‘เวียดนาม’ ลงทุน AI โต 8 เท่า

นาย Vu Quoc Huy ผู้อำนวยการศูนย์ศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ (NIC) เปิดเผยว่ายอดการลงทุนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพิ่มขึ้น 8 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2566 จากมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยับขึ้นมาที่ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ จากรายงาน ‘Vietnam Innovation and Private Capital’ ระบุว่าเวียดนามมีการเบิกจ่ายเงินลงทุนในปีที่แล้ว อยู่ที่ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากจำนวน 141 ข้อตกลง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง และสภาวะการระดมทุนที่ทำได้ยากมากขึ้น

นอกจากนี้แล้ว ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยี AI ยังคงขยายตัวไปในสาขาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การเงิน การดูแลสุขภาพ และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งขับเคลื่อนกระบวนการตัดสินใจที่ชาญฉลาด และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/investment-in-ai-in-vietnam-increases-eightfold-post318282.vnp

‘เอเชีย อินไซเดอร์’ ชี้เวียดนามเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตแรง

จากรายงานของเอเชีย อินไซเดอร์ (Asian Insiders) เครือข่ายที่ปรึกษาด้านธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจแบบไดนามิก ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มการขยายตัวจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไปข้างหน้า โดยจากรายงานชี้ให้เห็นว่าเวียดนามเป็น 1 ใน 20 ประเทศทั่วโลกที่มีเศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในโลก ในขณะเดียวกันประชากรเวียดนามมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 102 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจในปี 2567 อยู่ที่ 469 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่เป็นอันดับที่ 35 ของโลก นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ได้แก่  Samsung, LG, Foxconn, Panasonic, Bosch, GE, Piaggio และ Yamaha ได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยหรือฐานการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ บ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามที่จะก้าวไปสู่แหล่งนวัตกรรมและศูนย์กลางการผลิต

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-remains-one-of-globe-s-rising-economies-asian-insiders-2260651.html

‘เวียดนาม’ จับมือซัมซุง ผลักดันพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์

นาง Nguyen Thi Bich Ngoc รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) ได้กล่าวกับนายชอย จู โฮ (Choi Joo Ho) ผู้อำนวยการของบริษัทซัมซุงเวียดนามว่าเวียดนามหวังว่าบริษัทชั้นนำเกาหลีใต้ ‘ซัมซุง’ จะกลายมาเป็นนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่ผลักดันประเทศให้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และนวัตกรรม โดยจากการประชุมครั้งล่าสุดทางรัฐมนตรีช่วยฯ เสนอให้ทางบริษัทเกาหลีใต้ช่วยส่งเสริมเวียดนามในการยกระดับขีดความสามารถทางธุรกิจ เพื่อมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนช่วยดำเนินการศูนย์ฝึกอบรมที่ตั้งอยู่ในศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ (NIC)

นอกจากนี้ นายชอย จู โฮ กล่าวว่าทางบริษัทเล็งขยายการลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือกับศูนย์ NIC ในการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ฝึกอบรมและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-wants-to-cooperate-with-samsung-in-semiconductor-development-official/276580.vnp

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ มีแนวโน้มขยายตัว 6.48% หนุนนำนวัตกรรมและปฏิรูปขับเคลื่อนประเทศ

สถาบันกลางเพื่อการจัดการเศรษฐกิจ (CIEM) เปิดเผยว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะขยายตัว 6.48% ในปี 2567 ที่ได้รับแรงหนุนจากนวัตกรรม การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการปฏิรูปหน่วยงานหรือสถาบัน โดยทางสถาบัน CIEM ได้นำแบบจำลองสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไว้ 2 สถานการณ์ ในสถานการณ์แรกจะเป็นการที่เศรษฐกิจโลกค่อยๆกลับมาฟื้นตัวที่ 2.9% และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.13% ตามมาด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ 3.9% การส่งออก 4.02% และเกินดุลการค้า 5.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สถานการณ์ที่สอง คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ 3.2% เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.48% ตามมาด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ 3.72% และการส่งออก 5.19%

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1639269/2024-gdp-growth-might-reach-6-48-driven-by-innovation-reforms.html

ทางการกัมพูชาพร้อมเสนอนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาผ่าน ครม.

