ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจกัมพูชายังคงขยายตัว แม้หลายประเทศในภูมิภาคมีแนวโน้มหดตัว

ธนาคารโลก (World Bank: WB) ระบุว่าประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษ และมีความผันผวนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่หลังจากวิกฤตการเงินในเอเชียช่วงปี 1997-1998 ภูมิภาคนี้เริ่มมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ค่อนข้างจำกัด ส่งผลทำให้การเปลี่ยนแปลงเชิงผลิตภาพขยายตัวเพียงเล็กน้อย แม้จะเปิดกว้างสำหรับภาคการค้าและการลงทุนในภาคการผลิต ผลที่ตามมาคือ การเติบโตของผลิตภาพในเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหลายแห่งปรับตัวลดลงตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009 ถึงอย่างไรภาคอุตสาหกรรมของทั้งกัมพูชาและเวียดนามกลับมีการเติบโตที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดย WB คาดการณ์ GDP ของกัมพูชาในปี 2023 ไว้ที่ร้อยละ 5.2

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501265854/cambodia-is-regional-exception-to-falling-trend-in-manufacturing/

แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจลาวอยู่ในระดับสูง แต่การจ้างงานต่ำ

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยรายงานข้อมูลอัปเดตเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว ในช่วงปี 2543-2561 ขยายตัวเฉลี่ย 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการเติบโตทางการค้าเฉลี่ย 17% ต่อปี แต่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ได้รับแรงผลักดันจากการค้าและการลงทุนในด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการขุดเจาะและพลังงาน ทั้งนี้ ตามรายงาน Lao Economic Monitor for October 2022: Tackling Macroeconomic Vulnerabilities พบว่าการจ้างงานนอกภาคการเกษตรปรับตัวลดลงจากปี 2555-2561 โดยส่วนใหญ่ได้รับงานจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนอกภาคเกษตรยังไม่สามารถรองรับกับจำนวนแรงงานเกินที่อยู่ในภาคเกษตรได้ ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 4.1% ในปี 2555 มาอยู่ที่ 15.7% ในปี 2561 อีกทั้ง ปัญหาความยากจนส่งสัญญาลดลง แต่ยังคงช้ากว่าประเทศอื่น และในอีก 10 ปีข้างหน้า สปป.ลาวจะต้องสร้างงานกว่า 60,000 ตำแหน่งต่อปี เพื่อรองรับกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Despite03.php

ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจกัมพูชาโต 4.8% ปีนี้

ธนาคารโลกรายงานถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของกัมพูชาที่กำลังกลับมาฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาไว้ที่ร้อยละ 4.8 ในปี 2022 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง รวมถึงภาคการส่งออกก็เริ่มกลับมาขยายตัว ซึ่งได้ระบุไว้ในรายงานเศรษฐกิจกัมพูชาของธนาคารโลกประจำเดือนธันวาคม โดยอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สินค้าเดินทาง และรองเท้าของกัมพูชาสามารถฟื้นตัวได้ดีในสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะที่ภาคบริการซึ่งดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ “Living with COVID-19” ได้กระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะ 1.2 ล้านคน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2023 จะเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 5.2 จากภาคการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501198797/world-bank-says-cambodias-economy-on-recovery-path-forecast-4-8-percent-gdp-growth-for-this-year/

‘สปป.ลาว’ จำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ตามรายงาน Lao Economic Monitor ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2565 เปิดเผยว่าการปฏิรูปจะสามารถช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รายงานดังกล่าวยังระบุว่าเงินกีบอ่อนค่าลง 68% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงเดือนตุลาคม เป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่หนี้สาธารณะและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน คาดว่าจะเกินกว่า 100% ต่อ GDP ในสิ้นปีนี้ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารโลกจึงปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสปป.ลาว ในปี 2565 เหลืออยู่ที่ 2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.8% ถึงแม้ว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนของปีนี้ ตารายได้ของคนลาวกลับเพิ่มตามมาไม่ทันเงินเฟ้อ ดังนั้น ธนาคารโลกได้เสนอให้ทำการปฏิรูป 5 ประการ ได้แก่ การยกเว้นภาษี เพิ่มรายได้ของรัฐบาลและปกป้องการใช้จ่ายทางสังคม, ปรับปรุงการบริหารการปกครองสาธารณะ, ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ, เสริมสร้างความมั่งคงของภาคการเงิน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten227_Reform_y22.php

ธนาคารโลกปรับ GDP กัมพูชา ปี 2022 โต 4.8%

ธนาคารโลกได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาขึ้นเป็นขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาร้อยละ 4.5 โดยในปีหน้าธนาคารโลกคาดว่ากัมพูชาจะเติบโตถึงร้อยละ 5.2 ซึ่งได้กล่าวในรายงาน “East Asia and the Pacific economic update October 2022” โดยคาดว่าการส่งออกที่แข็งแกร่งของกัมพูชาจะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี สะท้อนถึงอุปสงค์ภายนอกที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ภาคบริการภายในประเทศยังคงซบเซา ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดี โดยในรายงานระบุเพิ่มเติมว่าอัตราเงินเฟ้อภายในกัมพูชาเร่งตัวขึ้นส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของภาคประชาชน จากราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้นในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501158113/world-bank-revises-up-2022-cambodia-gdp-growth-to-4-8/

