รมว.แรงงานกัมพูชา วอน JICA สนับสนุนการฝึกอาชีพ หวังดัน GDP โต 7%

Heng Sour รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมวิชาชีพ ได้ร้องขอให้หน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ในกัมพูชา ดำเนินการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาต่อไป เพื่อเพิ่มแรงผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาเป็นถึงร้อยละ 7 โดยคำร้องขอดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุมกับ Sanui Kazumasa ประธาน JICA ณ กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าการเสริมสร้างการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดการลงทุนมายังกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะจากนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญสำหรับกัมพูชาในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ถึงประมาณน้อยละ 7 ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือต่อไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในขณะที่รัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” ภายในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501361304/labour-minister-asks-jica-to-continue-vocational-technical-training-to-boost-cambodias-economic-growth-to-7/

7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังตลาดกลุ่ม RCEP กว่า 4.6 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มูลค่ารวมกว่า 4.59 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามคำแถลงของกระทรวงพาณิชย์ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกลุ่มประเทศ RCEP คิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก (GDP) รวมถึงคิดเป็นร้อยละ 28 ของมูลค่าการค้าโลก และมีเม็ดเงินลงทุนร้อยละ 32.5 ของมูลค่าการลงทุนทั่วโลก ซึ่งข้อตกลงนี้คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการรวมกลุ่มอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และป้องกันแนวโน้มต่อต้านโลกาภิวัตน์ รวมถึงฝ่าวิกฤตการกีดกันทางการค้าระดับโลก ด้านกัมพูชาคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดและพัฒนาฐานการผลิตในอาเซียน ไปจนถึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตัวแปรหลักบนห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501346750/cambodias-exports-4-6b-to-rcep-markets-in-first-7-months/

‘ธนาคารโลก’ ชี้เวียดนามวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้า พ.ค.-มิ.ย. สูญเงินกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากรายงานล่าสุดของธนาคารโลก (WB) เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ปัญหาไฟฟ้าดับในจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม เดือน พ.ค.-มิ.ย. ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก สูญเสียเงินกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 0.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม รวมถึงยังส่งผลกระทบไปในวงกว้างต่อกิจกรรมทางด้านพลังงานเกิดหยุดชะงัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ภาคพลังงานของเวียดนามเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาและการเข้าถึงไฟฟ้าของคนในประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาไฟฟ้าดับในเดือน พ.ค.-มิ.ย. ได้เปิดเผยช่องโหว่ที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/may-june-power-shortages-cost-vietnam-us-1-4-billion-world-bank-2177190.html/

NBC คาด GDP กัมพูชาโต 5.5% ภายในปี 2023

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) เพิ่มการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาเป็นร้อยละ 5.5 ภายในปี 2023 โดยได้รับแรงหนุนจากการกลับมาของภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรม ภาคการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 19.9 เนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำหรับภาคการเกษตรคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 1.1 จากสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 5.6 ชะลอตัวเล็กน้อยจากอุปสงค์ภายนอกที่หดตัวลงจากในตลาด สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอังกฤษ โดยปัจจุบันกัมพูชาลงนามในข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ซึ่งเอื้อต่อภาคการส่งออกกัมพูชาเป็นอย่างมาก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501335211/nbc-raises-cambodias-2023-growth-forecast-to-5-5/

แรงงานกัมพูชาส่งเงินกลับบ้าน ปี 2022 แตะ 1.25 พันล้านดอลลาร์

แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาส่งเงินกลับบ้านเพิ่มขึ้นจาก 1.15 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 1.25 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 สูงเป็นอันดับสามในกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของ GDP ประเทศ รองจากฟิลิปปินส์และเวียดนาม รายงานโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในระหว่างการประชุม “12th Annual ADBI–OECD–ILO Roundtable on Labour Migration: Recovering from Covid-19: What does It Mean for Labor Migration in Asia?” โดยไทยมีแรงงานกัมพูชาเดินทางไปทำงานมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคน ในปี 2021 เกาหลีใต้มีแรงงานเกือบ 46,000 คน ตามมาด้วยมาเลเซีย 23,000 คน ญี่ปุ่นเกือบ 12,000 คน และสิงคโปร์ประมาณ 800 คน ซึ่งสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยเป็นประเทศปลายทางหลักสำหรับแรงงานข้ามชาติในอาเซียน โดยปัจจุบันโลกกำลังเผชิญอยู่กับความไม่แน่นอนหลายประการ อาทิเช่น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ภัยคุกคามทางด้านสิ่งแวดล้อม การหยุดชะงักของอุปทาน และความไม่มั่นคงทางการเงินระดับโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการย้ายถิ่นฐานของแรงงานไปยังเอเชีย ทั้งแรงงานมีทักษะสูงและทักษะน้อย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317625/cambodias-remittances-rise-to-1-25b/

