กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังอินโดนีเซียเป็นครั้งแรกหลังลงนาม MoU สำเร็จ

กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก หลังก่อนหน้าได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ณ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยทางการกัมพูชาหวังที่จะขยายตลาดส่งออกข้าวสารไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในกรณีนี้กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังอินโดนีเซียประมาณ 3,500 ตัน สำหรับการขนส่งในครั้งแรก ซึ่งอินโดนีเซียตกลงที่จะนำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาปริมาณรวมกว่า 125,000 ตัน ภายในปี 2023 สำหรับการส่งออกข้าวโดยภาพรวมของกัมพูชาในช่วง 9 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 456,581 ตัน ไปยัง 57 ประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 327.4 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) โดยจีนและยุโรปยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาคการส่งออกข้าวสารของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501386510/cambodia-exports-milled-rice-to-indonesia-for-1st-time/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าดันส่งออกสินค้าเกษตรไปยังแอฟริกา

นายห่า กิม หงอก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ว่าแอฟริกายังคงเป็นเส้นทางการค้าระหว่างเวียดนามและตลาดโลก ในขณะที่เจ้าหน้าของกระทรวงฯ ได้อธิบายถึงข้อมูลในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.7% มูลค่า 4.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ว่าการค้าระหว่างเวียดนามและตลาดโลก หดตัว 11% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ จากจำนวนประชาชนแอฟริการาว 1 พันล้านคน และความพร้อมของเวียดนามที่ต้องการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังแอฟริกา ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการเวียดนามควรใช้มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมสินค้าเกษตรไปยังตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพและราคาสินค้า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-aims-to-promote-agricultural-exports-to-africa/270581.vnp

ราคากระเทียม Kyukok ในเมียนมาพุ่งแรง

ราคาขาย มันฝรั่งจีน และกระเทียม Kyukok ที่จำหน่ายในตลาดบุเรงนอง มีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการขนส่งสินค้าไม่สามารถเดินทางผ่านเส้นทางชายแดนได้ตั้งแต่เช้าวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้ราคาขายส่งกระเทียม Kyukok และมันฝรั่งจีน เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1,000 จ๊าดต่อ viss และ 500 จ๊าดต่อ viss ตามลำดับ ซึ่งเป็นปกติของตลาดสินค้า เมื่อสินค้านั้นๆ เข้ามาที่ตลาดได้ยากขึ้นจะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยในวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ราคาขายส่งกระเทียม Kyukok อยู่ที่ 7,700–7,800 จ๊าดต่อ viss แต่ในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 8,000–8,200 จ๊าดต่อ viss และ 8,500 จ๊าดต่อ viss ในตอนเย็น และ เช้าวันที่ 28 ตุลาคม 2566 ราคาขายส่งกระเทียมเพิ่มขึ้นเป็น 9,000-9,150 จ๊าดต่อ viss ที่คลังขายส่ง ขณะที่กระเทียมของรัฐฉาน ราคาขายส่งยังคงอยู่ที่ 8,400-9,800 จ๊าดต่อ viss ทั้งนี้ แม้ว่าราคาขายส่งมันฝรั่งของจีนอยู่ที่ 1,700–1,750 จ๊าดต่อ viss ในวันที่ 26 ตุลาคม แต่ก็ขึ้นไปเป็น 1,800 วอจ๊าดต่อ viss ในเช้าวันที่ 27 ตุลาคม และ 1,900–2,000 จ๊าดต่อ viss ในตอนเย็น และ 2,300 จ๊าดต่อ viss ในเช้าวันที่ 28 ตุลาคม ด้วยเหตุนี้ ในตลาดค้าปลีกในย่างกุ้ง กระเทียมของรัฐฉาน และ กระเทียม Kyukok จึงมีราคาประมาณ 10,000 จ๊าดต่อ viss และมันฝรั่งจีนมีราคาประมาณ 3,000 จ๊าดต่อ viss  ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ กระเทียมของรัฐฉาน และกระเทียม kyukok จะกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่สร้างสถิติราคาสูงสุด เช่นเดียวกับ ถั่วดำ ถั่วแระ ถั่วลูกไก่ น้ำตาล และน้ำตาลโตนด ในปี 2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/kyukok-garlic-price-surges-hard/

