มูลค่าการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา พุ่ง 330% ในช่วง H1

มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) พุ่งสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 870,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 330 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 201,143 ดอลลาร์ ด้าน Hong Sok Hour ผู้บริหาร CSX ระบุว่าการเติบโตดังกล่าวมาจากการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายย่อย โดยมีนักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดบัญชีราวๆ ประมาณ 250-300 บัญชีต่อเดือน และมีบริษัทเข้าจดทะเบียนแล้ว 16 แห่ง ระดมทุนไปแล้วกว่า 280 ล้านดอลลาร์ โดยมีนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 31,000 ราย ที่ได้เปิดบัญชีซื้อขายใน CSX ณ เดือนมิถุนายนปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501122946/csx-trading-value-up-330-in-h1/

SSEZ ดันมูลค่าการค้าขึ้นเป็น 1.3 พันล้านดอลลาร์

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) พยายามเป็นอย่างมากในการรักษาสายการผลิตภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเข้ามาจัดตั้งรวม 170 แห่ง ทั้งจาก ยุโรป, สหรัฐฯ, จีน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเกือบ 30,000 ตำแหน่ง กล่าวโดย Chhin Chien Kang ประธานคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ซึ่งตั้งแต่เดือน มกราคม-มิถุนายน มูลค่าการส่งออกและนำเข้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ พุ่งไปแตะที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังมองว่าโครงการ Belt and Road Initiative จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของกัมพูชาเติบโตต่อไปในอนาคต โดย Chhin Chien Kang ยังได้กล่าวเสริมว่า ด้วยนโยบายที่ดีและน่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุนส่งผลทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 มีบริษัทวางแผนที่จะจัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ขนาดใหญ่อีกแห่ง ในเขตเศรษฐกิจสีหนุวิลล์ (SEZ) ด้วยเงินลงทุนกว่า 300 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501122950/sihanoukville-sez-trade-value-surges-to-1-3b/

RCEP, FTA กัมพูชา-จีน ขยายตลาดส่งออกกัมพูชา

Ly Thuch ประธานคณะกรรมการแห่งชาติกัมพูชา และคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UN-ESCAP) กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรี กัมพูชา-จีน (CCFTA) ถือเป็นส่วนสำคัญในการขยายตลาดส่งออกของกัมพูชาให้กว้างขึ้น โดยการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RCEP อื่นๆ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.28 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าปัจจุบันยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายๆด้าน ซึ่งรวมถึงการแข่งขันทางภูมิศาสตร์ การเมือง สงครามการค้า และเทคโนโลยี โดยการสนับสนุนพหุภาคี ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการค้าเสรี จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501122325/rcep-cambodia-china-fta-give-cambodia-larger-exporting-markets/

กัมพูชาประสบความสำเร็จในการขาย คาร์บอนเครดิต

กัมพูชาประสบความสำเร็จในการขายคาร์บอนเครดิต โดยมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 11.6 ล้านดอลลาร์ ในระหว่างปี 2016-2020 ด้านรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาได้ขายโครงการคาร์บอนเครดิตจำนวน 3 โครงการ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแก้วเซมา ในจังหวัดมณฑลคีรี, โครงการ REDD+ ณ อุทยานแห่งชาติกระวานใต้ ในจังหวัดเกาะกง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเปรยลังใน จังหวัดสตึงแตรง ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้ทำการซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนทั่วโลกยกตัวอย่างเช่น บริษัท Disney และ Gucci โดยมีจุดมุ่งหวังที่จะสร้างสันติภาพ เสถียรภาพทางการเมือง และการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน รวมไปถึงเพื่อการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนมีเพียงกัมพูชาและอินโดนีเซียที่มีการขายคาร์บอนเครดิตให้กับตลาดโลก

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501122664/cambodia-successfully-sells-carbon-credits-in-global-voluntary-carbon-market/

ACLEDA Bank ออกสินเชื่อเพื่อการเกษตรแล้วกว่า 1.21 พันล้านดอลลาร์

ธนาคาร ACLEDA กล่าวว่า ได้ทำการปล่อยสินเชื่อจำนวนมูลค่ารวมกว่า 1.21 พันล้านดอลลาร์ ให้กับภาคการเกษตร คิดเป็นกว่าร้อยละ 20.75 ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ณ เดือนมิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา ด้าน In Channy ประธานและกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท ACLEDA Bank Plc กล่าวว่า กัมพูชาถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยภาคเกษตรกรรมมีบทบาทสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการจ้างแรงงาน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาได้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501119196/acleda-bank-loans-out-1-21bil-to-boost-agriculture/

