จ๊าดพม่าอ่อนค่าลงทะลุ 3,900 จ๊าดต่อดอลลาร์

ข้อมูลจากตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรายงานว่าสกุลเงินจ๊าดของเมียนมา ในตลาดซื้อขายที่ไม่เป็นทางการ อ่อนค่าลงอีกครั้งที่ระดับกว่า 3,900 จ๊าดต่อดอลลาร์ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเมื่อวันที่ 12 เมษายนก่อนเทศกาล Thingyan อยู่ที่ 3,890 จ๊าดต่อดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเป็น 3,960 จ๊าดต่อดอลลาร์ ในวันที่ 27 เมษายน ซึ่งเพิ่มขึ้น 70 จ๊าดต่อดอลลาร์ภายใน 15 วัน อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ได้พยายามทำการอัดฉีดเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ตลาดเพื่อควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งมีการร่วมมือกับหน่วยงานด้านกฎหมายเพื่อให้สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่พยายามแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศภายใต้กฎหมายที่มีอยู่

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-kyat-depreciates-surpassing-k3900-per-dollar/

World Bank มอบเงินช่วยเหลือตลาดแรงงานกัมพูชา 1.2 พันล้านดอลลาร์

ธนาคารโลก (World Bank) ระบุในรายงานล่าสุดว่าโครงการช่วยเหลือทางสังคมที่มอบเงินให้แก่กัมพูชาในการช่วยเหลือตลาดแรงงานกัมพูชาภายใต้โครงการจัดสรรเงินโอนสู่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถือเป็นโครงการที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชา ซึ่งกรอบความช่วยเหลือนับตั้งแต่ในช่วงเดือนมิถุนายน 2020 จนถึงเดือนกันยายน 2022 คิดเป็นวงเงินรวม 1.2 พันล้านดอลลาร์ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการป้องกันเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงข้อจำกัดการเดินทาง ข้อจำกัดการรวมตัวของคนจำนวนมาก และการปิดเมืองอย่างเข้มงวด แม้ว่าวิธีดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส แต่ก็ส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ด้านธนาคารโลกยังกล่าวอีกว่า การสนับสนุนทางการเงินแก่คนงานที่ถูกเลิกจ้างยังช่วยในตลาดแรงงานของกัมพูชา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าที่ซบเซา งานในภาคการผลิต (ข้อมูลทางการ) ลดลงจาก 1.05 ล้านตำแหน่ง ในเดือนกรกฎาคม 2022 เหลือเพียง 1.0 ล้านตำแหน่ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2023 ก่อนที่จะฟื้นตัวบางส่วนเป็น 1.02 ล้านตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2023 ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อตลาดแรงในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501478392/covid-19-cash-assistance-of-1-2b-helped-labour-market/

กัมพูชาส่งออกยางพาราขยายตัวกว่า 5.1% ในช่วงไตรมาสแรกของปี

กัมพูชาส่งออกยางแห้งปริมาณรวมกว่า 69,322 ตัน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 จาก 65,921 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของ General Directorate of Rubber โดยส่งออกไปยังจีนที่มูลค่ารวมถึง 100.5 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากมูลค่า 92.9 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับราคายางแห้งในปัจจุบัน 1 ตัน มีราคาเฉลี่ย 1,450 ดอลลาร์ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 41 ดอลลาร์ต่อตัน ด้านการเพาะปลูกยางพาราของกัมพูชาในปัจจุบันมีทั้งหมด 407,172 เฮกตาร์ โดยต้นยางบนพื้นที่ 320,184 เฮกตาร์หรือร้อยละ 79 มีอายุมากพอที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501478623/cambodias-rubber-export-up-5-1-pct-in-q1/

เจรจา FTA ไทย-เอฟตา รอบ 9 คืบหน้า เร่งปิดดีลปี 2567

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) หรือ เอฟตา รอบที่ 9 ระหว่างวันที่ 23-26 เมษายนที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ ว่า ทั้งสองฝ่ายเร่งเครื่องการเจรจาอย่างเต็มที่ ซึ่งในภาพรวมมีความคืบหน้าในหลายเรื่อง บางกลุ่มสรุปผลได้แล้ว และหลายกลุ่มใกล้ได้ข้อสรุปผล ขณะที่ การเจรจารอบที่ 10 จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2567 นี้ เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาภายในปี 2567 ตามเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในลำดับต้นที่รัฐบาลต้องการเร่งรัดการเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสการค้าและการลงทุน ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ เอฟตา ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทย โดยในปี 2566 การค้าระหว่างไทยกับเอฟตา มีมูลค่า 9,882.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.72% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเอฟตา มูลค่า 4,385.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเอฟตา มูลค่า 5,497.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1552291