ฮุน มาเนต เผยยอดส่งออกกัมพูชาเติบโต 16.57% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2023 ถึง กุมภาพันธ์ 2024 กัมพูชาสามารถส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 1.18 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่าร้อยละ 16.57 ที่มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ โดยถ้อยแถลงนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในโอกาสที่เป็นประธานการประชุมสภาคลัง (Council of Ministers) ณ พระราชวังสันติภาพ (Peace Palace) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2024 ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ เสื้อผ้า ข้าว ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า ผัก ผลไม้ รองเท้า ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ จีน เวียดนาม สหรัฐฯ ไทย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย แคนาดา สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศ โดยการเติบโตของมูลค่าการส่งออกแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจกัมพูชาเริ่มขยายตัว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501456766/pm-in-the-past-six-months-cambodia-exported-11-8-billion/

การค้าต่างประเทศของเมียนมาทะลุ 27 พันล้านดอลลาร์ใน 11 เดือน

ตามการระบุของกระทรวงพาณิชย์ การค้าภายนอกของเมียนมากับพันธมิตรต่างประเทศมีมูลค่ามากกว่า 27.758 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 1 มีนาคม ในปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน โดยที การส่งออกของเมียนมามีมูลค่ามากกว่า 13.378 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 14.379 พันล้านดอลลาร์ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566 ถึง 1 มีนาคม พ.ศ. 2567 อย่างไรก็ดี มูลค่าการค้าทางทะเลของเมียนมาในปีงบประมาณนี้เกินกว่า 20.55 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การค้าชายแดนมีมูลค่า 7.207 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งตัวเลขการค้าในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาลดลงกว่า 3.605 พันล้านดอลลาร์ หากเทียบกับที่บันทึกไว้ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้วที่มีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 31.36 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-surpasses-us27b-in-11-months/

กัมพูชาส่งออกขยายตัว 22.7% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาเติบโตกว่าร้อยละ 19.2 ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2024 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ก่อน โดยมีมูลค่าการค้ารวม 8.12 พันล้านดอลลาร์ เผยแพร่โดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 คิดเป็นมูลค่ารวม 3.98 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 ที่มูลค่า 4.13 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าวที่สหรัฐฯ ยังคงเป็นปลายทางการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา รองลงมาคือเวียดนาม ส่งผลทำให้กัมพูชามีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ 1.26 พันล้านดอลลาร์ แต่ขาดดุลการค้ากับจีนที่มูลค่า 1.74 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501454157/cambodias-exports-surge-22-7-in-first-two-months/

ม.ค. มูลค่าการค้าระหว่าง กัมพูชา-RCEP ขยายตัวกว่า 21.2%

มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชากับประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในช่วงเดือนมกราคม 2024 มีมูลค่ารวมสูงถึง 2.74 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ (MoC) ซึ่งปริมาณการค้ารวมดังกล่าวคิดเป็นกว่าร้อยละ 67.6 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4.05 พันล้านดอลลาร์ โดยประเทศคู่ค้าหลัก 5 อันดับแรก ภายใต้ข้อตกลง ได้แก่ จีน เวียดนาม ไทย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ด้าน Penn Sovicheat รัฐมนตรีต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาและโฆษก กล่าวว่า RCEP ถือเป็นตัวเร่งการเติบโตทางการค้าของประเทศ และเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501449110/cambodias-trade-with-rcep-countries-up-21-2-pct-in-january/

ผู้ค้าผลไม้เมียนมาหันมาจับตาตลาดในประเทศ ท่ามกลางการเสียหายของสินค้าที่เกิดจากการส่งออก

