ชาติอาเซียนเริ่มเปิดประเทศ ละทิ้งหลักปลอดโควิด หลังผ่านจุดพีค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อยู่ร่วมกับไวรัส

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า หากเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยว ทั้งที่ประชาชนในประเทศที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ครบถ้วน ยังมีจำนวนต่ำอยู่ อาจทำให้ระบบสาธารณสุขต้องรับผู้ป่วยโควิดจนล้นมืออีกครั้ง ด้านสำนักข่าว CNN รายงานว่า โควิด-19 ได้ระบาดหนักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เนื่องจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ Delta ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่หลังจากใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือ จำกัดการเคลื่อนที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ขณะนี้หลายชาติในอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย กำลังละทิ้งนโยบาย “Zero-Covid” หรือ “โควิดเป็นศูนย์” หันมาหาทางใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ และกำลังมองหาการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดพรมแดนรับนักเดินทางจากต่างประเทศอีกครั้ง โดยจุดสูงสุดของการระบาดเพิ่งผ่านพ้นไป ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ก็ยังต่ำมากในหลายพื้นที่ แต่รัฐบาลหลายชาติในอาเซียน ก็เตรียมจะเปิดประเทศรับนักเดินทางต่างชาติอีกครั้งแล้ว

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/world/91673/

ผลกระทบช่วงการ LOCKDOWN กรกฎาคม -สิงหาคม 2564

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผลกระทบช่วงการ Lockdown กรกฎาคม -สิงหาคม 2564 จากกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 284 ราย และกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชนจำนวน 1,164 ราย ผลการศึกษา ดังนี้

1. ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ได้รับผลกระทบทางลบมากถึงร้อยละ 74.16 โดยที่ระหว่างการ Lockdown กับการเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ร้อยละ 77.32 มาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วง COVID 19 พบว่าอยู่ในระดับไม่เพียงพอ ร้อยละ 48.22% และมีความพึงพอใจในมาตรการอยู่ในระดับน้อย ร้อยละ 46.50 ด้านทัศนะต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่า เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 61.24 โดยมีความพอใจอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 54.08 ส่วนผลกระทบจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่าได้รับผลกระทบทางบวกถึง ร้อยละ 64.2 ด้านมุมมองต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในจังหวัด พบว่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 50.00 ส่วนรูปแบบการจ้างงานในจังหวัด ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.31 เป็นการจ้างงานไม่เต็มเวลา/ถูกลดชั่วโมงการทำงานลง หลังการผ่อนคลายมาตรการ มองว่าธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติ เหมือนกับช่วงก่อน COVID 19  ภายในเดือนตุลาคม ร้อยละ 32.63 ส่วนมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.40 เติบโตน้อยกว่า 0.0 และมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.09 เติบโตน้อยกว่า 0.0 เช่นกัน ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ ควรจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศให้เร็วและทั่วถึงที่สุด ควรกำหนดมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และผ่อนคลายมาตรการการกักกันโรค (Lockdown) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดาเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

2. ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชน พบว่า ได้รับผลกระทบทางลบมากถึงร้อยละ 72.7 โดยที่ระหว่างการ Lockdown กับการเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเปิดให้ดำเนินการธุรกิจ/เศรษฐกิจ ร้อยละ 59.2 ด้านมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วง COVID 19 พบว่าอยู่ในระดับน้อย ร้อยละ 33.5% โดยมีความพึงพอใจในมาตรการอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.6 ด้านทัศนะต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่า เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.1 มีความพอใจอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.4 ส่วนผลกระทบจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พบว่าได้รับผลกระทบทางบวกถึง ร้อยละ 44.7 ด้านรูปแบบการจ้างงาน ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 ยังทำงานเป็นปกติ ส่วนมุมมองหลังการผ่อนคลายมาตรการ มองว่าธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติ เหมือนกับช่วงก่อน COVID 19  ภายในเดือนพฤศจิกายน ร้อยละ 42.5 ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ได้แก่ เพิ่มมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกพื้นที่ ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการสถานการณ์ COVID 19 ให้ได้ดีกว่านี้ และกำหนดแผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นต้น

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

คนเวียดนามซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้น ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19

