นายกฯนั่งหัวโต๊ะเตรียมเจ้าภาพจัดประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกปี 69

นายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในวันนี้(7ก.พ.)ได้มีการประชุมคณะกรรมการระดับชาติครั้งแรกเพื่อเตรียมการจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (คณะกรรมการฯ) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี 2569 โดยมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการจัดประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์สำหรับการประชุมประจำปีฯ เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมการดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีฯ ของไทยให้กับคนในประเทศและนานาชาติได้ทราบ นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการเตรียมการจัดการประชุมประจำปีฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จลุล่วงด้วยดี คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านสารัตถะ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายกฤษฎา  จีนะวิจารณะ) เป็นประธานอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการ ด้านพิธีการและอำนวยการ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์) เป็นประธานอนุกรรมการ และคณะอนุกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัย การจราจร และสาธารณสุข มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานอนุกรรมการ อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีได้มีดำริให้มีการรายงานความคืบหน้าและประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีฯ ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยการประชุมประจำปีฯ เป็นการประชุมระดับโลกที่จัดขึ้นนอกสหรัฐอเมริกาเพียงครั้งเดียวทุก 3 ปี โดยการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยในปี 2569 จะเป็นเพียงครั้งที่ 2 ต่อจากการประชุมประจำปีฯ 2534 ที่ไทยจะได้รับโอกาสในการแสดงศักยภาพและความสามัคคีของทุกภาคส่วนในการร่วมเตรียมความพร้อมและต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารกลาง และผู้บริหารของสถาบันการเงินที่สำคัญและคณะเดินทางของประเทศสมาชิกของธนาคารโลกทั้ง 189 ประเทศอีกด้วย

ที่มาภาพจาก : เว็ปไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1112177

IMF คาดเศรษฐกิจเวียดนามจะกลับมาเติบโตได้ในระยะกลาง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าเวียดนามมีประสบการณ์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หลังจากเผชิญกับผลกระทบของโควิด-19 แสดงให้เห็นมาจากตัวเลขชองเศรษฐกิจเวียดนามที่ขยายตัว 8% ในปี 2565 นับเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนมาจากปัจจัยในประเทศและอุปสงค์ภายนอกที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะเติบโตราว 4.7% ในปีนี้ จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและนโยบายในประเทศ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังคงอยู่ในกรอบของธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ที่ 4.5% นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามีการมผลักดันการต่อต้านการทุจริตอย่างมาก รวมถึงการนำหลักธรรมาภิบาลมาปรับใช้และยังส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ที่มา : https://en.baochinhphu.vn/viet-nam-to-returns-to-high-growth-in-medium-term-imf-111230701083440061.htm

‘IMF’ คาดเวียดนามขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 20 ของเศรษฐกิจโลก

จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในแง่ของความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) คาดว่าจะอยู่อันดับที่ 25 ของโลกในปี 2565 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าประเทศออสเตรเลียและโปแลนด์ โดยเฉพาะออสเตรเลียที่มีมูลค่ากว่า 1.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก ในขณะที่โปแลนด์มีมูลค่า 1.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 19 ทั้งนี้ IMF ยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2566 เวียดนามจะรักษาอันดับที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการคาดการณ์ตัวเลข GDP ในแง่ของอำนาจซื้อ ด้วยมูลค่าประมาณ 1.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เส้นทางการเติบโตที่ประสบความสำเร็จของเวียดนาม แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศที่ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งเสริมวัฒนธรรม ตลอดจนการส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและพนักงานหรือแรงงานรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้ เวียดนามพร้อมที่จะกลายมาเป็นผู้เล่นหลักในเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnam-projected-to-become-20th-largest-global-economy-102224.html

“เวียดนาม” รั้งตำแหน่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน ปี 2570

ตามรายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามจะขยายตัวอย่างมากในช่วง 5 ปีข้างหน้า และขึ้นเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนภายในปี 2570 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาตัวเลขของขนาดเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มีมูลค่าสูงถึง 1.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาประเทศไทย 522.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และเวียดนาม มีมูลค่าของ GDP อยู่ที่ 439.37, 424.43, 411.98 และ 408.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2568-2570 จีดีพีของเวียดนามจะขึ้นเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน +6

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-gdp-set-to-rank-third-in-asean-by-2027-2066437.html

CLMV รับแรงหนุนที่แตกต่าง หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากเดิมที่ 5.5% สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤตโควิด นำโดยเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อกลุ่มประเทศ CLMV ในระดับที่แตกต่างกันตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนโดยตรง (FDI) และการท่องเที่ยว

เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  จากสัดส่วนการส่งออกที่สูงถึง 104% ของ GDP   โดยมีการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในสัดส่วนสูง นอกเหนือจากอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 5.8% ของ GDP

ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากสัดส่วนของการลงทุนโดยตรงสูงถึง 60%​ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ในส่วนของประเทศสปป.ลาว อาจเป็นประเทศใน CLMV ที่โครงสร้างการส่งออกได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยที่สุด เนื่องจากการส่งออกมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ    โดยในด้านการลงทุนตรงจากต่างประเทศ น่าจะได้รับอานิสงส์น้อยกว่ากัมพูชา เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนตรงมีเพียง 22% 

ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองภายในประเทศน่าจะลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก   ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนตรงโดยรวมอยู่ที่ 13% ต่ำสุดในกลุ่ม CLMV

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว  เนื่องจากประเทศใน CLMV ส่วนใหญ่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนและนักท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งมีการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศในตะวันตก ทำให้โอกาสที่จะบรรลุการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในปี 2564 มีไม่มาก ส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวน่าจะจำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันตก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดใน CLMV

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/CLMV-FB-28-06-21.aspx