เวียดนามขึ้นแท่นผู้นำ “ดึงดูดนักลงทุนระยะยาว” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ว่ากลุ่มนักลงทุนเชื่อมั่นว่า กิจกรรมการลงทุนในเวียดนามจะเพิ่มขึ้น 83% ระหว่างปี 2568-2573 ปัจจุบัน เวียดนามเป็นเสาที่ 3 ของสามเหลี่ยมทองคำ ในแวดวงบริษัทสตาร์ตอัปของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ขณะเดียวกัน เวียดนามยังเต็มไปด้วยผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีชั้นนำ และวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ซึ่งดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกเป็นอย่างมาก

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/3507518/

“บีโอไอ” เผยลงทุนไตรมาสแรก 2.28 แสนล้านบาททะยานต่อเนื่อง นำโดยอุตฯอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรก การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยในส่วนของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้น 94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31%

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์ขึ้นครองอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และฮ่องกง สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/533144

“จีน” ยังคงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของกัมพูชา

นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนปีนี้ สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนไปแล้ว 191 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ โดยจีนยังคงรักษาตำแหน่งผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในกัมพูชา สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ CDC อนุมัติโครงการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น 41 โครงการ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นเม็ดเงินลงทุนของจีนในกัมพูชามากกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด รองลงมาเป็นการลงทุนจากนักลงทุนในท้องถิ่นชาวกัมพูชาอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 12 โดยในเดือนกันยายน CDC อนุมัติโครงการใหม่ 27 โครงการด้วยเงินลงทุนรวม 1.6 พันล้านดอลลาร์ สร้างโอกาสในการจ้างานให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า 30,000 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการลงทุนเกี่ยวกับระบบการขนส่ง การผลิตไฟฟ้า ผลิตเหล็ก และภาคส่วนอื่นๆ ด้านกัมพูชากำลังเร่งจัดทำกลยุทธ์เพื่อหวังดึงดูดนักลงทุนชาวจีนผ่านการเข้าร่วมโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501373387/china-remains-largest-investor-in-cambodia/

นโยบายหนุนรถ EV ของอินโดนีเซียมีแววส่งเสริมการลงทุนในอาเซียน

นโยบายที่เอื้อต่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอินโดนีเซียได้ดึงดูดให้นักลงทุนทั่วโลกหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระบุว่า นโยบายดังกล่าวของอินโดนีเซียนั้นจะช่วยหนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ นายอนินด์ยา โนเวียน บัครี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานคณะกรรมการบริษัทบัครีแอนด์บราเธอร์ส (Bakrie & Brothers) ระบุว่า อินโดนีเซียอาจเป็น “ประตู” มุ่งสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยบริษัทวีเคทีอาร์ (VKTR) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบัครีแอนด์บราเธอร์ส เป็นผู้ผลิตรถบัสไฟฟ้าและชิ้นส่วนรถ EV

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/337445

‘กองทุนสวิส’ เผยเวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่มีเสียรภาพของนักลงทุน

ซินเย่ว โหว (Xinyue Hou) ผู้จัดการกองทุนจาก Bellecapital สัญชาติสวิส ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเวียดนามในกรุงเจนีวา เปิดเผยว่าเวียดนามมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่แรงงานเวียดนามมีชื่อเสียงในด้านความขยัน ความคิดสร้างสรรค์และจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ โดยสังเกตมาจากความพยายามของแรงงานที่ต้องการสะสมความมั่งคั่ง และแรงงานส่วนใหญ่เลือกที่จะกู้เงินทุนมากขึ้น เพื่อเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง อีกทั้ง นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามจนถึงปี 2568 แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะเสริมสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจมหภาคและการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-remains-stable-destination-for-investors-swiss-fund/267721.vnp

บริษัทสัญชาติจีนเข้าลงทุนยังกัมพูชากินสัดส่วนเกือบ 65%

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) ได้ประกาศอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ 113 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวมกันประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบร้อยละ 65 มาจากนักลงทุนสัญชาติจีน ขณะที่มาจากนักลงทุนท้องถิ่นประมาณร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียนในช่วงแรกของปี ตามมาด้วยเวียดนามร้อยละ 6.64, เซเชลส์ร้อยละ 3.31, ไทยร้อยละ 1.77, สาธารณรัฐเกาหลีร้อยละ 1.70, ซามัวร้อยละ 0.60, สหรัฐอเมริการ้อยละ 0.49, สิงคโปร์ร้อยละ 0.18 และสวีเดนร้อยละ 0.07 โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานคนในท้องถิ่นกว่า 122,000 ตำแหน่ง ซึ่งโครงการส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมคิดกว่า 102 โครงการ รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมการเกษตร 7 โครงการ ภาคการท่องเที่ยว 3 โครงการ และ โครงสร้างพื้นฐาน 1 โครงการ ด้าน Ky Sereyvath นักเศรษฐศาสตร์ของ Royal Academy of Cambodia (RAC) กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงดึงดูดการลงทุนของกัมพูชา ได้แก่ ข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงล่าสุดในกรอบการลงทุนทางกฎหมาย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324792/china-strengthens-investment-in-cambodia-with-nearly-65-percent-share/

