ร้านค้าปลีกจากไทยเร่งขยายสาขาภายในกัมพูชา

กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่จากไทย 2 แห่ง ได้แก่ CP Group และ Berli Jucker Plc (BJC) เตรียมเดินหน้าขยายธุรกิจค้าปลีกในกัมพูชา ซึ่ง ซีพี กรุ๊ป สนใจเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตเทสโก้ โลตัส แห่งแรกในกัมพูชาตามรายงานสื่อ โดยก่อนหน้านี้ ซีพี กรุ๊ป ได้เปิดร้านค้าปลีกภายในกัมพูชาไปแล้วเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผ่านบริษัท CP ALL (Cambodia) ที่เป็นบริษัทลูกของ CP ALL (Thailand) ซึ่งได้เปิดร้านสะดวกซื้อที่รู้จักกันในนาม 7-Eleven แห่งแรกในกรุงพนมเปญ โดย ซีพี กรุ๊ป กำลังเผชิญกับการแข่งขันจากกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง BJC ซึ่งได้เปิดบิ๊กซีสาขาแรกในเมืองหลวงของกัมพูชาไปเมื่อต้นเดือนนี้เช่นเดียวกัน โดยบริษัทวางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจค้าปลีกในประเทศกัมพูชาในอีก 5 ปีข้างหน้า ตามรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50934037/thai-retailers-pursuing-the-kingdoms-keen-shoppers/

‘บิ๊กซี’ขยายสาขาต่างแดน เปิดร้านสะดวกซื้อในกัมพูชา

บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบริษัทบีเจซี ล่าสุดเปิด “มินิบิ๊กซี สาขาตลาดเดโป” ร้านสะดวกซื้อสาขาแรกในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เนื่องจากมองเห็นโอกาสกำลังซื้อสูงจากการขยายตัว และการขยายตัวของธุรกิจ ในกัมพูชามีแนวโน้มเติบโตสำหรับ มินิบิ๊กซี สาขาตลาดเดโปตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง ถนนชวาหระลาลเนห์รู บูเลอวาร์ด นำเข้าสินค้าจากไทยทั้งอาหารสดและอาหารแห้ง ทั้งนี้ ยังสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเข้ามาจำหน่าย ประมาณ 20% ส่วนอนาคต ได้ตั้งเป้าหมายหลักที่กรุงพนมเปญ เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางการค้ามีประชากรจำนวน 2 ล้านคนจากประชากร 15.2 ล้านคนในประเทศ ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยด้านวัฒนธรรมตลอดจนความคล้ายคลึงกันในรสนิยมระหว่างกัมพูชาและไทย

ที่มา: https://www.naewna.com/business/601888

พัฒนาระบบรางไทยเชื่อมต่อ EEC กับแดนมังกร ผ่านรถไฟลาว-จีน

โดย ปุญญภพ ตันติปิฎก I Economic Intelligence Center I ธนาคารไทยพาณิชย์

ในวันที่ 2 ธันวาคม 2021 สปป. ลาว เตรียมเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว-จีน ในฝั่งลาวเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์กับนครคุนหมิงของจีน หลังใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี โครงการนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Belt and Road Initiative ของจีน จะช่วยให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างลาวกับจีนและภายในลาวเอง สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนลดลง และดึงดูดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น

การเปิดให้บริการโครงการนี้ เป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาระบบรางฝั่งไทยให้เชื่อมต่อไปถึงจีนโดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้ากับ EEC ซึ่งเป็นฐานการค้าที่สำคัญระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด อีกทั้ง ยังสามารถรองรับการค้าผ่านแดนไทย-จีนที่กำลังขยายตัวสูง 60%YTD ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าระหว่าง EEC กับจีนพึ่งพิงทางทะเลและถนนเป็นหลัก ขณะที่ทางรางยังมีการใช้งานจำกัด เนื่องจากเส้นทางส่วนใหญ่ยังเป็นรถไฟทางเดี่ยว อีกทั้ง การพัฒนารถไฟทางคู่ยังติดปัญหาก่อสร้างในช่วงคลองขนาดจิตร-จิระ อยู่ระหว่างศึกษากับเตรียมประมูลช่วงขอนแก่น-หนองคาย-เวียงจันทน์ และสรรหาเอกชนเดินรถช่วงแหลมฉบัง-หนองคาย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2026 ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงยังอยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาและอยู่ระหว่างศึกษากับออกแบบช่วงนครราชสีมา-หนองคาย-เวียงจันทน์ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางได้ในช่วงปี 2029-2032 ทำให้ในช่วงนี้จำเป็นต้องเน้นเพิ่มการใช้งานระบบรางที่มีอยู่ก่อน

