‘นครโฮจิมินห์’ ครองอันดับดัชนีความสามารถโลจิสติกส์ของประเทศ

สมาคมธุรกิจโลจิสติกส์เวียดนาม (VLA) ร่วมกับสถาบันวิจัยและการพัฒนาด้านโลจิสติกส์เวียดนาม (VLI) และศูนย์บ่มเพาะ จัดทำรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ (LCI) และได้มีการประเมิน 26 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีตัวชี้วัด ดังนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (GRDP) ปริมาณสินค้าบรรทุก และจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่านครโฮจิมินห์ได้รับคะแนนสูงสุด อยู่ที่ 43.3-74.3 จากคะแนนเต็ม 100 บ่งชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่โดดเด่นของเมืองในการบูรณาการเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพการให้บริการ และกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ รองลงมาเมืองไฮฟองและเมืองบิ่นห์ดิ่นห์ (Binh Dinh)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/hcmc-tops-logistics-competitiveness-index/

นายกฯ กัมพูชา ตั้งเป้าดันพระสีหนุเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของประเทศ

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนพัฒนาจังหวัดพระสีหนุ ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทะเลของกัมพูชา ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของประเทศ ผ่านการจัดทำแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาจังหวัด กล่าวโดย นายกฯ ฮุน มาเนต ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT) เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึก เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในประเทศ ซึ่งนายกฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อหวังผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว สำหรับในเฟสแรกทางการมีการวางแผนที่จะขยายท่าเรือน้ำลึกเนื่องจากปัจจุบันลานจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์เกือบเต็มพื้นที่ที่ร้อยละ 93 รวมถึงเพื่อที่จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการจากระหว่าง 400 ถึง 500 ดอลลาร์ ต่อตู้คอนเทนเนอร์ เหลือเพียง 200 ดอลลาร์ ต่อตู้คอนเทนเนอร์ อีกทั้งท่าเรือดังกล่าวยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งอย่างทางรถไฟ 2 สาย เชื่อมไปยังกรุงพนมเปญและปอยเปต ที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501388709/pm-says-preah-sihanouk-set-to-be-countrys-logistics-hub/

‘รถไฟจีน-ลาว’ มียอดผู้ใช้บริการทะลุ 81,000 คน

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประจำด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนานของจีน เผย 6 เดือนแรก มีผู้ใช้บริการรถไฟจีน-ลาวแล้วกว่า 81,000 คน ในที่นี้เป็นผู้โดยสารต่างชาติกว่า 15,000 คน จากกว่า 60 ประเทศ สะท้อนความสำคัญของเส้นทางรถไฟสายนี้ที่เป็นตัวเลือกยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากมีราคาค่าโดยสารไม่แพงและมีความสะดวกสบาย อีกทั้งตั้งแต่กรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา ระยะเวลาเดินทางจากต้นทางที่ด่านโม่ฮานถึงสถานีปลายทางนครหลวงเวียงจันทน์มีการปรับลดเวลาการเดินทางเหลือเพียง 9 ชั่วโมง จากผลของการลดขั้นตอนพิธีการทางศุลกากร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_202_China_y23.php

การขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

8 เดือนแรกของปีนี้ เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ได้มีการขนส่งสินค้ารวมทั้งสิ้น 3.1 ล้านตัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 138 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของ บริษัท สปป.ลาว-จีน เรลเวย์ จำกัด (LCRC) โดยคิดเป็นการนำเข้าสินค้าของ สปป.ลาว จาก จีน ที่ปริมาณ 344,700 ตัน ในขณะที่สินค้าส่งออกของ สปป.ลาว ไปยังจีน มีปริมาณรวมกว่า 2.7 ล้านตัน ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักที่ส่งออกไปจีน ได้แก่ ผลไม้, แป้งมัน, ข้าวบาร์เลย์, ยาง, เบียร์, แร่เหล็ก, หิน, และปุ๋ยเคมี สำหรับทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการภายใต้หนึ่งเข็มขัดเศรษฐกิจ หนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งเป็นอภิมหาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จีนใช้เชื่อมโลก เป็นเหมือนภาคต่อของเส้นทางสายไหม สำหรับเส้นทางสาย สปป.ลาว-จีน ได้เริ่มให้บริการในช่วงเดือนธันวาคม 2021 โดยเส้นทางสายดังกล่าวมีระยะทางรวม 1,035 กิโลเมตร เชื่อมโยงระหว่างเมืองคุนหมิงทางต้อนใต้ของจีน เข้ากับเมืองเวียงจันทน์ ประเทศ สปป.ลาว ในการสนับสนุนภาคการขนส่งระหว่าง สปป.ลาว-จีน