“เวิลด์แบงก์” ชี้ภาวะเศรษฐกิจสปป.ลาว ชะลอตัว

รายงานอัพเดทเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Country Economic Updates) ประจำเดือนต.ค.65 ของธนาคารโลก ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว มีแนวโน้มชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย. สาเหตุสำคัญมาจากเผชิญกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอก โดยธนาคารโลกได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว เหลือ 2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.8%

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของธนาคารโลก เปิดเผยถึงผลการดำเนินทางด้านเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัว หนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นและการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อรองรับกับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาอาหารและเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังคงเผชิญกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ กดดันต่อสถานะของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten188_slower.php

“เวิลด์แบงก์” ปรับเพิ่มจีดีพีเวียดนามปี 65 ขยายตัว 7.2%

รายงานอัพเดทเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Country Economic Updates) ประจำเดือนตุลาคม 2565 ของธนาคารโลก คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 ขยายตัว 7.2% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่กำลังฟื้นตัว และการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารโลกชี้ว่าการฟื้นตัวของภาคส่งออกและความต้องการสะสมที่ถูกอั้นไว้ (pent-up demand) รวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลาง-ระยะยาว สามารถบรรลุเป้าหมายของประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง อย่างไรก็ดีขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นนวัตกรรม

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-economy-to-expand-72-in-2022-wb-post118336.html

ARDB ลงนามในสัญญาเงินกู้วงเงิน 30 ล้านดอลลาร์ ส่งเสริมภาคการเกษตรกัมพูชา

ธนาคารเพื่อการเกษตรและการพัฒนาชนบท (ARDB) ของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชา ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้มูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ ให้กับธนาคาร 3 แห่ง และสถาบันการเงินขนาดเล็ก เพื่อช่วยในการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมภายในประเทศ โดยสัญญาเงินกู้อยู่ภายใต้โครงการสร้างความหลากหลายทางการเกษตรของกัมพูชา (CASDP) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารโลก มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงินและสนับสนุนห่วงโซ่การผลิต กระจายไปยังเขตพื้นที่เป้าหมาย 13 แห่ง ได้แก่ พนมเปญ, พระตะบอง, มณฑลคีรี, สตึงแตรง, รัตนคีรี, ปราสาทพระวิหาร, กัมปงจาม, ทบงคำ, กระแจะ, เสียมราฐ, กันดาล, กำปงสปือ และ กำปงชนัง ซึ่งธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่ต้องการในภาคการเกษตรที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ยกเว้นภาคที่เกี่ยวกับข้าวที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาอยู่แล้ว โดยการส่งออกสินค้าเกษตร (ไม่รวมข้าว) ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมมีปริมาณรวม 3.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.13 ล้านตัน จากปีก่อนหน้า ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 1.4 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501132346/ardb-inks-30m-loan-pact-to-promote-agri-sector/

“ธนาคารโลก” ชี้เวียดนามต้องการแรงงานมีทักษะ ขับเคลื่อนศก.รายได้ปานกลาง-สูง ปี 2578

ตามรายงานของธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยว่าเวียดนามต้องการแรงงานที่มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ในขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจขับเคลื่อนจากแรงงานที่มีทักษะต่ำและค่าแรงงานที่ต่ำทั้งด้านการผลิตและบริการ ไปสู่นวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งสร้างขึ้นมาจากอุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม แรงงานของเวียดนามจะต้องได้รับทักษะในระดับที่สูงขึ้นและมีทักษะที่หลากหลาย โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของรัฐบาลเวียดนาม ปี 2564-2573 มีเป้าหมายที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหลักทางด้านผลผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ดีเวียดนามจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษาและเพิ่มทักษะที่จำเป็นแก่ประชาชน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-business-news-august-9-2047767.html

“ธนาคารโลก” คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามปี 65 โต 7.5%

ตามรายงานของธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2022 ได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 ขยายตัว 7.5% ส่วนปี 2566 อยู่ที่ 6.7% สืบเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ยืดหยุ่นและการฟื้นตัวของภาคบริการ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว โดยเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 4/64 ขยายตัว 5.2% และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% ต่อปี

ทั้งนี้ นางแคโรลีน เติร์ก ผู้อำนวยการธนาคารโลกสาขาเวียดนาม เผยว่าข้อเสนอเชิงนโยบายของรายงานฉบับนี้จะช่วยลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ คุณ Dorsati Madani ผู้ร่วมเขียน กล่าวว่าในขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามค่อนข้างคงที่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกภาคส่วนที่อยู่ในสถานการณ์ปกติ อย่างเรื่องผลกระทบต่อแรงงานและภาคครัวเรือนในช่วงวิกฤตินั้น ประมาณ 45% รายได้ลดลงในเดือนธ.ค. 64 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตลอดจนลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อโรคที่ยังคงมีอยู่ในธุรกิจต่างๆ และปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีกด้วย

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/wb-forecasts-vietnams-economic-growth-at-75-in-2022-45747.html