สนค. แนะไทยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ชิงแหล่งทุนจากทั่วโลก แห่ใช้อาเซียนฐานผลิตแห่งใหม่

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อาเซียนกลายเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะสภาพแวดล้อมหมาะสม การย้านฐานผลิตของจีน หลังเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐ-จีน และไทยเร่งเจรจาเอฟทีเอมากขึ้น ทั้งนี้ หลังจากการเกิดโควิด-19 อาเซียนมีความยืดหยุ่นตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจการค้าของโลกอย่างรวดเร็ว จากรายงาน ASEAN Investment Report 2022 ระบุว่า ปี 2564 มีเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศไหลเข้าเพิ่มขึ้นถึง 42% มูลค่า 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความน่าดึงดูดใจทางเศรษฐกิจของภูมิภาคของนักลงทุนทั่วโลก ด้วยตลาดขนาดใหญ่และความร่วมมือภายในภูมิภาคที่เข้มแข็ง โดยอาเซียนเป็นเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญรองจากจีน ซึ่งการลงทุน FDI ช่วยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ในรายงานของ IMF ล่าสุด ณ ตุลาคม 2566 คาดการณ์ว่าปี 2566 เศรษฐกิจของอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย จะขยายตัว 4.5% และขยายตัว 4.5% ในปี 2567 ซึ่งมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว 3% และ 2.9% ตามลำดับ

ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์  https://www.matichon.co.th/economy/news_4304946

 

ไทย-จีน จับมือพัฒนามาตรฐานคุณภาพผลไม้ไทย ดันส่งออกปี 64 เพิ่ม ตั้งเป้าทะลุ 7 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 17 ก.พ.64 นายอลงกรณ์ พลบุตร  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ภายใต้นโยบายทำงานเชิงรุกยุคโควิดเพื่อขยายการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดโลกของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ จะจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาคุณภาพผลไม้เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มขึ้นในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน โดยจะมีการประชุมร่วมกันกับผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ และอัครราชฑูตที่ปรึกษาด้านพาณิชย์ของจีนรวมทั้งหอการค้าไทย-จีนและผู้แทนภาคเอกชนของ 2 ฝ่าย ในเดือนมีนาคมที่จะถึง สำหรับประเด็นการหารือจะครอบคลุมตั้งแต่ การพัฒนามาตรฐานและคุณภาพผลไม้ไทย ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ จากฟาร์มถึงผู้บริโภค การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การขนส่งโลจิสติกส์ การส่งเสริมการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การพัฒนาการอำนวยความสะดวก บริเวณด่านส่งออก 4 ด่านได้แก่ ด่านโมฮ่าน ด่านโหยวอี้กวน ด่านตงชิงและด่านผิงเสียง รวมทั้งความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ทั้งนี้ประเทศไทยและประเทศจีนมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานผูกพันเสมือนพี่น้องกันและได้พัฒนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับกฎระเบียบและข้อบังคับการนำเข้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างหอการค้าไทย-จีน และ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/923074

ชูโมเดลบีซีจีทางรอดบนเวทีท่องเที่ยวอาเซียน

นาย​พิพัฒน์​ รัช​กิจประการ​ รมว.​การ​ท่องเที่ยว​และ​กีฬา​ เปิดเผยภายหลังเป็นหัวหน้าผู้แทนประเทศไทย​ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่า ประเทศไทยเห็นด้วยกับการทบทวนถึงวาระของแผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวอาเซียน ปี 64-68 เพื่อให้แผนงานมีความทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการจัดลำดับและให้ความสำคัญกับกิจกรรมและโครงการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับประเทศสมาชิกอย่างเต็มที่เพื่อให้การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียนประสบผลสำเร็จ และเพื่อความแข็งแกร่งของประชาคมอาเซียนในระยะยาว “จากวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบในวงกว้างมากที่สุด ทำให้ไทยทบทวนว่าที่ผ่านมาเราได้ใช้ทรัพยากรสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และต้องแลกด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากร โดยใช้งบประมาณจำนวนมากแก้ปัญหา อีกทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะทำมากได้น้อย เกิดการพัฒนาแบบกระจุกตัว และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้วันนี้ไทยได้พัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า บีซีจี เพื่อแก้ปัญหา จึงถึงเวลาแล้วที่การท่องเที่ยวของอาเซียนต้องเริ่มต้นใหม่กับรูปแบบใหม่ และวิถีใหม่ เหมือนเป็นการเซตซีโร่เพื่อการท่องเที่ยวที่ดีกว่าเดิม”

