DITP ชี้ตลาดฮาลาลบูม พร้อมแสดงศักยภาพ ยกระดับฮาลาลไทย

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จัด Thai Halal Pavilion เปิดโอกาสทางธุรกิจ สร้างโอกาสทางการค้า แสดงศักยภาพอาหารฮาลาลไทย ผสานนวัตกรรม ก้าวสู่ตลาดโลก ดัน Soft Power อาหารไทย ใน THAIFEX-Anuga Asia 2024 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออก ในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม (OIC) 6,246.13 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล เป็นอันดับที่ 11 ของโลก อย่างไรก็ตาม อาหารฮาลาลของไทยยังมีโอกาสเติบโตได้เพิ่มขึ้น จากจุดแข็งด้านคุณภาพ วัตถุดิบที่มีความหลากหลาย มีมาตรฐาน รสชาติดี เป็นที่นิยม และมีชื่อเสียงในตลาดโลก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จึงได้สนับสนุนและส่งเสริมอาหารฮาลาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้อาหารฮาลาลไทยขยายออกไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น และได้กำหนดให้จัด Thai Halal Pavilion ขึ้นเพื่อแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลแบบครบวงจร สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าฮาลาลที่สำคัญ ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 งานจัดแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ที่ใหญ่และครบวงจรที่สุดในเอเชีย ซึ่งปีนี้มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ารวมกว่า 3,000 บริษัท มากกว่า 6,000 คูหา จาก 50 ประเทศ ในปัจจุบันอาหารฮาลาลไทย ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนประชากรมุสลิมมีการขยายตัวสูง ประกอบกับผู้บริโภคยุคใหม่ที่มิใช่มุสลิมก็ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารปลอดภัย และมีความเชื่อมั่นในอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทยที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานคุณภาพตามหลักการศาสนาบัญญัติอิสลาม

ที่มา : https://www.matichon.co.th/publicize/news_4596050

ไทยร่วมมือซาอุฯ ส่งเสริมพัฒนาสินค้าฮาลาล

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้การต้อนรับ นายมาญิด บิน อับดุลเลาะฮ์ อัลกอเศาะบี รมว.พาณิชย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียและคณะ เพื่อหารือความร่วมมือและแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของทั้งสองประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมอาหาร ซาอุดีอาระเบียมีความยินดีที่ได้ร่วมมือและดำเนินการร่วมกันในอุตสาหกรรมฮาลาล เนื่องจากซาอุดีอาระเบียเป็นศูนย์กลางของตลาดฮาลาลในภูมิภาคชาติอาหรับ อีกทั้งมีผู้บริโภคจำนวนมาก นับเป็นเรื่องสำคัญมากหากได้รับความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยได้มีการวางแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านฮาลาลระหว่างสองประเทศ เพื่อผลักดันให้สินค้าฮาลาล รวมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคของไทย สามารถเข้าถึงตลาดซาอุดีอาระเบียได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมสินค้าฮาลาลระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย มุ่งเน้นไปที่สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ขยายโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงข้อมูลและช่องทางการจำหน่ายสินค้าในตลาดซาอุดีอาระเบีย ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี ร่วมพัฒนากลยุทธ์และมาตรฐานสินค้าฮาลาล เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและความสามารถในการแข่งขัน

ที่มา : https://www.naewna.com/business/804219

กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน

กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการตามแผนเพื่อจัดตั้งประเทศให้เป็นศูนย์กลางฮาลาลที่สำคัญในอาเซียน โดยนางพิมพ์พัตรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมหารือเกี่ยวกับความคิดริเริ่มนี้กับเจ้าหน้าที่ในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก นางพิมพ์พัตรา มีกำหนดพบปะกับหน่วยงานมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพแห่งซาอุดีอาระเบีย (SASO) โดยเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐาน แผนของรัฐบาลยังรวมถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลข้ามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และบางส่วนของสงขลา ทางเดินนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับวิถีชีวิตในท้องถิ่นและขยายผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลที่หลากหลาย ครอบคลุมอาหาร แฟชั่น และการท่องเที่ยว กระทรวงคาดว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฮาลาลจะมีส่วนทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มขึ้น 1.2% ภายใน 3 ปี มูลค่าตลาดโลกสำหรับธุรกิจฮาลาลคาดว่าจะสูงถึง 2.32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 โดยในปี 2565 การส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213 พันล้านบาท คิดเป็น 2.7% ของตลาดโลก

