2022 กัมพูชานำเข้าผ้าผืนจากไทยพุ่งแตะ 157 ล้านดอลลาร์

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะสร้างความผันผวนให้กับภาคการค้าระหว่างประเทศ แต่การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังไทยกลับเพิ่มขึ้นไปแตะที่มูลค่า 57.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวถึงร้อยละ 40.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าผ้าผืนของกัมพูชาจากไทยก็ปรับตัวขึ้นเช่นกันอยู่ที่มูลค่า 157 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 27.6 ในปี 2022 ซึ่งไทยยังคงเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าที่สำคัญ โดยเฉพาะ ผ้าผืน เส้นด้าย และเส้นใย ขณะที่ปี 2025 กัมพูชาและไทยได้ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้ปริมาณการค้าทวิภาคีขึ้นไปแตะที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501269748/cambodias-fabric-imports-from-thailand-at-157-million-in-2022/

“เมียนมา” เผยราคาน้ำมันปาล์มพุ่ง แม้นำเข้า 7.5 หมื่นตัน

ราคาน้ำมันปาล์มตามใบส่งมอบสินค้า (D/O) ยังคงอยู่ในระดับสูงขึ้น ถึงแม้ว่าจะนำเข้าน้ำมันจำนวนมาก ก่อนที่จะถึงเทศกาลสงกรานต์ (Thingyan) และจากรายงานของผู้ค้าน้ำมัน เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 1 เมษายน เมืองติลาวาและย่างกุ้ง มีปริมาณการนำเข้าน้ำมันพืชจากต่างประเทศอยู่ที่ราว 3 หมื่นตัน ในขณะที่เรือขนส่งน้ำมัน 8 ลำที่บรรทุกน้ำมันพืช 35,000 ตัน และมีเรือขนส่งน้ำมัน 2 ลำที่บรรทุกน้ำมันปาล์ม 11,000 ตัน โดยราคาน้ำมันปาล์มตามใบส่งมอบสินค้า อยู่ที่ประมาณ 6,400-6,450 จั๊ต อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบการจัดเก็บน้ำมันปาล์มหรือจัดจำหน่ายที่มีเจตนาปั่นราคาน้ำมัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/palm-oil-price-spikes-despite-arrival-of-around-75000-tonnes-of-imported-oil/

“เมียนมา” ประกาศจำกัดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา ประกาศว่าจะไม่อนุญาตให้ธุรกิจนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และไม่อนุญาตให้จัดเก็บสินค้าเข้าไปในคลังของกิจการได้ ในขณะที่กระบวนการออกใบอนุญาตนำเข้าเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยสาเหตุดังกล่าว ทางหน่วยงานรัฐฯ อ้างถึงผลกระทบของความล่าช้าที่จะทำให้มีผลต่อคุณภาพของสินค้านำเข้าและต้องการที่จะควบคุมตลาดให้ดีขึ้น โดยกฎระเบียบหรือข้อจำกัดที่เกี่ยวกับการค้าและอื่นๆ ได้รับการผ่อนปรนจากรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ถูกเข็มงวดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังเกิดรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงชั่วคราว เนื่องจากจะมีระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น

ที่มา : https://www.thaipbsworld.com/import-sector-further-restricted-in-myanmar/

สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ วางแผนนำเข้าพลังงานสะอาดจากกัมพูชา

สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ (EMA) ได้อนุมัติภายใต้เงื่อนไขสำหรับการนำเข้าพลังงานสะอาดจำนวน 1 กิกะวัตต์ (GW) จากกัมพูชาส่งไปยังสิงคโปร์ ผ่านสายเคเบิลใต้ทะเลระยะทางกว่า 1,000 กม. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การนำเข้าพลังงานที่กำลังดำเนินอยู่ของสิงคโปร์ โดยการอนุมัติดังกล่าวมอบหมายให้กับ Keppel Energy ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจพลังงานของสิงคโปร์ ในการต่อยอดจากการที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ไปเมื่อปีที่แล้ว ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน ขณะที่ PV Tech Premium อีกหนึ่งบริษัทด้านพลังงานของสิงคโปร์ วางแผนที่จะนำเข้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 4 GW ภายในปี 2035

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501259849/singapores-ema-gives-conditional-nod-to-project-importing-1gw-of-clean-energy-from-cambodia-inked-with-royal-group/

