“เวียดนาม” ตั้งงบ 600 พันล้านเหรียญสหรัฐ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

คุณ Kazuo Kusakabe หัวหน้าคณะผู้แทนของบริษัท Toshiba Asia Pacific Pte Ltd กล่าวในที่เปิดฟอรั่มเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาหลังโควิด-19 และความร่วมมือระหว่างเวียดนามและญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการเติบโตสีเขียว ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันการจัดการเศรษฐกิจกลาง (CIEM) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ว่าเวียดนามต้องการงบประมาณสูงถึง 600 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และได้เน้นย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ถือเป็นความท้าทายของโลก รวมถึงเวียดนามอีกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามจำเป็นต้องยกระดับโครงการขนาดใหญ่และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ นาง Tran Thi Hong Minh ผู้อำนวยการสถาบัน CIEM ได้กล่าวว่าเพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไปสู่การเติบโตสีเขียว จำเป็นต้องส่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-needs-600-billion-usd-to-achieve-carbon-neutrality-2110715.html

“เวียดนาม” จำเป็นต้องสร้างแบรนด์ผลไม้สู่ระดับสากล

เวียดนามจำเป็นต้องพัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์ผลไม้ระดับประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ถึงแม้ว่าผลไม้จะทำรายได้จากการส่งออกหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่เวียดนามยังไม่มีแบรนด์ผลไม้ที่มีชื่อเสียงเลย ทั้งนี้ หากสอบถามมุมมองของผู้บริหารบริษัท Vina T&T Import – Export Service Trading จำกัด (Vina T&T) กล่าวว่าในกรณีที่พูดถึงแอปเปิ้ล ก็จะนึกถึงสหรัฐฯ หากพูดถึงทุเรียนหมอนทอง ก็จะนึกถึงประเทศไทย และหากเปรียบเทียบกับคุณภาพของทุเรียนเวียดนาม สายพันธุ์ Ri6 กับทุเรียนที่มาจากไทยและมาเลเซีย คิดว่าทุเรียนเวียดนามจะได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าส่งออกของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดียังคงมีความบกพร่องในเรื่องของเอกลักษณ์และคุณค่าของแบรนด์ ดังนั้น เวียดนามควรสร้างแบรนด์ผลไม้ที่เพิ่มสูงค่าและมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญในการสร้างแบรนด์ คือ การควบคุมหรือการรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อย่างเข็มงวด

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1483448/vn-needs-to-build-national-brands-for-fruits.html

“โครงสร้างพื้นฐานเวียดนาม” ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีน

นาย Jiehe Yan ประธานบริษัท China Pacific Construction กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่าทางบริษัทจะเตรียมจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในเวียดนาม เพื่อทำการสำรวจศักยภาพการลงทุนในภาคโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ในขณะเดียวกัน ดร.โจนาธาน ชอย (Dr. Jonathan Choi) ประธานหอการค้าจีน ได้เดินทางมายังประเทศเวียดนามเมื่อเดือนก่อน เพื่อส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การค้า บริการและภาคอุตสาหกรรม และยังกล่าวด้วยว่าเวียดนามเป็นศูนย์กลางดึงดูดที่น่าสนใจของนักลงทุนชาวจีน ทั้งนี้ การลงทุนของจีนในประเทศเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2558-2565 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 17% ต่อปี ถึงแม้ว่ามีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด แต่กระแสการลงทุนยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากหลายโครงการสำคัญจากจีน ไต้หวันและฮ่องกง ได้ขยายธุรกิจหรือปรับเพิ่มเงินทุน เพื่อยกระดับผลผลิตในเวียดนาม

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnams-infrastructure-luring-chinese-investment-99771.html

“พาณิชย์-DITP” ชี้เป้านักลงทุนไทยลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนาม

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจาก นางสาวธนียา ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ถึงการติดตามสถานการณ์การแข่งขันของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเวียดนาม และโอกาสในการเข้าไปลงทุนด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเวียดนามว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นาย เล มินห์ ไค รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ลงนามในข้อมติ No.163/NQ-CP ว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินการงานหลักเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศ เพื่อพัฒนาบริการโลจิสติกส์ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับการพัฒนาการผลิตสินค้า การนำเข้า การส่งออก และการค้าภายในประเทศ และการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านบริการโลจิสติกส์ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสการลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนามของนักลงทุนไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการคลังสินค้าและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.thailandplus.tv/archives/670257

ผู้ประกอบการญี่ปุ่น ทำกำไรพุ่งในเวียดนาม ปี 65

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยผลการสำรวจบริษัทญี่ปุ่น จำนวนทั้งสิ้น 4,400 แห่งที่ดำเนินธุรกิจในเอเชียและโอเชียเนีย รวมถึง 600 แห่งในเวียดนาม พบว่าบริษัทญี่ปุ่นในเวียดนามส่วนใหญ่ 59.5% สามารถทำกำไรในปี 2565 เพิ่มขึ้น 5.2% จากปีที่แล้ว และหากศึกษาถึงแนวโน้มของทำกำไรของธุรกิจในปี 2565 แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิต มีอัตราการทำกำไรเฉลี่ยที่ 57.6% และอัตราสำหรับการเงินและการดูแลสุขภาพ และการเกษตร อยู่ที่ 100% ตลอดจนภาคอสังหาริมทรัพย์ ไอซีที เหมืองแร่ พลังงานและการค้าปลีก อยู่ที่ 81.5%, 57.1%, 52.9%, 50% และ 25% ตามลำดับ

นอกจากนี้ นาย Takeo Nakajima หัวหน้าสำนักงานผู้แทน JETRO กรุงฮานอย กล่าวว่าแม้จะมีความท้าทายหลายประการ แต่ว่าบริษัทญี่ปุ่นได้วางแผนที่จะขยายธุรกิจในเวียดนามในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพการเติบโตในตลาดท้องถิ่น

ที่มา : https://vir.com.vn/more-japanese-firms-profit-in-vietnam-in-2022-99738.html

“เวียดนาม” เผยยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณ 28.8 ล้านล้านดอง พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

นายเหวียน ชีดุ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและลงทุน รายงานประชุมคณะกรรมการของสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ กล่าวว่างบประมาณกว่า 28.8 ล้านล้านดอง (1.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ) จากโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ยังไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณ โดยทางสมัชชาแห่งชาติได้มีมติอนุมัตินโยบายการคลังและการเงินที่สนับสนุนโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงได้กำหนดเป้าหมาย หลักการและเกณฑ์ในการคัดเลือกและการจัดสรรเงินทุนแก่โครงการลงทุนภาครัฐ ดังนั้น จึงมีการจัดสรรเงินสูงสุด 176 ล้านล้านดองในปี 2565 และปี 2566 ทั้งนี้ ในจำนวนเงินที่ไม่ได้จัดสรรนั้น มีมูลค่ามากกว่า 25.5 ล้านล้านดอง ด้วยจำนวน 169 โครงการที่กระจายไปตามหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวง หน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานท้องถิ่น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/over-28-8-trillion-vnd-for-socio-economic-development-yet-to-be-allocated-2109916.html