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/823332

สปป.ลาวพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เดินทางกลับจากไทย

หน่วยงานแห่งชาติเพื่อการป้องกันและควบคุมโควิด -19 รายงานสถานการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมาพบหญิงชาวสปป.ลาวอายุ 20 ปีตรวจพบเชื้อโควิด -19 ซึ่งมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศไทยที่ปัจจุบันเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกสอง กรณีล่าพบผู้ติดเชื้อล่าสุดนี้ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันทั้งหมดของสปป.ลาวอยู่ที่ 45 รายในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคระบาดในบางประเทศในภูมิภาคและทั่วโลกสถานการณ์ยังไม่ดีนัก รัฐบาลสปป.ลาวกำลังเข้มงวดมาตรการป้องกันและควบคุมโดยเฉพาะตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนเข้าสปป.ลาวอย่างผิดกฎหมาย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos24.php

“สุชาติ”ชี้ไทยเศรษฐกิจทรุดหนักกว่าทุกประเทศในอาเซียน

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เจริญเติบโต คือ (1) รัฐบาลมาจากเผด็จการทำให้ขาดความเชื่อมั่น จึงไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิดกว้าง ที่มีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และความยุติธรรมเป็นที่ตั้งด้วยเหตุนี้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ก็ได้ย้ายหนีจากประเทศไทย ไปประเทศที่มีระบบการปกครองที่ดีกว่า มั่นคงกว่า เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว พม่า เป็นต้น (2) มาตรการทางการเงิน ที่ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามาก มาตรการด้านการเงินแบบล้าหลัง ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ (Inflation targeting) จนต่ำเกินไปมาก หลายครั้งติดลบ ประชาชนและเอกชน ค้าขายไม่ได้กำไร หลายแห่งขาดทุน จนต้องลดการผลิต (ซึ่งลดรายได้หรือ GDP ลงด้วย) ดูได้จากการใช้กำลังการผลิตโดยรวมของไทย ปี 2563 (Capacity utilization rate) เพียง 66% เกือบต่ำที่สุดในโลก และ(3) พรก.ฉุกเฉิน ที่ใช้การแก้ไขการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลกลาง กทม.และจังหวัด สั่งปิดสถานที่ต่างๆ

ที่มา  https://www.posttoday.com/politic/news/643895

TFG คาดรายได้ปี 64 โต 15% ลุยขยายการผลิตไก่ปรุงสุก-ธุรกิจหมูรองรับดีมานด์

นายเพชร นันทวิสัย รองประธานสายงานฟาร์มและพัฒนาคุณภาพ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดรายได้ปี 64 จะเติบโตได้ราว 15% จากปีก่อน ซึ่งยังคงมาจากธุรกิจไก่ โดยเฉพาะไก่ปรุงสุกที่มีการเติบโตอย่างมากในส่วนของลูกค่าเก่า โดยบริษัทฯ ก็มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตในปีนี้เป็น 15,000 ตัน/ปี จากสิ้นปี 63 อยู่ที่ 9,000-10,000 ตัน/ปี ของกำลังการผลิตที่สามารถรองรับได้ทั้งหมด 20,000 ตัน/ปี เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มเป็นเท่าตัว อีกทั้งยังมาจากการส่งออกไก่ ที่ปีนี้มีแผนเปิดตลาดใหม่ๆ มากขึ้น เช่น เกาหลี เป็นต้น ทำให้ในภาพรวมของธุรกิจไก่ก็น่าจะเติบโตได้ 5%  ทั้งนี้ ธุรกิจสุกร ทั้งในประเทศไทยและเวียดนามก็ถือว่าเป็น Growth Driver ที่สำคัญในปีนี้ โดยบริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้เติบโต 20-25% จากในประเทศโต 15% และเวียดนามเติบโตเป็นเท่าตัว เนื่องจากซัพพลายสุกรยังขาดแคลนทั้งในภูมิภาค เช่น จีน, เวียดนาม หรือใน CLMV รวมถึงฟิลิปปินส์ สืบเนื่องจากปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever:ASF) แม้ว่าปีนี้จีนจะดูฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้างพอสมควร แต่โดยรวมทั้งภูมิภาคสุกรก็ยังลดลง หรือซัพพลายยังน้อยกว่าดีมานด์ และราคาสุกรก็อยู่ในระดับสูง นายเพชร เปิดเผยว่า บริษัทจึงมีแผนลงทุนขยายฟาร์มสุกรในปีนี้ โดยวางเป้าเติบโต 30% จากปัจจุบันที่มีการจำหน่ายสุกรอยู่ที่ 100,000 ตัว/เดือน รวมถึงลงทุนโรงชำแหละสุกร และโรงงานอาหารสัตว์ เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยวางงบลงทุนไว้ราว 2,500 ล้านบาท 

