คุมเข้มทุเรียนเพื่อนบ้านสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งออกจีน

กรมการค้าต่างประเทศ สั่งคุมเข้มทุเรียนเพื่อนบ้านสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งออกไปจีน ห่วงกระทบภาพลักษณ์ทุเรียน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า  กรมฯ ได้รับแจ้งให้สำนักงานพาณิชย์ และผู้ส่งออกจังหวัดจันทบุรีเร่งตรวจสอบ หลังพบว่ามีการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน มาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทย พร้อมกับใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งถือเป็นการปลอมแปลงถิ่นกำเนิด และส่งผลต่อภาพลักษณ์รวมถึงชื่อเสียงของทุเรียนไทย “เพื่อป้องกันการสวมสิทธิทุเรียนไทย และป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิด กรมฯ จึงได้ดำเนินการเพิ่มสินค้าทุเรียนในบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนในการพิจารณาออกหนังสือรับรองฯ เข้มงวดและรัดกุมยิ่งขึ้น” หรับสินค้าทุเรียนที่ถูกสวมสิทธินั้น ประกอบด้วย ทุเรียนสด  พิกัดศุลกากร 0810.60 และทุเรียนแช่แข็ง  พิกัดศุลกากร 0811.90 ซึ่งกรมฯ ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองฯ ทุกประเภท สำหรับสินค้าทุเรียนดังกล่าว โดยให้ผู้ยื่นขอหนังสือรับรองฯ ต้องระบุข้อความยืนยันแหล่งที่มาของทุเรียนในประเทศที่ขอรับหนังสือรับรองฯ เพิ่มเติมลงในแบบขอรับการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร  ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.63 เป็นต้นไป นายกีรติกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว จะเป็นการดำเนินงานเชิงรุกในการป้องกันการสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าทุเรียน เพื่อให้ไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่า ทุเรียนที่ส่งออกจากไทยเป็นทุเรียนที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง โดยจากสถิติการส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งของไทย ปี 63 (ม.ค.-ต.ค.) ปริมาณรวม 631,394 ตัน มูลค่า 69,153 ล้านบาท ปริมาณลดลง 4.2% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 42.9%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 โดยส่งออกไปยังประเทศ 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม ตามลำดับ

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/818113

เจาะเคล็ดลับส่งเครื่องปรุงรสไทยตะลุยตลาด CLMV

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

 

ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกอาหารสดกับอาหารแปรรูปไปต่างประเทศอยู่แล้ว ขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรสก็เป็นอีกสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้ไทยปีละเกือบ 800 ล้านดอลลาร์ฯ แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างน้อยเพียง 0.4% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก ขณะที่ในแง่ของศักยภาพการส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยติดอันดับ 6 ของโลก (อันดับหนึ่งคือสหรัฐฯ ตามมาด้วยจีน อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และไทยตามลำดับ) คิดเป็นสัดส่วน 5.8% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสทั่วโลก (มีมูลค่าราว 13,600 ล้านดอลลาร์ฯ) นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น ด้วยความที่เครื่องปรุงรสของไทยมีจุดแข็งตรงที่สามารถตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวเอเชียที่มักจะต้องมีเครื่องปรุงรสประกอบในแต่ละมื้อได้ค่อนข้างดี

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเครื่องปรุงรสที่ไทยส่งออกมากที่สุดอยู่ในกลุ่มเครื่องปรุงแบบเอเชียที่เป็นจุดแข็งของไทย อาทิผงปรุงรส 24% ตามมาด้วยซอสพริก/ซอสถั่วเหลือง 18% เครื่องแกงสำเร็จรูป 9% น้ำปลา 9% และวัตถุดิบอื่นๆ 41% (อาทิ กะปิ) ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นคนละประเภทกับเครื่องปรุงรสแบบตะวันตกที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มซอสมะเขือเทศ มัสตาร์ด ขณะที่จีนแม้จะมีกำลังผลิตขนาดใหญ่และเป็นผู้ส่งออกหลักในฝั่งเอเชีย แต่ความเชี่ยวชาญของจีนจะอยู่ในกลุ่มซอสถั่วเหลืองเป็นหลัก นอกจากนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญดังกล่าวทำให้สินค้าเครื่องปรุงรสของไทยส่วนใหญ่มีปลายทางอยู่ที่ตลาดอาเซียนถึง 31% ของการส่งออกเครื่องปรุงรสทั้งหมดของไทย และครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวล้วนส่งไปประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) สำหรับตลาดอื่นๆ ก็จะมีสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ 21.5% และ 12.3% ตามลำดับ

.

ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยมีโอกาสทำตลาดใน CLMV ได้อีกมากโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ไทยมีศักยภาพ ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคที่ใกล้เคียงกับไทย และเครื่องปรุงรสของไทยได้รับการตอบรับที่ดีในประเทศ CLMV อาทิ ผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ดังจะเห็นได้จากปริมาณการนำเข้าเครื่องปรุงของ CLMV มีมูลค่าราว 144 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 ในจำนวนดังกล่าวไทยครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งมีมูลค่าประมาณ 71 ล้านดอลลาร์ฯ อีกทั้ง ไทยยังเป็นแหล่งนำเข้าหลักอันดับ 1 ในผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสด้วยสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% ทั้งของการนำเข้าในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา สำหรับตลาดเวียดนามแม้สินค้าไทยจะได้รับความนิยมครองส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าอันดับหนึ่ง 1 แต่มีสัดส่วนเพียง 27% เท่านั้น

 

เวียดนามเป็นตลาดเครื่องปรุงรสที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม CLMV มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนและฝรั่งเศส อาหารท้องถิ่นของเวียดนามจึงต่างจากไทยทำให้การบริโภคเครื่องปรุงรสของเวียดนามก็แตกต่างกับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา โดยเครื่องปรุงของเวียดนามจะเป็นพริกซอยดองในน้ำส้มสายชู ซอสพริกในรูปแบบเวียดนาม น้ำจิ้มอาหารทะเลที่ใช้ทำจากเกลือ ผสมพริกไทย ผงชูรส และน้ำมะนาว นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังโควิด-19 ในปี 2564 กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนประชากรกว่า 97.3 ล้านคน การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่า 18 ล้านคน (ในปี 2562) ทำให้เวียดนามเป็นอีกตลาดที่น่าจะมีความต้องการเครื่องปรุงรสตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารนานาชาติทั้งจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จึงเป็นโอกาสให้ SME ไทยในการเจาะตลาดเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ทำได้ดีอยู่แล้วและเครื่องปรุงรสในกลุ่มอาหารนานาชาติที่น่าจะเป็นโอกาสสำคัญ อย่างไรก็ดี ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยที่จะขยายตลาดในกลุ่มอาหารนานาชาติคงต้องแข่งกับแบรนด์เครื่องปรุงรสของจีนและเกาหลีใต้ที่ทำตลาดอยู่ก่อนแล้วโดยมีส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าที่ 13% และ 12% ตามลำดับ

 

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SME ในธุรกิจเครื่องปรุงรสประสบความสำเร็จต่อเนื่องในตลาด CLMV ได้คือความเข้าใจวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร การผสมผสานรสชาติการรับประทานอาหารแบบตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาเครื่องปรุงรสให้ตอบโจทย์ความต้องการครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้ โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสในแบบเอเชียที่ไทยทำได้ดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรเน้นไปที่ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในแง่ของความสะดวกในการรับประทานที่น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดได้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม อาทิ บรรจุภัณฑ์สำหรับรับประทานในครัวเรือน บรรจุภัณฑ์แบบซองที่พร้อมรับประทานเป็นมื้อสำหรับจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อบรรจุภัณฑ์แบบซองสำหรับให้ร้านอาหารนำไปใช้จำหน่ายแบบซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน นอกจากนี้เครื่องปรุงรสในกลุ่มที่ตอบโจทย์อาหารนานาชาติก็น่าจะเป็นอีกกลุ่มที่ช่วยขยายโอกาสให้แก่ SME ไทย ทั้งในตลาด CLM ที่ก็น่าจะมีพื้นที่ตลาดให้สินค้าไทยทำตลาดต่อยอดได้มากขึ้นอีก รวมทั้งตลาดเวียดนามที่มีความต้องการบริโภคอีกมาก ให้สินค้าไทยรุกเข้าทำตลาด ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ผู้ประกอบการก็อาจใช้กลยุทธ์เพิ่มความหลากหลายในบรรจุภัณฑ์เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มข้างต้น

ที่มา : https://kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/article/KSMEAnalysis/Pages/SMEseasoning_SME.aspx

