การค้า กัมพูชา-ญี่ปุ่น แตะเกือบ 700 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวมกว่า 699 ล้านดอลลาร์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 รองจากจีน สหรัฐฯ เวียดนาม และไทย รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ซึ่งคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นที่มูลค่า 442 ล้านดอลลาร์ และคิดเป็นการนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นที่มูลค่า 257 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกในช่วงเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียวมีมูลค่าอยู่ที่ 55 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 20.4 จากมูลค่า 69 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน

ด้านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา Ueno Atsushi ได้กล่าวในเวทีสาธารณะของกัมพูชาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ว่านักลงทุนชาวญี่ปุ่นมองเห็นถึงศักยภาพของกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาตั้งอยู่กลางแม่น้ำโขงติดต่อกับไทยและเวียดนามเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังมีกำลังแรงงานที่อายุน้อยและมีต้นทุนการจ้างงานที่ถูกกว่าแรงงานในประเทศไทยและเวียดนาม รวมถึงกัมพูชายังเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนภายใต้นโยบายส่งเสริมมากมาย ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นคาดว่าจะเข้ามาลงทุนยังกัมพูชาเพิ่มขึ้นในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501308691/cambodia-japan-bilateral-trade-nears-700-million-in-the-first-five-months/

“กฟผ.” ระงับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลของกรมจัดการบริหารเขตเศรษฐกิจกว๋างหงาย เมื่อวันที่ 29 พ.ค. เปิดเผยว่าบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ได้ยื่นเอกสารต่อกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม (MoIT) เกี่ยวกับการระงับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่อยู่ในรูปแบบ Build-Operate-Transfer (BOT) ตั้งอยู่ในจังหวัดกว๋างหงาย ซึ่งการตัดสินใจของ กฟผ. ในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน ตลอดจนสอดคล้องกับบริบทของโลกที่จะลดการพึ่งพาถ่านหินและเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่สะอาด

ที่มา : https://vir.com.vn/thai-investor-suspends-23-billion-thermal-power-plant-project-in-quang-tri-102618.html

“องค์กรระดับโลก” มองแนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามไปในทิศทางที่เป็นบวก

ธนาคารโลก (WB) คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่ 6% ในปี 2566 ชะลอตัวลง 0.3% เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ม.ค. อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามยังอยู่ในระดับสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ขณะที่ธนาคารโลกรายงานว่าสถานการณ์การค้าทั่วโลกในปีนี้ อยู่ในทิศทางที่เป็นลบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบางประเทศที่พึ่งพาภาคการค้าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาเลเซียและเวียดนาม ทั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD), ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และธนาคารพัฒนาเอเชีย คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปีนี้ จะขยายตัว 6.5% อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ ได้แก่ เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดในหลายประเทศ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวช้า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร ภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/reputable-organisations-optimistic-about-vietnam-s-economic-outlook-2154134.html

“เมียนมา” เผยราคาทองคำทะลุ 3.1 ล้านจ๊าตต่อ Tical

สมาคมผู้ค้าทองคำในย่างกุ้ง (YEGA) เปิดเผยว่าราคาทองคำทำสถิติพุ่งสูงสุด 3.1 ล้านจ๊าตต่อ Tical (0.578 ออนซ์ หรือ 0.016 กิโลกรัม) ในตลาดภายในประเทศ เนื่องมาจากทิศทางของราคาทองคำแท่งที่สูงขึ้นและการอ่อนค่าของค่าเงินจ๊าต เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาทองคำตลาดโลก Gold Spot อยู่ที่ 1,962 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และค่าเงินจ๊าตอ่อนค่าลง 2,970 ดอลลาร์สหรัฐในตลาดเกรย์ มาร์เก็ต (Grey Market)

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/gold-price-surpasses-k3-1-mln-per-tical-in-shady-dealings/#article-title

ไทยใช้เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ขนส่งทุเรียนไปยังฉงชิ่งภายใน 88 ชั่วโมง

ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากเส้นทางการขนส่งทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ไปยังเทศบาลนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทุเรียนและผลไม้ประเภทต่างๆ ประมาณกว่า 500 ตัน รายงานโดยบริษัทขนส่ง China Railway Materials เมื่อวันวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) ซึ่งลักษณะการขนส่งใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 28 ตู้ ส่งตรงไปยังศูนย์โลจิสติกส์ทางรถไฟ Xiaonanya ของฉงชิ่ง ใช้เวลาการขนส่งภายใน 88 ชั่วโมง นับเป็นการเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงสวนผลไม้กับตลาดค้าปลีกในฉงชิ่ง ขณะที่ Deng Haoji ผู้จัดการจาก บริษัท Chongqing Hongjiu Fruit กล่าวว่า การขนส่งดังกล่าวลดระยะเวลาด้านการขนส่งลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับการขนส่งในอดีต โดยทางการ สปป.ลาว ยังได้กล่าวเสริมว่าบริษัทจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าต่างๆ อาทิเช่น ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ตามรายงานของกรมศุลกากร (GAC) ซึ่งมูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนและอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.59 ล้านล้านหยวน (3.6 แสนล้านดอลลาร์) ในช่วง 5 เดือนแรก คิดเป็นการขยายตัวกว่าร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten112_Direct_y23.php

สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชา

สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยรายงานของ GDCE ระบุว่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 3.19 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14.3 จากมูลค่า 3.73 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.8 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มีมูลค่ารวม 9.18 พันล้านดอลลาร์ สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าสำหรับการเดินทาง แม้ว่าปัจจุบันกัมพูชาจะไม่ได้สิทธิพิเศษของโครงการ GSP จากสหรัฐแล้วก็ตาม โดยในปี 2023 ทางการกัมพูชาคาดว่าสถานการณ์การส่งออกอาจต้องเผชิญกับความยากลำบาก เนื่องจากคำสั่งซื้อโดยภาพรวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 6.92 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501307389/us-remains-cambodias-largest-export-market/

การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาแตะ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชามีมูลค่ารวมมากกว่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ หรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต ของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาส่งเกือบ 9.2 พันล้านดอลลาร์ ไปยังตลาดต่างประเทศ ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาปรับตัวลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 22.6 หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกัมพูชา ได้แก่ จีน สหรัฐฯ เวียดนาม ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เยอรมนี ไต้หวัน และแคนาดา ด้านสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเพื่อการเดินทาง จักรยาน ข้าว อุปกรณ์ไฟฟ้า ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ ผักและผลไม้ ขณะที่การนำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยา อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงเป็นส่วนใหญ่

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501307770/cambodias-international-trade-recorded-at-over-19-billion-in-first-five-months/

นายกฯ ผลักดันใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด

15 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์และขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลกภายใต้ความตกลง RCEP ซึ่งมีผลบังคับใช้กับชาติสมาชิกครบทั้ง 15 ประเทศแล้ว ครอบคลุมประชากรและ GDP กว่า 30% ของโลก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งมีการลงนามครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2563 ได้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมประเทศฟิลิปปินส์แล้ว เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ส่งผลให้ RCEP บังคับใช้โดยสมบูรณ์ในประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ ครอบคลุมประชากรและ GDP กว่า 30% ของโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมประเทศไทยในการขยายการค้าสินค้ากับและประเทศสมาชิก เพิ่มโอกาสทางการตลาดและการจ้างงานให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ และประชาชนชาวไทยได้อย่างมหาศาล รวมทั้งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้อีกด้วย ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับประโยชน์จาก RCEP ในเดือนมกราคม 2566 มีการส่งออกไปยัง 9 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์รวม 97.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 1,039 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ที่ได้เริ่มบังคับใช้ความตกลง RCEP โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้ความตกลง RCEP อาทิ น้ำมันหล่อลื่น มันสำปะหลังเส้น ปลาทูน่ากระป๋อง หัวเทียน เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวก และให้คำปรึกษาสำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างสูงสุด และสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

ที่มา : https://www.naewna.com/business/737438