NPLs ภายในกัมพูชายังคงสามารถจัดการได้ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ธนาคารและสถาบันการเงินรายย่อย (MFIs) ในประเทศกัมพูชา ยังคงรับมือกับสถานการณ์หนี้เสีย (NPLs) ภายในประเทศได้ ตามรายงานของ NBC ภายใต้สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในอุตสาหกรรมธนาคารและการเงินรายย่อยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 และร้อยละ 2.5 ในปี 2022 จากร้อยละ 2 และ 2.4 ตามลำดับในปีที่แล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารทั้งในแบบสกุลเงินเรียลและดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.2 และร้อยละ 10 ต่อปี ในปี 2022 จากร้อยละ 11.4 และร้อยละ 9.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั้งในสกุลเงินเรียลและดอลลาร์ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็นร้อยละ 6.8 และ 5.4 จากร้อยละ 6.2 และ 4.7 ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501298784/cambodias-npls-manageable-amid-rising-interest-rates/

“Deutsche Bank” เพิ่มการจัดสรรเงินทุนในเวียดนามเกือบ 2 เท่า กว่า 200 ล้านดอลล์

สำนักข่าว The Business Times รายงานว่า Deutsche Bank เพิ่มการจัดสรรเงินทุนในเวียดนามเกือบ 2 เท่า ทำให้เงินอัดฉีดรวมเป็นกว่า 200 ล้านดอลลาร์ Deutsche Bank กล่าวเมื่อวันจันทร์ (29 พ.ค.) ว่าการเพิ่มทุนจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธนาคารในเวียดนาม และช่วยให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้นสำหรับลูกค้า โดยสิ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากรายได้ของสาขาเอเชียแปซิฟิกของธนาคารเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเวียดนามเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญสำหรับภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ Alexander von zur Muehlen ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Deutsche Bank กล่าวว่าการลงทุนในเวียดนามครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของเราต่อการพัฒนาอย่างรวดเร็วของตลาดนี้และเส้นทางการเติบโตในระยะยาว เวียดนามเป็นตลาดเชิงกลยุทธ์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับลูกค้าของเรา การเพิ่มทุนครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถรองรับแผนการขยายธุรกิจของลูกค้าในประเทศได้ดีขึ้น และเช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจเวียดนามในวงกว้าง

อีกทั้งการพัฒนาของเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก รวมถึง Adani Group ซึ่งมีรายงานว่ากำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการลงทุนมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์ ในโครงการท่าเรือและพลังงานหมุนเวียนในประเทศ

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/41265/

เงินเฟ้อ ‘เวียดนาม’ เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 0.01%

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคของเวียดนาม (CPI) เดือนพฤษภาคม ปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.01% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 2.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากราคาอาหาร ค่าไฟฟ้าและน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานฯ ระบุว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปีนี้มีทิศทางที่ชะลอตัวลง โดยในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 4.89%, เดือน ก.พ. 4.31%, เดือน มี.ค. 3.35%, เดือน เม.ย. 2.81% และเดือนพ.ค. 2.43%

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพฤษภาคม ปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.27% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 4.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 4.83% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของดัชนีราคาผู้บริโภค 3.55%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cpi-increases-by-001-in-may/253788.vnp

‘เวียดนาม’ เผย 5 เดือนแรกของปี 66 ยอดผู้โดยสารเข้าประเทศ พุ่ง 45.5 ล้านคน

สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) เปิดเผยว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีปริมาณผู้โดยสาร รวม 45.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 37.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยจากตัวเลขข้างต้น มีชาวต่างชาติ 12 ล้านคน และคนในประเทศ 33.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 679.6% และ 33.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ ทั้งนี้ จากข้อมูตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. สายการบินเวียดนามให้บริการผู้โดยสาร รวมทั้งสิ้น 22.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 36.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจากจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดนั้น มีผู้โดยสารในประเทศ 16.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับปี 2565 และมีผู้โดยสารชาวต่างชาติ 5.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5,525.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังมีการจำกัดการเดินทางที่ยาวนานกว่า 2 ปี อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการสายการบินดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1544347/air-passenger-volume-soars-during-first-five-months.html