ผู้เชี่ยวชาญแนะรัฐบาลกัมพูชาลดภาษีนำเข้าสินค้าบางส่วนลง

กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแนะให้ลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรกลไฟฟ้าและชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อลดต้นทุนการผลิตในภาคการผลิตลง โดยจากการสำรวจของกระทรวงฯ พบว่าอัตราภาษีนำเข้าสินค้าและชิ้นส่วนของกัมพูชาในปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 15 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและเวียดนามตรึงไว้ที่ร้อยละ 5 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าหากกัมพูชาต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางด้านการผลิตที่ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการส่งออกและยังส่งเสริมการกระจายความเสี่ยงจากตลาดส่งออกที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยจะต้องดำเนินการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าประเภทเครื่องจักรกลร่วมด้วยเพื่อลดต้นทุนการผลิตสำหรับบริษัทข้ามชาติที่จะทำการลงทุนหรือทำการพัฒนาในกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลได้เคลื่อนไหวในการลดอัตราภาษีในสินค้าบางรายการ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมาได้ประกาศลดภาษีนำเข้าและภาษีพิเศษสำหรับสินค้า 35 ประเภท จุดประสงค์คือเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในท้องถิ่นเนื่องจากการเติบโตของภาคส่วนเหล่านั้นทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างโอกาสในการจ้างงานมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50800405/experts-cite-need-for-import-tariff-reductions/

เอกชนเชียร์บิ๊กตู่ล็อกดาวน์แค่พื้นที่เสี่ยง

เอกชนเชียร์บิ๊กตู่ล็อกแค่พื้นที่เสี่ยง หวั่นล็อกทั้งประเทศ ศก.เจ็บหนักแน่ จี้รัฐเพิ่มสิทธิคนละครึ่งอีก 20-30 ล้านราย หวังหล่อเลี้ยงร้านค้า–ลดภาระประชาชน  พับเราเที่ยวด้วยกันไปก่อน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับมาตรการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ประกาศไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ หรือประกาศเคอร์ฟิว โดยใช้วิธีแก้ปัญหาเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงไป เนื่องจากหากประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรงแน่นอน  เพราะตอนนี้ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะเสี่ยงสูงทั้งหมด พื้นที่ไหนมีปัญหา ก็เลือกแก้เฉพาะจุด มีความเหมาะสมมากกว่า พื้นที่ไหนพอไปได้ ความเสี่ยงน้อย ก็ให้เฝ้าระวัง และป้องกันอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อให้เศรษฐกิจยังพอขับเคลื่อนได้  นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เบื้องต้นได้ประเมินความเสียทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดรอบ 2 เสียหายประมาณวันละ 3,000 – 5,000 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 1–1.5 แสนล้านบาท เป็นผลจากประชาชนชะลอการใช้จ่าย เทียบจากการประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศครั้งแรกช่วงเดือน มี.ค.–เม.ย. 63 มีมูลค่าความเสียหายวันละ 10,000 ล้านบาท แม้การระบาดรอบ 2 จะยังไม่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่มีมูลค่าความเสียหายสูง เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้กึ่งๆ ล็อกดาวน์ทั้งประเทศแล้ว และจังหวัดที่ล็อกดาวน์ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ทั้งนี้ภาครัฐ ควรกระตุ้นมาตรการทางเศรษฐกิจลงมาเพิ่มเติมในไตรมาสแรก เพื่อชดเชยมูลค่าเศรษฐกิจหายไปเป็นแสนล้านบาท โดยพาะมาตรการคนละครึ่ง ที่เห็นผลอย่างชัดเจนในการช่วยกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และช่วยลดภาระค่าครองชีพ ควรเปิดกว้างเพิ่มเติมอีก 20 -30 ล้านราย เพื่อกระจายอย่างทั่วถึง ซึ่งไม่รวมกับผู้ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้ว ขณะที่โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ควรชะลอไปก่อน รอให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วกลับมาให้คนเดินทางท่องเที่ยวใหม่ เชื่อว่า หากเติมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปี 64 ขยายตัวได้บวก 2-3% แต่ถ้าไม่มีมาตรการกระตุ้นออกมา จีดีพีจะขยายตัวในกรอบ 0-2% เท่านั้น      