การเชื่อมต่อระบบรางระหว่าง EEC กับจีนจะก่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนของไทยในหลายมิติ กล่าวคือ

1. ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทั้งนี้ รายงานของ World Bank ปี 2020 พบว่า การขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบังถึงคุนหมิงผ่านรถไฟลาว-จีนเมื่อเทียบกับทางถนนทั้งเส้นทาง ลดต้นทุนขนส่งต่อตันได้ตั้งแต่ 32% ถึง มากกว่า 50% ขึ้นอยู่กับรูปแบบการขนส่งในฝั่งไทย โดยถ้าในฝั่งไทยขนส่งด้วยรถบรรทุกต้นทุนจะลดลง 32% ขณะที่รถไฟทางเดี่ยว-คู่จะลดลงมากกว่า 40% และรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นรางขนาดเดียวกันจะลดลงมากกว่า 50% นอกจากนี้ การขนส่งทางรางยังใช้เวลาเพียง 0.5-1.5 วัน ซึ่งเร็วกว่าทางถนนที่ใช้เวลา 2-3 วัน และทางทะเลที่ใช้เวลา 5-7 วัน

2. เพิ่มทางเลือกรูปแบบการขนส่งสินค้าไปยังจีนและต่อเนื่องไปถึงยุโรปผ่านเส้นทางสายไหมใหม่จีน-ยุโรปที่กำลังขยายตัวสูงด้วยระยะเวลาขนส่งที่น้อยกว่าทางทะเลมากกว่าเท่าตัวเหลือเพียงราว 15 วัน โดยเวียดนามเริ่มให้บริการเส้นทางฮานอย-เบลเยี่ยมผ่านเส้นทางนี้แล้ว อีกทั้ง การขนส่งทางรางจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากทางทะเลดังเช่นในปัจจุบันที่การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การขนส่งทางทะเลติดขัดล่าช้าและค่าขนส่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

3. ดึงดูดให้เกิดการลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มศักยภาพการขนส่ง โดยเฉพาะจากเทรนด์การปรับตัวของ supply chain โลก ที่ทำให้นักลงทุนทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติมีแนวโน้มกระจายความเสี่ยงการลงทุนออกจากจีนไปยังประเทศใกล้เคียงที่ขนส่งสินค้ากับจีนได้สะดวกรวดเร็วภายใต้ต้นทุนต่ำ

ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบรางในไทยเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนมากขึ้น ควบคู่กับการเร่งพัฒนาโครงการรถไฟที่เกี่ยวข้องให้เปิดดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะสั้น ควรสนับสนุนให้เกิดการใช้งานรถไฟทางเดี่ยว-คู่ภายใต้โครงข่ายปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพบริการ การพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาคอขวดด้วยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ เช่น สะพานข้ามพรมแดน ท่าเรือบก ระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิสำหรับผัก-ผลไม้ เป็นต้น ส่วนในระยะกลาง-ยาว ควรเร่งพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ควบคู่กับรถไฟความเร็วสูงให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดประสานกันภายใต้ขั้นตอนที่โปร่งใส่กับงบประมาณที่กำหนด การพัฒนาระบบรางนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นฮับโลจิสติกส์ของอาเซียนได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7795

สะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 5 สำเร็จไปแล้วกว่า 14 %

การก่อสร้างสะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 5 เชื่อมจังหวัดบริคัมไซกับจังหวัดบึงกาฬในประเทศไทยข้ามแม่น้ำโขงคีบหน้า 14 % ของการก่อสร้างทั้งหมด เมื่อแล้วเสร็จคาดว่าสะพานจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและเส้นทางคมนาคมระดับภูมิภาคอีกแห่งสำหรับสปป.ลาวและประเทศเพื่อนบ้าน โครงการดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย (สพพ.) ให้เงินกู้แก่รัฐบาลสปป.ลาว 1.38 พันล้านบาท นายเลทอง พรมวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการกล่วว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการก่อสร้างถนนและสะพานที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้ลาวถูกมองว่าไม่มีทางออกสู่ทะเลอีกต่อไป แต่กำลังจะกลายเป็นประเทศศูนย์กลางโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาค ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสปป.ลาว”

