ค่าจ้างขั้นต่ำใน สปป.ลาว ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากขึ้น

ค่าแรงขั้นต่ำใน สปป.ลาวปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 ล้าน กีบ หรือประมาณ 75 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากอัตราก่อนหน้าที่มีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 1.3 ล้านกีบ หรือประมาณ 61 ดอลลาร์สหรัฐ โดยแรงงานบางส่วนได้สะท้อนว่าไม่สมดุลกับค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าน้ำมันและค่าอาหาร รวมๆ กันต้องใช้เงินกว่า 3 ล้านกีบ ทำให้ค่าจ้างที่ได้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำ สปป.ลาว ยังมีระดับท้ายๆ ของประเทศในอาเซียน ทำให้เกิดการไหลออกของจำนวนแรงงาน จนทำให้แรงงานในประเทศมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ยังทำให้จำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เรียนจบมีจำนวนลดลง ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/17/inadequate-minimum-wage-deepens-economic-woes-in-laos-fueling-labor-shortages-school-dropouts/

‘เวียดนาม’ ดาวรุ่งในอินโดแปซิฟิก

สำนักงานพัฒนาการส่งออกแคนาดา (EDC) เผยแพร่บทความเรื่อง ‘การทำธุรกิจในเวียดนาม: จับตาดาวรุ่งในอินโดแปซิฟิก’ รายงานว่าเวียดนามกลายมาเป็นดินแดนแห่งมังกร รวมถึงกลายมาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าในอุดมคติ ในขณะที่จากข้อมูลของการประชุม World Economic Forum (WEF) เปิดเผยว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 8% ต่อปีแบบทบต้นในปีที่แล้ว และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม ขยายตัว 5% โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้า จะขยายตัว 6% และ 7% ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจจึงทำให้สำนักงานฯ เลือกเวียดนามเป็นตัวแทนดาวรุ่งในเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าถึงแม้ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงของเวียดนามยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งการเติบโตของคนชนชั้นกลางเวียดนาม แซงหน้าประเทศในภูมิภาค ถึงแม้ว่าขนาดของเศรษฐกิจเวียดนามจะมีขนาดเล็กกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางแห่ง แต่ประชากรเวียดนามมีจำนวนเกือบ 100 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่ากลุ่มประชากรครึ่งหนึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-rising-star-in-indo-pacific-canadian-agency-post286074.vnp

14 พ.ค.ได้ลุ้น คกก.ค่าจ้างฯ ถกค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณี การประกาศค่าแรงขั้นต่ำเพื่อเป็นของขวัญวันแรงงาน 1 พฤษภาคมนี้ว่า ในส่วนของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ไม่ได้มีการขึ้นทันที

ทั้งนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เนื่องจากเป็นนักการเมือง และหากมีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วม จะถูกมองว่าการเมืองแทรกแซง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทำได้เป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น

อีกทั้ง การประกาศขึ้นค่าแรงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับไตรภาคีในทุกเดือน โดยในแต่ละการประชุมจะมีความชัดเจนว่าอาชีพไหนสมควรขึ้นค่าแรงบ้าง และขึ้นเป็นจำนวนเท่าไหร่ สำหรับการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯ ครั้งต่อไป ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ฯ จะมีการประชุมขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2567 ซึ่งจะมีการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ทำให้มีความชัดเจนว่าอาชีพไหน หรือจังหวัดใดได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทบ้าง

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/575899/

‘เวียดนาม’ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 6% มีผล 1 ก.ค.

จากพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 38 ที่เสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยกระทรวงแรงงาน ผู้พิการ และสวัสดิการสังคม (MOLISA) รายงานว่าค่าแรงขั้นต่ำในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้น 6% ทั้งค่าจ้างรายเดือนและรายชั่วโมง เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ซึ่งจะช่วยค่าครองชีพของแรงงานและคนในครอบครัว รวมถึงหนุนตลาดแรงงานเวียดนามฟื้นตัวดีขึ้นและส่งเสริมการผลิตและการดำเนินธุรกิจของกิจการ อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคใหม่บางประการที่มีผลต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000-280,000 ดองต่อเดือน เมื่อเทียบกับระดับปัจจุบัน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/minimum-wage-to-increase-by-6-from-july-1-2263650.html

256 CEO 76 จังหวัด ห่วงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้นทุนผลิต-ราคาสินค้าพุ่ง

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 35 เดือน พ.ย. 66 ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่รอด” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลถึงกรณีที่หากภาครัฐมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ในอัตราที่สูงเกินไป  รวมทั้งการที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระในการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานเดิมตามฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ จะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ จากผลสำรวจปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีต้นทุนแรงงานอยู่ที่ 11 – 20% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด  ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ โดยยึดหลักการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) เพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน  และควรมีมาตรการส่งเสริมกลไก Pay by Skill โดยเฉพาะการเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นอกจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่แล้ว ภาครัฐควรจะต้องแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานในระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการดูแลลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น ลดค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น  อีกทั้งยังมีการกำกับดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้น-ลงตามต้นทุนที่แท้จริงซึ่งจะทำให้แรงงานมีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับตลาดอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่มองว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานในภาคการผลิตอยู่ แต่จะเริ่มมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนการใช้แรงงานคนมากขึ้น ในอัตราส่วนไม่เกิน 20% ของการใช้แรงงานคนในปัจจุบัน

ที่มา : เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ https://www.thansettakij.com/business/economy/582122

