นายกฯ พอใจ เงินเฟ้อไทยคลี่คลาย พ.ค. เพิ่มเพียง 0.53% ต่ำที่สุดในอาเซียน

วันที่ 14 มิ.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อในประเทศไทย พอใจสัญญาณเงินเฟ้อไทยคลี่คลายและต่ำที่สุดในอาเซียน โดยล่าสุดข้อมูลกระทรวงพาณิชย์รายงานระบุดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนพฤษภาคม 2566 เท่ากับ 107.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 106.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.53 ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้งราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูล เม.ย. 2566) โดยไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 1.7-2.7 (ค่ากลาง 2.2) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/politic/2701703

เงินเฟ้อ พ.ค. อ่อนแรงรอบ 21 เดือน ขึ้นแค่ 0.53% พณ.กางปัจจัยกดเงินเฟ้อต่ำต่อ

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ของไทยเดือนพฤษภาคม 2566 เท่ากับ 107.19 สูงขึ้น 0.53% เทียบเดือนพฤษภาคม 2565 และลดลง 0.71% จากเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และดัชนีต่ำสุดรอบ 21 เดือน นับจากเดือนกันยายน 2564 นายวิชานัน กล่าวว่า สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาสินค้าหมวดอาหารสดชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปีนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก และหากเทียบอัตราเงินเฟ้อไทยกับต่างประเทศ อิงตัวเลขเดือนเมษายน 2566 พบว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศ และเทียบทั่วโลก 136 ประเทศ ไทยต่ำในอันดับ 14 นายวิชานันกล่าวต่อว่า สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 1.55% เทียบเดือนพฤษภาคม 2565 และลบ 0.06% จากเดือนเมษายนปีนี้ที่สูงขึ้น 1.66% ส่งผลให้ 5 เดือนแรก 2566 เงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูง 2.96% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเงินเฟ้อพื้นฐานสูง 1.98%

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4015097

เงินเฟ้อ ‘เวียดนาม’ เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 0.01%

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคของเวียดนาม (CPI) เดือนพฤษภาคม ปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.01% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 2.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากราคาอาหาร ค่าไฟฟ้าและน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานฯ ระบุว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปีนี้มีทิศทางที่ชะลอตัวลง โดยในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 4.89%, เดือน ก.พ. 4.31%, เดือน มี.ค. 3.35%, เดือน เม.ย. 2.81% และเดือนพ.ค. 2.43%

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพฤษภาคม ปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.27% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 4.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 4.83% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของดัชนีราคาผู้บริโภค 3.55%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cpi-increases-by-001-in-may/253788.vnp

“สมาคมเหล็กเวียดนาม” เผยเหล็กก่อสร้าง ราคาลดลงต่อเนื่อง

สมาคมเหล็กเวียดนาม (Vietnam Steel Association) เปิดเผยว่าความต้องการเหล็กทั่วโลกได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและจีน นอกจากนี้ยังไม่เห็นสัญญาว่าอัตราเงินเฟ้อจะถูกควบคุมและอุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาลดราคาสินค้า รวมไปถึงราคาวัตถุดิบที่ลดลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ธุรกิจเหล็กในประเทศปรับลดราคาเหล็กก่อสร้างลงมาอย่างต่อเนื่อง ราว 50 – 450 ดองต่อกิโลกรัม ลงมาอยู่ที่ 14,720 ดอง (0.62 ดอลลาร์สหรัฐ) – 15,660 ดอง (0.66 ดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและประเภทสินค้า นับว่าเป็นการลดราคาเหล็กก่อสร้างเป็นครั้งที่ 4 ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ คาดการณ์ว่าตลาดเหล็กก่อสร้างจะเผชิญกับอุปสรรคไปจนถึงสิ้นปี

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/price-of-construction-steel-continues-downwards.htm

ดัชนี PMI ภาคการผลิตของเวียดนามเดือน มี.ค. กลับมาลดลง

ผลการสำรวจของ S&P Global รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ลดลงสู่ระดับ 47.7 ในเดือนมีนาคม จากระดับ 51.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนียังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ส่งสัญญาแนวโน้มปรับตัวลดลง ทั้งนี้ คำสั่งซื้อใหม่ลดลงเป็นครั้งที่ 4 ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ค่อนข้างอ่อนแอ ขณะที่ธุรกิจใหม่จากตลาดต่างประเทศลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงในไตรมาสแรก ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นเริ่มชะลอตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมในปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ดัชนีที่กลับมาลดลงในเดือนมีนาคม หวังว่าจะเป็นเพียงปัญหาชั่วคราว เนื่องจากบริษัทต่างๆ ยังมีความมั่นใจแรงอุปสงค์และสภาวะตลาดที่มีเสถียรภาพในปีหน้า

