เศรษฐกิจเวียดนามครึ่งปีแรกเติบโตในระดับต่ำ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวร้อยละ 1.81 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 เป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดนับตั้งแต่ครึ่งปีแรกปี 2554 ซึ่งในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ชี้ให้เห็นว่า GDP ของเวียดนามเติบโตร้อยละ 0.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2554-2563 เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วงไตรมาสสอง และรัฐบาลเพิ่มข้อปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรก ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และประมงมีการขยายตัวร้อยละ 1.19, ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างเติบโตร้อยละ 2.98 และภาคบริการเติบโตร้อยละ 0.57 นอกจากนี้ รองผู้อำนวยการ GSO กล่าวว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัส ส่งผลกระทบทางลบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงระบบการเมือง เป็นต้น รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเห็นถึงความสำคัญในการต่อสู้กับ COVID-19 และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องสุขภาพและชีวิตของผู้คน แม้ว่าจะสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ตาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economy-records-decadelow-h1-growth/177673.vnp

อุตสาหกรรมการก่อสร้างเมียนมาพร้อมต้อนรับแรงงานที่อพยพกลับประเทศ

อุตสาหกรรมการก่อสร้างของประเทศพร้อมเตรียมตำแหน่งงานสำหรับแรงงานอพยพที่มีประสบการณ์ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเนื่องจาก COVID-19 สหพันธ์ผู้ประกอบการก่อสร้างของเมียนมาจะช่วยบริษัทก่อสร้างในท้องถิ่นให้ดำเนินการตามกระบวนการประกวดราคาของรัฐบาลหากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการจ้างงานมากขึ้นในประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคมสถานที่ก่อสร้างเอกชนในเขตย่างกุ้งเกือบทั้งหมดหยุดชะงักเนื่องจาก COVID-19 แต่ธุรกิจเปิดใหม่และการก่อสร้างจะเริ่มต้นในช่วงเดือนมิถุนายน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ออกโรงเตือนว่าแรงงานข้ามชาติหลายล้านคนทั่วโลกอาจเผชิญกับการว่างงานและความยากจนหลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศกลับประเทศบ้านเกิด สองเดือนที่ผ่านมามีแรงงานเดินทางกลับประเทศมากกว่า 71,000 คนจากประเทศไทย หลายพันคนกลับมาจาก จีน มาเลเซีย สิงคโปร์และเกาหลีใต้ โดยค่าแรงขั้นต่ำต่อวันคือ 4,800 จัต ในขณะที่ประเทศไทยค่าแรงขั้นต่ำต่อวันจะอยู่ที่ 325 บาทหรือประมาณ 15,000 จัต ILO กล่าวว่าด้วยนโยบายที่ถูกต้องของแรงงานอพยพอาจเป็นทรัพยากรสำคัญในการฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะนำความสามารถและทักษะใหม่ ๆ มาพัฒนาประเทศเมียนมาต่อไป

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-construction-industry-ready-provide-jobs-returnees.html

อัตราเงินเฟ้อลดลงท่ามกลางความต้องการที่ลดลง

จากรายงานของธนาคารโลกอัตราเงินเฟ้อในประเทศลดลงเหลือร้อยละ 8.3 ในช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่ลดลงของผู้ประกอบการในเมียนมา เนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลงท่ามกลางวิกฤติ COVID-19  ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนและคาดว่าจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อรายปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากร้อยละ 9.5 ในเดือนธันวาคม 2562 เป็นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนเมษายนเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ที่เป็นตัวฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 13 ในเดือนเมษายนนี้คาดว่าเดือนกรกฎาคมจะลดลอีกเนื่องจากอัตราภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปี การใช้จ่ายที่ลดลงและราคาที่ลดลงคาดว่าจะช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อโดยรวมในปีงบประมาณ 2563-2563 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อควรอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ในปีงบประมาณนี้ลดลงจากร้อยละ 8.5 ของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโลกที่คาดไว้ที่อยู่ที่ร้อยละ 7.5 ในปีนี้อาจสูงกว่าอัตราของธนาคารกลางในปัจจุบันที่ร้อยละ 7 อัตราเงินฝากขั้นต่ำของธนาคารในเมียนมาคือร้อบละ 5 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ร้อยละ 10

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-inflation-declines-amid-falling-demand.html