คาด GDP ต่อหัวภายในกัมพูชา ขยายตัว 8.3% ในช่วงปีนี้

Aun Pornmoniroth รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) คาดการณ์ว่าการเติบโตของ GDP ต่อหัว ภายในประเทศกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,932 ดอลลาร์ ภายในปี 2023 เพิ่มขึ้นจาก 1,784 ดอลลาร์ ในช่วงปีก่อน ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลง โดยทางการกัมพูชายังได้คาดการณ์ว่า GDP ของประเทศจะเติบโตร้อยละ 5.6 ในปีนี้ จากการพัฒนาในทุกภาคส่วน ซึ่งรายงานเศรษฐกิจและการเงินที่ออกโดยธนาคารกลางกัมพูชา (NBC) ยังชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.47 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จากร้อยละ 0.66 ในเดือนก่อนหน้า ตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501312162/gdp-per-capita-to-swell-8-3-in-2023-pornmoniroth-says/

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาคาด GDP ปีนี้ โต 5.6%

Aun Pornmoniroth รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) ได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2023 ไว้ที่ร้อยละ 5.6 จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 ในปีที่แล้ว โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมร่วมครั้งที่ 35 ของคณะกรรมาธิการ UNWTO (35th CAP & CSA) และการประชุม WTO ว่าด้วยมาตรฐานสากลการคุ้มครองนักท่องเที่ยว (ICPT) ณ Sokha Phnom Penh Hotel & Residence โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมีมุมมองในแง่ดีสำหรับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจของกัมพูชาที่กำลังจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ภาวะปกติ หลังประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในช่วงปี 2025 ทางการกัมพูชาคาดว่าจะกลับมาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวแตะ 7 ล้านคน และในปี 2026 คาดว่าจะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวขึ้นไปถึงประมาณ 13 ล้านคน ใกล้เคียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2019 ภายใต้แนวคิด Public-Private Partnership (PPP) ผ่านความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501310040/pornmoniroth-puts-cambodias-2023-gdp-forecast-at-5-6/

‘IMF’ คาดเวียดนามขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 20 ของเศรษฐกิจโลก

จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในแง่ของความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) คาดว่าจะอยู่อันดับที่ 25 ของโลกในปี 2565 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าประเทศออสเตรเลียและโปแลนด์ โดยเฉพาะออสเตรเลียที่มีมูลค่ากว่า 1.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก ในขณะที่โปแลนด์มีมูลค่า 1.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 19 ทั้งนี้ IMF ยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2566 เวียดนามจะรักษาอันดับที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการคาดการณ์ตัวเลข GDP ในแง่ของอำนาจซื้อ ด้วยมูลค่าประมาณ 1.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เส้นทางการเติบโตที่ประสบความสำเร็จของเวียดนาม แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศที่ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งเสริมวัฒนธรรม ตลอดจนการส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและพนักงานหรือแรงงานรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้ เวียดนามพร้อมที่จะกลายมาเป็นผู้เล่นหลักในเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnam-projected-to-become-20th-largest-global-economy-102224.html

กรุงไทย คงจีดีพีปี 66 ขยายตัว 3.4% จับตาเศรษฐกิจโลกผันผวน ลงทุนเอกชนโตต่ำ

ดร.ฉมาดนัย มากนวล และนายชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า จีดีพีไตรมาส 1/2566 ขยายตัวเร่งขึ้น 2.7% จากการส่งออกบริการและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2566 ขยายตัว 2.7%YOY หรือ เพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.9% QOQSA

ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-1293011

“ศก.เวียดนาม” คาดเติบโตอันดับ 2 ในอาเซียน

ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์ทวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม คาดว่าจะขยายตัว 5.8% ในปี 2566 อยู่ในอันดับที่ 2 ร่วมกับกัมพูชาในภูมิภาคอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวสูงขึ้นแตะ 6.9% ในปีหน้า ถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้สาธารณะเวียดนามที่คาดว่าจะอยู่ระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 8 ประเทศ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้สถาบันการเงินดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้เหตุผลถึงการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางว่าเป็นการสร้างความยืดหยุ่นและจังหวะเวลา รวมถึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือนจะอยู่ที่ประมาณ 7% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 10%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-gdp-growth-forecast-to-rank-second-in-asean/251654.vnp