เวียดนามเกินดุลการค้าพุ่ง 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้

กรมศุลกากรเวียดนาม (GDVC) เปิดเผยว่าเวียดนามเกินดุลการค้า 754 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายน และส่งผลให้ยอดเกินดุลการค้าสูงถึง 20.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน มูลค่าการส่งออก 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ในขณะที่ มูลค่าการนำเข้า 24.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 รองลงมาเครื่องนุ่งห่ม (31.9%), เครื่องจักรและส่วนประกอบ (14.1%), รองเท้า (24.6%), ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ (29.4%) และอื่นๆ ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกรวม 254.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และมูลค่าการนำเข้ารวม 234.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า มองว่าผลการดำเนินงานทางการค้าของเวียดนามนั้นอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก เนื่องมาจากการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ เช่น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA)

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-trade-surplus-further-expands-to-us2006-billion-in-11-months-315366.html

ราคาส่งออกข้าวของเวียดนาม ปรับตัวพุ่งแตะ 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

หน่วยงานด้านการแปรรูปและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรเวียดนาม เปิดเผยว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวทั้งหมด 5.74 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแง่ของปริมาณ ลดลงร้อยละ 2.2 ในขณะที่ ด้านมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสำคัญของเวียดนามในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุด มีสัดส่วน 32.9% ของส่วนแบ่งการตลาดรวม ตามมาด้วยอินโดนีเซียและจีน อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวขาว 5% ในเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 495 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ 498 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในขณะที่ ราคาข้าวขาว 5% ของไทย พุ่งสูงขึ้นจาก 466 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ 480 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ส่งผลให้การส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหภาพยุโรปให้โควต้าสำหรับข้าวของเวียดนาม 80,000 ตันต่อปี ด้วยอัตราภาษีร้อยละ 0

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/rice-export-price-soars-to-roughly-us500-per-tonne-822735.vov

EVFTA เป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดค้าปลีกเวียดนาม

ความได้เปรียบจากการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรียุคใหม่ อาทิ ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) คาดว่าจะเป็นแรงผลักดันใหม่สำหรับตลาดค้าปลีกในท้องถิ่นที่จะเติบโตดีขึ้น ท่ามกลางการระบาดของโรค COVID-19 ในขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเวียดนามประสบความสำเร็จจากการควบคุม COVID-19 ควบคู่กับการใช้ FTA ด้วยปัจจัยดังกล่าว ช่วยให้เวียดนามเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจากการประเมิน ชี้ว่าเม็ดเงิน FDI ยังคงไหลเข้าไปยังตลาดค้าปลีกในประเทศ ถือว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงการใช้จ่ายของครัวเรือนในท้องถิ่น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 10.5 ต่อปี และคาดว่าจะสูงถึง 714 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในปีนี้ อีกทั้ง ตลาดค้าปลีกในเวียดนามได้รับสัญญาไปในทิศทางที่เป็นบวก หลังจากดึงดูดผู้ค้าปลีกจากเกาหลีใต้ ไทยและญี่ปุ่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

  ที่มา : https://vov.vn/en/economy/evfta-poised-to-become-driving-force-for-retail-market-growth-786276.vov

ค่าเงินด่องของเวียดนามมีแนวโน้มเสถียรภาพ

จากรายงานของฟิทช์ โซลูชันส์ (Fitch Solutions) ระบุว่าในระยะสั้น ทางธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) คาดว่ายังคงรักษาเสถียรภาพของค่าเงินด่องได้ เนื่องจากต้องควบคุมระดับของความสามารถทางการแข่งขันด้านการส่งออก ด้วยเหตุนี้  ฟิทช์ โซลูชันส์ปรับค่าเงินด่องเวียดนามเฉลี่ยที่ 23,250 ด่อง/ดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และมาอยู่ในระดับที่ 23,400 ด่อง/ดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 ขณะที่ ค่าเงินด่องยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนก.ค. ทั้งนี้ คาดว่าการเกินดุลการค้าของเวียดนามยังคงต่อเนื่อง เนื่องจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำและการส่งออกยังได้รับแรงหนุนจากภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ที่ช่วยกระตุ้นการส่งออกของประเทศ ในขณะที่ การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยในปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศในเดือนก.ค. อยู่ที่ 84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางธนาคาร SBV มองว่ายังสามารถรักษาระดับของค่าเงินด่องในไม่กี่เดือนข้างหน้า และมีแนวโน้มว่าจำเป็นต้องซื้อเงินสำรองต่างประเทศมากขึ้น เพื่อที่จะให้ค่าเงินด่องกลับมาอ่อนค่าลง

ที่มา : http://hanoitimes.vn/stable-outlook-expected-for-vietnamese-dong-314500.html

เวียดนามส่งออกปลาทูน่าไปยัง EU พุ่งสูงขึ้น หลังจากลงนามข้อตกลง EVFTA

เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทได้ประสานงานกับคณะกรรมการประชาชนของจังหวัดคั้ญฮหว่า เพื่อส่งเสริมการผลิตปลาทูน่าด้วยการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และยกระดับการส่งออกปลาทูน่าไปยังสหภาพยุโรปภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ทั้งนี้ ในเดือนสิ.ค. เวียดนามส่งออกปลาทูน่าไปยังสภาพยุโรปอยู่ที่ 11.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6) และในเดือนก.ย. อยู่ที่ 11.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบเดือนที่แล้ว) อีกทั้ง นาย Phung Duc Tien รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท กล่าวว่า EVFTA จะสร้างโอกาสในการส่งออกปลาทูน่าของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปในช่วงเดือนสุดท้ายของปีนี้ และยังช่วยให้เวียดนามส่งออกอาหารทะเลเพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA ทำให้สหภาพยุโรปจะลดภาษีสำหรับสินค้าส่งออกอาหารทะเลของเวียดนามร้อยละ 86.5 ภายใน 3 ปีข้างหน้า และจะอยู่ในระดับร้อยละ 90.3 ภายใน 5 ปีข้างหน้าและร้อยละ 100 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ในระยะเวลา 7 ปี

