4 เดือนแรกของปี 2023 กัมพูชานำเข้า น้ำมัน-ก๊าซ แตะ 1.15 พันล้านดอลลาร์

การนำเข้าน้ำมันและก๊าซของกัมพูชาในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2023 อยู่ที่มูลค่า 1.15 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ปัจจุบันกัมพูชานำเข้าน้ำมันและก๊าซทั้งหมด ซึ่งยังไม่มีการผลิตและจำหน่ายภายในประเทศ เนื่องจากน้ำมันและก๊าซสำรองนอกชายฝั่งยังอยู่ในขั้นของการพัฒนา  นับตั้งแต่วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ส่งผลให้ราคาน้ำมันในกัมพูชาพุ่งสูงขึ้น ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อราคาสินค้าและบริการอื่นๆ เป็นวงกว้าง ด้านนาย Penn Sovicheat โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ระบุก่อนหน้านี้ แม้ความต้องการจะเพิ่มขึ้น แต่กัมพูชามีน้ำมันคงคลังเพียงพอต่อการบริโภคภายในท้องถิ่นอยู่ที่ 15 ถึง 20 วัน โดยไม่ต้องนำเข้า  ส่วนความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตัน ในปี 2020 เป็น 4.8 ล้านตัน ในปี 2030

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501290819/oil-and-gas-imports-reach-1-15b-in-four-months/

ช่วยฟื้นส่งออกขึ้นจากหลุม สศช.แนะรัฐบาลใหม่เร่งเจรจาการค้าเสรี

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากในปี 2565 โดย สศช.คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวได้ 2.7% ปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ 3.4% จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการค้าในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกที่คงเผชิญกับแรงกดดันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายข้อไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และแรงกดดันทางด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอนส่งผลต่อปริมาณการส่งออกและการค้าโลก ด้าน สศช.คาดว่าปริมาณการค้าโลกในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 2.1% ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 5.1% ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะหดตัวประมาณ 1% เมื่อคิดจากมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ฯ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่การส่งออกขยายตัวได้ 4.2% โดยในช่วงที่เหลือของปี 2566 รัฐบาลควรให้ความสำคัญ การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า การเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาเซียน การแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อให้สามารถส่งออกนำเข้าสินค้าได้ง่ายขึ้น

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/feature/2694876

กรุงไทย คงจีดีพีปี 66 ขยายตัว 3.4% จับตาเศรษฐกิจโลกผันผวน ลงทุนเอกชนโตต่ำ

ดร.ฉมาดนัย มากนวล และนายชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า จีดีพีไตรมาส 1/2566 ขยายตัวเร่งขึ้น 2.7% จากการส่งออกบริการและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2566 ขยายตัว 2.7%YOY หรือ เพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.9% QOQSA

ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-1293011

“สวิตเซอร์แลนด์” นำเข้ากาแฟพุ่งจากเวียดนาม

สวิตเซอร์แลนด์นำเข้ากาแฟจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และนำเข้าส่วนใหญ่มาจากประเทศบราซิล โคลอมเบีย อินเดีย คอสตาริกาและเวียดนามในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเฉพาะปริมาณการนำเข้ากาแฟจากเวียดนามที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4,820 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.6% และ 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งทางการตลาดกาแฟของเวียดนาม พบว่าสวิตเซอร์แลนด์มีสัดส่วนการนำเข้ากาแฟจากเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 8.56% ในไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ขึ้นมาอยู่ที่ 9.17% ในไตรมาสแรกของปีนี้ นอกจากนี้ เวียดนามส่งออกกาแฟไปยังต่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 อยู่ที่ 552,610 ตัน ทำรายได้ราว 1.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะตลาดอินโดนีเซียและแอลจีเรียที่มีการเติบโตเป็นตัวเลขสามหลักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 209% และ 126.8% ตามลำดับ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/switzerland-increases-coffee-imports-from-vietnam-post1020488.vov

‘สภาพัฒน์‘ แนะรัฐบาลใหม่เร่งแก้ส่งออก-ปากท้อง โชว์จีดีพีไตรมาสแรกโต 2.7%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยถึง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของไทยในไตรมาส1/2566 ขยายตัว 2.7% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.4% โดยปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 5.4% การลงทุนรวมขยายตัว 3.1% เป็นการลงทุนภาครัฐ 4.7% และการลงทุนภาคเอกชน 2.6%  ภาคเกษตรขยายตัว 7.2% ภาคบริการขยายตัว 5.2% ทั้งนี้ นายดนุชา กล่าวต่อว่า หลังจากการเลือกตั้งนั้นต้องให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย รวมทั้งเร่งการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งรักษาบรรยากาศหลังการเลือกตั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นต่อเนื่องในการเดินหน้าเศรษฐกิจไทยต่อไป สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ พร้อมทั้งเร่งรัดการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดสินค้าที่ขยายตัวได้ดีและการค้าชายแดน การดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมาย

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/378743/

“ภาคการลงทุนจากต่างประเทศ” – เครื่องยนต์สำคัญของการเติบโตทางศก.เวียดนาม

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน กล่าวว่าจำนวนโครงการและเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ผลักดันให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม และด้วยนโยบายที่เปิดกว้างและบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวยในการทำธุรกิจ ตลอดจนเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ ทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำและประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนี้ ตามข้อมูล ณ เดือน เม.ย. พบว่าเวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศกว่า 446 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่เวียดนามยังคงเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่ได้รับการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุดในปี 2563 และสิ่งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดทรัพยากรจากต่างประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-likely-to-be-impacted-by-eu-carbon-tax-post1017645.vov