สหรัฐฯวางแผนสนับสนุนกัมพูชาเพิ่มเติมในวงเงิน 66.2 ล้านดอลลาร์

รัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาได้ลงนามอย่างเป็นทางการในหนังสือแลกเปลี่ยน ซึ่งสะท้อนถึงปริมาณเงินสนับสนุนจำนวน 66.2 ล้านดอลลาร์ ในข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการพัฒนาสำหรับกัมพูชา โดยรัฐมนตรีอาวุโสกัมพูชารับผิดชอบภารกิจพิเศษ ร่วมกับรองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้เป็นตัวแทนฝ่ายกัมพูชา ร่วมประชุมกับหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่ง CDC กล่าวว่าการระดมทุนเพิ่มเติมจะสนับสนุนด้านสาธารณสุขและการศึกษาจำนวน 43.3 ล้านดอลลาร์ ภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม 22.9 ล้านดอลลาร์ โดยตั้งแต่ปี 1992 ถึงปี 2019 รัฐบาลสหรัฐฯได้ให้ความช่วยเหลือกัมพูชามาแล้วประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 6.10 ของการเบิกจ่าย ODA ทั้งหมด ซึ่งความช่วยเหลือนี้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของ RGC ตามที่ระบุไว้ใน Rectangular Strategy IV และแผนพัฒนายุทธศาสตร์แห่งชาติปี 2019-2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50793668/u-s-to-provide-additional-66-2-million-to-aid-cambodias-development/

สุริยะหารือสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนดึงทุนธุรกิจดิจิทัลในไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) นำโดยนายไมเคิล มิคาลัก รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการภูมิภาค สภาธุรกิจ USABC พร้อมด้วยนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ และผู้แทนจากบริษัท รวม 38 บริษัท ได้เข้าหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมแบบกึ่งออนไลน์ โดยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลไทยเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกทั้งส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการใช้วัตถุดิบหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งนี้การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องสร้างปัจจัยแวดล้อมเพื่อรับรองการทำธุรกิจยุคดิจิทัล โดยรัฐบาลได้เดินหน้าเปิดประมูลคลื่น 5 จี และเร่งพัฒนาโครงข่าย 5G ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกระดับการทำงานสู่ระบบออนไลน์ โดยได้ผลักดันการใช้ระบบฐานข้อมูล ประมวลผล และสนับสนุนอุตสาหกรรม (I-industry) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้เกิดการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ (online service) อำนวยความสะดวกในการให้บริการกับผู้ประกอบการผ่านระบบ

ที่มา : https://tna.mcot.net/latest-news-600958