คณะที่ปรึกษาโควิดด้านศก. ชง”บิ๊กตู่”แก้ปัญหาว่างงาน

คณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจฯ จากโควิด เสนอ 3 ประเด็นให้นายกฯ ขับเคลื่อน ทั้งแก้ว่างงาน สื่อสารให้คนตระหนักหวั่นเกิดระบาดรอบสอง และฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาฯ ว่า ได้สรุป 3 ประเด็นสำคัญเสนอ นายกรัฐมนตรี โดยเรื่องแรก เสนอให้เร่งแก้ปัญหาการว่างงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการแพร่ระบาดของ โรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนจ้านวนมากต้องว่างงานและขาดรายได้ ดังนั้น การใช้จ่ายของภาครัฐโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องทำโครงการที่สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการจ้างงานระยะยาวภายในชุมชน การจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ รวมถึงการจัดอบรมความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพได้ ซึ่ง นายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องดังกล่าวกลับมายังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. ) ในฐานะเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ให้พิจารณาโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานด้วย ประเด็นต่อมาได้ขอให้การสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงความเสี่ยงของการกลับมาระบาดรอบที่ 2 และจะต้องมีความร่วมมือที่จะจำกัดการระบาด รวมทั้งยังต้องรักษามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่วนประเด็นสุดท้ายรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม เพราะในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทยต้องหยุดชะงักลง…

 ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/782462

ธนาคารพาณิชย์เวียดนาม “Vietcombank” รักษามาตรฐานการกู้ยืม

ธนาคารพาณิชย์ “Vietcombank” ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม จะไม่ปรับลดมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อช่วงหลังการแพร่ระบาดไวรัส เพื่อรักษาเงินทุนให้แข็งแกร่งในปี 2563 ซึ่งธนาคารจะยกระดับคุณภาพสินเชื่อ เพื่อรองรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังสิ้นสุดการระบาดของ COVID-19 โดยธนาคารจะมองหาลูกค้าใหม่ พิจารณาสินเชื่อแก่ธุรกิจค้าส่งและขยายการลงทุนไปยังพันธบัตรทางการเงิน รวมถึงปรับปรุงสัดส่วนการลงทุนของธนาคาร ทั้งนี้ ในปี 2563 Vietcombank มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยมูลค่า 55.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราหนี้เสียตั้งเป้าให้ต่ำกว่าร้อยละ 1.5 ในปีนี้ อัตราเงินปันผลร้อยละ 8 ปีนี้ และจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นและจ่ายโบนัสอีกด้วย นอกจากนี้ ธนาคารวางแผนว่าจะจ้างพนักงานใหม่มากกว่า 2,200 คนในปีนี้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/748843/vietcombank-to-maintain-lending-standards.html

รัฐบาลสปป.ลาวตรวจสอบการกักกันตนเองอย่างใกล้ชิดของผู้คนที่เดินทางเข้าประเทศ

รัฐบาลสปป.ลาวยังคงดำเนินมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการกักกันตัวเองของผู้คนที่เข้ามาในประเทศลาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่กลับมาเพื่อป้องกันไม่ให้คลื่นที่สองของ Covid-19 (coronavirus) เกิดขึ้น คนที่เข้าประเทศจะถูกส่งไปยังศูนย์กักกันเป็นเวลา 14 วันและต้องตรวจสอบอุณหภูมิของแต่ละคนที่เดินทางเข้าประเทศ คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการป้องกันและควบคุม Covid-19 ประกาศว่ามีการเฝ้าระวังประชาชน 2,985 คนในศูนย์ที่พัก 89 แห่งทั่วประเทศ และยังกระตุ้นให้ประชาชนยังคงตื่นตัวและดำเนินมาตรการป้องกันเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแม้ในขณะที่ประเทศรายงานว่าไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ของ Covid-19 เป็นเวลา 77 วัน

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2020/06/28/laos-govt-closely-monitoring-self-quarantine-of-people-entering-country

สปป.ลาวสนับสนุนแผนอาเซียนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ศ.ดร. Kikeo Khaykhamphithoune รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สนับสนุนการพัฒนาแรงงานของสปป.ลาว ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ครั้งที่ 23 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แผนการพัฒนาดังกล่าวว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการเปลี่ยนแปลงตามโลกในปัจจุบันรวมถึงโอกาสที่มากขึ้นสำหรับประเทศอาเซียนในการแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงแนวทางปฎิบัติในการดำรงชีวิตในแบบวิถีใหม่ (New Normal) รวมถึงการเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาด้านไวรัสวิทยาควบคู่ไปกับการผลิตยาต้านไวรัสและวัคซีนรวมถึงการเข้าถึงวัคซีนและเวชภัณฑ์ที่เท่าเทียมกันและต้องมีราคาย่อมเยาในที่ประชุมยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทำงานร่วมกันในแผนฟื้นฟูหลังเกิดโรคระบาดเพื่อบรรเทาผลกระทบของ Covid-19 ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจของภูมิภาคอีกด้วย

