พาณิชย์ร่วมหารือรัฐมนตรีเอเปค หนุนปรับทิศทางการค้ารับมือโควิด

พาณิชย์ร่วมหารือรัฐมนตรีเอเปค หนุนปรับทิศทางการทำงานรับมือผลกระทบจากโรคโควิด-19  และยกระดับการทำงานขององค์การการค้าโลก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการค้าและการลงทุน นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก รมว.พาณิชย์ ให้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคครั้งที่ 31 ผ่านระบบทางไกล โดยในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการหารือในเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตโลก และรัฐมนตรีเอเปคได้รับรองรายงานการดำเนินงานของคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน ประจำปี 63 เพื่อมอบหมายให้เขตเศรษฐกิจเร่งสานต่อการดำเนินการที่ยังไม่แล้วเสร็จให้สำเร็จตามเป้าหมายโบกอร์ต่อไป ทั้งนี้ ไทยได้ร่วมกล่าวโดยมีประเด็นสำคัญ คือ การเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคี ให้มีเสถียรภาพ ลดการหยุดชะงักทางการค้า และสนับสนุนการเจรจาภายใต้องค์การการค้าโลก อาทิ การอุดหนุนประมง และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น  การสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายโบกอร์ แสดงถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานในภาพรวมของเขตเศรษฐกิจเอเปค การให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งคำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยพร้อมสนับสนุนการดำเนินโครงการหรือข้อริเริ่มทางการค้า เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสมาชิกเอเปคจนนำไปสู่การจัดทำความตกลง   และสนับสนุนการไหลเวียนของสินค้าจำเป็นในภูมิภาคเอเปคโดยจะต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก และยินดีให้ความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจเอเปคในการกำหนดแนวทางร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่จำเป็น เพื่อรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/808360

จุรินทร์ ชี้ไทยได้ประโยชน์จากซีพีทีพีพี หลังร่วมลงนามอาร์เซ็ป-แต่ยังเหลือขั้นตอนทำสัตยาบัน

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์​ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมครม.ว่า ในที่ประชุมวันเดียวกันนี้ จะยังไม่มีการนำเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เข้าหารือ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป ซึ่งหลังจากลงนามาร่วมกันเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลบังคับใช้ทันที ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการให้สัตยาบันระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ รายละเอียดขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่กำหนดไว้ สำหรับประเทศไทยต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ถ้ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบ จึงจะสามารถแจ้งให้กับทางเลขาธิการอาร์เซ็ปทราบ ซึ่งตนจะเร่งนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาโดยเร็ว และให้ทันในสมัยประชุมนี้ มีระยะเวลาอีกเพียง 4 เดือนคือ พ.ย.2563-ก.พ.2564

ที่มา : https://www.naewna.com/business/532311

เวียดนามนำเข้ารถยนต์จำนวนมากจากไทย อินโดนีเซีย

จากรายงานของกรมศุลกากรเวียดนาม ระบุว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา เวียดนามนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศมากที่สุด (CBU) จากไทย จำนวน 38,800 คันและอินโดนีเซีย จำนวน 28,900 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84 ของการนำเข้ารวม ทั้งนี้ ในภาพรวม มูลค่าการนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ อยู่ที่ 1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวนมากกว่า 80,000 คัน ในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงร้อยละ 33.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม เวียดนามนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศทั้งหมด อยู่ที่ 13,650 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อน

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-imports-most-cars-from-thailand-indonesia-818105.vov

“สุพัฒนพงษ์” ชี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ลั่นปี’64 ปั๊มเศรษฐกิจเชิงรุก

“สุพัฒนพงษ์” ยิ้มรับ จีดีพี ไตรมาส 3 ฟื้นตัว มั่นใจไตรมาส 4 ดีขึ้นตามลำดับ ประชาชนให้ความร่วมมือตามนโยบายกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ท่องเที่ยวในประเทศ ลั่น ปี’64 ปีแห่งการลงทุน เร่งแผนปั๊มเศรษฐกิจเชิงรุก ลุยดึงดูดการลงทุนต่างชาติ วันที่ 16 พ.ย. 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้แถลงตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ – 6.4% นั้นเป็นการประเมินจากสถานการณ์เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ และจะส่งผลให้ไตรมาส 4 ดีขึ้นตามลำดับและตามซีซั่น พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า ปี2563 จะอยู่ที่ -6.7% จากเดิมที่หลายฝ่ายประเมินว่าอาจติดลบ 9-12% โดยถือว่าอยู่ในระดับดี เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และกรณีความกังวลงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐปี64 จะต้องได้ 98% ของงบประมาณรายจ่ายนั้น มองว่า รัฐบาลต้องเร่งรัดประคองรายได้จากภาคการท่องเที่ยว กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และส่งออก อย่างไรก็ตาม ปีหน้า 2564 รัฐบาลจะเริ่มเปิดประเทศ โดยพิจารณาอย่างรอบคอบตามมาตรการป้องกัน ควบคุมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งตั้งเป้าว่า ปีหน้าจะเป็นปีแห่งการดึงดูดการลงทุน ปฎิบัติตามแผนทำงานในเชิงรุก ประกอบกับการที่ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดการลงทุน เชื่อว่า จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้น เร็วขึ้น ทั้งนี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคนร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นสิ่งสำคัญด้วย ” เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปลายปีนี้ ยิ่งประชาชนให้ความร่วมมือร่วมขับเคลื่อนโครงการต่างๆตามนโยบายรวมไทยสร้างชาติ กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาบ้าง ยิ่งส่งผลดี อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ช่วงปลายปีนี้ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และปีหน้าจะเริ่มแผนเชิงรุกเพื่อดึงดูดลงทุนต่างชาติ”