ที่มา: https://thainews.prd.go.th/en/news/detail/TCATG240108115722827

ศูนย์อุตฯ ฮาลาล เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ได้เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยไปยังตลาดโลก โดยจากข้อมูลในปี 2564 ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี และในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213,816 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 2.7% เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งอาหารฮาลาลส่งออกของไทยส่วนใหญ่ 78% เป็นฮาลาลโดยธรรมชาติ ส่วนที่เหลือ 22% ต้องผ่านการรับรองฮาลาล โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งภารกิจของศูนย์ดังกล่าวครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเร่งรัดจัดทำข้อตกลงทางการค้าเพื่อเปิดตลาด ส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (National Focal Point) และด้านพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน

ที่มา : https://www.naewna.com/business/770216

รัฐบาลไทยหนุนธุรกิจสินค้าฮาลาลในมาเลเซีย มุ่งเป้า 1.02 ล้านล้านบาทในปี 68

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับความร่วมมือทางการค้าของไทย-มาเลเซียที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นการค้าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 รวมถึงจะมีการหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2566นี้

ที่มา : https://www.posttoday.com/politics/domestic/697479

‘เวียดนาม’ เล็งเห็นศักยภาพของตลาดฮาลาลโลก

นาย Nguyen Quoc Dung รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้และประเทศในแถบแปซิฟิกใต้ ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพด้วยจำนวนผู้บริโภคชาวมุสลิมมากเกือบ 860 ล้านคน (66% ของประชากรมุสลิมทั่วโลก) โดยเวียดนามมีจุดแข็งและสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับเศรษฐกิจฮาลาลโลก รวมถึงอาหาร การท่องเที่ยว สิ่งทอ เภสัชกรรมและสื่อ
อีกทั้ง เวียดนามยังมีบทบาทสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศในระดับภูมิภาคและข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 17 ฉบับ ตลอดจนข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ เช่น EVFTA และ RCEP โดยเฉพาะสินค้าที่มีข้อได้เปรียบ ได้แก่ ข้าว พริกไทย เม็ดมะม่วงหิมพานต์และเมล็ดกาแฟ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงการใช้จ่ายสำหรับอาหารฮาลาล คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.1% จาก 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 63 มาอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าฮาลาลยังเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศ เนื่องจากชาวมุสลิมต่างชาติเดินทางมาเวียดนาม เพื่อมาทำงานและศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนชาวมุสลิมในเวียดนามก็เพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย
ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1108848/viet-nam-sees-great-potential-in-global-halal-market.html

เกษตรฯเร่งขยายตลาดสินค้าฮาลาลไปตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ

กระทรวงเกษตรฯ.รุกขยายตลาดสินค้าฮาลาลในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ สั่งเร่งลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรใน 3 จังหวัดภาคใต้อีกทั้งเห็นชอบวิสัยทัศน์ฮาลาล เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 7/2563 ประชุมผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ร่วมกับ ตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการพัฒนาและส่งเสริมมาตรฐาน “ฮาลาล” ในภาคการเกษตรไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับนานาชาติทั้งระบบ ทั้งนี้ ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” รายงานความก้าวหน้าของโครงการเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลของไทยผ่านดูไบ เพื่อประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังกลุ่มตลาดที่สำคัญในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯเห็นชอบ”วิสัยทัศน์ฮาลาล” รวมถึงความคืบหน้าโครงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และประเด็นสำคัญเรื่อง การแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอมปนเนื้อสุกร ซึ่งที่ประชุมได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหา โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ขณะที่ ผู้แทนกรมปศุสัตว์ได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการและการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งผู้บริโภคภายในและต่างประเทศ ต่อมาตรฐานสินค้าเกษตรอาหารฮาลาลไทย

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/640268