หนี้สาธารณะของกัมพูชาอยู่ที่ 11.09 พันล้านดอลลาร์ ณ ไตรมาส 1 ปี 2024

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชา (MEF) เผยแพร่รายงานสถิติหนี้สาธารณะประจำไตรมาส 1 ปี 2024 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 มิ.ย.) โดยระบุว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะของกัมพูชาอยู่ที่ 11.09 พันล้านดอลลาร์ สำหรับองค์ประกอบของหนี้สาธารณะแบ่งเป็นร้อยละ 64 มาจากพันธมิตรการพัฒนาแบบทวิภาคี (Bilateral Development Partners) และร้อยละ 36 จากองค์กรพัฒนาพหุภาคี (Multilateral Development Partners) ซึ่งรายละเอียดสกุลเงินของหนี้สาธารณะแบ่งเป็นสกุลเงินดอลลาร์ร้อยละ 46, สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDR) ร้อยละ 19, เงินหยวน (CNY) ร้อยละ 11, เงินเยน (JPY) ร้อยละ 11, เงินยูโร (EUR) ร้อยละ 7 และสกุลเงินท้องถิ่นและสกุลเงินอื่นๆ อีกราวร้อยละ 6 โดยรวมแล้วสัญญากู้เงินทั้งหมดเป็นแบบผ่อนปรนสูง มีองค์ประกอบเป็นเงินอุดหนุน (Grant Element) เฉลี่ยประมาณร้อยละ 40 ซึ่งในรายงานยังระบุเสริมว่า ในไตรมาส 1 ปี 2024 กัมพูชาได้ชำระหนี้บริการหนี้สาธารณะให้แก่พันธมิตรการพัฒนาเป็นมูลค่า 181.5 ล้านดอลลาร์

โดยสัญญากู้เงินทั้งหมดนำไปใช้เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนภาครัฐในสาขาสำคัญ ซึ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ยอดหนี้สาธารณะของกัมพูชาอยู่ที่ร้อยละ 19 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 40

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501506352/cambodias-total-public-debt-stands-at-11-09-bln-as-of-q1/

สกุลเงินเรียลของกัมพูชาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสถาบันการเงินขนาดย่อม

การใช้สกุลเงินเรียลกัมพูชา (KHR) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านเงินฝาก สินเชื่อ และธุรกรรมการชำระเงิน โดยเฉพาะในฝั่งของสถาบันการเงินขนาดย่อย (CMA) สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในพฤติกรรมการออมเงินของประชาชน ซึ่งในปี 2023 สินเชื่อที่ปล่อยเป็นสกุลเงินเรียลมูลค่ารวม 5.56 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 1.38 พันล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็นร้อยละ 25 จากการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด และเงินฝากมูลค่ารวม 1.52 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 375 ล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็นร้อยละ 16 จากปริมาณเงินฝากทั้งหมดเป็นสกุลเงินเรียล สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ ด้านธนาคารชาติกัมพูชา (NBC) รายงานเสริมว่า การเติบโตของการทำธุรกรรมผ่านระบบการชำระเงิน Bakong ของกัมพูชา โดยมีธุรกรรมสกุลเงินเรียลเพิ่มขึ้นถึง 3.4 เท่า ซึ่งมากกว่าการทำธุรกรรมด้วยเงินสกุลดอลลาร์ ถือเป็นสัญญานที่ดีต่อการใช้สกุลเงินเรียลในระบบเศรษฐกิจของกัมพูชา เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านการเงินกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501462314/riel-usage-in-microfinance-transactions-increases/

หนี้สาธารณะกัมพูชาแตะ 11.24 พันล้านดอลลาร์

รายงานหนี้สาธารณะกัมพูชาประจำปี 2023 โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) ซึ่งหนี้สาธารณะของกัมพูชาอยู่ที่ระดับ 11.24 พันล้านดอลลาร์ ที่ความเสี่ยงระดับต่ำสำหรับภาวะหนี้สาธารณะในปัจจุบัน โดยในรายงานระบุเสริมว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะร้อยละ 46 เป็นเงินสกุลดอลลาร์ เป็นสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ร้อยละ 19 เป็นเงินหยวนจีนร้อยละ 11 สกุลเงินเยนญี่ปุ่นร้อยละ 11 สกุลเงินยูโรร้อยละ 7 และสกุลเงินท้องถิ่น/สกุลเงินอื่นๆ ราวร้อยละ 6 ในจำนวนนี้ร้อยละ 99.5 หรือคิดเป็นมูลค่า 11.19 พันล้านดอลลาร์ เป็นหนี้สาธารณะภายนอกประเทศ ส่วนที่เหลือเป็นหนี้สาธารณะภายในประเทศ ซึ่งรายงานระบุว่าร้อยละ 64 ของหนี้สาธารณะเป็นการกู้ยืมจากพันธมิตรการพัฒนาในรูปแบบทวิภาคี ขณะที่ร้อยละ 36 มาจากพันธมิตรการพัฒนาพหุภาคี ตามมาด้วยส่วนหนี้สาธารณะภายในประเทศคิดเป็นร้อยละ 0.5 สำหรับในปี 2023 รัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามในสัญญากู้ยืมเงินแบบผ่อนปรนดอกเบี้ยกับพันธมิตรการพัฒนามูลค่า 1.81 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 1,339.22 ล้าน SDR คิดเป็นร้อยละ 79 ของเพดานที่กฎหมายอนุญาต โดยวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงินส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาโครงการลงทุนสาธารณะในภาคส่วนสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501457412/cambodias-public-debt-stands-at-11-24-billion/

