‘สหรัฐอเมริกา’ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เวียดนามกลายมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 7 ของสหรัฐฯ และยังเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยจากตัวเลขสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่ายอดการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 16% ต่อปี เพิ่มขึ้นเกินกว่า 550% จาก 21.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ขึ้นมาอยู่ที่ 123 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับที่ 11 จาก 108 นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในเวียดนาม และมีการลงทุน 1,200 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 11.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ กิจการรายใหญ่ของสหรัฐฯ ยังคงให้ความสนใจและต้องการลงทุนระยะยาวในเวียดนาม รวมถึงมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความร่วมมือกับเวียดนามและร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/us-remains-vietnams-largest-export-market-post1058710.vov

อาเซียน-จีน ตั้งเป้าอัปเกรด FTA ให้ได้เกินครึ่งทางภายในปีนี้ ก่อนสรุปผลปี 67

น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยได้เข้าร่วมการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA Upgrade Negotiations) ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 25-29 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ เมืองบันดุง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีนายหวี เปิ่นหลิน อธิบดีกรมเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานฝ่ายจีน โดยไทยในฐานะประธานร่วมฝ่ายอาเซียนได้ร่วมกับจีนผลักดันให้การเจรจารอบนี้ มีความคืบหน้ามากที่สุด ซึ่งตั้งเป้าให้การเจรจาคืบหน้าได้เกินครึ่งทางภายในปีนี้ เพื่อสรุปผลการเจรจาภายในปี 2567 ทั้งนี้ จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบต่อไป ในช่วงปลายเดือน ม.ค.2567 ณ กรุงปักกิ่ง

ที่มา : https://corehoononline.com/index.php/economy/commerce-moc/showcontent/214785.html

‘เวียดนาม’ เล็งยกระดับผลิตภาพแรงงานเติบโตเฉลี่ย 6.5% ต่อปี

สำนักข่าวเวียดนาม (Vietnam News Agency : VNA) รายงานว่าเวียดนามได้ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป อยู่ที่ 6.5-7% ต่อปี ภายในปี 2573 ตามมาด้วยภาคเกษตรกรรมและภาคบริการ 7-7.5% โดยเวียดนามวางแผนที่จะเพิ่มขีดความสามารถของผลิตภาพแรงงาน และมุ่งมั่นที่จะเป็น 1 ใน 3 ประเทศชั้นนำในอาเซียนภายในปี 2573 อีกทั้ง ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.65% ในปี 2564-2565 ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตเป้าหมาย 6.5% ต่อปี

ที่มา : https://english.news.cn/20231109/643d4fa42d6749719fb8ae7a3ea79c1d/c.html

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอใน EEC

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ ในโอกาสเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรม WHA ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการที่ภาครัฐและเอกชนของไทยมีความตั้งใจในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อขยายโอกาสความร่วมมือการลงทุนกับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรชั้นนำของโลกในปัจจุบัน โดยถือเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับการที่รัฐบาลได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติชุดใหม่ โดยมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2570 นับเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนจากผู้ประกอบการรายใหม่จากทั่วโลก สอดคล้องนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ WHA ยังพร้อมสนับสนุนการพัฒนาในเขต EEC ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นไปได้ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ อย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่จะสร้างประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งต่อ EEC และต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ให้ยั่งยืน

ที่มา : https://www.mitihoon.com/2023/11/06/415503/

‘ปานปรีย์’ เตรียมเยือนเวียดนาม สัปดาห์นี้

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศของไทย ได้เตรียมเดินทางมาเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 ต.ค.66 ตามคำเชิญของนายบุ่ย แทงห์ เซิน รมว.การต่างประเทศของเวียดนาม โดยการเยือนในครั้งนี้เป็นครั้งแรกของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศของไทยในเดือน ก.ย. ปีนี้

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายรักษาการแลกเปลี่ยนและการติดต่อระหว่างผู้นำระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ประสานงานอย่างใกล้ชิด และสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะกลไกอนุภูมิภาคอาเซียนและลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีส่วนในการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในอาเซียน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/thai-deputy-prime-minister-and-foreign-minister-to-visit-viet-nam-this-week-2206126.html

ก.ล.ต. ร่วมประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ACMF) ระดับเลขาธิการ ครั้งที่ 39

