‘AMRO’ คาดเศรษฐกิจเวียดนาม ปี 66 โต 4.5%

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2566 จะขยายตัว 4.7% และจะเร่งตัวขึ้นที่ 6% ในปี 2567 หลังจากชะลอตัวอย่างมากในไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจเวียดนามก็กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องมาจากได้รับสัญญาณจากคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นทางธุรกิจฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามในระยะสั้นยังคงมีความเปราะบาง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการเติบโตในระยะปานกลาง

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnams-economic-growth-projected-at-47-per-cent-in-2023-105916.html

‘หอการค้ายุโรป’ ชี้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตสดใส

สภาหอการค้าสหภาพยุโรป (EuroCham) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BCI) ประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยูที่ระดับ 45.1 จากระดับ 43.5 ในไตรมาสที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีมุมมองเชิงบวกต่อสภาพทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังนับเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกันที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 รวมไปถึงภาคธุรกิจยังคงระมัดระวัง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพียง 22% ที่วางแผนจะขยายการดำเนินกิจการในไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ เมื่อประเมินความน่าดึงดูดการลงทุนทั่วโลก พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 63% มองว่าเวียดนามติดหนึ่งใน 10 อันดับของจุดหมายปลายทางการลงทุนจากต่างประเทศ และกลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งหนึ่งวางแผนที่จะลงทุนในเวียดนามภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่าง 59% เผชิญกับปัญหาจากกฎเกณฑ์ อุปสรรคในการขอใบอนุญาต และข้อกำหนดด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานที่เข้มงวดสำหรับแรงงานต่างด้าว

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/bright-outlook-for-vietnams-economy-eurocham-report/

‘ADB’ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้เหลือ 5.8% และปี 67 โต 6%

จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ฉบับเดือน ก.ย. ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่าได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 5.8% และ 6% ในปีหน้า ซึ่งจากการคาดการณ์เศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ พบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาฟิลิปปินส์ 5.7% และกัมพูชา 5.3% ทั้งนี้ เงินเฟ้อของเวียดนามปรับตัวลดลงเหลือ 3.8% ในปีนี้ และ 4% ในปีหน้า โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (4.2%)

ที่มา : https://theinvestor.vn/adb-revises-down-vietnams-gdp-growth-forecast-to-58-in-2023-6-in-2024-d6697.html

ADB ปรับ GDP กัมพูชาลดลงเหลือ 5.3%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกัมพูชาลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.3 โดยได้นำเสนอไว้ในรายงานแนวโน้มการพัฒนาเอเชีย (ADO) ประจำเดือนกันยายน 2023 จากการคาดการณ์ GDP ไว้ที่ร้อยละ 5.5 ในเดือนเมษายน สำหรับรายงานประจำเดือน ก.ย. ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกอย่าง เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทางของกัมพูชาหดตัวลงกว่าร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การลดลงดังกล่าวได้รับการชดเชยบางส่วนด้วยการส่งออกสินค้ากลุ่มอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเสื้อผ้า โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ และเฟอร์นิเจอร์ มีการขยายตัวกว่าร้อยละ 22.9 ด้านการนำเข้าสินค้าลดลงร้อยละ 22.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการนำเข้าสิ่งทอลดลงร้อยละ 17.9 เชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 10 และยานพาหนะลดลงร้อยละ 26.9 ด้านทุนสำรองระหว่างประเทศขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 18.4 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2023 จาก 17.8 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2022 สำหรับความเสี่ยงมีแนวโน้มไปในทิศทางลบ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ชะลอลง รวมถึงภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวเป็นเวลานาน ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ไปจนถึงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาคเอกชนที่สูงและเสถียรภาพทางการเงินในประเทศที่ต่ำ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501363962/adb-revised-down-cambodias-gdp-to-5-3-percent-for-2023/

‘ยูโอบี’ ประมาณการ GDP เวียดนาม ปี 2566 โต 6.6%

กลุ่มธนาคารยูโอบี ประเทศสิงคโปร์ (UOB) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเวียดนาม (GDP) ในปี 2566 ประมาณการเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ประมาณ 6.6% ถึงแม้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่อ่อนแอลง และตามรายงานบ่งชี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ขยายตัว 5.92% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 13.67% ในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ลดลง ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม รายงานว่า GDP ของเวียดนามในปี 2565 ขยายตัว 8.02% จากที่เติบโตเพียง 2.58% ในปี 2564 ถือเป็นอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2540 อีกทั้ง ผู้เชี่ยวชาญของธนาคาร กล่าวว่าการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมและบริการในปี 2565 แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของเวียดนาม หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://en.nhandan.vn/uob-maintains-vietnams-gdp-growth-forecast-at-66-post121526.html

