DITP รุกตลาดเอเชีย จัดเจรจาการค้าออนไลน์ เร่งส่งออกสินค้าไทยเข้าห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำกว่า 600 สาขา

ภายใต้แนวคิด “ Taste of Thailand” หลังเห็นลู่ทางสดใส จัดเจรจาธุรกิจออนไลน์ 5 วัน คาดการณ์มูลค่าการสั่งซื้อกว่า 200 ล้านบาท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งมอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) หรือทูตพาณิชย์ ทำหน้าที่เป็นพนักงานขายหรือเซลส์แมนประเทศ เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าไทย ซึ่งกรมฯ เล็งเห็นถึงโอกาสของสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงจัดกิจกรรม “Taste of Thailand”  โดยมีกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรม คือ การเจรจาการค้าออนไลน์ (Online Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าที่มีอำนาจในการสั่งซื้อของห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย จีน และมาเลเซีย เพื่อจัดซื้อ (Sourcing) สินค้าไทยเพิ่มเติม

ที่มา : https://www.posttoday.com/pr/641009

ธนาคารโลกแนะเพิ่มลงทุน ยกระดับสู่ประเทศรายได้สูง

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง “ผลิตภาพการผลิตขององค์กรในประเทศไทย” ว่า  หากประเทศไทยต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยการเปลี่ยนจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2580 และฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโควิด จำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มผลิตภาพการผลิตในในภาคการผลิต โดยจะต้องรักษาอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยให้ได้มากกว่า 5% ไปจนถึงปี 2568 และเพื่อให้การเติบโตเป็นไปตามเป้านี้ จำเป็นที่ต้องเพิ่มการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนจากปัจจุบันที่ 20% ให้ถึง 40% ในขณะที่ยังคงรักษาอัตราการเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวม ซึ่งคล้ายกับกรณีของประเทศเกาหลีใต้ที่ต้องรักษาการเติบโตในอัตรานี้ในช่วงที่มีค่า GDP ต่อหัวเท่ากับของประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ การเพิ่มผลิตภาพจะเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างในระยะยาวของประเทศไทย ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ ผลิตภาพ ที่จะต้องมุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น  เปิดกว้างต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)มากขึ้น และส่งเสริมระบบนิเวศน์ให้กับองค์กรในการสรรค์สร้างนวัตกรรม

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/913440

DITP สั่ง“ทูตพาณิชย์” ชี้แจงผู้ซื้อ ผู้นำเข้า สินค้าอาหารทะเลไทยมีคุณภาพ ปลอดโควิด-19

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สั่งการทูตพาณิชย์ที่เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารทะเลไทย เร่งสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าว่าสินค้าไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดโควิด-19 เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการส่งออก นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับผู้ส่งออกและได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และได้ประสานงานและกำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทย ให้เร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ในการสั่งซื้อสินค้าจากไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในการสร้างความเชื่อมั่นในการส่งออกสินค้าประมง ได้มีการจัดทำ “หนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID – 19 Prevention Best Practice)” ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย และเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีข้อมูลล่าสุดจากกรมประมงรายงานว่า มีผู้ส่งออก โรงงาน ได้ประสานงานติดต่อกับประมง เพื่อขอเข้ากระบวนการออกหนังสือรับรองดังกล่าวแล้ว จำนวน 51 ราย อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในสินค้าประมง โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ล่าสุดได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ประสานสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสาครและสำนักงานพาณิชย์ในจังหวัดใกล้เคียง ในการทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาประเมินสถานการณ์และหาวิธีการรับมือต่อปัญหาที่จะตามมาในอนาคตแล้ว