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq05/3193473

หัวเว่ย จ่อลงทุน “ดาต้าเซนเตอร์” ในไทย ดิจิทัลฮับอาเซียน

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ประเทศไทย ประกาศแผนจะลงทุน 700 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์คอมพิวเตอร์  ขึ้นในประเทศไทย ในปี 2021 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการของหัวเหวยในการสนับสนุนไทยให้เป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน อาเบล เติ้ง ผู้บริหารหัวเหวยประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว “Powering Digital Thailand 2021: Huawei Cloud and Connect” ว่าจำนวนเงินลงทุนดังกล่าวเทียบเท่ากับเงินลงทุนทั้งหมดของศูนย์คอมพิวเตอร์แห่งแรกของหัวเหวยในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในปี 2018“ พันธกิจของเราคือการเติบโต และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย” อาเบลกล่าวว่าเขาเชื่อว่าหัวเหวยสามารถช่วยให้ไทยทำเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนเป็นจริงได้ ด้วยเทคโนโลยีโซลูชันแบบครบวงจร และประสบการณ์ในภาคอุตสาหรรมเทคโนโลยีของตน และหัวเหวยมีการเติบโตอย่างมหาศาลในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย โดยเริ่มจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งสะท้อนจุดมุ่งหมายของไทยในการเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน ผู้บริหารหัวเหวยประเทศไทยยังกล่าวว่าโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยนั้นพร้อมแล้วที่จะทำให้ไทยก้าวมาเป็นผู้นำ เพราะความพยายามของรัฐบาลไทยที่ช่วยเร่งการวางระบบ5จี (5G) ผ่านการประมูลใบอนุญาต 5G ในเดือนกุมภาพันธ์ “เรามั่นใจใน ศักยภาพของไทยที่จะก้าวมาเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งแรกในอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีสัดส่วนร้อยละ 30 ของจีดีพีภายในปี 2030” อาเบลปิดท้าย

ที่มา : https://mgronline.com/china/detail/9630000117212

รมว.พาณิชย์ถก JFCCT เร่งลดอุปสรรคการค้า-ดึงดูดลงทุนหลังโดนผลกระทบโควิด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) นำโดยนายสแตนลีย์ คัง ประธาน JFCCT ว่า วันนี้ได้พบปะหารือตัวแทนหลายประเทศในกลุ่มหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย โดยประเด็นที่ 1 คือเรื่อง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่ง JFCCT ต้องการให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างด้าวสามารถถือหุ้นได้ 100% ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้บัญชี 3 บางรายการในช่วง 3 ปีนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาประเทศไทยในช่วงโควิด ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์รับจะพิจารณาให้ ภายใต้ขั้นตอนกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด เรื่องที่ 2 คือ การเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับหลายกลุ่ม ที่มีความชัดเจนอย่างน้อย 5 ประเทศ 5 กลุ่ม คือ FTA ไทย-EU, ไทย-UK, ไทย-EFTA กลุ่มประเทศแถวสวิส นอร์เวย์, ไทย-ยูเรเซีย และอาเซียนกับแคนาดา เรื่องที่ 3 คือ มาตรการฟื้นการท่องเที่ยวที่ภาคเอกชนต่างประเทศ อยากเห็นการกำหนดเงื่อนเวลาที่จะให้กักตัวอย่างชัดเจนและจะมีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นเมื่อใด ส่วนเรื่องที่ 4 เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งที่ภาคเอกชนต่างประเทศ ต้องการเห็นการขนถ่ายสินค้าที่สะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการพบปะกันนั้น จะเปิดโอกาสให้หอการค้าต่างประเทศได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อจะได้ติดตามความคืบหน้า และร่วมกันทำงานคลี่คลายปัญหาที่ติดขัด เพื่อช่วยกันฟื้นเศรษฐกิจและเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยด้วย

