ท่าเรือบกท่านาแล้งของ สปป.ลาว สร้างรายได้กว่า 200 ล้านดอลลาร์ ในปีก่อน

ท่าเรือบกท่านาแล้ง (TDP) มีแผนที่จะเปิดตัวช่องทางพิเศษเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายและขนส่งผลิตผลทางการเกษตรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชียและจีน ปัจจุบันท่าเรือบกแห่งนี้ ถือเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ครบวงจรแห่งแรกของ สปป.ลาว ซึ่งในปีที่ผ่านมาสร้างรายได้ให้กับประเทศมากถึง 200 ล้านดอลลาร์ จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตู้สินค้า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากการให้บริการขนส่งทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ที่เพิ่งเปิดให้บริการระหว่างประเทศ โดยท่าเรือวางแผนที่จะร่วมมือกับทางการจีนเพื่อสร้างศูนย์สุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและสัตว์ (SPS) ณ ท่าเรือเวียงจันทน์ เพื่อรับรองสินค้าในการส่งออกไปยังจีนและคู่ค้า ด้วยการติดฉลาก SPS customs seal เพื่อเป็นการยืนยันถึงคุณภาพของสินค้า ซึ่งคาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 เดือน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten86_Thanaleng_y23.php

World Bank จัดไทยอันดับ 34 ความสามารถโลจิสติกส์โลก พบอันดับต่ำสุดด้านตรงต่อเวลา

สำนักข่าวอิศรา รายงานข่าวเกี่ยวกับการจัดอันดับในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยว่าธนาคารโลกหรือว่า World Bank ได้มีการจัดอันทำดัชนีขีดความสามารถในด้านโลจิสติกส์ใน 139 ประเทศทั่วโลกประจำปี 2566 พบว่าประเทศไทยได้อันดับที่ 34 โดยมีคะแนนทั้งสิ้น 3.5 คะแนน

โดยในส่วนของรายละเอียดคะแนนนั้น พบว่าไทยได้อันดับในส่วนของศุลกากรอยู่ที่อันดับ 31 อันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ 25 อันดับด้านการขนส่งไปยังต่างประเทศอยู่ที่ 22 อันดับด้านการแข่งขันโลจิสติกส์อยู่ที่ 38 อันดับเกี่ยวกับการติดตามสินค้าอยู่ที่ 34 และอันดับด้านความตรงต่อเวลาอยู่ที่ 46

ทั้งนี้มีประเทศอื่นๆที่มีอันดับ 34 เทียบเท่าประเทศไทยได้แก่ประเทศบาห์เรน ประเทศลัตเวีย และประเทศการ์ตา

ส่วนอันดับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนนั้น พบว่ามีสิงคโปร์ที่ได้อันดับหนึ่งของโลกได้ 4.3 คะแนน ตามมาด้วยประเทศมาเลเซียได้อันดับที่ 26 ได้ 3.6 คะแนน ประเทศเวียดนามกับประเทศฟิลิปปินส์ได้อันดับที่ 43 ได้ 3.3 คะแนน ประเทศอินโดนีเซียได้อันดับที่ 61 ได้  3 คะแนน ประเทศลาวและกัมพูชาได้อันดับที่ 115 ได้ 2.4 คะแนน

ที่มา : https://www.isranews.org/article/isranews-news/118222-isranews-logisticcccc.html

เอกอัครราชทูตไทยประจำ สปป.ลาว เข้าเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน

เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน (Savan Park) และ Savannakhet Dry Port ได้ให้การต้อนรับคณะผู้แทนไทย นำโดยเอกอัครราชทูตไทยประจำ สปป.ลาว นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ ในการเข้าเยือนพื้นที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย และสปป.ลาว โดยปัจจุบันภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีบริษัทเข้าลงทุนทั้งหมด 78 บริษัท ซึ่งเขตเศรษฐกิจดังกล่าวมีประสิทธิภาพและข้อได้เปรียบในหลายๆด้าน โดยเฉพาะทางด้านโลจิสติกส์ที่มีท่าเรือบกภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในปี 2022 การค้าผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ แบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้ามากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ และคิดเป็นการส่งออกที่มีมูลค่า 207 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานล่าสุดของท่าเรือบก

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten65_Thai_y23.php

นักการทูตนานาชาติชื่นชม “ทางรถไฟจีน-ลาว” เอื้อประโยชน์แก่อาเซียน

สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเทศบาลนครฉงชิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ว่ารายงานระบุว่า บรรดาคณะผู้แทนทางการทูตต่างชาติประจำประเทศจีนล้วนมีความประทับใจ กับความสำเร็จหลากหลายด้านของเทศบาลนครฉงชิ่ง ทั้งในด้านการผลิต การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และอีกมากมาย อนึ่ง เทศบาลนครฉงชิ่งได้รับการขนานนามเป็น “เมืองภูเขา” เนื่องจากถือเป็นประตูสู่ทิศตะวันตกของการเดินรถไฟจีน-ยุโรป และยังเป็นประตูสู่ทิศใต้ ซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมืองแห่งนี้ได้เชื่อมโยงตนเองเข้ากับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ผ่าน “ทางรถไฟจีน-ลาว” ซึ่งก่อสร้างเสร็จสิ้น และเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2564

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/2146323/

สปป.ลาว ลงนาม MoU เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางผ่านแดน