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-556760

ลงนามแล้ว! ไทยเซ็นนานาชาติร่วม อาร์เซ็ป เปิดการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก

ลงนามแล้ว ! ไทยลงนามร่วม 15 ชาติ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ตั้งอาร์เซ็ป เขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก ขนาดจีดีพี 817 ล้านล้านบาท นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)​ ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 63 ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประกาศความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ ของการเจรจาความตกลงอาร์เซ็ป หลังจากมีการเจรจามานานเกือบ 8 ปี ซึ่งช่วยสนับสนุนให้ 15 ชาติสมาชิก ประกอบด้วย อาเซียน 10 ชาติ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มีการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนที่ ครอบคลุม เป็นไปตามกฎกติกาของโลก เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ ความตกลงอาร์เซ็ปเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยข้อมูลทางการค้าในปี 62 ความตกลงอาร์เซ็ปครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2,200 ล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี จีดีพี รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 30% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 326 ล้านล้านบาท ผู้นำอาร์เซ็ปได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งกระบวนการภายในสำหรับให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยเร็ว ซึ่งความตกลงจะมีผลใช้บังคับเมื่อสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศและประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศให้สัตยาบันความตกลง ในขณะเดียวกัน สมาชิกอาร์เซ็ปยังคงเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลงในฐานะที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม และมีบทบาทสำคัญในการเจรจาอาร์เซ็ปตั้งแต่ปี 55 ความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในเวทีระดับภูมิภาค และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า ตลอดจนมีเรื่องใหม่ ๆ อาทิ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/807023

พาณิชย์ นำร่องตั้งกองทุนหนุนการค้าไทย-ลาว สกัดชาติมหาอำนาจรุกหนัก

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สั่งการให้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ไทย-สปป. ลาว” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ระหว่างไทยกับ สปป. ลาว โดยการยกระดับประสิทธิภาพด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนให้แก่นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ไทย และ สปป.ลาว ทั้งนี้ แนวคิดการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกทางการค้าไทย-ลาว เกิดจากการได้ลงพื้นที่พบปะกับนักธุรกิจไทยที่ได้เข้าไปทำการค้าและลงทุนใน สปป.ลาว ซึ่งมักพบปัญหาหลายอย่าง เช่น ต้นทุนในการติดต่อประสานงานในการค้าขายและต้นทุนการขนส่งสินค้าข้ามแดนสูง การขนส่งสินค้าทางเรือ และการจัดการเอกสารการค้าผ่านแดน รวมถึงการขออนุญาตนำเข้าส่งออกใช้เวลานาน การจัดเก็บค่าธรรมเนียม การตรวจคนเข้าเมือง การศุลกากร และการกักกัน มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและมีต้นทุนแฝงที่ค่อนข้างสูง ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลกระทบต่อการค้าขายระหว่างกันของไทยและสปป.ลาว

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_2434800

คลังเชื่อ ไบเดน นั่งปธน.เป็นแรงหนุนช่วยเศรษฐกิจไทย

9 พ.ย.2563 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งและได้ขึ้นเป็นว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนใหม่ ว่า ยังต้องรอติดตามนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ก่อน อย่าเพิ่งรีบวิพากษ์วิจารณ์อะไรตอนนี้ แต่เมื่อพิจารณาตามนโยบายหาเสียงของนายโจ ไบเดน ในช่วงที่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งเน้น 2 เรื่องสำคัญ 1.นโยบายด้านภาษี และ 2. นโยบายการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายภาษีและการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ มองว่า เป็นข้อดี ที่ไทยจะได้ประโยชน์ตรงนี้ โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลให้นักลงทุนมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ก็ต้องขอรอดูความชัดเจนของนโยบายของนายโจ ไบเดนอีกครั้ง

ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/83278

9.11.63

ค้าชายแดนเมียนมา-ไทยต้นทุนค่าเสียหายพุ่งสูงขี้น

มีคำแนะนำสำหรับการถ่ายสินค้าเพื่อการค้าบริเวณชายแดนและบรรจุลงรถแยกที่สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา 2 ทำให้ผู้ค้าในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากจากความเสียหายที่เพิ่มขึ้น นาย U Aung Myint Oo ผู้อำนวยการ บริษัท การค้า Klohtoo Wah Co. Ltd. เผยสินค้าบางที่อย่างไม่สามารถตากแดดหรือฝนได้ เช่น แป้งข้าวเจ้าจะได้รับความเสียหายหากเปียก แต่การบรรจุสินค้าขึ้นรถบรรทุกของไทยจำเป็นต้องนำไปเก็บไว้ชั่วคราวที่อาคารผู้โดยสาร ซึ่งการขนย้ายสินค้ายังต้องใช้ค่าแรงเพิ่มเติม หลังจากมีผู้ตรวจพบ COVID -19 ในแม่สอดของประเทศไทยอีก 5 รายเมื่อเดือนที่แล้วสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ปิดให้เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ การสัญจรกลับมาได้อีกครั้งในวันที่ 25 ตุลาคม โดยปกติรถบรรทุกจะใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเพื่อข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศไทย ขณะนี้สมาคมผู้ค้าหน่วยงานภาครัฐและหอการค้าเมียนมากำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ไทยเพื่อหาทางออกที่ช่วยบรรเทาภาระนี้ ปัจจุบันในแต่ละวันมีรถบรรทุกมากกว่า 300 คันวิ่งผ่านสะพาน ส่วนใหญ่จะนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากไทย ในขณะการส่งออกจะเป็นผักและผลไม้ เช่น ข้าวโพด พริก และถั่วลิสง

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/more-costs-damage-incurred-while-trading-thai-border.html

ปศุสัตว์ ปลื้มโควิดดันส่งออกหมูพุ่ง 344 %

ปศุสัตว์ ชี้นโยบายอาหารปลอดภัย ผนึกโควิด ทำตลาดต่างประเทศอ้าแขนรับ ดันส่งออก หมู เพิ่ม 344 % 1.3 หมื่นล้านบาท ด้านไก่ เพิ่ม 0.67 % มูลค่า 8.9 หมื่นล้านบาท รุ่ง ตลาดต่างประเทศอ้าแขนรับ ภาพรวมการผลิตและการส่งออกสินค้าปศุสัตว์สำคัญ โดยเฉพาะหมูและไก่เนื้อในช่วงที่ผ่านมา ไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในระดับโลกด้านมาตรฐานความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety ทำให้สินค้าปศุสัตว์ไทยเป็นที่ต้องการในตลาดโลก สะท้อนจากความสามารถในการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงม.ค.- ต.ค. 2563 การส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์ของไทย ในส่วนของสุกรมีชีวิตปริมาณรวม 2 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 344.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกสุกรขุน 1,9 ล้านตัวและส่งออกสุกรพันธุ์ 1แสนตัว ขณะที่การส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ รวมถึงชิ้นส่วนอื่นๆ รวม 4.3 หมื่นล้านตัน มูลค่า5.1 พันล้านบาท สำหรับการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ ในช่วง 10 เดือนของปี 2563 ไทยมีปริมาณการส่งออกรวม 7.69 แสนตัน มากกว่าช่วงเดียวของปีก่อนหน้า 0.67% มูลค่ารวม 8.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเนื้อไก่แปรรูป 58.50% ปริมาณ 4.5 แสนตัน มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท และเนื้อไก่สด 41.50% ปริมาณ 3.1 แสนตัน มูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดยตลาดสำคัญของเนื้อไก่แปรรูป คือ ญี่ปุ่น อังกฤษ และอียู ขณะที่เนื้อไก่สดมีญี่ปุ่น จีน และอียู เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/906584

แรงกดดันทางเศรษฐกิจสำหรับการเปิดพรมแดนอีกครั้งระหว่างกัมพูชาและไทย

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบันประกอบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากอุทกภัยในกัมพูชาทำให้ทางการของทั้งสองประเทศจำเป็นต้องเปิดพรมแดนให้กับแรงงานข้ามชาติอีกครั้ง โดยพรมแดนระหว่างกัมพูชาและไทยถูกปิดตั้งแต่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลในเรื่องของการอพยพข้ามพรมแดนจะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19  ซี่งธนาคารโลกระบุว่ามีแรงงานอพยพกลับมายังกัมพูชามากกว่าประมาณ 120,000 คน เดินทางกลับจากประเทศไทยนับตั้งแต่เกิดการระบาดขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำ ซึ่งทางการไทยได้วางแผนให้กลุ่มแรงงานชาวกัมพูชาเข้ามาทำงานในโกดังเก็บผลไม้ที่ตั้งอยู่บริเวณด่านพรมแดนถาวรสำหรับคนงานในอำเภอโป่งน้ำร้อนของไทย โดยเชื่อมโยงกับจังหวัดพระตะบองของกัมพูชาได้ทดลองเข้ามายังพื้นที่ของไทยประมาณ 500 คน ตามรายงานในท้องถิ่นกระบวนการคัดกรองการตรวจสุขภาพและการกักกันจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 193 ดอลลาร์ต่อคน แต่จะลดลงเหลือเพียง 86.76 ดอลลาร์หากถูกกักกันในพื้นที่ที่ทางรัฐบาลไทยได้กำหนดไว้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50779039/economic-pressure-for-kingdom-and-thailand-to-reopen-borders/