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3172940

“จุรินทร์” เดินหน้าช่วย SMEs ทำตลาด ผลักดันขายออนไลน์-ส่งออกต่างประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงาน Smart SME Expo 2020 ว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย คิดเป็น 95% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ ให้มีโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้นตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” โดยจะเข้าไปช่วยเหลือทางด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลักสูตรของกระทรวงพาณิชย์มีทั้งหลักสูตรพื้นฐาน หลักสูตรธรรมดา ปานกลาง และหลักสูตรเข้มข้น ที่จะอบรมให้เข้าใจจนลึกซึ้ง สุดท้ายจะค้าขายได้และส่งออกได้ และโอกาสการเข้าร่วมการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศจะเปิดพื้นที่ 10-15% เป็นโอกาสให้ SMEsจัดแสดงสินค้าในตลาด CLMV และมาเลเซีย เปิดพื้นที่ให้ SMEs ในภาคต่างๆ ได้มีโอกาสมาแสดงสินค้าในงานของกระทรวงพาณิชย์  ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทำหน้าที่เซลส์แมนประเทศไปเจรจากับผู้นำเข้าในประเทศต่างๆ แล้วจับคู่ธุรกิจในประเทศไทยและลงนามสัญญาซื้อขาย ทำให้ส่งออกได้ นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ได้ลงนาม MOU ร่วมกับหัวเว่ย ตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะช่วยนำเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งเทคโนโลยี 5G , IoT และระบบคลาวด์ มาพัฒนาภาคการผลิตและภาคการตลาดให้กับ SMEs ของไทย นอกจากนี้ ยังมีนโยบายผลักดันให้เด็ก GenZ เป็น CEO โดยจะช่วยให้มีความรู้ในการทำธุรกิจและการค้าขายออนไลน์ ตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะทำให้ได้ 12,000 คน โดยได้เริ่มต้นไปแล้วมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ 7 มหาวิทยาลัย จัดอบรมชุดแรกไปแล้ว 1,500 คน จะทำต่อไปในภาคอื่น เพื่อให้เป็นทัพหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยุคโควิด-19 และหลังโควิด-19 ในอนาคต และกลุ่มนี้ถ้าไม่ไปทำสตาร์ทอัพ ก็ต้องมาทำ SMEs สุดท้ายก็จะมาเป็นกำลังสำคัญให้แก่ประเทศต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9630000112238

หอการค้าชี้ส่งออกปี 63 ติดลบหนักสุดรอบ10ปี

ม.หอการค้าฯ แนะทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล เร่งสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนฝ่าวิกฤติโควิด-19  เผยส่งออกปีนี้ติดลบหนักสุดในรอบ 10 ปี นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผล “การวิเคราะห์การส่งออกไทยครึ่งปีหลังปี 2563 : ไร้วัคซีนโควิด-19” ว่า แนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสมมติฐานหากสถานการณ์โลกมีการผลิตวัคซีนโควิดได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ การส่งออกไทยในปี 2563 จะหดตัวลงที่ 5.5% และ ถ้าสามารถผลิตวัคซีนได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 จะหดตัวประมาณ 9.6% แต่ถ้ายังไม่มีวัคซีน จะส่งผลให้การส่งออกไทยทั้งปี อาจติดลบสูงถึง 13.5% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่หายไปประมาณ 7 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขติดลบหนักที่สุดในรอบ 10 ปี โดยสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สินค้าในกลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนการส่งออกไทยในครึ่งปีแรกหดตัวอย่างรุนแรงโดยเฉพาะเดือนมิถุนายน หดตัวถึง 23.1% แต่ก็ยังมีสินค้าบางส่วนที่ยังสามารถขยายตัวได้ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ,แผงวงจรไฟฟ้า,เคมีภัณฑ์,อากาศยานและชิ้นส่วน,เครื่องสำอาง,ผลิตภัณฑ์ยาง,ผลไม้และข้าว

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/443605