2023 NBC อัดฉีดเงิน 139 ล้านดอลลาร์ รักษาเสถียรภาพสกุลเงินเรียล

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) อัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 139.1 ล้านดอลลาร์ เพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเรียล และเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายใต้ความร่วมมือของ NBC กับสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดสัดส่วนเงินสกุลดอลลาร์ และเพิ่มสัดส่วนสกุลเงินเรียลในระบบเศรษฐกิจของกัมพูชา สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของเรียลต่อดอลลาร์อยู่ที่ 4,110 ในปีที่แล้ว และในเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดียว สกุลเงินเรียลแข็งค่าขึ้นเป็น 4,081 เรียล สะท้อนให้เห็นว่ามูลค่าเงินเรียลเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 ด้าน NBC ตัดสินใจที่จะเข้าแทรกแซงสกุลเงินเรียลอย่างต่อเนื่องเนื่อง จากปัจจัยตามฤดูกาลและความกดดันของเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดต่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501431035/nbc-injected-139-million-to-stabilise-riel-in-2023/

ผู้ว่าการ NBC รายงานการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ทศวรรษ

Chea Serey ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กล่าวถึงการเติบโตของการใช้สกุลเงินท้องถิ่น อย่างสกุลเงินเรียลเติบโตเป็นอย่างมาก สำหรับในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยวัตถุประสงค์ในการลดค่าของเงินดอลลาร์ (de-dollarize) เพื่อให้สกุลเงินท้องถิ่นกลับมามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยทางการพยายามที่จะปรับสมดุลการใช้สกุลเงินดอลลาร์ ให้เป็นตามกลไกตลาดด้วยการดำเนินมาตรการนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลเรียลมานับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งปัจจุบันปริมาณเงินเรียลที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเพิ่มขึ้นจาก 0.85 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 211 ล้านดอลลาร์) เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็น 14.5 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 3.51 พันล้านดอลลาร์) ในปัจจุบัน สะท้อนไปยังการเพิ่มขึ้นทางด้านเสถียรภาพของสกุลเงินท้องถิ่นกัมพูชาได้เป็นอย่างดี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501390501/nbc-governor-says-cambodia-has-seen-big-increase-in-local-currency-usage-in-past-2-decades/

เงินบาทอ่อนค่าแรงทะลุระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง หลังตลาดกังวลเสถียรภาพการคลังของไทยจากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต

ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ (13 พฤศจิกายน) ที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงหนักจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.89 บาทต่อดอลลาร์ กดดันโดยจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลวธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงหนัก นอกจากนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย ซึ่งได้สะท้อนผ่านแรงขายหุ้นและบอนด์ โดยนักลงทุนต่างชาติในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้าน พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ย Fed และความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย ทำให้ในสัปดาห์นี้ยังต้องระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน พร้อมติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักและลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกัน ตลาดการเงินไทยอาจผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต โดยหากพิจารณาจากแรงขายหุ้นและบอนด์ รวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินบาทล่าสุด อาจประเมินได้ว่าผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของไทยมากขึ้น

ที่มา : https://thestandard.co/baht-depreciate-36-baht-per-usd/

นักเศรษฐศาสตร์ลาวแนะ ‘ต้องดึงเม็ดเงินต่างชาติ’ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินกีบ

ศ.ภูเพชร เคียวภิลาวงศ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เสนอแนะวิธีรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบและจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของลาวที่ตกต่ำจากปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยลาวจำเป็นต้องดึงดูดเงินตราต่างประเทศเข้ามามากขึ้นด้วยการเพิ่มมูลค่าของการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศจะช่วยรักษาเสถียรภาพของค่าเงินกีบไม่ให้อ่อนค่าลงไปกว่าปัจจุบัน นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไข คือ แก้ไขกฎระเบียบการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติในลาว โดยปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎระเบียบดังกล่าวมารองรับว่าชาวต่างชาติสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในลาวได้ หากแก้ไขได้จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาได้อีกทางหนึ่ง

ที่มา : https://www.nationthailand.com/world/asean/40031972

‘S&P Global’ เผยภาคการผลิตเวียดนามอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ

บริษัท S&P Global (S&P) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามในเดือน ก.ค. ยังคงอยู่ในแดนลบ อย่างไรก็ดี มีสัญญาที่บ่งบอกถึงความมีเสียรภาพ เนื่องจากผลผลิต ยอคคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานปรับตัวลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิต (PMI) ของเวียดนาม ในเดือน ก.ค. อยู่ในระดับ 48.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 46.2 จุด แสดงให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามมีทิศทางที่ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ในภาพรวมยังเป็นเชิงลบ นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน แต่ว่าตลาดยังค่อนข้างเงียบ ประกอบกับภาคธุรกิจหวังว่าความต้องการของลูกค้าจะกลับมาฟื้นตัวและนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1551947/viet-nam-s-manufacturing-industry-shows-signs-of-stabilisation-s-p-global.html

‘นายกฯ เวียดนาม’ สั่งคุมราคาน้ำมัน เหตุรักษาเสถียรภาพตลาดในประเทศ

นาย ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้สั่งการให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน รักษาเสถียรภาพระหว่างอุปสงค์และอุปทานของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ อีกทั้งสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าทำการตรวจสอบศูนย์หน่วยจำหน่ายและสถานีการค้าทั่วประเทศ เพื่อจัดการกับผู้ที่ทำการกักตุนน้ำมันในการแสวงหากำไรและการละเมิดอื่นๆ นอกจากนี้ รัฐบาลได้สั่งให้กระทรวงการคลังเข้ามาประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เพื่อทำการศึกษาและเสนอแนวทางปรับนโยบายภาษีเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมถึงขอความร่วมมือไปยังคณะกรรมการประชาชนจังหวัดและส่วนกลางให้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมการขายน้ำมันที่ร้านค้าปลีกในท้องที่อย่างใกล้ชิด

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11199502-pm-orders-balance-of-petrol-demand-supply-for-domestic-market.html