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/816820

เอกชนวอนรัฐแจงพร้อมสนองนโยบายล็อกดาวน์

หอการค้าตะวันออกวอนรัฐชี้แจงมาตรการล็อกดาวน์-ภาคท่องเที่ยวจี้ใช้วัคซีนด่วนหวั่นเสียหายหนัก นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย หรือประธานหอการค้าภาคตะวันออก กล่าวว่า หากรัฐจะประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ภาคตะวันออก ต้องการให้รัฐเรียกผู้ประกอบการมาหารือร่วมกันก่อน เพื่อทำความเข้าใจในมาตรการต่างๆ เนื่องจากในพื้นที่มีโรงงานจำนวนมาก ที่ต้องทำงานต่อเนื่องไม่สามารถปิดได้ทันที เช่น โรงงานปิโตรเคมี เพราะต้องเร่งผลิตตามคำสั่งซื้อ ขณะเดียวกันขอให้รัฐชี้แจงให้ชัดเจนถึงความหมายของ ล็อกดาวน์ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน เนื่องจากขณะนี้มีความเข้าใจความหมายที่แตกต่างกัน “ถ้าล็อกดาวน์แล้วไม่ยืดเยื้อผู้ประกอบการก็สามารถเข้าใจได้ เพราะตอนนี้ โรงแรม ท่องเที่ยว กระทบอย่างหนัก และไม่รู้ว่าจะทนได้นานแค่ไหน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ครั้งแล้ว ซึ่งครั้งแรก โควิดที่เกิดต้นปี ครั้งที่ 2 กรณีเกิดการระบาดจากทหารอียิปต์ และครั้งนี้ที่เกิดระบาดระลอกใหม่ ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ว่าจำนวนเท่าใด แต่คาดว่าหลายพันล้านบาท” นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวว่า ทางภาคเอกชนท่องเที่ยว โดยสมาคมขอให้รัฐบาลรีบพิจารณานำวัคซีนมาใช้โดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นของประเทศใดก็ได้ นอกเหนือจากที่รัฐได้ทำสัญญาไว้ก่อนหน้านี้เพื่อสร้างความมั่นใจ ให้กับประชาชน และจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะกิจการไม่จำเป็นต้องปิดอะไรมาก ส่วนเรื่องของการท่องเที่ยวในประเทศได้รับผลกระทบแน่นอนจากการปิดกิจการต่างๆ โดยเอกชนยอมรับสถานการณ์พร้อมทำตามนโยบาย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/816626

การค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วง 11 เดือนแรก

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 6.6 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ไทย แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายนปีนี้กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 1,071 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 51 ในขณะเดียวกันกัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 5,580 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยการค้าทวิภาคีของกัมพูชาระหว่างประเทศใกล้เคียงในปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามกิจกรรมทางการค้าคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในไม่ช้าหลังจากการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง ซึ่งเมื่อปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยอยู่ที่ 9.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50799739/cambodia-thailand-bilateral-trade-valued-at-6-6-billion-in-first-11-months/

สปป.ลาวสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลไทยหลังการระบาดของ COVID -19 ครั้งใหม่

สปป.ลาวสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทยชั่วคราวหลังพบ COVID -19 ระบาดครั้งใหม่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสปป.ลาวกังวลว่าอาหารทะเลอาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส ดังนั้นการนำเข้าจึงถูกระงับโดยมีผลทันที คำสั่งห้ามดังกล่าวมีผลหลังจากที่อำเภอสมุทรสาครของไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการระบาดของ COVID -19 ครั้งใหม่โดยมีพบผู้ติดเชื้อกว่า 1,000 คน ส่งผลโดยตรงต่อผู้นำเข้าอาหารทะเลในสปป.ลาวได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถนำเข้าได้ สมุทรสาครถือเป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมประมงใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีมูลค่าในปี 2562 กว่า 5.8 พันล้านบาท ดังนั้นการเกิดการระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าผู้ประกอบการไทยจะสูญเสียเงินจากการส่งออกอาหารทะเลไปยังสปป.ลาวกว่า 100 ล้านบาท

