สปป.ลาว-ไทย ทุ่มงบสร้างทางด่วนเชื่อมเวียดนาม

เจ้าหน้าที่ สปป.ลาว และไทย ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับแผนความเป็นไปได้ในการสร้างทางด่วนระยะทาง 160 กม. จากสะหวันนะเขตตอนกลางของ สปป.ลาว ไปยังด่านชายแดนลาวบาวของเวียดนาม ด้านรองผู้ว่าการสะหวันนะเขต นาย Senesak Soulysak ได้เสนอแผนการก่อสร้างทางพิเศษต่ออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และเจ้าหน้าที่ไทยฝ่ายอื่นๆ รวมถึงรายงานเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาว สนามกอล์ฟ ตลอดจนบริการขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อจะส่งเสริมการพัฒนาในจังหวัด ซึ่งปัจจุบันการลงทุนจากต่างประเทศใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคพลังงานหมุนเวียน สำหรับทางด่วนคาดว่าจะส่งเสริมปริมาณการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากจังหวัดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับสอง ในจังหวัดสะหวันนะเขต รองจากจีน

ที่มา : https://vir.com.vn/laos-thailand-mull-over-building-expressway-linking-to-vietnam-104642.html

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังอินเดียโตกว่าร้อยละ 43

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังอินเดียมูลค่ารวมกว่า 140.93 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 42.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ขณะที่การส่งออกไปยังจีนของกัมพูชาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 ไปยังเวียดนามขยายตัวร้อยละ 20.6 และไปยังสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงมีส่วนแบ่งการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดที่ร้อยละ 38.3 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา รองลงมาคือเวียดนามและจีน ที่ร้อยละ 11.8 และร้อยละ 6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าของกัมพูชาจากอินเดียลดลงร้อยละ 18.1 ที่มูลค่า 127.56 ล้านดอลลาร์ ทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับอินเดียที่มูลค่า 13.36 ล้านดอลลาร์ ด้าน Pan Sorasak อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งข้อสังเกตว่าการส่งออกไปยังอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากโครงการปลอดภาษี (Duty-Free Tariff Preference: DFTP) ที่ได้เปิดตัวเมื่อปี 2018

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501348223/cambodias-exports-to-india-rise-by-43/

กัมพูชาดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 3 ล้านคน ภายในช่วง 7 เดือนแรกของปี

กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชารายงานสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ในช่วง 7 เดือนแรกของปี โดยกัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณกว่า 3.03 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 308 จากจำนวน 743,459 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญของกัมพูชา สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. ปีนี้ ตามมาด้วยเวียดนาม จีน สปป.ลาว และสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ด้านกระทรวงกล่าวเสริมว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาเยือนกัมพูชาคาดว่าจะสูงถึง 7 ล้านคน ภายในปี 2025 ซึ่งสูงกว่าในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ 6.6 ล้านคน ในปี 2019 โดยภาคการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา นอกเหนือจากภาคการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภาคเกษตรกรรม การก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501348457/cambodia-attracts-three-million-international-tourists-in-seven-months/

Acleda Bank ตั้งเป้าขยาย “KHQR” สู่ประเทศนอกกลุ่มอาเซียน

ธนาคาร Acleda จำกัด (มหาชน) วางแผนที่จะขยายระบบการชำระเงิน QR code ภายใต้ชื่อระบบ KHQR ไปยังกลุ่มประเทศนอกภูมิภาคอาเซียน โดยแผนดังกล่าวจะถูกนำไปขยายผล หลังจากมีการเชื่อมต่อการชำระเงินข้ามพรมแดนระหว่างกัมพูชากับไทย เวียดนาม และ สปป.ลาว ซึ่งการชำระเงินข้ามระหว่างประเทศดังกล่าวไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ยกเว้นธุรกรรม กัมพูชา- สปป.ลาว กล่าวโดย Mar Amara รองประธานบริหารอาวุโสและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของกลุ่ม Acleda Bank ซึ่งปัจจุบันมีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะพัฒนารูปแบบการทำธุรกรรมการชำระเงินข้ามพรมแดนระหว่างอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นกลุ่มถัดไป โดยการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านระบบดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศ และสร้างความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นในกรณีที่มีการเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีระบบชำระเงินดังกล่าว ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่าการพกเงินสด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501347404/acleda-bank-to-expand-khqr-beyond-asean/

คาดรัฐบาลชุดใหม่กัมพูชา ดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศเพิ่มขึ้น

คาดหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของกัมพูชาจะนำมาซึ่งการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น และมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และการอยู่ของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ตลอดจนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ เป็นส่วนทำให้กัมพูชามีศักยภาพในการลงทุนมากยิ่งขึ้น กล่าวโดยรัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ระบุเสริมว่า ปัจจุบันในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาดึงดูดโครงการลงทุนกว่า 113 โครงการ นับเป็นสินทรัพย์ถาวรเพื่อการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ เกิดการจ้างงานใหม่ประมาณกว่า 122,000 ตำแหน่ง โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501347755/new-government-formation-to-bring-more-new-investments/

