‘เวียดนาม’ นำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วน ไตรมาส 1/67 เกินกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่ายอดการนำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนในไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นสินค้านำเข้าสำคัญ อันดับที่ 5 ของสินค้านำเข้าของเวียดนาม โดยแหล่งนำเข้ารายใหญ่ของเวียดนาม ได้แก่ จีน เกาหลีใต้และฮ่องกง

ทั้งนี้ เวียดนามนำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนจากประเทศจีนมากที่สุด คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าเกินกว่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาเกาหลีใต้และฮ่องกง ในขณะเดียวกัน เวียดนามส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วน อยู่ที่ 18.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน และนับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ อันดับที่ 2 ของสินค้าส่งออกเวียดนาม

นอกจากนี้ บริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำระดับโลก “Statista” รายงานว่าตลาดสมาร์ทโฟนเวียดนาม จะมีมูลค่าอยู่ที่ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเติบโต 1.45% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2567-2571

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656013/vn-imports-over-us-3-billion-in-mobile-phones-and-components-in-q1.html

เมียนมานำเข้าเวชภัณฑ์มูลค่า 30.519 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ตามการรายงานของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ยาและเวชภัณฑ์ 1,300 ตัน คิดเป็นมูลค่า 30.519 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ 26 ประเทศ โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2566 หอการค้าเมียนมาร์ที่ดูแลกลุ่มอุปกรณ์เภสัชกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ (MCCPMD) ได้ประกาศความพยายามที่จะป้องกันการขาดแคลนยา เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นของค่ารักษาพยาบาลที่บ้านและยาจำเป็นในอุตสาหกรรมการแพทย์ อย่างไรก็ดี จากปะกาศดังกล่าวเน้นย้ำว่า MCCPMD ได้นำเข้ายาที่จำเป็นสำหรับประชาชนแล้ว พวกเขากระตุ้นให้บริษัทยา ร้านจำหน่ายยาขายส่ง และร้านค้าปลีก ทำการค้ายาตามปกติต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก นอกจากนี้ พวกเขายังได้เรียกร้องให้ซัพพลายเออร์ยาเร่งการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ เนื่องจากมีการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกและปรับปรุงการนำเข้ายา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/us30-519m-worth-of-medical-supplies-imported/

‘เวียดนาม’ เผยยอดค้าระหว่างประเทศ ต.ค. ส่งสัญญาณบวก

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในเดือนต.ค.66 มีมูลค่า 32.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.3% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 29.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.9% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกของเวียดนามในช่วง 10 เดือนของปีนี้ มีมูลค่า 291.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.1% การนำเข้า มีมูลค่า 266.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 12.3% อีกทั้ง สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีมูลค่าการค้า 78.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตลาดจีนเป็นผู้บริโภคสินค้าเวียดนามรายใหญ่ที่สุด มีมูลค่า 89.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/trade-turnover-in-october-continues-to-see-positive-signs-post1055876.vov

เมียนมานำเข้าปูนซีเมนต์กว่า 16,400 ตัน เป็นมูลค่า 1.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกันยายน

ตามการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา เมียนมามีการนำเข้าปูนซีเมนต์ทั้งหมดกว่า 16,400 ตัน โดยผ่านช่องทางหลัก ได้แก่ การนำเข้าทางเรือประมาณ 400 ตัน แบ่งเป็น 250 ตันจากมาเลเซีย และกว่า 150 ตันจากจีน คิดเป็นมูลค่ารวม 0.075 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้าผ่านทางชายแดนกว่า 16,000 ตัน จากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่ารวม 1.365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมียนมามีการนำเข้าปูนซีเมนต์ทางเรือมากกว่า 3,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.302 ล้านเหรียญสหรัฐ  และนำเข้าปูนซีเมนต์ผ่านทางชายแดน ประมาณ 20,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.585 ล้านเหรียญสหรัฐ  รวม 23,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.887 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ จากการนำเข้าปูนซีเมนต์ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น คาดว่าธุรกิจก่อสร้างมีแนวโน้มจะเติบโตได้ดี

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-imports-over-16400-tonnes-of-cement-worth-us1-44-mln-in-sept/

เมียนมามีรายได้จากมูลค่าการค้าต่างประเทศกว่า 16,551.306 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดช่วงระยะเวลามากกว่า 6 เดือนในปีงบประมาณ 2023-2024

