‘EVFTA’ ผลักดันการเติบโตของการส่งออกเวียดนาม

จากรายงานของสถาบันกลางเพื่อการจัดการเศรษฐกิจ (CIEM) ของเวียดนาม เปิดเผยว่าข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (EVFTA) ดำเนินการมาแล้ว 5 ปี และได้สร้างผลประโยชน์ในหลายด้านให้แก่เวียดนาม โดยเฉพาะสินค้าสิ่งทอ รองเท้า และสินค้าทางการเกษตร เป็นต้น นาย Nguyen Anh Duong หัวหน้าฝ่ายวิจัยทั่วไปของ CIEM กล่าวว่าหลังจากข้อตกลงการค้าเสรีฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลา 5 ปี ส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ทางภาษี ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ ยังได้สร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความโปร่งใส ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูง ความยั่งยืน การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและการปกป้องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติการค้า พบว่าการส่งออกของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปในปี 2567 เพิ่มขึ้น 13.19% และเวียดนามยังคงเกินดุลการค้าอย่างมาก อยู่ที่ 35.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/evfta-generates-positive-outcomes-after-five-years-of-implementation-ciem-post144499.html

‘เวียดนาม’ ส่งออกไปตลาดยุโรป ปี 67 โตแรง มูลค่าแตะ 51.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่าในปี 2567 เวียดนามส่งออกไปยังสหภาพยุโรป มูลค่า 51.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.5% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 8.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (YoY) โดยกลุ่มสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ มีมูลค่าราว 10.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 66.9%YoY ตามมาด้วยโทรศัพท์และชิ้นส่วน ปรับตัวลดลง 13.4%YoY มูลค่าอยู่ที่ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้าสินค้าของเวียดนามกับสหภาพยุโรป มูลค่า  16.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12%YoY ทั้งนี้ ผลการการเติบโตที่แข็งแกร่งทางด้านการค้าระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป เนื่องมาจากได้รับอนิสงค์จากข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVFTA) ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 5 ของการบังคับใช้ นับตั้งแต่ FTA มีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2563

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1691572/viet-nam-s-exports-to-eu-see-impressive-recovery-in-2024.html

‘อียู’ ทุ่มงบกว่า 10.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ศึกษาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดิน สาย 3

สหภาพยุโรป (EU) เตรียมให้ทุนสนับสนุนสำหรับโครงงานการศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิคของโครงการส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดินสายที่ 3 กรุงฮานอย มูลค่ารวม 10 ล้านยูโร หรือประมาณ 10.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นไปตามข้อตกลงความช่วยเหลือระหว่างกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนามและสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศส (AFD)

ทั้งนี้ รถไฟใต้ดินสายที่ 3 เส้นทางรถไฟเดิมจากสถานีรถไฟเญิน-ฮานอย ระยะทางรวม 12.4 กม. รวมถึงระยะทางใต้ดิน 4 กม. ในขณะที่ส่วนต่อขยายรถไฟจะมีระยะทางรวมกันราว 8.8 กม. ซึ่งมีเส้นทางใต้ดิน 8.13 กม. และมีสถานี 7 แห่ง ใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.59 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว รถไฟใต้ดินสายที่ 3 จะมีระยะทาง 21 กม. รวมถึงเส้นทางใต้ดิน ระยะทางมากกว่า 12 กม. เชื่อมต่อระหว่างเส้นทางรถไฟเญิน-ฮานอย-เขตหว่างมาย

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/eu-funds-10-8-mln-to-study-extension-of-hanoi-metro-line-3.htm

รัฐบาลประกาศเจรจา FTA ไทย-อียู จบปี 2568 ดันการค้า-ลงทุน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ผลักดันการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก พัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

สำหรับการประชุมเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) รอบที่ 2 เมื่อวันที่ 22 – 26 มกราคม 2567 ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการแปลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอต่าง ๆ ด้านการค้าและการลงทุน พร้อมสร้างความเข้าใจในการร่วมกันยกระดับไปสู่หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในอนาคตให้มากขึ้น

ทั้งนี้ การประชุมเจรจา FTA ไทย-EU รอบที่ 3 EU รับเป็นเจ้าภาพ เพื่อหารือประเด็นต่าง ๆ ด้านความร่วมมือไทย-EU เพิ่มเติม ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 โดยรัฐบาลตั้งเป้าให้การเจรจา FTA สามารถบรรลุข้อสรุปได้ภายในปี 2568

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/587341

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปลดลง 9.3% ในปี 2023

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรป (EU) ในปี 2023 มีมูลค่า 3.66 พันล้านดอลลาร์ ลดลงมากกว่าร้อยละ 9 จากมูลค่า 4.04 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 ตามการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ (MoC) โดยคิดเป็นมูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชา-สหภาพยุโรปมูลค่า 4.61 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเกือบร้อยละ 5 จากมูลค่า 4.85 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสหภาพยุโรปมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 949 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี จากมูลค่า 811 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 ส่งผลทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับสหภาพยุโรป แต่เกินดุลในสัดส่วนที่ลดลงเหลือ 2.71 พันล้านดอลลาร์ จาก 3.23 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกัน สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรปอัน ได้แก่ สิ่งทอ รองเท้า จักรยาน อาหาร และผลิตภัณฑ์ผัก (ข้าว) ไปยังสหภาพยุโรปเป็นหลัก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501424860/cambodias-exports-to-eu-down-9-3-in-2023/