ที่มา : https://english.news.cn/20230926/f031f53c3d344c76b65114d370627f4d/c.html

CAC รายงานการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปยังเวียดนามลดลง 16%

กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบ (RCN) ปริมาณกว่า 607,000 ตัน ไปยังเวียดนาม ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สร้างรายได้เข้าประเทศ 820 ล้านดอลลาร์ แต่กลับปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามข้อมูลของ Uon Silot ประธานสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห่งกัมพูชา (CAC) ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาผลิต RCN ได้ประมาณ 634,000 ตัน ณ ช่วงเดือน ม.ค.–ส.ค. โดยประมาณร้อยละ 95 ถูกส่งออกไปยังเวียดนาม สำหรับราคาเฉลี่ยของ RCN ในปัจจุบันอยู่ที่ 1,658 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ในช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1,900 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งโรงงานแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในกัมพูชาจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ของกัมพูชา เพื่อให้ผ่านมาตรฐานการส่งออก ด้านประธานสมาคม CAC ยังได้ร้องขอให้รัฐบาลช่วยจัดหาตลาดในการส่งออกและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการ หวังกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตเม็ดมะม่วงพิมพานต์ของประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501361913/cashew-exports-to-vietnam-decline-16-says-cac/

ท่าเรือ สปป.ลาว-มาเลเซีย มองหาช่องทางการเชื่อมโยงระหว่างกัน

Sake Philangam กรรมการผู้จัดการของท่าเรือบกท่านาแล้ง สปป.ลาว และ Mr. Wan Ahmad Azheed Wan Mohamad กรรมการผู้จัดการกลุ่มและซีอีโอของ Mutiara Perlis Sdn Bhd ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างกัน (MoC) โดยมีนายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว และมาเลเซียร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความต้องการในการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าการลงทุนต่อไปในอนาคต ขณะที่รัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งชาติลาวและการรถไฟมาเลเซีย Keretapi Tanah Melayu Berhad (KTMB) ก็ได้ลงนามใน MoC ที่คล้ายคลึงกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการขนส่งทางราง หวังเชื่อมโลจิสติกส์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งหากเกิดการเชื่อมกันอย่างสมบูรณ์จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่งลงอย่างมาก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าไปยังจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียน ยกตัวอย่างเช่น การขนส่งทุเรียนจากประเทศไทยผ่านทางรถไฟใช้เวลาเพียง 3 วัน ในการขนส่งไปยังจีน เร็วกว่าการขนส่งแบบดังเดิมถึงสองเท่า และด้วยความได้เปลี่ยนนี้คาดว่าจะถือเป็นการดึงดูดนักลงทุน เข้ามาลงทุนยังภูมิภาคมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง สปป.ลาว ยังได้เพิ่มสิ่งจูงใจในการเข้ามาลงทุนอีกมากมาย เช่น ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8-16 ปี การลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น อีกทั้ง สปป.ลาว ยังมีข้อตกลงทางด้านการค้าอีกหลายฉบับกับนานาประเทศทั่วโลก

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_LaoMalasian125.php

ประธานาธิบดี สปป.ลาว แนะฉงฉิ่งส่งสินค้าผ่านทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน

ประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด เสนอให้ สปป.ลาวและเทศบาลนครฉงชิ่งของจีน ร่วมมือกันขนส่งสินค้าโดยใช้ทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน โดยการใช้ทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าจะถือเป็นการเปิดตลาดให้กับ สปป.ลาว ไปยังพื้นที่ตอนกลางและตะวันตกของจีน นอกจากนี้ ทางประธานาธิบดียังขอให้ทางการฉงชิ่งสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ของ สปป.ลาว รวมถึงการเข้ามาลงทุนยัง สปป.ลาว เพิ่มขึ้น ด้าน Yuan Jiajun ผู้ว่าการมณฑลฉงฉิ่งกล่าวเสริมว่าความสำเร็จในความร่วมมือระหว่าง สปป.ลาว และเทศบาลนครฉงชิ่งในปีที่ผ่านมาถือว่าผ่านไปได้ด้วยดี ภายใต้ข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างผู้นำของทั้งสองฝ่าย เพื่อหวังยกระดับความร่วมมือทวิภาคีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 500 เมื่อเทียบเป็นรายปี นับตั้งแต่ต้นปีนี้การรถไฟฯ ได้ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปแล้วกว่า 600,000 เมตริกตัน รวมถึงขนส่งสินค้านำเข้ากว่า 510,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 500 ตามรายงานจาก China Railway Kunming Group