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9630000130044

เอกชนนัด อุตฯ สมุทรสาคร หารือรับมือโควิด-19

ส.อ.ท.ถกอุตฯ สมุทรสาคร ประเมินสถานการณ์โควิด-19 พร้อมแผนรับมือ ยืนยันโรงงานสมาชิกตรวจคัดกรองเข้มข้นปลอดการแพร่ระบาด นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 21 ธ.ค.2563 (พรุ่งนี้) สมาชิกส.อ.ท.จะร่วมกันหารือประเมินสถานการณ์และผลกระทบหลังมีการประกาศล็อกดาวน์พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครแล้วกว่า 500 คน เพื่อกำหนดแผนรับมือของภาคอุตสาหกรรมโดยมีนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมแถลงข่าวด้วย ทั้งนี้ ยืนยันว่าแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในโรงงานซึ่งเป็นสมาชิกส.อ.ท. เป็นแรงงานในระบบ มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวและมีใบอนุญาตถูกต้อง ตามกฎหมาย จึงมั่นใจได้ว่าโรงงานต่างๆ มีกระบวนการตรวจคัดกรองโรคอย่างเคร่งครัดตามที่กำหนด ไม่มีปัญหา นอกจากนี้ เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานว่ามีโรงงานสมาชิกของส.อ.ท.ปิดโรงงานจนส่งกระทบต่อกระบวนการผลิต แต่อาจมีบางส่วนอนุญาตให้สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ส่วนแรงงานที่ยังเดินทางเข้าทำงานในโรงงานส่วนใหญ่เป็นบุคลากรในพื้นที่ ซึ่งแต่ละโรงงานยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มข้นมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีโรงงานสิ่งพิมพ์ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร แต่ไม่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวแม้แต่ 1 คนทั้งยังมีมาตรการตรวจคัดกรองโรคอย่างละเอียด พร้อมมีโรงอาหารของตัวเอง จึงมั่นใจในการป้องกันและรักษาความปลอดภัยปราศจากการแพร่ระบาดของโรคได้

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/813930

COVID-19 กระทบส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปยังไทย

ปีงบประมาณนี้ การส่งออกข้าวโพดของเมียนมาไปยังไทยอาจลดลงเนื่องจากการระบาดของโควิด -19 ตลาดจะหดตัวในปีหน้าความล่าช้าอาจเกิดขึ้นได้ในการขนส่งจากเมียวดีไปยังไทยในช่วงที่โควิด -19 ระบาด แนวทางการป้องกัน COVID-19 ผู้ขับรถบรรทุกต้องได้รับการกักกัน 14 วัน ดังนั้นจึงมีคนขับน้อยซึ่งทำให้ไม่เพียงพอ ทั้งยังได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการเมืองของไทย เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศจีนถูกระงับตั้งแต่ปี 61 ผลผลิตข้าวโพดถูกส่งออกไปไทยมากกว่าหนึ่งล้านตันเพิ่มขึ้นจาก 700,000 ตันในปีก่อนหน้า

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-maize-exports-thailand-take-hit-due-covid-19.html

5 สัญญาณบ่งชี้จากเวียดนาม ที่ไทยต้องเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

โดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ I ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน I Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในบทความก่อน ๆ เราเคยมีการพูดถึงแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ที่วิกฤต COVID-19 จะทิ้งผลกระทบไว้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องค่อย ๆ จัดการกับแผลเป็นเหล่านี้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับบริบททางธุรกิจและเศรษฐกิจหลัง COVID-19

นอกจากเรื่องของแผลเป็นแล้ว COVID-19 ยังจะเป็นตัวเร่งสำคัญหนึ่ง ร่วมกับสงครามการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงการเร่งตัวของการใช้ digital technology ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตของโลก (global supply chain rearrangement) ซึ่งมีการคาดกันว่าส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงการกระจุกตัวของฐานการผลิต

คำถามคือแล้วบริษัทที่จะย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก และเป็นบริษัทจากหลายประเทศจะย้ายฐานการผลิตไปที่ไหน ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้รับประโยชน์ และจากการศึกษาของ SCB EIC ก็พบว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลบวกจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องด้วยความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านต้นทุนค่าแรง การพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับจีน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศ และโครงสร้างการส่งออก