จากวันที่ 1 เมษายน 2566 – 6 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาเมียนมามีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 8,712.336 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 7,838.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีดุลการค้าแบบขาดดุลอยู่ที่ 873.366 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย เมียนมามีการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง ผลิตภัณฑ์แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ ไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมี สินค้าเพื่อการลงทุน วัตถุดิบเชิงพาณิชย์ สินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบสินค้าตัดเย็บ หรือ CMP (cut-make-package) โดยนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการส่งออกของเมียนมาร์ตามยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ (National Export Strategy : NES) ปี 2020-2025 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ดี ภาคส่วนที่สำคัญตามแผนยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ NES 2020-2025 ได้แก่ ภาคการผลิตอาหารจากการเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมและไฟฟ้า การประมง ผลิตภัณฑ์จากป่า ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล บริการโลจิสติกส์ การจัดการคุณภาพ บริการข้อมูลการค้า นวัตกรรมและผู้ประกอบการ และอื่นๆ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/us16551-306-mln-earned-from-foreign-trade-volume-in-more-than-six-months-period-in-2023-24-fy/

จีนอนุมัติการนำเข้ามะพร้าวสดจากกัมพูชา

ศุลกากรจีนอนุญาตให้สามารถนำเข้ามะพร้าวสดจากกัมพูชาและอะโวคาโดจากเวเนซุเอลา โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) ตามการประกาศของสำนักงานศุลกากรจีน (GAC) ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและเวเนซุเอลา ในช่วงระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน ตามข้อมูลของศุลกากรกัมพูชา ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและกัมพูชามีมูลค่าอยู่ที่ 8.09 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนที่มูลค่า 940 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 โดยการส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร อาทิเช่น กล้วย มะม่วง และลำไย เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501363495/fresh-cambodian-coconuts-venezuelan-avocados-approved-to-enter-china/

“เมียนมา” ชี้ความต้องการน้ำมันปาล์มในประเทศหดตัว เหตุนำเข้าจากต่างประเทศพุ่ง

จากข้อมูลของตลาดน้ำมันปาล์มในย่างกุ้ง เปิดเผยว่าได้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ 20,000 ตัน ในช่วงต้นเดือน ก.ค. ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงตลาดย่างกุ้งลดลงอย่างมาก และเมื่อพิจารณาราคาน้ำมันปาล์ม พบว่าราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากความยากลำบากในการซื้อน้ำมันปาล์มเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ในขณะที่ผู้ค้าน้ำมันรายหนึ่งบอกว่าราคาน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 8,000 – 8,200 จ๊าตต่อวิสซ์ ทั้งนี้ จากเหตุที่น้ำมันปาล์มในตลาดมีราคาสูง ทางหน่วยงานได้หารือและเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 ก.ค. เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ เมียนมาจะนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/demand-for-palm-oil-decreases-due-to-large-foreign-palm-oil-imports/#article-title

ม.ค. 2023 การค้าระหว่างประเทศกัมพูชา หดตัว 29%

การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาลดลงร้อยละ 29 ในช่วงเดือนมกราคม 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามีมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงร้อยละ 14 ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาก็ลดลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 37.5 คิดเป็นมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชาด้วยมูลค่าการส่งออกรวม 562 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 37 ของยอดการส่งออกทั้งหมด ลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาส่วนใหญ่ได้ทำการนำเข้าจากจีนที่มูลค่า 891 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501238161/cambodias-foreign-trade-declines-29-in-january/

ปริมาณการค้าผ่าน SEZ กัมพูชา พุ่ง 38% ในช่วงครึ่งปีแรก

ปริมาณการค้าทั้งการนำเข้าและส่งออกของกัมพูชา ซึ่งดำเนินการผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) มีมูลค่ากว่า 1.37 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเติบโตในช่วงครึ่งแรกของปีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่นหลังได้รับผลกระจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชาและโฆษก Penn Sovicheat กล่าวเสริทว่า SSEZ ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญจากความร่วมมือภายใต้กรอบ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนช่วยในการส่งเสริมเศรษฐกิจของกัมพูชาในยุคหลังการแพร่ระบาด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501115409/chinese-invested-economic-zone-in-cambodia-registers-trade-increase-of-38-pct-in-h1/

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในช่วง 5 เดือน

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชามีมูลค่ารวมกว่า 22,400 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 จากมูลค่า 18.7 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชามีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 9.41 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 34.5 ในขณะที่ยอดการนำเข้ารวมอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ซึ่งในรายงานยังระบุว่า จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา รองลงมาคือสหรัฐฯ เวียดนาม ไทย และสิงคโปร์ โดยปริมาณการค้าระหว่าง จีน-กัมพูชา พุ่งไปแตะ 4.99 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 26 จากประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19, ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ FTA ของกัมพูชา-จีน (CCFTA) เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางการค้าของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501093744/cambodias-international-trade-up-almost-20-pct-in-5-months/