‘งานแสดงสินค้าเมียนมา-จีน’ ดันการดำเนินธุรกิจของบริษัทเมียนมา

การจัดงานแสดงสินค้าเมียนมา-จีน ระหว่างวันที่ 25-28 พ.ค.จัดขึ้นที่กรุงเนปยีดอ เมืองหลวงของเมียนมา โดยเป็นการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งสองประเทศและการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทั้งสินค้าเกษตร อาหาร น้ำอัดลม ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องใช้ในครัวเรือน และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ทางด้านคุณ U Khin Aung Thet ผู้จัดการบริษัท Six Six Eight Co. Ltd. ได้ร่วมลงนามข้อตกลงกับบริษัทจีนและมองว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะสร้างโอกาสให้กับบริษัทที่จะขายถั่วและถั่วพัลส์ไปยังตลาดจีน ซึ่งงานแสดงสินค้ามีความสำคัญอย่างมากต่อบริษัทในการหาลูกค้า ในขณะที่คุณ Daw Cho Cho Aye เจ้าของร้านหยกและเครื่องประดับของบริษัท Myat San กล่าวว่าบริษัทมีความต้องการที่จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เพื่อที่จะนำเสนอสินค้าครั้งแรกที่งานแสดงสินค้าในฐานะความร่วมมือระหว่างจีนและเมียนมา

ที่มา : https://english.news.cn/asiapacific/20230530/b3e8edcbefd7435cbd3ed7f9e835dc30/c.html

“Deutsche Bank” เพิ่มการจัดสรรเงินทุนในเวียดนามเกือบ 2 เท่า กว่า 200 ล้านดอลล์

สำนักข่าว The Business Times รายงานว่า Deutsche Bank เพิ่มการจัดสรรเงินทุนในเวียดนามเกือบ 2 เท่า ทำให้เงินอัดฉีดรวมเป็นกว่า 200 ล้านดอลลาร์ Deutsche Bank กล่าวเมื่อวันจันทร์ (29 พ.ค.) ว่าการเพิ่มทุนจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธนาคารในเวียดนาม และช่วยให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้นสำหรับลูกค้า โดยสิ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากรายได้ของสาขาเอเชียแปซิฟิกของธนาคารเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเวียดนามเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญสำหรับภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ Alexander von zur Muehlen ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Deutsche Bank กล่าวว่าการลงทุนในเวียดนามครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของเราต่อการพัฒนาอย่างรวดเร็วของตลาดนี้และเส้นทางการเติบโตในระยะยาว เวียดนามเป็นตลาดเชิงกลยุทธ์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับลูกค้าของเรา การเพิ่มทุนครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถรองรับแผนการขยายธุรกิจของลูกค้าในประเทศได้ดีขึ้น และเช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจเวียดนามในวงกว้าง

อีกทั้งการพัฒนาของเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก รวมถึง Adani Group ซึ่งมีรายงานว่ากำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการลงทุนมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์ ในโครงการท่าเรือและพลังงานหมุนเวียนในประเทศ

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/41265/

เวียดนาม-กัมพูชา วางแผนอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างกัน

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม Phạm Minh Chính ให้การต้อนรับ Prak Sokhonn รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้เดินทางไปเยือนยังเวียดนามอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือและสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ โดยในปี 2022 การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเวียดนามแตะ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นการขยายตัวเกือบร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปี 2021 ขณะที่การลงทุนของนักลงทุนเวียดนามในกัมพูชามีมากถึง 205 โครงการ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 29,400 ล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้เวียดนามถือเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่รายสำคัญของกัมพูชาในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501260736/vietnam-cambodia-seek-to-further-facilitate-cross-border-trade/

“พาณิชย์-DITP” ชี้เป้านักลงทุนไทยลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนาม

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจาก นางสาวธนียา ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ถึงการติดตามสถานการณ์การแข่งขันของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเวียดนาม และโอกาสในการเข้าไปลงทุนด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเวียดนามว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นาย เล มินห์ ไค รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ลงนามในข้อมติ No.163/NQ-CP ว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินการงานหลักเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศ เพื่อพัฒนาบริการโลจิสติกส์ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับการพัฒนาการผลิตสินค้า การนำเข้า การส่งออก และการค้าภายในประเทศ และการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านบริการโลจิสติกส์ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสการลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนามของนักลงทุนไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการคลังสินค้าและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.thailandplus.tv/archives/670257