ดังนั้น EIC จึงยังคงมุมมองทางบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลาง สำหรับไทย แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องเร่งยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้วแต่อาจจะยังไม่ค่อยได้ทำ (execute) กันมากเท่าที่พูด แต่มาถึงจุดนี้เราช้าไม่ได้แล้วครับ และ EIC ขออนุญาตชี้ถึงสัญญาณน่ากังวล 5 ข้อ เปรียบเทียบระหว่างเวียดนามและไทยที่บ่งชี้ว่าเราต้องรีบแล้วครับ

สัญญาณแรก : มูลค่า FDI เข้าเวียดนามเติบโตสูงและเข้าลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก ในขณะที่ FDI เข้าไทยค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในไทยยังขยายการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นในระยะหลัง

สัญญาณที่สอง : เวียดนามได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกอย่างมีนัย

สัญญาณที่สาม : ช่องว่างระหว่างค่าแรงไทยและเวียดนามมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากกำลังแรงงานในไทยลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับผลิตภาพแรงงานเวียดนามที่เติบโตสูงขึ้น

สัญญาณที่สี่ : ความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามด้านทักษะทางวิชาการและวิชาชีพคาดว่าจะพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

สัญญาณที่ห้า : เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมประเทศคู่ค้ามากกว่าไทย

ประเทศไทยจึงต้องเร่งนำยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง (Execution) ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็นที่ได้ผ่านการถกเถียงและวิเคราะห์มาเป็นเวลานานและเป็นวงกว้าง ในด้านผลิตภาพแรงงาน ปัญหาทักษะแรงงานที่ไม่ตรงความต้องการตลาดและคุณภาพการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญในวงสัมมนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในช่วง 2-3 ปีล่าสุด การเพิ่มทักษะและปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน (Upskill and Reskill) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็เป็นประเด็นสำคัญในเวทีเสวนาต่าง ๆ จำนวนมาก ในประเด็นของข้อตกลงทางการค้า ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาสนธิสัญญาการค้าใหม่หลายฉบับ แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้นำเอายุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถไปปฏิบัติ หรือบรรลุข้อตกลงทางการค้า ผลประโยชน์จากการศึกษาก็จะไม่เกิดขึ้นจริง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7283

เกษตรฯเร่งขยายตลาดสินค้าฮาลาลไปตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ

กระทรวงเกษตรฯ.รุกขยายตลาดสินค้าฮาลาลในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ สั่งเร่งลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรใน 3 จังหวัดภาคใต้อีกทั้งเห็นชอบวิสัยทัศน์ฮาลาล เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 7/2563 ประชุมผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ร่วมกับ ตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการพัฒนาและส่งเสริมมาตรฐาน “ฮาลาล” ในภาคการเกษตรไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับนานาชาติทั้งระบบ ทั้งนี้ ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” รายงานความก้าวหน้าของโครงการเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลของไทยผ่านดูไบ เพื่อประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังกลุ่มตลาดที่สำคัญในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯเห็นชอบ”วิสัยทัศน์ฮาลาล” รวมถึงความคืบหน้าโครงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และประเด็นสำคัญเรื่อง การแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอมปนเนื้อสุกร ซึ่งที่ประชุมได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหา โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ขณะที่ ผู้แทนกรมปศุสัตว์ได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการและการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งผู้บริโภคภายในและต่างประเทศ ต่อมาตรฐานสินค้าเกษตรอาหารฮาลาลไทย