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Road177.php

เมียนมาเปิดด่านทิกิ ด่านมุต่อง กลับมาค้าขายได้ปกติ

ด่านตีกีและด่านมุต่อง ชายแดนเมียนมา-ไทย ได้รับอนุญาตให้เปิดกลับมาค้าขายได้ปกติอีกครั้ง ก่อนหน้สการค้าระหว่างเมียนมาและไทยถูกปิดชั่วคราวเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือนจนถึงสิ้นเดือนส.ค.64 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งด่านชายแดนเหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตตะนาวศรี สินค้าที่ส่งออกไปยังไทยผ่านชายแดนทั้ง 2 ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งปัจจุบัน รถบรรทุกวิ่งผ่านได้แต่พนักงานขับรถต้องได้รับการตรวจ COVID-19 แล้วเท่านั้น และตู้คอนเทนเนอร์รวมถึงห้องเย็นต้องดำเนินการตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขของเมียนมา ทั้งนี้ไทยถือเป็นผู้นำดข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำรายใหญ่ เมื่อปีงบประมาณที่แล้ว เมียนมาส่งสินค้าประมงมูลค่า 318 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปยังไทย ในขณะที่การส่งออกการประมงรวมอยู่ที่ 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/hteekhee-mawtaung-border-crossings-return-to-normal/#article-title

7 หุ้น โรงไฟฟ้าใหญ่ไทย กำลังเติบโตในเวียดนาม

โดย Maratronman I Wealthy Thai

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ เพราะขนาดเศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายใหญ่โตขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากประชากรที่เพิ่มตัวขึ้นปีละหลายล้านคน รวมถึงประชากรกำลังอยู่ในวัยคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นวัยที่มีส่วนจะช่วยผลักดันความก้าวหน้าของประเทศ

การลงทุนจากต่างประเทศทยอยการลงทุนเข้ามาในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากผู้ประกอบการค่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงใช้ประเทศเวียดนามเป็นฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือ รวมถึงนักลงทุนจากสหรัฐที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนาม

ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเวียดนามเองนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องรังสรรค์โครงสร้างพื้นฐานประเทศไว้รองรับสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ประเทศ และเศรษฐกิจเดินหน้าต่อแบบไม่ชะงัก แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 แต่เวียดนามก็ไม่หวั่นตั้งเป้าปี 64 จีดีพีจะกลับมาเติบโตในระดับ 6.5% จากในปี 63 ที่โตแบบสะดุด

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ เพื่อรองรับการเติบโต และอุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองคงจะหนีไม่พ้นโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า ซึ่งกระแสไฟฟ้ามีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากถึง 80,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573

โดยแหล่งพลังงานหลักยังคงเป็นถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 30,000 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังงานลมในพื้นที่ชายฝั่งและพลังงานลมก็คาดว่าจะมีการขยายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ ซึ่งอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานในปี 2021-2030 ยังอยู่ในระดับสูง จาก 8.6 % ในปี 2021-2025 และ 7.2 % ในปี 2026-2030 แผนพัฒนาพลังงานของเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการใช้พลังงานสูงสุด 138,000 เมกะวัตต์ ในปี 2030 และ 302,000 เมกะวัตต์ ในปี 2045

เมื่อเห็นแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศเวียดนามแบบนี้แล้ว นักลงทุนคงจะพอเดากันได้แล้วใช่มั้ยว่า มีบริษัทหลักทรัพย์ของไทยที่ไหนบ้าง ถ้าเดาไม่ออก งั้น Wealthy Thai จะเล่าให้ฟัง มีบริษัทในตลาดหุ้นไทยที่ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุน มีทั้งสิ้น 7 บริษัท ประกอบด้วย

1.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF

2.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM

3.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH

4.บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP

5.บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG

6.บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER

7.บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL

ที่มา : https://www.wealthythai.com/en/updates/stock/stock-of-the-day/1496

ชวน หารือ ปธ.สภาเวียดนาม เร่งแก้ปัญหาส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ช่วยเกษตรกร