กระทรวงพาณิชย์พร้อมนำส่งร่างนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติประจำปี 2023-2028 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการพิจารณา นำโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งได้เปิดเผยแผนดังกล่าวในระหว่างการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา หากเมื่อนำนโยบายดังกล่าวมาใช้แล้วเชื่อว่าจะนำไปสู่การส่งเสริมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสิทธิของเจ้าของผลงาน ตราสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกัมพูชา รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของกัมพูชา นอกจากนี้รัฐมนตรีฯ ยังแนะนำให้ NCIPR รับรองร่างกฤษฎีกาย่อยที่ครอบคลุมสำหรับการดำเนินการตามนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อนำมาใช้ต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317275/national-intellectual-property-policy-ready-for-council-of-ministers-review/

“สหรัฐฯ” นำเข้าชิป 10% จากเวียดนาม

ตามรายงานของกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร (MIC) ระบุว่าเวียดนามมียอดการส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์ไปยังประเทศสหรัฐฯ จำนวนมาก อยู่ในอันดับที่ 3 ในเอเชีย รองจากมาเลเซียและไต้หวัน และเวียดนามมีสัดส่วนการส่งออกชิปมากกว่า 10% ของปริมาณการนำเข้าชิปของสหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การส่งออกชิปของเวียดนามส่วนใหญ่มาจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม (FIEs) ซึ่งจะดำเนินงานไม่ได้มีความ ซับซ้อน อาทิเช่น การประกอบและการทดสอบ ทั้งนี้ คุณ แดเนียล หลิน จากบริษัท MediaTek กล่าวว่าเวียดนามมีโอกาสที่จะเป็นแหล่งเชื่อมโยงสำคัญของห่วงโซ่อุปทานชิปเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก หากสามารถทำการผลิตได้ดีและการสร้างและออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ อีกทั้ง เวียดนามควรคำนึงถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ อาจเริ่มต้นจากการดำเนินงานที่ไม่ซับซ้อน เช่น การออกแบบไอซี การสร้างโรงงานและห้องปฏิบัติการ การบรรจุภัณฑ์ และการพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น ก่อนที่จะค่อยๆ ยกระดับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/10-of-chips-imported-to-us-are-from-vietnam-2142369.html

‘เวียดนาม’ แม่เหล็กดึงดูดนวัตกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การผลักดันสตาร์ทอัพของเวียดนามและสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการทำงานด้านนวัตกรรม เป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาล กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติเวียดนาม (NIC)

คุณ Nguyễn Thị Ngọc Dung ตัวแทนจากศูนย์ฯ กล่าวกับสำนักข่าวเวียดนาม (VNA) ว่ากิจการในประเทศตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม เมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาด โดยศูนย์ดังกล่าวได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญชาวเวียดนามกว่า 1 พันคนที่อยู่ในวงการการศึกษาและวิจัยที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น “Genetica” สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medtech) ในสหรัฐฯ ซึ่งมีการให้บริการส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อเดือน ต.ค.64 ธุรกิจประกาศว่าได้พัฒนาศูนย์การศึกษาการหาลำดับคู่เบสในสาย DNA ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ตั้งอยู่ในศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติเวียดนาม ด้วยกำลังการผลิต 500,000 จีโนมต่อปี

ทั้งนี้ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ “Genetica” ชักชวนให้บริษัทหันมาเปิดสำนักงานใหญ่ในเวียดนาม ประกอบกับนาย Nguyễn Chí Dũng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม ได้ให้คำมั่นว่าจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1142897/viet-nam-working-to-become-innovation-magnet-in-southeast-asia.html