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/640268

จุรินทร์ บุกท่าเรือแก้ ตู้คอนเทนเนอร์ ขาดแคลน 14 ธ.ค.นี้

รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันจันทร์ 14 ธ.ค.2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนและอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น  พร้อมตรวจเยี่ยมกิจการการท่าเรือ ณอาคารที่ทำการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ด้านนางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่าปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากสายเรือมีนโยบายจัดสรรระวางตู้สินค้า (Space Allocation) และจัดสรรตู้เปล่าหมุนเวียน (Container Allocation) กลับไปยังประเทศจีนและเวียดนามมาก เนื่องจากให้อัตราค่าระวางที่สูงกว่าไทย และการระบาดของ COVID-19 รอบ 2 ในยุโรปและสหรัฐ ทำให้ตู้สินค้าตกค้างที่ปลายทางเป็นจำนวนมาก ต่อเนื่องให้ปริมาณตู้สินค้าที่ต้องหมุนเวียนกลับสู่ระบบหายไปจำนวนมาก ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงให้อัตราค่าระวางที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทางสรท.ได้ขอให้สายเรือคงอัตราค่า Local Charge เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการไทย และขอให้ภาครัฐควรพิจารณามาตรการจูงใจให้สายเรือนำตู้เปล่ามายังประเทศไทย เช่น การยกเว้นค่ายกขนตู้เปล่ากลับมาประเทศไทย การยกเว้นค่าภาระท่าเรือให้กับเรือขนส่งสินค้าเป็นการชั่วคราว และขอให้ภาครัฐเจรจาในระดับประเทศเพื่อหาแนวทางส่งตู้ส่วนเกินในประเทศที่มีการนำเข้ามากกว่าส่งออก กลับมาให้ประเทศไทย

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/911654

เศรษฐกิจปีหน้าจะโต 4% ต้องทำอะไรอีกมาก

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2564 จะออกมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ติดลบ 12.1% แล้วก็ตาม แต่เมื่อเข้าสู่เดือนแรกของไตรมาส 4 ปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่าเศรษฐกิจไทยช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน ยกเว้นการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวระหว่าง 3.5-4.5% มีค่ากลางอยู่ที่ 4.0% โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าจะไม่เกิดการระบาดวงกว้างรอบ 2 จนถึงระดับที่จะต้องประกาศล็อกดาวน์อีกหรือไม่ แน่นอนว่าถ้าถึงระดับดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 อย่างแน่นอน นอกจากนี้ การส่งออกที่มีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทยสูงก็ยังต้องขึ้นกับการฟื้นตัวของการค้าโลกในปี 2564 ด้วย ซึ่งต้องส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศและกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ ในขณะที่การท่องเที่ยวและธุรกิจบริการในระยะยาวอาจต้องลดการพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวและเปลี่ยนมาพึ่งการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/911383

ทางหลวงเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย-ทิศตะวันตกเริ่มเดินหน้าก่อสร้างในปีหน้า

คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเผยการก่อสร้างทางหลวงสองช่องจราจรความยาว 140 กิโลเมตรที่เชื่อมระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (SEZ) ในเขตตะนาวศรีไปยังเกาะเตกีที่ชายแดนไทยจะเริ่มในกลางปี 2564 กระทรวงการก่อสร้างจะเป็นผู้ดูแลโครงการด้วยเงินกู้จากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านของไทย (NEDA) ทั้งนี้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการประเมินผลกระทบทางสังคมเพิ่งได้รับการอนุมัติ กระทรวงการวางแผนการเงินและอุตสาหกรรมเตรียมลงนามในสัญญาเงินกู้กับ NEDA. และคาดว่าจะมีการประมูลราคาในปีหน้า เมื่อเดินทางจาก SEZ จะใช้เวลาประมาณ 2.5 ชั่วโมงเพื่อไปยังเตกีโดยรถยนต์และอีก 2 ชั่วโมงยังกรุงเทพฯ การพัฒนาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากญี่ปุ่นเสนอให้ลงทุนใน SEZ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยชาวญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมในการลงทุนและพัฒนา มูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 20,000 เฮกตาร์ซึ่งจะดำเนินการเป็นระยะ ๆ และรวมถึงท่าเรือน้ำลึกและ high-tech zones

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/construction-highway-connecting-dawei-sez-htikhee-commence-next-year.html