‘เวียดนาม’ เกินดุลการค้ากับสหภาพยุโรป 34.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการค้าระหว่างเวียดนาม-สหภาพยุโรปในปีที่แล้ว อยู่ที่ 72.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.3% ส่งผลให้เกินดุลการค้าราว 34.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายที่หดตัวลงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงมาตรการรัดเข็มขัดในสหภาพยุโรปจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าในปี 2567 เผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกอย่างมากที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าส่งออกของเวียดนาม โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเวียดนาม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-enjoys-us343-billion-trade-surplus-with-eu-post1072454.vov

‘เวียดนาม’ ดึงดูดบริษัทยุโรป

จากงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดย ‘Vietnam Trade and Industry Review’ ในกรุงฮานอย เมื่อวันที่ 6 ต.ค. เพื่อหารือถึงการเชื่อมโยงกับบริษัทยุโรป และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนาย Phan Minh Thong ประธานคณะกรรมการบริหารของ Phuc Sinh Group กล่าวว่าข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ ได้สร้างโอกาสอย่างมากต่อภาคธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ บริษัทนอกสหภาพยุโรปที่ลงทุนในเวียดนามสามารถใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลง เมื่อทำการส่งออกจากเวียดนามไปยังยุโรป

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-attractive-to-european-firms-seminar/269243.vnp

สหภาพยุโรปมอบเงินสนับสนุนงบประมาณชาติให้แก่ สปป.ลาว 18.4 ล้านยูโร

สหภาพยุโรป (EU) อนุมัติเงินช่วยเหลือจำนวน 18.4 ล้านยูโร แก่รัฐบาล สปป.ลาว ซึ่งในอดีตได้รับการสนับสนุนมาแล้วสองโครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนภาคการศึกษาภายใต้กรอบระยะเวลาประจำปี 2018-2021 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายในแผนพัฒนาภาคการศึกษาให้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยเฉพาะความพยายามในการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อย ด้วยการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและการจัดการภาครัฐในภาคส่วนดังกล่าว และโครงการถัดมาเน้นการสนับสนุนทางโภชนาการนับตั้งแต่ปี 2019-2022 เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารในประเทศ สำหรับในปี 2023 สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาอนุมัติงบประมาณมูลค่ารวม 4.4 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนงบประมาณชาติ โดยมุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนสำคัญดังเดิมไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษาและสุขภาพในประเทศ เพื่อหวังปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ รวมถึงบรรเทาความยากจนให้หมดไป

ที่มา : http://vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_172_EU_y23.php

วงการกาแฟเวียดนามจ่อปรับตัวตามกฎระเบียบด้านป่าไม้ของอียู

เวียดนาม นิวส์ (Vietnam News) สื่อท้องถิ่นของเวียดนาม รายงานว่า อุตสาหกรรมกาแฟของเวียดนามควรยกระดับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติตามกฎระเบียบการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม เผยว่าการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของที่ดินทุกแปลง ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกำหนดของกฎระเบียบฯ ถือเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุด เนื่องจากเป็นงานที่มีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับผู้ดำเนินงานจำนวนมาก จึงทำให้เวียดนามต้องพัฒนาฐานข้อมูลระดับชาติเกี่ยวกับพื้นที่ปลูกป่าและกาแฟ

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/327681

“อียู” ประกาศผ่อนปรนกฎระเบียบของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากเวียดนาม

การแก้ไขกฎระเบียบฉบับที่ 2019/1973 ที่แผยแพร่เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. เกี่ยวกับมาตรการฉุกเฉินในการควบคุมการส่งออกอาหารไปยังสหภาพยุโรป ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปจึงย้ายข้อกำหนดของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเวียดนามจากภาคผนวก 2 ซึ่งต้องมีใบรับรองสุขอนามัย (HC) และการควบคุมในอัตรา 20% ที่ประตูชายแดนไปยังภาคผนวก 1 ที่กำหนดให้ควบคุมผลิตภัณฑ์เพียง 20% ที่ประตูพรมแดนสหภาพยุโรป การตัดสินใจครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MoIT) ในการควบคุมความปลอดภัยของอาหารและสนับสนุนธุรกิจในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เวียดนามที่จะเข้าไปสู่ตลาดสหภาพยุโรปนั้น จำเป็นที่ต้องผลักดันภาคธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของอาหารของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://en.baochinhphu.vn/eu-eases-regulations-on-viet-nams-instant-noodles-11123061211192207.htm