กัมพูชา-บราซิล พร้อมร่วมมือพัฒนาการแปรรูปพืชผลการเกษตร

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (12 ต.ค.) กระทรวงการต่างประเทศบราซิล ประกาศพร้อมให้ความร่วมมือระหว่างกัมพูชาในการส่งเสริมการลงทุนภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปรรูปพืชผลทางกาเกษตรของกัมพูชา สำหรับความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการเจรจาระหว่าง Dith Tina รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชา ร่วมกับ Mauro Vieira รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศบราซิล ด้าน Tina ได้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศักยภาพของภาคเกษตรกรรมกัมพูชาด้วยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มันสำปะหลัง และยางพารา ซึ่งล้วนมีศักยภาพทั้งด้านการผลิต และยังมีความต้องการด้านการส่งออกอีกด้วย สำหรับการแปรรูปพืชผลทางการเกษตรถือเป็นภาคส่วนที่น่าลงทุนภายในประเทศกัมพูชา เนื่องจากปัจจุบันกัมพูชาได้มีการลงนามในข้อตกลงทางการค้ากับจีนเอื้อต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ กัมพูชายังมีกฎหมายเพื่อสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบและถือเป็นโอกาสอย่างมากสำหรับนักลงทุนผู้สนใจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501376837/crop-processing-brings-cambodia-and-brazil-together/

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศมูลค่ารวมกว่า 3.2 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรปริมาณรวมกว่า 5.5 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 3.2 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) แต่ด้วยสถานการณ์การส่งออกโดยรวมที่ชะลอตัวลง ส่งผลทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม พริกไทย และยาสูบ เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกข้าวสารที่มูลค่า 395 ล้านดอลลาร์ และข้าวเปลือกมูลค่ารวมกว่า 658 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรัฐบาลมีความพยายามเป็นอย่างมากในการขยายตลาดส่งออก สำหรับภาคเกษตรกรรมถือเป็นหนึ่งใน 4 เสาหลัก ที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจของกัมพูชาเกิดการเติบโต คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 24.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เมื่อเทียบกับปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501373714/agri-product-exports-earn-3-2b/

‘เมียนมา’ เผยราคาน้ำตาลพุ่ง หลังจำหน่ายน้ำตาลสด

จากข้อมูลของตลาดน้ำตาล ระบุว่าราคาน้ำตาลในประเทศพุ่งสูงอีกครั้ง เพียงสองเดือนก่อนที่จะจำหน่ายน้ำตาลชนิดใหม่ออกสู่ตลาด สำนักข่าวท้องถิ่นเมียนมา GNLM เปิดเผยข้อมูลตลาดน้ำตาลในย่างกุ้ง (28 ก.ย.66) พบว่าราคาน้ำตาลขายส่ง อยู่ที่ 3,750 จ๊าตต่อวิสส์ อย่างไรก็ดี ราคาขายส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,800 จ๊าตต่อวิสส์ในวันที่ 29 ก.ย. ทั้งนี้ ผู้ค้าน้ำตาลรายหนึ่งบอกกับสำนักข่าวเมียนมาว่าราคาประมูลน้ำตาลที่ขายให้กับโรงงาน ก่อนที่โรงงานจะเริ่มดำเนินการ ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sugar-price-peaks-again-two-months-before-release-of-fresh-sugar/#article-title