ความรู้สึกต่อต้านจีนพุ่งสูงขึ้นในเมียนมา หลังกระแสการประท้วงและการโจมตี

นาย ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน หารือกับนาย มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นับเป็นครั้งแรกที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนพบปะกับผู้นำรัฐบาลเมียนมา ตั้งแต่รัฐประหารในปี 2564 โดยการเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศในครั้งนี้ไม่เพียงแต่แสดงมิตรภาพระหว่างเมียนมาและจีน แต่ยังสนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งในเวทีโลก และหวังว่าเมียนมาและจีนจะคงรักษามิตรภาพ “ฉันพี่น้อง” ที่ยาวนาน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. เกิดการประท้วงในต่างประเทศ โดยชาวเมียนมาที่ชุมนุมประท้วงนอกสถานทูตจีนในลอนดอน ได้ชูป้ายที่มีข้อความว่าจีนช่วยให้กองทัพละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน รัฐบาลทหารของเมียนมาเป็นองค์กรก่อการร้าย หยุดสนับสนุนผู้ก่อการร้ายและทรัพยากรของเมียนมาไม่ใช่ของจีน นอกจากนี้ คณะประสานงานการหยุดงานประท้วง (GSCB) ซึ่งเป็นเครือข่ายของกองกำลังต่อต้านรัฐบาลเมียนมายังได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงชุมชนชาวจีนทั่วโลก ขอให้รัฐบาลจีนหยุดสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาและแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชนชาวเมียนมา

ที่มา : https://www.irrawaddy.com/news/burma/anti-china-sentiment-surges-in-myanmar-with-wave-of-protests-and-attacks.html

เกาหลีใต้ มอบเงินให้แก่ สปป.ลาว ในการพัฒนาชนบททางตอนใต้

เกาหลีใต้มอบเงินทุนสนับสนุน สปป.ลาว รวมมูลค่าประมาณ 9.4 ล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตชนบท 3 จังหวัด ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว โดยมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในชนบทและในเมือง ซึ่งโครงการนี้กำหนดเป้าหมายในหมู่บ้านนำร่องที่ได้รับการคัดเลือก 20 แห่ง ผ่านโครงการย่อย 5 โครงการ ที่มุ่งพัฒนาให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น และโครงการย่อยอีก 6 โครงการ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพในหมู่บ้านเป้าหมาย เช่น ถนนหนทาง ระบบชลประทาน ระบบน้ำประปา เป็นสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของสาธารณรัฐเกาหลี (KOICA) และกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ได้จัดพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการที่อำเภอปากซอง ในจังหวัดจำปาสัก

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten101_Korea_to_y23.php

กัมพูชาคาดญี่ปุ่นจะเป็นพันธมิตรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

ญี่ปุ่นยังคงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกัมพูชาสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต กล่าวโดย Chea Serey รองผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่น ซึ่งความร่วมมือของญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมฟินเทค และอุตสาหกรรมการเกษตรอย่าง AgriTech ที่ยังคงมีโอกาสเติบโตจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันบริษัท Soramitsu จากทางญี่ปุ่น ได้ร่วมพัฒนาสกุลเงิน “Bakong” ในการให้หบริการชำระเงินดิจิทัลที่ริเริ่มโดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา เพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมระหว่างธนาคารง่ายขึ้น และถือเป็นการลดการใช้เงินสด นอกเหนือจาก Soramitsu แล้ว บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งรวมถึง Nippon Express ซึ่งเป็นบริษัทด้านขนส่งและโลจิสติกส์, Oji Group บริษัทบรรจุภัณฑ์ และ บริษัทต่างๆ ยังได้ดำเนินกิจการในกัมพูชาและมีความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับทางการในการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501298087/japan-key-partner-in-digital-economy-drive/

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชาจ้างงานมูลค่าแตะ 3 พันล้านดอลลาร์

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 พ.ค.) ถึงอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้าภายในประเทศที่มีการจ้างงานภายในประเทศมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวไว้ในระหว่างการปราศรัยกับคนงานกว่า 19,000 คน จาก 81 โรงงาน ที่ดำเนินงานใน Royal Group Phnom Penh Special Economic Zone (Phnom Penh SEZ) โดยปัจจุบันมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ากว่า 1,326 แห่ง ในกัมพูชา มีการว่าจ้างคนงานประมาณ 8.4 แสนคน ด้านการจ่ายค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6 ดอลลาร์ต่อวัน หรือตกอยู่ที่ 200 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งค่าจ้างดังกล่าวสูงกว่าเส้นรายได้ความยากจนที่ทั่วโลกกำหนดไว้ที่ 4.7 ดอลลาร์ต่อวัน ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดต่างประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปีมีมูลค่ารวมประมาณ 7.34 พันล้านดอลลาร์ ด้าน Ith Samheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ กล่าวว่า ตลาดแรงงานของกัมพูชายังคงแข็งแกร่งเนื่องจากอัตราการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 99.3 ของแรงงานทั้งหมด ที่จำนวน 10.8 ล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501298082/garment-annual-turnover-3b-workers-income-above-poverty-line/