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_President119.php

ไทยใช้เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ขนส่งทุเรียนไปยังฉงชิ่งภายใน 88 ชั่วโมง

ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากเส้นทางการขนส่งทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ไปยังเทศบาลนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทุเรียนและผลไม้ประเภทต่างๆ ประมาณกว่า 500 ตัน รายงานโดยบริษัทขนส่ง China Railway Materials เมื่อวันวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) ซึ่งลักษณะการขนส่งใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 28 ตู้ ส่งตรงไปยังศูนย์โลจิสติกส์ทางรถไฟ Xiaonanya ของฉงชิ่ง ใช้เวลาการขนส่งภายใน 88 ชั่วโมง นับเป็นการเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงสวนผลไม้กับตลาดค้าปลีกในฉงชิ่ง ขณะที่ Deng Haoji ผู้จัดการจาก บริษัท Chongqing Hongjiu Fruit กล่าวว่า การขนส่งดังกล่าวลดระยะเวลาด้านการขนส่งลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับการขนส่งในอดีต โดยทางการ สปป.ลาว ยังได้กล่าวเสริมว่าบริษัทจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าต่างๆ อาทิเช่น ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ตามรายงานของกรมศุลกากร (GAC) ซึ่งมูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนและอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.59 ล้านล้านหยวน (3.6 แสนล้านดอลลาร์) ในช่วง 5 เดือนแรก คิดเป็นการขยายตัวกว่าร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten112_Direct_y23.php

เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

นับตั้งแต่ สปป.ลาว เริ่มดำเนินการเส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เมื่อ 18 เดือนก่อน ส่งผลทำให้การขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง รายงานโดยกลุ่มบริษัท China Railway Kunming เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (6 มิ.ย.) โดยได้ขนส่งผู้โดยสารไปแล้วกว่า 16.4 ล้านคน และขนส่งสินค้าปริมาตรรวมกว่า 21 ล้านเมตริกตัน นับตั้งแต่ได้เปิดตัวในเดือนธันวาคม 2021 ด้านการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าที่มีการเติบโตหลักๆ เป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 13 เมษายน ได้เปิดตัวเส้นทางรถไฟโดยสารระหว่างประเทศเพิ่มเติมที่สถานีคุนหมิงใต้และสถานีเวียงจันทน์เมืองหลวงของ สปป.ลาว ซึ่งได้ให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกไปแล้วกว่า 20,000 คน จาก 28 ประเทศทั่วโลก ด้านการขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ ได้แก่ ปุ๋ย ของใช้จิปาถะ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และผลไม้ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten108_chinalaos.php

“เวียดนาม” คาดเป็นผู้นำโลจิสติกส์ในภูมิภาคเอเชีย

ดัชนีโลจิสติกส์ตลาดเกิดใหม่ประจำปี 2566 (Agility Emerging Markets Logistics Index 2023) เวียดนามขยับขึ้น 10 อันดับแรกของดัชนีตลาดโลก 50 แห่ง โดยขยับขึ้นหนึ่งอันดับเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และจากหลักเกณฑ์ของดัชนีดังกล่าว เวียดนามเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก ด้วยคะแนน 6.03 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10) เป็นผลมาจากเวียดนามได้รับปัจจัยบวกจากจีนจากการย้ายฐานการผลิตระดับโลก ทั้งนี้ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีการขยายตัว 14-16% ต่อปี ซึ่งได้เสริมความแข็งแกร่งในฐานะหนึ่งในภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดและมีเสถียรภาพที่สุดในประเทศ โดยมีมูลค่ารวม 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1536733/viet-nam-expected-to-emerge-as-a-prominent-logistics-player-in-asia.html