‘เมียนมา’ ส่งออกข้าวโพดจากรัฐฉานไปยังจีน เดือน ต.ค. กว่า 6 หมื่นตัน

สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดแห่งเมียนมา (MCIA) ระบุว่าเมียนมาจะส่งออกข้าวโพดที่มาจากรัฐฉาน (Shan state) ไปยังตลาดจีนในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 60,000 ตัน ผ่านการค้าข้ามพรมแดน ภายใต้โครงการเพาะปลูกฝิ่นทดแทนของรัฐบาลจีน ทั้งนี้ การค้าข้าวโพดระหว่างเมียนมาและจีนที่เป็นไปตามกฎหมาย เริ่มขึ้นเมื่อปี 2565 มีบริษัทเมียนมาจำนวนกว่า 112 แห่งที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกต่างประเทศ นอกจากนี้ นายอู มิน เค็ง ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดแห่งเมียนมา กล่าวว่าข้าวโพดมากกว่า 2 ล้านตัน จะส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในฤดูเพาะปลูกข้าวโพด ปี 2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-to-export-60000-tonnes-of-corn-from-shan-state-to-china-in-oct/#article-title

‘เวียดนาม’ พร้อมส่งออกทุเรียนไปยังอินเดีย

Nguyen Thi Thu Huong รองผู้อำนวยการกรมการอารักขาพืช กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) กล่าวว่าหน่วยงานกำลังดำเนินการตามขั้นตอน เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกทุเรียนเวียดนามไปยังอินเดีย และจากรายงานของทางการ พบว่าทุเรียนสดของเวียดนามส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ จำนวน 24 แห่ง และผลไม้แช่แข็ง 23 แห่ง ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกทุเรียนสดกว่า 3 แสนตัน ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงฯ พบว่ารายได้จากการส่งออกทุเรียน มีมูลค่าอยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 30% ของมูลค่าการซื้อขาย และเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ของปีที่แล้ว (420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-completing-procedures-to-export-durian-to-india-official-post129303.html

‘เมียนมา’ ส่งออกข้าวพุ่ง หลังอินเดียห้ามส่งออก

นายเยมินอ่อง ประธานสมาพันธ์ผู้ค้าข้าวเมียนมา เปิดเผยว่าผลผลิตข้าวหรืออุปทานข้าวทั่วโลกที่ตึงตัว มีส่วนช่วยการส่งออกข้าวในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัวดีขึ้น และจะผลักดันให้เป้าหมายการส่งออกข้าวของเมียนมาทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมียนมาส่งออกข้าวในเดือน เม.ย.-ก.ค. อยู่ที่ราว 320,000 ตัน ทำรายได้จากการส่งออกข้าว 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับคุณภาพสูงของข้าว แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมา อินเดียได้ระงับการส่งออกข้าว เพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศ ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้า ทำให้ราคาข้าวของคู่แข่งในภูมิภาค อาทิเช่น ข้าวไทยและเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าเมียนมาจะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ที่มา : https://economictimes.indiatimes.com/small-biz/trade/exports/insights/myanmar-eyes-surge-in-rice-exports-after-india-curbs-supply/articleshow/102758953.cms

‘จีน’ ตลาดส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของเวียดนาม

ตามรายงานของกรมศุลกากร ระบุว่าถึงแม้การส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ทำมาจากมันสำปะหลังในเดือน ก.ค. จะยังคงปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ว่าจีนยังคงเป็นตลาดส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีสัดส่วนทางการตลาด 93.61% ของการส่งออกมันสำปะหลังเวียดนามไปยังต่างประเทศ โดยจากตัวเลขสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่าการส่งออกมันสำปะหลังของเวียดนาม มีมูลค่าอยู่ที่ 71.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปริมาณ 145.23 พันตัน เพิ่มขึ้น 9.8% และ 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือน ก.ค. ปี 2565 พบว่าทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออกมันสำปะหลัง ลดลง 24.2% และ 17.2% แสดงให้เห็นการหดตัวของการส่งออกที่ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/china-remains-largest-export-market-for-vietnamese-cassava-post1039390.vov