กัมพูชาส่งออกไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 22% ในช่วง H1

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้มูลค่ารวม 111.35 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยหากคิดเป็นการค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-เกาหลีใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 สู่มูลค่า 421.33 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลกัมพูชามีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมากที่จะกระตุ้นการส่งออกภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับเกาหลี โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ซึ่งจะยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากกัมพูชาร้อยละ 95.6 ในขณะที่กัมพูชาจะยกเลิกการเก็บภาษีร้อยละ 93.8 ของสินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาได้แก่สินค้าเกษตร อาทิเช่น ยาง ผลไม้ และแป้ง ในขณะที่กัมพูชาเน้นการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากเกาหลีใต้เป็นสำคัญ ซึ่งในปี 2021 กัมพูชานำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้มูลค่ารวมกว่า 600 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 341 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501119197/cambodia-exports-to-south-korea-up-22-h1/

กัมพูชาดึงเงินลงทุนต่างชาติช่วงครึ่งปีแรกแตะ 3 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติมูลค่าเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อแนวโน้มการเติบโตของกัมพูชา รายงานโดยสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ซึ่งในปีนี้มีการขอจดขึ้นทะเบียนโครงการจำนวนทั้งสิ้น 98 โครงการ ด้วยเงินลงทุนรวม 2.99 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นโครงการลงทุนของนักลงทุนในท้องถิ่นมูลค่าการลงทุนรวม 1.59 พันล้านดอลลาร์คิดเป็นร้อยละ 53.23 ของการลงทุนทั้งหมด ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉาพะจากประเทศจีนมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.29 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 43.02 ของการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติในช่วงเวลาดังกล่าว โดยกัมพูชาคาดว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น จากการที่กัมพูชามีสิทธิพิเศษทางการค้า อาทิเช่น RCEP, FTA กัมพูชา-จีน, FTA กัมพูชา-เกาหลี และกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งโครงการลงทุนมุ่งเน้นไปที่ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร การผลิต การท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501118473/cambodia-attracts-3-billion-investment-in-first-half/

กัมพูชาส่งออกผลไม้ไปยังจีนเพิ่มขึ้นหลัง FTA กัมพูชา-จีน มีผลบังคับใช้

การส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาโดยเฉพาะผลไม้สดได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของเกษตรกรและถือเป็นส่วนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันกัมพูชาส่งออกผลไม้ไปยังจีนเพิ่มขึ้นภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี กัมพูชา-จีน แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผลไม้จากกัมพูชาหลายชนิดได้รับอนุญาตให้ทำการส่งออกไปยังประเทศจีนได้ตั้งแต่ในช่วงเดือนเมษายนของปีที่แล้ว โดยสินค้าชนิดแรกที่ได้รับการอนุญาตได้แก่มะม่วง ซึ่งกรมศุลกากรจีนได้อนุมัติการนำเข้ามะม่วงจากสวน 37 แห่ง และโรงงานแปรรูปอีก 5 แห่ง ในกัมพูชา ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน ซึ่งในระยะอันสั้นจะมีการประเมินสำหรับการขออนุญาตในการส่งออกลำไยจากกัมพูชาไปยังจีนเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501118917/growth-of-fruit-exports-to-china-highlights-effectiveness-of-cambodia-china-fta/

H1 กัมพูชาส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP เพิ่มขึ้น 10%

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชารายงานถึงการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 6 เดือนแรกของปี ไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวมถึง 3.28 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเวียดนาม จีน และญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญ ที่มูลค่า 1.17 พันล้านดอลลาร์ ไปยังเวียดนาม, 612 ล้านดอลลาร์ ไปยังจีน และ 542 ล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่น ซึ่งความตกลงการค้าเสรี RCEP ปัจจุบันประกอบด้วย 15 ประเทศ โดยเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และคู่ค้าอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า RCEP ถือเป็นตัวเร่งสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501118292/cambodias-export-to-other-rcep-countries-up-10-pct-in-h1/