ที่มา : https://english.news.cn/20230403/d5edf52a2f1140bc86fa87b826e3073b/c.html

“OECD” คาดเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ขยายตัว 6.6%

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) รายงานว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.6% ในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าไปยังภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร สิ่งทอและรองเท้า รวมถึงได้รับปัจจัยบวกจากการที่ประเทศจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ด้วยเหตุนี้ ทางองค์การ OECD มองว่าเวียดนามยังคงเป็นประเทศชั้นนำที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดจาก 5 อันดับแรกในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ตามรายงาน ระบุว่าหลังสิ้นสุดโครงการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่เวียดนามที่จะหันไปแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินของประเทศ อย่างไรก็ดี อุปสงค์ที่อ่อนแอ ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวตามไปด้วย ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อ เวียดนามควรติดตามทิศทางและแนวโน้มของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-economy-to-grow-by-66-this-year-oecd-post1011080.vov

“เงินเฟ้อเวียดนาม” คาดพุ่งสูง 4.8% ปี 2566

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มี.ค. ลดลง 0.1-0.2% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. แต่เพิ่มขึ้น 3.4-3.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อของเวียดนามจะเพิ่มสูงขึ้น 3.9-4.8% ในปี 2566 ใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายของเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ที่ 4.5% เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงสูงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจ้งกับที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลราคาสินค้า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เลมิงค้าย เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาผลของการคำนวณราคาที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ขั้นต้น ได้แก่ ปิโตรเลียม ธัญพืช อาหาร อัตราค่าไฟฟ้าในครัวเรือน วัสดุการก่อสร้าง การศึกษา การดูแลสุขภาพและค่าเช่าที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ รองนายกฯ ยังได้แนะนำให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการทบทวนและวิเคราะห์ปัจจัยหรือสาเหตุที่มีผลกระทบต่อวัตถุดิบและผลผลิต เพื่อนำไปปรับปรุงการจัดการด้านราคา

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-inflation-forecast-to-reach-4-8-in-2023/

ประชาชนสปป.ลาวกว่า 1 ล้านคน เผชิญปัญหาความไม่มั่งคงทางอาหาร

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และโครงการอาหารโลก (WFP) รายงานว่าประชาชนมากกว่า 1 ล้านคน ต้องทนทุกข์จากความไม่มั่งคงทางอาหารอย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดความกังวลต่อวิกฤตความมั่งคงทางอาหารในสปป.ลาว โดยประชาชนกว่า 1.04 ล้านคน (13.9% ของประชากรทั้งประเทศ) ได้รับการประเมินว่ามีความไม่มั่งคงทางอาหารอย่างเฉียบพลันอยู่ในระดับปานกลาง และคนกว่า 71,000 คน (0.9% ของประชากร) อยู่ในภาวะไม่มั่งคงทางอาหารเฉียบพลันขั้นรุนแรง สาเหตุของสถานการณ์ดังกล่าวมาจากราคาอาหารและเชื้อเพลิง ตลอดจนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน กำลังซื้อและรายได้ครัวเรือนที่ลดลงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติในปี 2565

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติประเทศลาว (LSB) ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น และพุ่งขึ้นสู่ระดับ 41.3% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี เพิ่มขึ้นจาก 40.3% ในเดือน ม.ค.

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten56_Over_1_y23.php

‘ภาวะเงินเฟ้อ’ กดดันประเทศในเอเชีย ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดขึ้น

รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ฉบับใหม่ ระบุว่าแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงสปป.ลาว ผลักดันให้มีการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่มีผลต่อเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกและทิศทางการส่งออกของภูมิภาคที่แย่ลง ทั้งนี้ สปป.ลาว มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในเอเชีย และคนจำนวนมากมีรายได้ที่ต่ำ ทำให้ต้องหันไปซื้อสิ้นค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

อีกทั้ง สำนักงานสถิติของสปป.ลาว เปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อ ในเดือน ก.พ.2566 เพิ่มขึ้น 41.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ที่ 40.3% การปรับเพิ่มขึ้นของราคาในครั้งนี้ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (49.3%) ในขณะเดียวกัน แขวงคำม่วน มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดของประเทศ (49.82%) รองลงมาแขวงเวียงจันทน์และแขวงหลวงพระบาง เป็นต้น

ที่มา : https://vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Inflation48.php

เงินเฟ้อ ก.พ. 66 ขยายตัว 3.79% ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน พาณิชย์คาดครึ่งปีหลังอาจแตะ 0%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนก.พ.66 อยู่ที่ระดับ 108.05 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้น 3.79% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือนม.ค.66 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงมาจากราคาพลังงาน และอาหารสดที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) เพิ่มขึ้น 4.40% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนก.พ. อยู่ที่ระดับ 104.17 ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 1.93% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.48% โดยอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มเป็นขาลง พร้อมคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีโอกาสจะได้เห็นเงินเฟ้อลดลงไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 0% เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อน รวมทั้งหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/27512/