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากรายงานการประชุมหารือทวิภาคีระหว่าง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กับ นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ (H.E.Mr.Vung Finh hue) นายเวือง ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการหารือเรื่องความร่วมมือและกำจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทย-เวียดนาม โดยนายชวนได้หารือเรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกรในการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีน เพราะตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ของไทยและจะมีการส่งผลไม้จากไทยไปจีนมากกว่าช่วงเวลาอื่นของปี แต่มีปัญหาคือรถบรรทุกผลไม้ติดสะสมที่ด่านจังหวัดหล่าง เชิน (Lang Son) ของเวียดนามที่จะเข้าประเทศจีน จนทำให้ผลไม้เน่าเสียเกษตรกรเดือดร้อน ดังนั้น นายชวน จึงขอให้ประธานสภาแห่งชาติเวียดนามได้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาดังกล่าว

ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_2927653

เตรียมความพร้อม เปิดสนามบินบ่อฝ้ายรับนักท่องเที่ยว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ชะอำ จ.เพชรบุรี และหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสำรวจการเตรียมพร้อมเปิดพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 ว่า หัวหินประชากรในพื้นที่ 70% จะฉีดวัคซีนครบ 2 โดสภายในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนทั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้องการวัคซีนอีก 110,000 โดส ถึงจะฉีดประชากรได้ 70% ซึ่งจะผลักดันให้สนามบินบ่อฝ้าย เป็นช่องทางรับนักท่องเที่ยวเข้าหัวหิน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวแบบ 7+7 หรืออยู่ในพื้นที่อื่นครบ 7 วันแล้วมาต่อที่หัวหินอีก 7 วัน ซึ่งจะหารือกับกระทรวงคมนาคมให้ช่วยผลักดันด้วย คาดจะทราบผลสัปดาห์หน้า

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2186993

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจร่วง กังวลปัญหาศก.-สภาพคล่องตึงตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (REPORT ON BUSINESS SENTIMENT INDEX)ในเดือนส.ค. 64 ดัชนีฯ ปรับลดลงจากระดับ 41.4 มาอยู่ที่ 40.0 ลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นภาคการผลิตเป็นสำคัญนำโดยกลุ่มผลิตยานยนต์และกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงเกือบทุกด้าน รวมถึงกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ความเชื่อมั่นด้านการผลิตปรับลดลงมาก จากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเริ่มส่งผลต่อการผลิตและต้นทุน ด้านดัชนีความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่องทั้งในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 และปรับลดลงต่อเนื่อง สะท้อนว่าธุรกิจเจอภาวะสภาพคล่องตึงตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการที่ลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้ายังทรงตัวอยู่ที่ 1.7%

ที่มา: https://www.naewna.com/business/600038

วิเคราะห์ก้าวแรกของการพัฒนา CBDC ในภูมิภาค CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

ในปัจจุบัน การคิดค้นเทคโนโลยีกระจายศูนย์ข้อมูล (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งานในด้านการชำระเงิน ได้นำไปสู่การพัฒนาสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่างแพร่หลายในภาคเอกชนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคเอกชน ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้เร่งริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในระบบสถาบันการเงินในประเทศจนเกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

จุดมุ่งหมายของการพัฒนา CBDC โลกที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และคาดว่าจะส่งกระทบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ?

การพัฒนา CBDC โดยธนาคารกลางต่าง ๆ ปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งตามการใช้งานได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

1.ระดับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) : การสร้างเครือข่ายการโอนทรัพย์สินระหว่างสถาบันการเงินทั้งในและระหว่างประเทศ

2.ระดับธุรกรรมรายย่อย (Retail CBDC) : การใช้สกุลเงินดิจิทัลแทนเงินสดในการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนและธุรกิจรายย่อย

ในภาพรวม ทั้ง Wholesale CBDC และ Retail CBDC ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินให้รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์หลักที่ได้จากการนำ DLT (โดยเฉพาะในรูปแบบบล็อกเชน) มาใช้โดยธนาคารกลาง ที่จะทำให้สามารถลดต้นทุนในการประมวลผลธุรกรรมทางการเงินลงได้อย่างมีนัย รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบตัวตนของคู่สัญญาธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CBDC ทั้งสองประเภท หากถูกพัฒนาร่วมกันโดยกลุ่มประเทศในภูมิภาค ยังจะมีแนวโน้มนำไปสู่การเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม และสนับสนุนให้ธุรกรรมระหว่างประเทศ (Cross-border Transactions) เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอีกด้วยเช่นกัน