ผู้ค้าผลไม้เมียนมา กล่าวถึง อุปสรรคในการคมนาคมในช่องทางเชียงตุง ช่องมองลา และพะโม ที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วในฝั่งจีน การถูกระงับที่ชายแดนเพราะนโยบายฝั่งจีนที่มีความเค้มงวดมากขึ้น ความเสียหายของสินค้าจากการคมนาคมบนถนนที่ขรุขระส่งผลต่อคุณภาพของแตงโมที่ส่งไปยังประเทศจีน ส่งผลให้ราคาสินค้าตกต่ำลง ทำให้ผู้ค้าจึงเริ่มจับตาดูตลาดภายในประเทศ เนื่องด้วย ราคาส่งออกในปัจจุบันไม่ครอบคลุมค่าขนส่งและต้นทุนทั่วไปอื่นๆ ค่าอากรที่ด่านชายแดนอยู่ที่ 35,000-40,000 หยวนต่อรถบรรทุก ทั้งนี้ รถบรรทุกแตงโม 100 คันมุ่งหน้าสู่จีน มีเพียง 10 คันเท่านั้นที่สามารถครอบคลุมค่าขนส่ง อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าผลไม้เน้นย้ำว่าพวกเขากำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยืดเยื้อท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนโยบายในจีน สืบเนื่องจากเมื่อปี 2021 ข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด-19 ขัดขวางการส่งออกแตงโมและแตงไทยของเมียนมาไปยังจีน ระเบียบศุลกากรจีนเพิ่มความล่าช้า รถบรรทุกล่าช้าเป็นเวลานานส่งผลเสียต่อคุณภาพแตงโม และมีเพียง 1 ใน 5 รถบรรทุกที่มุ่งหน้าไปยังจีนเท่านั้นที่ยังคงไม่ได้รับความเสียหาย ทำให้ผู้ค้าจำเป็นต้องพิจารณาเวลาการส่งมอบ ราคา และความสามารถในการทำกำไร เนื่องจากแตงโมเป็นผลไม้ที่เน่าเสียง่ายในขณะที่พยายามสำรวจตลาดใหม่นอกเหนือจากประเทศจีน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/traders-eye-domestic-market-amid-export-loss/

บริษัทผลิตเนื้อวัวของ สปป.ลาว เล็งส่งออกเนื้อวัวไปยังจีนมากขึ้น

กลุ่มบริษัท ดวงเจริญพัฒนา กำลังจัดตั้งฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ในแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดหาเนื้อวัวให้กับตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งกลุ่มบริษัท ดวงเจริญพัฒนา ได้รับสัมปทานที่ดิน 5 แปลง จากรัฐบาล ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 3,687 เฮกตาร์ เพื่อปลูกหญ้าและเลี้ยงโค โดยประธานและผู้อำนวยการของบริษัท กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มต้นในปี 2564 และได้ทำการทดลองเลี้ยงวัว 4 สายพันธุ์ จนถึงขณะนี้ บริษัทได้ส่งออกวัวไปแล้วมากกว่า 1,000 ตัว ส่วนใหญ่ไปยังจีน ไทย และเวียดนาม ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท ดวงเจริญพัฒนา ได้สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า 300 ตำแหน่ง มีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจในแขวงบ่อแก้ว และส่งผลให้ สปป.ลาว สามารถสร้างรายได้มากกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2566 ซึ่งเกินเป้าหมายกว่า 20.18% สินค้าเกษตรหลักที่ส่งออก ได้แก่ กล้วย ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย วัว และกระบือ โดยจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด รัฐบาลลาวสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ผลิตเพิ่มการส่งออกเพื่อนำเงินตราต่างประเทศ ช่วยลดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่สูงในช่วงที่ผ่านมา

ที่มา : https://english.news.cn/asiapacific/20240223/1b37e1a966b24406a4d9d723b13ce70e/c.html