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos120.php

สมัชชาแห่งชาติปรับลดเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจหลังการระบาด Covid-19

รัฐบาลสปป.ลาวคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อีกครั้งหลังจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเนื่องจากการระบาดใหญ่ของ Covid-19 คณะรัฐมนตรีกำลังสรุปรายงานและคาดว่าจะลดเป้าหมายการเติบโตของ GDP ของประเทศจากร้อยละ 6.4 เหลือร้อยละ 3.3 ในปี 2563 ตามสรุปรายงานของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติได้ส่งรายงานของเดือนเมษายนที่ระบุว่าจากการระบาดใหญ่ของ Covid-19 ส่งผลในทุกภาคส่วนของประเทศทั้ง แรงงานที่ตกงานจนอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 23 ภาคธุรกิจประสบปัญหาจนต้องปิดตัวรวมถึงภาคการท่องเที่ยวสูญเสียเงินมากกว่า 450,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงสองเดือนแรกของปี 2563 ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ GDP ของสปป.ลาวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.3 ในปี 2563 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี

ที่มา : https://laotiantimes.com/2020/06/23/national-assembly-to-address-gdp-target-amid-economic-downturn/

นายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวถึงงบประมาณภายในประเทศกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวว่ากัมพูชาเริ่มดำเนินงบประมาณเข้าสู่จุดสมดุล โดยรัฐบาลได้เตรียมกองทุนสำรองฉุกเฉินมูลค่า 800 ล้านถึง 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชาหลังจากการระบาดของ COVID-19 โดยระบุว่ากองทุนจะถูกใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความเหมาะสม ตามแผนงบประมาณยุทธศาสตร์ระดับชาติของรัฐบาล (2564-2566) นายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ -1.9 ซึ่งรัฐบาลวางแผนที่จะลดงบประมาณของรัฐในปี 2564 ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนลดลงร้อยละ 50 จากงบประมาณของรัฐในปีนี้รวมถึงการลดลงร้อยละ 11.3 สำหรับกิจการสังคมและร้อยละ 6.4 สำหรับการบริหารทั่วไป ตามที่รัฐบาลคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะสามารถควบคุมได้ที่อัตราร้อยละ 2.8 อย่างไรก็ตามในปีหน้าอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 3.1 เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับอาหารและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในตลาด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50736883/pm-hun-sen-says-budget-balanced/

“ธสน.” เตือนผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงรับมือ “เศรษฐกิจโลก” และปัญหาผู้ซื้อต่างประเทศ

นายพิศิษฐ์  เสรีวิวัฒนา  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ธนาคารโลก (World Bank) ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 5.2% ต่ำสุดในรอบเกือบ 100 ปีนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930 ขณะที่การค้าโลกจะหดตัว 13.4% เป็นการหดตัวรุนแรงเกินเลข 2 หลัก (-10% ขึ้นไป) ครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 “EXIM BANK” คาดว่า ในปี 2563 ภาคการส่งออกของไทยจะหดตัว 5-8% สินค้าที่มีโอกาส เช่น สินค้าจำเป็นประเภทอาหาร และสินค้าตามกระแสเมกะเทรนด์ เช่น อุปกรณ์สำนักงานสำหรับทำงานจากบ้าน (Work from Home) เครื่องมือแพทย์ เภสัชภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้  จากการคาดการณ์ของออยเลอร์เฮอร์เมส (Euler Hermes) บริษัทประกันสินเชื่อทางการค้าชั้นนำของโลก Covid-19 จะส่งผลกระทบให้ธุรกิจการค้าทั่วโลกขาดทุนคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งจะมีธุรกิจล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% ผู้ส่งออกไทยจึงต้องบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยวิธีกระจายตลาดส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังเติบโตหรือมีคนรุ่นใหม่ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่มาก เช่น ตลาดใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เอเชียใต้ และแอฟริกา

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/439442