ครึ่งแรกของปี กัมพูชาส่งออกยางรถยนต์มูลค่ารวม 125 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกยางรถยนต์ในช่วงครึ่งแรกของปีมูลค่ารวม 125 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) โดยปัจจุบันกัมพูชามีโรงงานผลิตยางรถยนต์ทั้งสิ้น 3 แห่ง ดำเนินการอยู่ในจังหวัด สวายเรียง พระสีหนุ และกระแจะ ซึ่งโรงงานแรกเป็นของ บริษัท Sailun Group Co., Ltd. ของจีน สามารถผลิตยางเรเดียลผสมเหล็กได้ 5 ล้านเส้นต่อปี สำหรับโรงงานที่สองเป็นของ บริษัท General Tyre Technology (กัมพูชา) ด้วยเม็ดเงินลงทุนมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ สามารถผลิตยางเรเดียลกึ่งเหล็ก 5 ล้านเส้น และยางเรเดียลเสริมเหล็ก 900,000 เส้นต่อปี ขณะที่โรงงานของ บริษัท Newbustar (Cambodia) Tyre Co., Ltd. สามารถผลิตยางเรเดียลสมรรถนะสูงได้ถึง 8.5 ล้านเส้นต่อปี โดยการส่งออกส่วนใหญ่ส่งออกไปยังยุโรป สหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501346714/cambodia-auto-tire-exports-at-125-million-in-h1/

7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังตลาดกลุ่ม RCEP กว่า 4.6 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มูลค่ารวมกว่า 4.59 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามคำแถลงของกระทรวงพาณิชย์ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกลุ่มประเทศ RCEP คิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก (GDP) รวมถึงคิดเป็นร้อยละ 28 ของมูลค่าการค้าโลก และมีเม็ดเงินลงทุนร้อยละ 32.5 ของมูลค่าการลงทุนทั่วโลก ซึ่งข้อตกลงนี้คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการรวมกลุ่มอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และป้องกันแนวโน้มต่อต้านโลกาภิวัตน์ รวมถึงฝ่าวิกฤตการกีดกันทางการค้าระดับโลก ด้านกัมพูชาคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดและพัฒนาฐานการผลิตในอาเซียน ไปจนถึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตัวแปรหลักบนห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501346750/cambodias-exports-4-6b-to-rcep-markets-in-first-7-months/

สถาบันค้ำประกันสินเชื่อกัมพูชา ค้ำประกัน SME แตะ 140 ล้านดอลลาร์

ณ เดือนกรกฎาคมปีนี้ สถาบันค้ำประกันสินเชื่อแห่งกัมพูชา (CGCC) ให้การค้ำประกันสินเชื่อมูลค่ารวมกว่า 139.5 ล้านดอลลาร์แก่ภาคธุรกิจต่างๆ สำหรับการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน การลงทุน และการขยายธุรกิจ โดยมีการค้ำประกันสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจกว่า 1,648 แห่ง ซึ่งในจำนวนดังกล่าวคิดเป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (MSME) 1,510 แห่ง และธุรกิจขนาดใหญ่ 138 แห่ง ที่ได้รับการค้ำประกันเงินกู้ ภายใต้โครงการของ CGCC มีสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ (PFIs) กว่า 30 แห่ง ในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจที่สนใจเข้าร่วม โดยหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจนเข้าสู่ภาวะปกติ จะส่งผลทำให้ธุรกิจ SME กลับมาเเติบโตอีกครั้ง ด้าน Mey Vann รัฐมนตรีต่างประเทศของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง กล่าวว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างผู้ประกอบการและปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินในกัมพูชาเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501346090/credit-guarantees-to-smes-reach-nearly-140-million/

ครึ่งปีแรกกัมพูชาส่งออกสินค้าผ่าน SEZs พุ่ง 1.39 พันล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) สูงถึง 1.39 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ตามการรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) โดยปัจจุบันกัมพูชามีเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสิ้น 24 แห่ง สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณกว่า 175,000 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 90 ของโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นโรงงานผลิตสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเดินทาง (GFT) ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวเสริมว่าการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม ถือเป็นผลมาจากความหลากหลายของการส่งออกที่กระจายตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโมเมนตัมที่ดีและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของกัมพูชาปี 2015-2025 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะหรือเทคโนโลยี

ขณะที่ CDC ได้สรุปร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศโดยให้สิ่งจูงใจ เพิ่มความโปร่งใส และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม สำหรับการส่งออกของกัมพูชาในช่วงครึ่งแรกของปีรวม 1.146 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501346089/exports-through-sezs-up-by-1-39-billion-in-h1/

กัมพูชา-สปป.ลาว เปิดตัวระบบการชำระเงิน QR code ข้ามพรมแดน

กัมพูชาและ สปป.ลาว เปิดตัวระบบการชำระเงินด้วย QR code ข้ามพรมแดนในเฟสแรก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 ส.ค.) ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาสามารถใช้เงินสกุลเรียลในการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการใน สปป.ลาว ได้สะดวกยิ่งขึ้น กล่าวโดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ในทางกลับกันนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว ก็จะสามารถใช้เงินกีบในการซื้อสินค้าและบริการในบริเวณชายแดนติดกับกัมพูชาได้ง่ายขึ้น โดยในระยะแรกของโครงการอนุญาตให้ชาวกัมพูชาซึ่งมีบัญชีธนาคารในสกุลเงินเรียลใช้แอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือเพื่อชำระเงินผ่านการสแกน LAO QR Code กับพ่อค้าหรือร้านค้าใน สปป.ลาว ซึ่งเชื่อว่าโครงการนี้จะส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นและยังเป็นส่วนในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและการค้าข้ามพรมแดนระหว่างกัมพูชาและ สปป.ลาว ต่อไปในอนาคต สำหรับในระยะที่สองจะเปิดให้ชาว สปป.ลาว ที่มีบัญชีธนาคารในสกุลเงินกีบสามารถชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือโดยการสแกนรหัส KH QR Code กับร้านค้าหรือร้านค้าในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501345403/cambodia-laos-launch-1st-phase-of-cross-border-qr-code-payments/