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos251.php

ททท.คาดปีใหม่เงินสะพัดท่องเที่ยวแค่หมื่นล.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2564 คาดว่าหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของนักท่องเที่ยวเกิดความหวั่นวิตกกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ทั้งนี้ ททท.ประเมินว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวปีใหม่ 2564 ซึ่งเป็นวันหยุดยาวต่อเนื่อง 4 วัน ระหว่างวันที่ 31 ธ.ค.63 – 3 ม.ค. 64 คาดว่า จะมีคนไทยเดินทางภายในประเทศ 2.75 ล้านคน-ครั้ง และมีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่มากว่า 10,742 ล้านบาท โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 37% ซึ่งลดลงจากปีก่อนมาก เพราะปีที่ผ่านมามีวันหยุดยาวถึง 5 วัน และมีการเดินทางท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ เพราะเป็นช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยสร้างรายได้หมุนเวียนมากถึง 23,800 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเกิดล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร แต่ก็ยังไม่นำไปสู่การล็อกดาวน์เป็นวงกว้าง ดังนั้น บางพื้นที่จึงยังจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 64 ที่ ททท. เป็นผู้จัด หรือร่วมสนับสนุนการจัดงานใน 4 พื้นที่ทั้งเมืองหลักและเมืองรองตามภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ กระบี่ ราชบุรี และร้อยเอ็ด แต่การจัดงานได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ยกระดับความปลอดภัยตามมาตรการควบคุมโรค คาดว่ามีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางเข้าพื้นที่ประมาณ 4.71 แสนคน-ครั้ง และมีรายได้หมุนเวียน 1,800 ล้านบาท

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/814874

การค้าระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชายังคงดำเนินต่อแม้มีการติดเชื้อภายในประเทศไทย

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยพุ่งสูงขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดในเขตจังหวัดสมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อเกือบ 1,000 คน ทำให้รัฐบาลกัมพูชากังวลเป็นอย่างมากจากการระบาดรอบใหม่นี้ แต่อย่างไรก็ตามการกำหนดมาตรการพิเศษด้านศุลกากรโดยรัฐบาลทั้งสองประเทศกล่าวว่ายังคงสามารถทำการค้าระหว่างกันได้ตามปกติ ณ ชายแดนไทย-กัมพูชา ภายใต้มาตรการที่ได้ทำการกำหนด โดยรองประธานหอการค้ากัมพูชากล่าวว่าจนถึงขณะนี้การค้าชายแดนกัมพูชา-ไทยยังคงปกติและไม่มีปัญหาความแออัดหรือความล้มเหลวในการเคลียร์สินค้าเนื่องจากมาตรการความปลอดภัย โควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้นจากทั้งสองรัฐบาล ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในคู่ค้าหลักของกัมพูชา โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อาหารแช่แข็ง และวัตถุดิบแปรรูปจำนวนมาก ที่ขายในตลาดกัมพูชาที่ทำการนำเข้าจากประเทศไทย จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 แสดงให้เห็นว่าปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยอยู่ที่ 5.569 พันล้านดอลลาร์ลดลงร้อยละ 19 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยการส่งออกของกัมพูชาอยู่ที่ 958 ล้านดอลลาร์ลดลงร้อยละ 48 ในขณะที่การส่งออกไปกัมพูชาของไทยอยู่ที่ 4.611 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 9 ซึ่งการลดลงของการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยเกี่ยวข้องกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคระบาดในปีนี้เป็นหลัก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50796894/business-as-usual-despite-recent-thai-virus-outbreak/

ถนนเชื่อมระหว่างกัมพูชาและไทยใกล้แล้วเสร็จตามกำหนดการ

ถนนเชื่อมระหว่างจังหวัดตราดของประเทศไทยกับอำเภอเวลแวงของกัมพูชาในจังหวัดโพธิสัตว์แล้วเสร็จกว่าร้อยละ 90 และคาดว่าจะพร้อมใช้งานในเร็วๆนี้ โดยรัฐบาลไทยใช้เงินเกือบ 2 ล้านดอลลาร์ในการสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศเพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นถนนขนาด 4 เลน กว้าง 14 เมตร ยาว 1.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างด่านพรมแดนในจังหวัดตราดของประเทศไทยและถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 55 โดยการก่อสร้างเกิดจากความเห็นชอบของรัฐสภาไทยตามคำร้องขอจากผู้ว่าราชการจังหวัดตราดเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2019 โดยเส้นทางการค้านี้จะกลายเป็นช่องทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่เชื่อมโยงการค้าและธุรกิจของประเทศต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถนนแห่งชาติสาย 55 ของกัมพูชาเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเชื่อมต่อกับ National Road 5 กับจังหวัดตราด ที่มีความยาว 182 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างชายแดน กัมพูชา-ไทย มูลค่าการก่อสร้างรวม 132.8 ล้านดอลลาร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนร่วมกับกองทุนเงินทดแทนของรัฐบาลกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50796224/thailand-cambodia-road-link-almost-complete/