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-tuna-exports-to-eu-surge-thanks-to-evfta-25052.html

เวียดนามเผยการส่งออกผักผลไม้ดิ่งลง ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามอยู่ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าส่วนแบ่งการตลาดมะพร้าวของประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิ.ค. แก้วมังกรเป็นสินค้าเกษตรที่มีการเติบโตเร็วที่สุดของเวียดนามในบรรดากลุ่มผลไม้ต่างๆ คิดเป็นยอดส่งออกร้อยละ 51.8 ของมูลค่าส่งออกผลไม้รวม โดยเฉพาะตลาดจีน ที่มีมูลค่าส่งออกพุ่งร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยมูลค่า 127.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานนำเข้า-ส่งออก เผยว่ายอดส่งออกแก้วมังกรที่เติบโตอย่างรวดเร็วไปยังจีน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเอื้ออำนวยของพิธีการศุลกากร และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีน นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA คาดว่าจะช่วยให้ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจเวียดนามเมื่อเทียบกับภูมิภาคเดียวกัน อย่างเช่น ไทย ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ก็กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ เช่น เปรูและเอกวดอร์

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/fruit-and-vegetarble-exports-plummet-over-nine-months-783688.vov

เวียดนามคาดมูลค่าการส่งออก 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานนำเข้า-ส่งออก เผยเวียดนามมีมูลค่าส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 202 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สิ่งที่น่าสังเกต คือ ภาคเศรษฐกิจในประเทศของเวียดนามเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับอียู (EVFTA) ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 สิ.ค. ทำให้การส่งออกของเวียดนามเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ ในเดือนสิ.ค. เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกไปสหภาพยุโรปอยู่ที่ 3.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.65 เมื่อเทียบกับเดือนก.ค. นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้ดำเนินการตามแผนส่งเสริมการค้าในปี 2563-2568 เพื่อส่งเสริมสินค้าให้มีประสิทธิภาพและมีความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงยังช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่นให้มีการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและจีน เป็นต้น  

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-likely-to-earn-300-billion-usd-in-exports-this-year/188033.vnp

เวียดนามส่งออกกาแฟชุดแรก ภายใต้ข้อตกลง EVFTA

ผู้ประกอบการเวียดนามได้แถลงการณ์เมื่อวันพุธว่าทำการส่งออกเสาวรสและกาแฟชุดแรกไปยังสหภาพยุโรป ตามข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVFTA) ทำให้ภาษีของเมล็ดกาแฟคั่วหรือไม่ได้คั่วลดลงจากร้อยละ 7-11 มาจนถึงร้อยละ 0 ในขณะเดียวกัน ภาษีของผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปลดลงจากร้อยละ 9-12 มาจนถึงร้อยละ 0 ตามข้อตกลงดังกล่าวที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิ.ค. 2563 ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงมีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมากในตลาดยุโรป ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ระบุว่าได้ดำเนินการสร้างโครงการในการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านกาแฟ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปกาแฟ รวมถึงยกระดับแบรน์ผลิตภัณฑ์กาแฟให้ทัดเทียมกับนานาชาติ นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกกาแฟของเวียดนามไปสหภาพยุโรป อยู่ที่ราว 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน สิ.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อน “นับว่าตัวเลขส่งออกข้างต้นอยู่ในระดับน่าพึงพอใจ”

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/772409/viet-nams-first-batch-of-coffee-under-evfta-exported.html

ADB หั่นการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามในปี 63 เหลือ 1.8%

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามลงเหลือ 1.8% ในปี 2563 จากครั้งก่อนที่ปรับลดเหลือร้อยละ 4.1 ในเดือนมิ.ย. แต่คาดว่าในปี 64 การขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 6.3 ซึ่งสาเหตุของเศรษฐกิจที่หดตัวลงมาจากการบริโภคในประเทศลดลงและความต้องการทั่วโลกอ่อนแอลง เนื่องจากได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามจะยังคงได้รับประโยชน์หลายประการ ได้แก่ การย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังเวียดนาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน และผลจากข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-อียู (EVFTA) เป็นต้น ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับร้อยละ 3.3 ในปี 63 และร้อยละ 3.5 ในปี 64 แต่ทว่าทางธนาคาร ADB คาดว่าเวียดนามเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางที่เป็นบวกภายในปีนี้ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะหดตัวร้อยละ 3.8 ในปี 63

ที่มา : http://hanoitimes.vn/adb-cuts-vietnam-gdp-growth-forecast-to-18-in-2020-314210.html

บริษัทเหล็กเวียดนาม “Hoa Phat Steel Sheet” ได้เปรียบการส่งออกจาก FTA

ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA), ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวทั้งหมด ก่อให้เกิดข้อได้เปรียบต่อบริษัทในแง่ภาษีศุลกากรจากยุโรป อาเซียน จีนและกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก โดยเมื่อเร็วๆนี้ ได้ร่วมลงนามสัญญาหลายฉบับ เพื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดเอเชีย ยุโรปและเม็กซิโก เป็นต้น ด้วยจำนวนแผ่นเหล็ก 10,000 ตันไปยังไทย ทั้งนี้ โรงงาน Dung Quat ของหวาฟัต ประสบความสำเร็จในการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตของอิตาลี นอกจากนี้ สินค้าในปัจจุบันได้วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ยุโรป ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย กัมพูชาและประเทศอื่นๆ

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/hoa-phat-steel-sheet-enjoying-export-advantages-from-ftas-417781.vov