จากการศึกษาของ iPrice เปิดเผยว่าผลการจัดอันดับธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเวียดนามเปลี่ยนแปลงไปในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ด้วยจำนวนการค้นหาร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มอย่าง ‘Google’ ที่พุ่งสูงขึ้น ผลการศึกษาดังกล่าว พบว่าร้านค้าปลีกออนไลน์ถือเป็นหมวดหมู่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการเพิ่มขึ้นของร้านค้าออนไลน์ที่ขายสินค้าจำเป็นในช่วงการเว้นระยะทางสังคม ทั้งนี้ จำนวนการค้นหาบนบนแพลตฟอร์ม ‘Google’ ที่เกี่ยวข้องกับร้านค้าปลีกออนไลน์ พุ่งทะยาน 223% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 จำนวนการค้นหาในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 11 เท่า เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. นอกจากนี้ iPrice พบว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในเวียดนามถูกที่สุดในอาเซียน โดยผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับอาหารสด เครื่องดื่ม สินค้าที่บรรจุเสร็จ ผลไม้และผัก เป็นต้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-consumers-demand-for-shopping-groceries-online-soars-amid-covid19/208202.vnp

 

‘เวียดนาม’ เผยยอดขายยานยนต์ชะลอลง เหตุโควิด-19

ยอดขายยานยนต์ของเวียดนามในเดือนสิงหาคมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และอยู่ในระดับแตะจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2558 สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งเวียดนาม (VAMA) เปิดเผยว่าในเดือนดังกล่าว ตัวเลขของยอดขายลดลง 45% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สมาชิกของสมาคมฯ มียอดขายยานยนต์รวมทั้งสิ้น 175,400 คัน ลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากแบ่งประเภทยานยนต์ พบว่ายอดขายของยานยนต์ส่วนบุคคล 121,549 คัน และยานยนต์เชิงพาณิชย์ 50,034 คัน และยานยนต์วัตถุประสงค์พิเศษ 3,817 คัน นอกจากนี้ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 เมื่อปลายเดือนเมษายน กลุ่มตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ โรงงานและศูนย์ซ่อมยานยนต์หลายแห่งของสมาคมฯ ต้องหยุดดำเนินกิจการ เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-automobile-sales-slip-to-record-low-due-to-covid19/207891.vnp

ทางการกัมพูชารายงานถึง FDI ใหม่ในช่วงของการแพร่ระบาด

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) กล่าวเมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมาว่า ตามข้อเสนอการลงทุนสำหรับโครงการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของบริษัท Flourish Garment (Cambodia) Co., Ltd. คณะกรรมการการลงทุนของ CDC กัมพูชา ได้ออกใบอนุมัติการจัดตั้งขั้นสุดท้ายให้แก่บริษัทที่ตั้งอยู่ในอำเภอเกียนสวาย จังหวัดกันดาล ด้วยเงินลงทุนประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้ประมาณ 1,414 ตำแหน่ง ซึ่งทางการกัมพูชารายงานให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน แม้สถานการณ์ของโควิด-19 ในกัมพูชาจะยังไม่จบลง โดยเห็นได้จากโครงการลงทุนใหม่จากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก ตามรายงานของ CDC ที่ได้อนุมัติโครงการลงทุนมากกว่า 90 โครงการในช่วงของการแพร่ระบาด โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2021 สร้างงานให้กับคนในประเทศมากกว่า 60,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50932715/despite-pandemic-fdi-continue-to-flow-into-cambodia-with-5-million-garment-factory-in-kien-svay/

ไทยเฮ!‘IMF’จัดสรรเงินช่วย แนะใช้1.4แสนล้านบ.สู้โควิด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มีมติให้จัดสรรเงินจากกองทุน SDRs จำนวนมากถึง 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับประเทศสมาชิก ขณะที่ไทยที่ได้รับเงินจัดสรรด้วยในวงเงินราว 1.4 แสนล้านบาทหรือ 4.4 พันล้านดอลลาร์ ขณที่ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า รัฐบาลควรหารือกับ ธปท. เพื่อนำเงิน SDRs ที่ได้รับการจัดสรรมาใหม่จำนวนนี้มาใช้ด้านการคลัง โดยมุ่งไปที่การเยียวยาผู้ว่างงานและลงทุนทางการศึกษา การจัดซื้อวัคซีนและการลงทุนทางด้านสาธารณสุข เห็นควรใช้ SDRs ไปแลกกับเงินสกุลหลักเพื่อนำมาจัดซื้อวัคซีน นอกจากเป็นการช่วยเหลือประเทศและประชาชนแล้ว ยังเป็นการช่วยเสริมสภาพคล่องในระบบการเงินโลกอีกด้วย