บริษัทของทั้ง สปป.ลาว และไทย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจไตรภาคี (MoU) ซึ่งได้ลงนาม ณ เวียงจันทน์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟระหว่าง สปป.ลาว-ไทย และ สปป.ลาว-จีน โดยข้อตกลงนี้ลงนามโดยผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว (LNR) ร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Global Multimodal Logistics, รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Pan-asia Silk Road และประธานบริษัท Kaocharoen Train Transport ซึ่ง LNR จะประสานงาน อำนวยความสะดวก ซึ่งตั้งเป้าหมายในการขนส่งทุเรียนและผลไม้อื่นๆ อย่างน้อย 20,000 ตันต่อเดือน จากไทยไปยังตลาดจีน โดยหลังจากทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2021 ความต้องการทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสารปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารที่พุ่งสูงขึ้น ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ แตะ 417,400 คน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 256.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การขนส่งสินค้ารวมอยู่ที่ 647,700 ตันในช่วงเวลาเดียวกัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 320

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten57_Deal_y23.php

“พาณิชย์-DITP” ชี้เป้านักลงทุนไทยลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนาม

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจาก นางสาวธนียา ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ถึงการติดตามสถานการณ์การแข่งขันของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเวียดนาม และโอกาสในการเข้าไปลงทุนด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเวียดนามว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นาย เล มินห์ ไค รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ลงนามในข้อมติ No.163/NQ-CP ว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินการงานหลักเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศ เพื่อพัฒนาบริการโลจิสติกส์ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับการพัฒนาการผลิตสินค้า การนำเข้า การส่งออก และการค้าภายในประเทศ และการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านบริการโลจิสติกส์ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสการลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนามของนักลงทุนไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการคลังสินค้าและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.thailandplus.tv/archives/670257

“ไฮฟอง” ตั้งเป้าศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

เมืองไฮฟอง (Hai Phong) ประเทศเวียดนาม ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบหลายประการในฐานะที่เป็นฮับการขนส่งสินค้าทั้งทางทะเล ทางถนน ทางราง ทางอากาศและทางแม่น้ำ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาการให้บริการทุกมิติของเมืองและโลจิสติกส์ พร้อมกับวิสัยทัศน์ระยะยาวถึงปี 2045 ทั้งนี้ นาย Tran Luu Quang รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเมืองไฮฟองจะทำการปฏิรูปการบริหารและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในด้านท่าเรือและโลจิสติกส์ ตลอดจนส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนและส่งเสริมการค้า และยกระดับห่วงโซ่บริการด้านโลจิสติกส์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและเชื่อมโยงระดับภูมิภาค

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1455789/hai-phong-aims-to-become-an-international-logistics-centre.html

“ลอตเต้ กรุ๊ป” เล็งสร้างเมืองอัจฉริยะเชิงนิเวศและศูนย์โลจิสติกส์ในเวียดนาม

ธุรกิจค้าปลีกขนาดยักษ์ของประเทศเกาหลีใต้ “ล็อตเต้ กรุ๊ป” ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ว่าจะสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและศูนย์โลจิสติกส์ในเวียดนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจที่ขยายกิจการ เพื่อวางรากฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ภายใต้โครงการ “Thu Tiem Eco Smart City” ด้วยมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทมีแผนที่จะสร้างอาคารสูง 60 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน ประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ พื้นที่สำนักงาน โรงแรม ที่พักอาศัยและอพาร์ทเมนท์ในเมืองโฮจิมินห์ นอกจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แล้วนั้น บริษัทวางแผนที่จะสร้างศูนย์โลจิสติกส์อัจฉริยะในจังหวัดด่งนาย (Dong Nai) ภายในปี 2567 เพื่อยกระดับการนำเข้าและส่งออก

ที่มา : http://www.theinvestor.co.kr/view.php?ud=20220905000144

จีนเร่งโครงการทางด่วนในกัมพูชา หวังพัฒนาศักยภาพโลจิสติกส์

โครงการทางด่วน พนมเปญ-สีหนุวิลล์ ภายใต้การลงทุนของ บริษัท China Road and Bridge Corporation ซึ่งโครงการก่อสร้างทางด่วนมีระยะทางทอดยาวกว่า 187 กม. โดยโครงการได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2019 ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในขณะนี้แล้วเสร็จกว่าร้อยละ 94 และมีกำหนดเปิดให้ทดลองใช้ในเดือนกันยายนปีนี้ โดยทางด่วน พนมเปญ-สีหนุวิลล์ ถือเป็นทางด่วนจากความร่วมมือระหว่างกัมพูชาและจีนภายใต้กรอบ Belt and Road ด้านรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมกัมพูชา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า 3,000 ตำแหน่ง และจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะถัดไป

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501114676/chinese-invested-expressway-speeds-up-travel-helps-develop-talents-for-cambodia/

สปป.ลาว หนุน โลจิสติกส์เชื่อมทางรถไฟ จีน-สปป.ลาว

เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคปฏิวัติประชาชนลาว และประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด แห่งสปป.ลาว ได้เสนอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานร่วมกับ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าใน สปป. ลาว (Vientiane Logistics Park :VLP) เพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค อีกทั้งยังขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานและกำหนดกฎหมายที่จำเป็นเพื่อหนุนอุตสาหกรรมให้เติบโดได้ดียิ่งขึ้น โดยการเปิดให้บริการของรถไฟลาว-จีนตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2564 มีรายงานว่า การขนส่งสินค้าเพื่อกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกสบายและรวดเร็วขึ้น ซึ่งมีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่การเปิดดำเนินการของ VLP มีการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีนเพิ่มขึ้น คาดว่าจนถึงปี 2573 จะมีการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 5 ล้านตู้ ครอบคลุมทั่วประเทศและจะมีการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ 2 ล้านตู้ต่อปีผ่าน VLP และทางรถไฟ ทั้งนี้มีการประเมินว่า VLP จะสร้างรายได้ให้กับรัฐประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20220630/a006b98c589f4af28f9a3e7c8bee9323/c.html