แต่ทว่าหากมองลึกลงไปกว่าประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น การพัฒนาในระดับ Retail CBDC จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มเติมได้ในอีกหลายด้าน โดยจะเป็นก้าวสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1. การเข้าถึงสถาบันการเงิน (Financial Inclusion) จะเพิ่มมากขึ้น ตามระบบ Retail CBDC ที่จะสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วเพียงผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับบัญชีธนาคาร ซึ่งข้อดีในจุดนี้ โดยเฉพาะสำหรับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะช่วยให้กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้มาก่อนนั้น มีโอกาสหันมาเลือกใช้ Retail CBDC ที่สะดวกกว่าการถือเงินสดเพิ่มมากขึ้น

2. ช่องทางการดำเนินนโยบายทางการคลัง (Fiscal Policy) ของภาครัฐที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังมีการใช้ CBDC แทนเงินสดอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ภาครัฐสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน CBDC โดยประชากรสามารถนำเงินช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัลออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคารหรือเบิกจ่ายกับหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในแต่ละกลุ่มสังคมเศรษฐกิจ (socioeconomic group) ซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน การมี Retail CBDC platform จะช่วยให้ภาครัฐสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายและตั้งเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) โดยการใช้ Retail CBDC แทนเงินสดนั้น จะช่วยให้ธนาคารกลางสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณและการไหลเวียนของเงินในระบบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมี CBDC อีกประเภทที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในการถือครอง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้ส่งผ่านผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยตรง

สถานะการพัฒนา CBDC โลกเป็นอย่างไรและภูมิภาค CLMVT อยู่ตรงจุดไหน?

ผลสำรวจล่าสุดโดย Bank of International Settlement พบว่า 86% ของธนาคารทั่วโลกกำลังดำเนินงานวิจัยเทคโนโลยี CBDC โดย 60% อยู่ในขั้นทดสอบระบบ ขณะที่เพียง 14% ได้เริ่มมีการทดลองใช้จริงในกลุ่มประชากรตัวอย่าง แม้ว่ากลุ่มประเทศที่มีการทดลองใช้ CBDC จริงแล้วประกอบด้วยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และ สหภาพยุโรป แต่เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าภูมิภาค CLMVT อยู่ในจุดที่ล้ำหน้ากว่าหลายชาติอื่นในโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะไทยและกัมพูชา ซึ่งถูกจัดอันดับโดย PwC ว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านการพัฒนา Wholesale CBDC และ Retail CBDC ตามลำดับ

สำหรับไทยนั้น โครงการอินทนนท์ซึ่งเป็น Wholesale CBDC ได้ถูกพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงในปี 2563 ได้พัฒนาไปถึงจุดที่มีการทดสอบการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยเชื่อมต่อกับ Project LionRock ของฮ่องกงได้สำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดในปีนี้ ทาง ธปท. ยังได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยต่อยอดไปสู่การทำ Retail CBDC แล้วเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะมีการทดสอบใช้จริงในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565

แนวโน้มการพัฒนา Retail CBDC สำหรับประเทศ LMVT (สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) จะเป็นอย่างไร? บทเรียนล่าสุดที่ได้จากกัมพูชาคือ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเข้าถึงสถาบันการเงินในระดับต่ำ แต่มีโครงสร้างประชากรที่พร้อมตอบรับเทคโนโลยีใหม่ นับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเงินดิจิทัลให้เข้ามาทดแทนเงินสดและดึงประชากรส่วนมากเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินมากขึ้น สำหรับปัจจัยเหล่านี้ทั้ง สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ล้วนมีประชากรน้อยกว่า 30% ที่เข้าถึงบัญชีธนาคาร ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย (ค่ามัธยฐานต่ำกว่า 30 ปี) แต่มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือในระดับที่สูง (เฉลี่ยมากกว่า 1 เบอร์โทรศัพท์ต่อคน) ด้วยปัจจัยแวดล้อมด้านประชากรที่คล้ายคลึงกับกัมพูชา ทำให้คาดได้ว่าการพัฒนา  Retail CBDC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศเหล่านี้เช่นกัน และมีศักยภาพที่จะตามทันกัมพูชามาได้ในเวลาไม่ช้า

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7775