สมาคมต่างๆ ในกัมพูชา พร้อมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับภาคแรงงาน

สมาคมต่างๆ ในภาคการผลิตสินค้ากลุ่มรองเท้าและสินค้าเพื่อการเดินทาง ต่างยินดีกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับภาคแรงงานในปี 2024 โดยเชื่อว่าจะช่วยให้มาตรฐานการครองชีพของภาคแรงงานปรับตัวดีขึ้น ด้านสมาคมผู้ผลิตรองเท้ากัมพูชา ได้กล่าวเสริมว่าการเจรจาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำได้ดำเนินการทางเทคนิคแล้ว โดยอิงตามเกณฑ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ตามมาตรฐานสากลที่กำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งสนับสนุนในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 204 ดอลลาร์ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจาก 200 ดอลลาร์ต่อเดือน ภายในปีหน้า และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้กำหนด เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ให้กับภาคแรงงาน และเสริมสร้างการดึงดูดการลงทุนต่อไป ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สำหรับอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากของกัมพูชา โดยปัจจุบันกัมพูชามีโรงงานกลุ่มดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 1,332 แห่ง มีการจ้างงานประมาณกว่า 840,000 คน ด้านตัวเลขการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี คิดเป็นกว่าร้อยละ 52 ของการส่งออกทั้งหมด ที่มูลค่า 10.09 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501369455/associations-welcome-minimum-wage-hike/

รัฐบาลกัมพูชาจ่อปรับค่าแรงขั้นต่ำกลุ่มอุตสาหกรรม GFT ในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชายืนยันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องสำหรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทาง (GFT) โดยยึดมั่นในความยั่งยืนของภาคดังกล่าวและเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนมาจากรัฐบาลชุดใหม่ของกัมพูชา ขณะที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนสำหรับภาคส่วนนี้อยู่ที่ 200 ดอลลาร์ ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจาก 194 ดอลลาร์ ต่อเดือน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทาง (GFT) ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของกัมพูชา โดยมีสถานประกอบประมาณ 1,332 แห่ง สร้างการจ้างงานประมาณกว่า 830,000 คน ซึ่งคิดเป็นการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวมูลค่ารวมกว่า 6.27 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี ถึงแม้จะลดลงอย่างมากจากการมูลค่า 7.89 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลการค้าจากกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501352116/gft-minimum-wage-hike-focuses-on-sustainability/

หอการค้าชี้รับได้ขึ้นค่าแรง 5-8% เติมเงินให้คนรายได้น้อยสู้ของแพง ย้ำชัดห้ามปรับราคาเดียว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงแรงงานเตรียมปรับอัตราค่าแรงงานเพิ่ม 5-8% ซึ่งหอการค้าไทยเห็นด้วย เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูง ถ้าไม่ปรับค่าแรง และสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อแรงงานที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมาก แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วย คือ การปรับค่าแรงงานเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงต้องผ่านคณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด และที่ผ่านมาหอการค้าไทยพยายามผลักดันให้รัฐออกมาตรการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่งเฟส 5 ซึ่งเป็นรูปทรงที่ดีที่ทำมาตรการในช่วงเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น และมาตรการช่วยดูแลส่วนที่เป็นแรงงาน หากไม่เข้าไปดูแลส่วนนี้จะเกิดปัญหาต่อสังคม

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/1338687/

สหภาพแรงงานกัมพูชาเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำปรับเป็น 204-214 ดอลลาร์

ก่อนการเจรจากับทางกระทรวงแรงงานกัมพูชา สหภาพแรงงานกำหนดหัวข้อในการเจรจาขอปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในช่วง 204-214 ดอลลาร์ สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า กระเป๋า และสินค้าการเดินทาง ภายในปี 2023 หลังจากค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ระดับ 194 ดอลลาร์ ในปัจจุบัน โดยกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมพิจารณาเกี่ยวกับข้อมูลและการวิจัยทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับเกณฑ์ต่างๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ผลิตภาพ ความสามารถในการแข่งขัน สถานการณ์ตลาดแรงงาน และผลกำไรของภาคส่วนต่างๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501107632/labour-unions-in-cambodia-want-minimum-wage-of-204-214-ahead-of-talks/

“เวียดนาม” เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้นเดือนหน้า

พระราชกฤษฏีกากาฉบับที่ 38/2022/ND-CP ว่าด้วยการเพิ่มเงินเดือนทั่วประเทศ ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นาย Pham Binh Minh รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่ามีผลบังคับใช้กับแรงงานที่ลงนามในสัญญาจ้างตามประมวลกฎหมายแรงงานและนายจ้าง ได้แก่ กิจการที่ดำเนินงานอยู่ภายใต้กฎหมายวิสาหกิจ สหกรณ์ ธุรกิจครัวเรือนและธุรกิจส่วนตัว โดยรัฐบาลเวียดนามจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6% ในต้นเดือนหน้านี้ ทั้งนี้ อัตราค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานในภูมิภาคที่ 1 เขตเมือง จะกำหนดให้เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 ล้านดอง  ขณะที่ภูมิภาคที่ 2 กำหนดเพิ่มเป็น 4.16 ล้านดอง, ภูมิภาคที่ 3 เพิ่มขึ้นเป็น 3.64 ล้านดอง และภูมิภาคที่ 4 เพิ่มขึ้นเป็น 3.25 ล้านดอง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-set-to-raise-minimum-salaries-early-next-month/