‘เมียนมา’ เผยส่งออกถั่ว เม.ย.-ส.ค. พุ่ง 630,000 ตัน

สมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ถั่วพัลส์ ถั่วฝัก ข้าวโพด และงาแห่งเมียนมา รายงานว่าเมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ในช่วง เม.ย.-ส.ค. ปริมาณ 630,000 ตัน ทำรายได้เกินกว่า 511 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระ โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดอินเดียและจีน นอกจากนี้ พื้นที่เพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรของเมียนมา มีสัดส่วน 33% ขณะที่พื้นที่ปลูกถั่ว มีสัดส่วนเพียง 20% ของพื้นที่ทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-exports-630000-tonnes-of-beans-pulses-in-april-august/#article-title

ในช่วงเดือนสิงหาคม อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว ชะลอตัวลงแตะ 25.88%

อัตราเงินเฟ้อในประเทศ สปป.ลาว ณ ช่วงเดือนสิงหาคมลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 25.88 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ร้อยละ 27.8 ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติ สปป.ลาว โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.85 ต่ำกว่าในช่วงเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 37.81 ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการปรับตัวลดลงของราคาสินค้ากลุ่มดังกล่าว สำหรับภาคส่วนที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในเดือนสิงหาคม ได้แก่ เครื่องใช้ในครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 0.20 ไปรษณีย์และโทรคมนาคมร้อยละ 0.57 และการศึกษาร้อยละ 0.75 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการแล้วก็ตาม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อใน สปป.ลาว มาจากค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลง หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงไปยังเศรษฐกิจของ สปป.ลาว รวมไปถึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/laos-inflation-drops-to-2588-in-august/267230.vnp

7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกยางขยายตัว 3% มูลค่าแตะ 228.5 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกยางแห้งในช่วง 7 เดือนแรกของปีจำนวนรวมกว่า 170,968 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของ General Directorate of Rubber สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 228.5 ล้านดอลลาร์ โดยราคายางแห้งหนึ่งตันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,337 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าราคาในช่วงช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 244 ดอลลาร์ ต่อตัน สำหรับผู้นำเข้ารายสำคัญยังคงเป็นกลุ่มประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีนเป็นหลัก ขณะที่ปัจจุบันในประเทศกัมพูชาได้มีการเพาะปลูกต้นยางในพื้นที่ทั้งหมด 404,578 เฮกตาร์ โดยมีต้นยางที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 315,332 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของพื้นที่เพาะปลูก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501352255/cambodias-rubber-exports-up-3-pct-in-first-7-months-to-earn-2285-million/

รัฐบาลกัมพูชาจ่อปรับค่าแรงขั้นต่ำกลุ่มอุตสาหกรรม GFT ในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชายืนยันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องสำหรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทาง (GFT) โดยยึดมั่นในความยั่งยืนของภาคดังกล่าวและเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนมาจากรัฐบาลชุดใหม่ของกัมพูชา ขณะที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนสำหรับภาคส่วนนี้อยู่ที่ 200 ดอลลาร์ ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจาก 194 ดอลลาร์ ต่อเดือน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทาง (GFT) ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของกัมพูชา โดยมีสถานประกอบประมาณ 1,332 แห่ง สร้างการจ้างงานประมาณกว่า 830,000 คน ซึ่งคิดเป็นการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวมูลค่ารวมกว่า 6.27 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี ถึงแม้จะลดลงอย่างมากจากการมูลค่า 7.89 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลการค้าจากกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501352116/gft-minimum-wage-hike-focuses-on-sustainability/

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนชงผู้นำไฟเขียวทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล ยุทธศาสตร์คาร์บอน

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 55 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า การประชุมครั้งนี้ ได้ผลลัพธ์สำคัญที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) และผู้นำอาเซียน ในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ก.ย.2566 โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) การจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปฏิญญาว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวถือเป็นกลไกการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ของอาเซียนที่ตอบสนองเชิงรุกต่อแนวโน้มการค้าของโลกสำหรับการเจรจาจัดทำความตกลง DEFA ได้ตั้งเป้าที่จะเริ่มเจรจาปลายปีนี้ และให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยคาดว่า DEFA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน ให้สูงถึง 4-6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 ส่วนการจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจสีเขียวและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานของเสาเศรษฐกิจ เช่น การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนความตกลง RCEP การใช้เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน หรือ e-Form D ในระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบทั้ง 10 ประเทศ ภายในปี 2566 โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 124,609.5 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 71,968.5 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 52,641.0 ล้านดอลลาร์ และในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 67,916.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 38,579.1 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศติดผนัง และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 29,337.1 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

ที่มา : https://corehoononline.com/index.php/set/company/showcontent/211469.html

‘เวียดนาม’ เผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ส.ค. ปรับตัวดีขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. และเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งได้รับแรงหนุนมาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก 3.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่ภาคการผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 3.7% ภาคการบำบัดน้ำเสียและการจัดหาน้ำ เพิ่มขึ้น 1.8% และภาคเหมืองแร่ ลดลง 6.2% อย่างไรก็ดี สภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามในปีนี้

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-industrial-production-improves-in-august/

‘เวียดนาม’ เผย CPI เดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 0.88%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 0.88% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน (MoM) หลังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมัน ข้าวและที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เพิ่มขึ้น 4.57%

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1583106/cpi-increases-0-88-per-cent-in-august.html

‘เมียนมา’ มุ่งเจาะตลาดบังกลาเทศ ขายข้าวแบบจีทูจี

สำนักงานส่งเสริมการค้าของเมียนมา เปิดเผยว่าบังกลาเทศยื่นข้อเสนอให้มีการซื้อข้าวจากเมียนมา เนื่องจากข้าวมีคุณภาพดีและจะทำการขายข้าวรูปแบบของรัฐบาลต่อรัฐบาล (G-to-G) ในปีนี้ โดยข้อตกลงในครั้งนี้จะกำหนดราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพเมล็ดข้าว นอกจากนี้ หลังจากอินเดียระงับการส่งออกข้าว ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงสุด ด้วยเหตุนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียต่างจับตาทิศทางตลาดข้าวของเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-rice-aimed-for-bangladesh-market-under-g-to-g-pact-2/#article-title