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่ารวมกว่า 161.35 ล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบันอินเดียถือเป็นประเทศจุดหมายปลายทางสำคัญของกัมพูชาในการส่งออก ซึ่งมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังอินเดียคิดเป็นร้อยละ 1 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างจีนก็เห็นถึงการเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 16.8 ไปยังเวียดนามขยายตัวร้อยละ 26.1 แต่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงมีส่วนแบ่งการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดที่ร้อยละ 38.9 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา รองลงมาคือเวียดนามและจีน ที่ร้อยละ 11.8 และร้อยละ 6 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าของกัมพูชาจากอินเดียปรับตัวลดลงร้อยละ 15.1 ที่มูลค่า 145.56 ล้านดอลลาร์ ทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับอินเดียกว่า 15.78 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501363964/cambodias-exports-to-india-rise-by-39-percent-in-jan-aug/

ADB ปรับ GDP กัมพูชาลดลงเหลือ 5.3%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกัมพูชาลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.3 โดยได้นำเสนอไว้ในรายงานแนวโน้มการพัฒนาเอเชีย (ADO) ประจำเดือนกันยายน 2023 จากการคาดการณ์ GDP ไว้ที่ร้อยละ 5.5 ในเดือนเมษายน สำหรับรายงานประจำเดือน ก.ย. ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกอย่าง เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทางของกัมพูชาหดตัวลงกว่าร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การลดลงดังกล่าวได้รับการชดเชยบางส่วนด้วยการส่งออกสินค้ากลุ่มอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเสื้อผ้า โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ และเฟอร์นิเจอร์ มีการขยายตัวกว่าร้อยละ 22.9 ด้านการนำเข้าสินค้าลดลงร้อยละ 22.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการนำเข้าสิ่งทอลดลงร้อยละ 17.9 เชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 10 และยานพาหนะลดลงร้อยละ 26.9 ด้านทุนสำรองระหว่างประเทศขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 18.4 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2023 จาก 17.8 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2022 สำหรับความเสี่ยงมีแนวโน้มไปในทิศทางลบ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ชะลอลง รวมถึงภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวเป็นเวลานาน ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ไปจนถึงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาคเอกชนที่สูงและเสถียรภาพทางการเงินในประเทศที่ต่ำ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501363962/adb-revised-down-cambodias-gdp-to-5-3-percent-for-2023/