ก.ล.ต. ร่วมการประชุม ASEAN Capital Market Forum (ACMF) ครั้งที่ 39 ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงสุดของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในอาเซียน ผู้แทนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สำนักเลขาธิการอาเซียน และผู้แทนจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือทิศทางเชิงนโยบายและการดำเนินงานของ ACMF ภายใต้ ACMF Action Plan 2564-2568 เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนของตลาดทุนในภูมิภาค นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมผู้แทน เข้าร่วมการประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ACMF) ครั้งที่ 39 ซึ่งจัดขึ้น ณ จังหวัดบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ซึ่งมีหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบต่อการดำเนินการด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำแนวทางในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเงินเพื่อความยั่งยืน แผนการศึกษาเพื่อพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจที่เหมาะสมกับบริบทของอาเซียน และเห็นชอบคู่มือสำหรับการเสนอขายกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบการทำงาน ASEAN CIS* (Handbook for ASEAN CIS-SRF) ภายใต้ ASEAN Green Lane และการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ ACMF ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเสนอขายกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน ภายใต้โครงการ ASEAN CIS รวมทั้งเห็นชอบแนวทางปรับปรุงวิธีการประเมิน ASEAN Corporate Governance Scorecard (ACGS) ให้สอดคล้องกับแนวทางสากล และกำหนดการประเมิน ACGS ในปี 2567

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3462408

ผู้เชี่ยวชาญไทยชี้ BRI หนุนความร่วมมือ ‘อาเซียน-จีน’หลากหลาย

ผู้เชี่ยวชาญชาวไทยแสดงทัศนะว่าแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนเสริมสร้างความร่วมมือด้านกำลังการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงไทย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนในด้านต่างๆ เช่น การค้าและการผลิตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อไม่นานนี้ว่ากลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่มากมาย และมีโอกาสสำคัญที่จะร่วมมือกับจีนทั้งด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและความร่วมมือด้านกำลังการผลิต

ทั้งนี้ จีนเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญที่สุดของกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะการยกระดับทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของจีนส่งอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศอาเซียนในวงกว้าง ด้านความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน ได้ส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.naewna.com/inter/763294

‘การค้าเวียดนาม-กัมพูชา’ ช่วง 9 เดือนแรกปี 66 มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เวียดนามและกัมพูชามีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 4.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% การส่งออกของกัมพูชาไปยังเวียดนาม มีมูลค่า 2.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 2.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 11% ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกัมพูชา รองจากจีนและสหรัฐฯ และยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในอาเซียนและเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐฯ

นอกจากนี้ สำนักงานการค้าเวียดนาม ประจำประเทศกัมพูชา รายงานว่าโครงสร้างการส่งออกสินค้าเวียดนามไปยังกัมพูชามีความหลากหลาย เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรมและธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-cambodia-trade-hits-nearly-us5-billion-over-nine-months-post1052529.vov

“ไทยเบฟ”ยึดกัมพูชา ฐานผลิตอาเซียน ดัน BeerCo เข้าตลาดหุ้น

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไทยเบฟให้ความสำคัญเรื่องของความยั่งยืน จึงขับเคลื่อนกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ พร้อมกับดำเนินกลยุทธ์ในการเสริมแกร่งให้กับตราสินค้าและสถานะในตลาดสำหรับทุกกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยในปี 2567 (ต.ค. 66-ก.ย.67) บริษัทใช้งบลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท ในการเดินหน้าธุรกิจเพื่อขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน+9 ซึ่งปัจจุบันก้าวกระโดดไปทำตลาดในหลายประเทศ ภายใต้กลยุทธ์การเติบโต (GROWTH) ใน 3 Pillars ได้แก่ Balanced Market Diversification, Extensive Product Portfolio และ Fulfill New Consumer Needs แบ่งเป็นการลงทุนตั้งโรงงานเครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ในกัมพูชาและลาว 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นฐานการผลิตใหญ่รองรับตลาด CLMV และยังคอนเน็คสู่ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดสำคัญแห่งหนึ่ง และทำให้ไทยเบฟมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าในอนาคต ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนในประเทศไทยทั้งด้านโลจิสติกและความยั่งยืน ฯลฯ

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/marketing/577997

กรมอาเซียนและผู้แทนไทยใน AICHR หารือร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อผลักดันการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค

นางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมหารือระหว่างผู้แทนไทยใน AICHR กับภาคประชาสังคม ประจำปี 2566 ณ โรงแรม วี กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ที่ประชุมได้ระดมสมองและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการยกระดับบทบาทของผู้แทนไทยใน AICHR ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับพัฒนาการและแนวโน้มสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในไทยและอาเซียน เช่น ความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิมนุษยชนกับมิติอื่น ๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพจิตและจิตสังคม (psychosocial) และการพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานข้ามชาติ และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า การบรรลุเป้าหมายด้านสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานไปสู่การการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และสนับสนุนให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนได้รับการบรรจุไว้ในวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 (ASEAN Community’s Post-2025 Vision) ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำการประชุมหารือฯ เป็นกิจกรรมที่กรมอาเซียนจัดขึ้นเป็นประจำ สอดคล้องกับนโยบายไทยในการส่งเสริมการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการสร้างสังคมที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน และสะท้อนความมุ่งมั่นจะเชิญชวนทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการผลักดันวาระสำคัญนี้

ที่มา : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG231006130657302