ที่มา: https://www.naewna.com/business/601657

‘เวียดนามเตรียมเปิด ‘เกาะฟูโกว๊ก’ ต้อนรับนนท.ต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้ว

กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของเวียดนาม เตรียมเสนอให้เกาะฟูโกว๊ก (Phu Quoc) เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีหนังสือเดินทางวัคซีนในเดือนตุลาคม นาย Nguyen Trung Khanh ประธานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) กล่าวว่าแผนงานดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องระยะเวลา 6 เดือนและอาจมีการปรับแผนขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเกาะฟูโกว๊กต้องได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้วครบ 2 โดสที่ททางการเวียดนามรับรอง และต้องผ่านการทดสอบด้วยวิธี RT-PCR ทั้งนี้ นาย Nguyen Luu Trung รองประธานจังหวัดเกียนซาง แสดงถึงความกังวลว่าในปัจจุบัน เกาะฟู้ก๊วกได้รับการฉีดวัคซีนเพียง 35%ของประชากรทั้งหมด และจำเป็นต้องสรรหาวัคซีนเพิ่มอีกราว 250,000-300,000 โดส เพื่อให้มีความครอบคลุมได้อย่างปลอดภัย

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20210911/vietnam-prepares-to-welcome-vaccinated-foreign-tourists-to-phu-quoc/63038.html

‘เวียดนาม’ เผยทิศทางการส่งออกขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าสิ้นปีนี้ ยอดการส่งออกสูงถึง 313 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี หากเวียดนามสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมียอดการส่งออก/นำเข้ารวม ประมาณ 242.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 27.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นผลมาจากช่วงครึ่งแรกของปีเติบโตได้ดีและมั่งคง ทั้งนี้ สินค้าที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ โทรศัพท์มือถือและชิ้นส่วน 35.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 33.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ดี การส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าการระบาดของโควิดระลอกที่ 4 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักและศูนย์กลางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศ ตลอดจนก่อให้เกิดการอพยพของคนงานจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1026158/export-outlook-depends-on-virus-control.html

ธนาคารโลกรายงานผลสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิดที่รุนแรงขึ้น

ผลสำรวจของธนาคารโลกจากจำนวนครัวเรือนที่สุ่มเลือก 2,000 ครัวเรือน ระบุว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินต่อไปได้ทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจในสปป.ลาวรุนแรงขึ้นในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ เนื่องจากการจ้างงานลดลงอย่างรวดเร็ว และครัวเรือนและภาคธุรกิจต่างๆ ประสบกับรายได้ที่ลดลง ด้านธุรกิจภายในเดือนพฤษภาคม 2564 ธุรกิจ 5.5% ปิดถาวร ขณะที่ 33% ปิดชั่วคราว ในบรรดาธุรกิจต่างๆ ที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ 65% พบว่ารายได้ลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ รายงานยังได้รายงานอีกว่า รายได้ที่ลดลงและการสูญเสียงานทำให้หลายครัวเรือนเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความยากจนท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและค่าครองชีพในสปป.ลาวที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Economic_173.php

‘ภาคการผลิตของเวียดนาม’ ปรับตัวลดลง เหตุโควิด-19 ระบาด

ผลสำรวจโดยนิกเกอิ ชี้ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ปรับตัวลงสู่ระดับ 40.2 ในเดือนสิ.ค. จากระดับ 45.1 ในเดือนก.ค. สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตของเวียดนามต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 ทั้งนี้ แอนดรูว์ ฮาร์เกอร์ รองผู้อำนวยการ IHS Markit กล่าวว่าผู้ผลิตของเวียดนามกำลังเผชิญกับปัญหาการดำเนินงานในปัจจุบันที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมาตรการข้อจำกัดต่างๆ ที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้า อีกทั้งธุรกิจส่วนใหญ่คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะขยายเวลาต่อไปมากขึ้น ในขณะเดียวกันตลาดแรงงานของภาคการผลิต ประสบปัญหาจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ภาคธุรกิจยังคงให้พนักงานบางส่วนอยู่ในสถานที่ทำงาน แต่พนักงานบางส่วนยังไม่สามารถเข้ามาทำงานได้ เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วนั้น การจ้างงานลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน

ที่มา : https://hanoitimes.vn/vietnam-manufacturing-output-declines-on-covid-19-outbreak-318571.html