“ธนาคารยูโอบี” ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP เวียดนาม ปี 65 โต 8.2%

ธนาคารยูโอบี (United Overseas Bank : UOB) ปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปีนี้ ขยายตัว 8.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 7% ในขณะที่ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3/65 ขยายตัว 13.7% ถือเป็นครั้งแรกที่เวียดนามมีอัตราการเติบโตที่สูงเป็นประวัติการณ์และแซงหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดีย (13.5%) ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงสุดในเอเชีย

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/uob-upgrades-2022-growth-forecast-for-vietnam-to-82-post975342.vov

ธนาคารโลกปรับ GDP กัมพูชา ปี 2022 โต 4.8%

ธนาคารโลกได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาขึ้นเป็นขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาร้อยละ 4.5 โดยในปีหน้าธนาคารโลกคาดว่ากัมพูชาจะเติบโตถึงร้อยละ 5.2 ซึ่งได้กล่าวในรายงาน “East Asia and the Pacific economic update October 2022” โดยคาดว่าการส่งออกที่แข็งแกร่งของกัมพูชาจะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี สะท้อนถึงอุปสงค์ภายนอกที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ภาคบริการภายในประเทศยังคงซบเซา ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดี โดยในรายงานระบุเพิ่มเติมว่าอัตราเงินเฟ้อภายในกัมพูชาเร่งตัวขึ้นส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของภาคประชาชน จากราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้นในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501158113/world-bank-revises-up-2022-cambodia-gdp-growth-to-4-8/

สงครามยูเครน-เงินเฟ้อพุ่ง กับดักการเติบโตทางเศรษฐกิจอาเซียน+3

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (AMRO) องค์กรระหว่างประเทศที่ติดตามเศรษฐกิจของ 10 ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตประจำปีของภูมิภาคลงเหลือ 4.3% จาก 4.7% ในเดือนเมษายน โดยการปรับลดล่าสุดสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปีในประเทศจีนและฮ่องกง สำหรับจีนซึ่งกำหนดมาตรการล็อกดาวน์จากโควิด-19 เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัส AMRO ลดการคาดการณ์การเติบโตเป็น 4.8% จาก 5.2% ขณะที่แนวโน้มของฮ่องกงลดลงเหลือ 1.1% จาก 2.8% ด้าน AMRO ยังเพิ่มการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับภูมิภาคเป็น 5.2% เพิ่มขึ้น 1.7 จุดจากเดือนเมษายน สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อความขัดแย้งในยูเครนทำให้การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกแย่ลง และราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นบีบผู้บริโภคทั่วเอเชีย สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนเพียงอย่างเดียว AMRO ยังคงคาดการณ์การเติบโตโดยรวมไว้ที่ 5.1% ในปีนี้ โดยเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว อย่างในประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม คาดว่าจะทำงานได้ดีขึ้นในปีนี้ ในขณะที่มองไปในอนาคต AMRO คาดว่าการเติบโตของกลุ่มอาเซียน+3 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.9% ในปี 2566 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะลดลงเหลือ 2.8%

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/article/news/ukraine-war-inflation-economic-asean3-060765

เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีไทยปีนี้ 2.9% ราคาน้ำมัน-สินค้าแพง ดันเงินเฟ้อพุ่ง 5.2%

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ออกรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับใหม่ โดยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 2.9% ซึ่งปรับลดลง 1% จากคาดเดิมเมื่อเดือนเดือนธ.ค.64 โดยไทยได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานสูงและราคาสินค้าแพง กดดันเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นมาก และยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนไม่ฟื้นตัวจากการปิดเมือง รวมทั้งความเสี่ยงจากโควิดที่อาจกลับมาระบาดได้อีกครั้ง ส่วนปัจจัยสนับสนุนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับเข้ามาได้ 6 ล้านคนในปีนี้ ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยได้พึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งจึงกระทบต่อไทย แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีจะได้รับแรงกระตุ้น และกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดโควิดในไตรมาสที่ 4 ของปี 65 จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงและการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคนในปี 65 เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคนในปี 64 และเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน หรือ 60% ของระดับก่อนการระบาดภายในปี 67 จึงคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.3% ในปี 66 และขยายตัว 3.9% ในปี 67 ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 5.2% ในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 14 ปี ตลอดปี 65 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.3 การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 4.1% ในปี 65 ชะลอตัวลงจากผลของปี 64 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 18.8% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์โลกที่ลดลงและปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยืดเยื้อ

ที่มา : https://www.businesstoday.co/business/29/06/2022/85098/