“เวียดนาม” เผยช่วง 2 เดือนแรก เกินดุลการค้า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกของเวียดนาม มีมูลค่า 49.44 พันล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 10.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกัน การนำเข้าของเวียดนาม มีมูลค่า 46.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้า 2.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่นำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายจากการเติบโตทางการส่งออก 6% ต่อปี กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจึงได้ร้องขอให้ภาคธุรกิจเร่งปรับปรุงขีดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมกับขยายการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ

นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะปรับปรุงกิจกรรมส่งเสริมการค้าและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อกระจายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้หลากหลายขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1493648/viet-nam-enjoys-trade-surplus-of-over-2-8-billion-in-two-months.html

ในช่วงเดือน ม.ค. การค้าระหว่าง กัมพูชา-อินเดีย ขยายตัวแตะ 37 ล้านดอลลาร์

ในเดือนมกราคม 2023 การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและอินเดียมีมูลค่ารวมกว่า 37 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังอินเดียมูลค่ารวม 22 ล้านดอลลาร์ หลังกระทรวงพาณิชย์และสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกัมพูชา ได้ยกระดับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ โดยในปัจจุบันกัมพูชาและอินเดียมีความพยายามเป็นอย่างมากในการผลักดันการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ซึ่งเน้นว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยยกระดับการค้า การลงทุน และความร่วมมือในภาคส่วนอื่นๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501243610/cambodia-india-trade-reaches-37m-in-january/

10 เดือนที่ผ่านมา เมียนมานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทะลุกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2566 ของปีงบประมาณ 2565-2566 (เดือนเมษายน 2565 – ปัจจุบัน) พบว่า เมียนมานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือ เครื่องนุ่งห่ม 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, วัตถุดิบเหล็กและเหล็กกล้า 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สินค้าเวชภัณฑ์ 540 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, และปุ๋ยและน้ำมันปาล์ม 530 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่แล้ว เมียนมาจะนำเข้าสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง สินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (CMP) ในขณะที่การส่งออกจะเป็นผลิตผลทางการเกษตร สินค้าปศุสัตว์ สินค้าประมง สินค้าจากแร่ธาตุ สินค้าป่าไม้  สินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/petroleum-products-top-import-line-up-with-over-4-billion-in-past-10-months/#article-title

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นแตะเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปีที่ผ่านมา

ปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวมกว่า 1,939 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 515 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับญี่ปุ่นที่มูลค่า 1,424 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษและเครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง

ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่ม เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน และพลาสติกจากญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันกัมพูชาเตรียมความพร้อมที่จะกำหนดแผนการจัดตั้งคณะทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจา FTA ทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่นและกัมพูชา เพื่อเป็นการกระตุ้นภาคการส่งออกให้กับประเทศในระยะต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501233908/cambodias-export-to-japan-reached-almost-2b-last-year/

“เวียดนาม” เผยเดือน ม.ค. เกินดุลการค้า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกสินค้าของเวียดนามในเดือน ม.ค. มีมูลค่าทั้งสิ้น 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.6 21.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 21.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 28.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้เดือนนี้เวียดนามเกินดุลการค้า 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุด มีมูลค่า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 2566 คาดว่าจะปรับตัวลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-has-trade-surplus-of-over-us3-6-billion-in-january/

กัมพูชา นำเข้า-ส่งออก ผ่าน SSEZ โต 12% ในปี 2022

Cao Jianjiang ผู้จัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) กล่าวว่า มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน SSEZ ในปี 2022 อยู่ที่มูลค่ารวม 2.49 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจุบันเขตอุตสาหกรรมตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดกว่า 11 ตร.กม. ในจังหวัดพระสีหนุ รองรับบริษัทกว่า 175 แห่งจากจีน สหรัฐฯ ยุโรป รวมถึงประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ สร้างการจ้างงานกว่า 30,000 ตำแหน่งภายในเขตพื้นที่ SSEZ ด้านปลัดกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาและโฆษก Penn Sovicheat กล่าวว่า SSEZ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านของความร่วมมือระหว่างประเทศที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายภายใต้กรอบความคิดริเริ่ม Belt and Road ของจีน โดย SSEZ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา และได้กลายเป็นการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501217663/imports-and-exports-via-sihanoukville-special-economic-zone-up-12-percent-in-2022/