รัฐบาลเพิ่มแต้มต่อสินค้าเกษตรไทยด้วย FTA ดันครองเบอร์ 1 ส่งออกในอาเซียน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งใจขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดึงดูดการค้า การลงทุนจากต่างชาติ เดินหน้าทำการค้าเชิงรุก และผลักดันให้เกิดการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยในต่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าหากเดินหน้าผลักดันความร่วมมือ FTA ให้เต็มศักยภาพจะเพิ่มตัวเลขการค้าการลงทุนได้มหาศาล ถือเป็นโอกาสสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้ไทยในตลาดโลก ซึ่งขณะนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก และส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในปี 2023 โดยตลาดคู่ค้า FTA ที่มีการส่งออกขยายตัวทางการค้าสูง ได้แก่ จีน ซึ่งขยายตัว 11% คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย ตามมาด้วยตลาดอาเซียนที่ขยายตัว 5% ด้านสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปที่เป็นสินค้าศักยภาพที่ขยายตัวได้ดีในการส่งออกของไทยไปยังตลาดคู่ค้า FTA อันดับ 1 ยังคงเป็น ข้าว ที่มีการขยายตัวมากถึง 92% ในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

ที่มา : https://www.naewna.com/business/787985

หอการค้าฯ สปป.ลาว มองอินเดียเป็นตลาดส่งออกสินค้าขนาดใหญ่ของลาวได้

หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ได้จัดการประชุมธุรกิจลาว-อินเดีย ในเวียงจันทน์ โดยมีผู้นำทางธุรกิจมากกว่า 170 ราย จากกว่า 100 บริษัทเข้าร่วม นายทนงสิน กัลยา รองประธานบริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว กล่าวว่า “อินเดียมีศักยภาพอย่างมากในการส่งออกสินค้าจากลาวไปขาย รวมถึงการลงทุนด้านอุตสาหกรรมในประเทศลาว การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสในการหารือเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนที่สามารถส่งเสริมการค้าระหว่างลาวและอินเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพ” หวังว่าผู้ประกอบธุรกิจชาวอินเดียและสภาธุรกิจอาเซียน-อินเดีย จะช่วยส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาในประเทศลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกับบริษัทลาวในภาคส่วนต่างๆ เพื่อการพัฒนาและผลกำไรร่วมกัน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของ สปป.ลาว เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าระหว่างลาวและอินเดียมีมากกว่า 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 ลดลง 15.57% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยลาวนำเข้าสินค้าจากอินเดียมูลค่า 25.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขายสินค้ามูลค่า 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับอินเดีย ซึ่งถือว่าไม่มากนัก แต่มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ ด้านการลงทุนตั้งแต่ปี 2551-2565 บริษัทอินเดียได้จดทะเบียนเงินลงทุนประมาณ 314 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้จัดตั้งธุรกิจ 311 แห่ง ใน สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_34_India_y24.php

การค้าต่างประเทศของเมียนมาทะลุ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรอบ 10 เดือน

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมารายงานว่า การค้าระหว่างประเทศของเมียนมากับคู่ค้าต่างประเทศมีมูลค่า 25.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยการส่งออกมูลค่า 12.135 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 13.378 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ซึ่งมูลค่าการค้ารวมของปีงบประมาณปัจจุบันลดลงอย่างมากถึง 3.15 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่าการค้ารวม 28.66 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าของเมียนมาแบ่งออกเป็นการค้าทางทะเลอยู่ที่ประมาณ 18.787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การค้าดำเนินการที่ชายแดนมีมูลค่า 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-foreign-trade-exceeds-us25-bln-in-ten-months/

ม.ค. 2024 กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT โตเกือบ 22%

การส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 21.64 สำหรับในช่วงเดือนมกราคมปีนี้ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 967 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้หดตัวเกือบตลอดทั้งปีในปีที่แล้ว รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 ก.พ.) ซึ่งพบว่าทุกรายการสินค้าของกลุ่ม GFT ขยายตัวแทบทุกรายการ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค. 2024 ส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่ากัมพูชาสามารถบรรลุการเติบโตทางด้านการส่งออกถึงแม้จะมีอุปสรรคทางการค้า เช่น การไม่ต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทั่วไป (GSP) โดยสหรัฐฯ และการลดผลประโยชน์ของ Everything But Arms (EBA) ลงเกือบร้อยละ 20 จากสหภาพยุโรป (EU) โดยเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้ากลุ่ม GFT

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501439379/cambodias-gft-exports-jump-22-amid-rising-hopes/