ชายแดนเมียวดี-แม่สอด ต้องมีใบรับรอง UID ในการเข้า/ออก

กรมตรวจคนเข้าเมืองได้ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม การเข้าและออกบริเวณชายแดนเมียวดี-แม่สอด ต้องใช้บัตร UID เท่านั้น โดยมาตรการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อติดตามจำนวนบุคคลที่ข้ามชายแดนอย่างแม่นยำ และเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้คนโดยใช้บัตรประจำตัวปลอมหรือล้าสมัย อย่างไรก็ดี แผนการบังคับใช้บัตร UID สำหรับการข้ามชายแดนใช้ไม่เพียงแต่ใช้กับชายแดนประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการข้ามแดนจากประเทศจีนและอินเดียด้วย โดยที่บัตร UID คือเอกสารที่รวบรวมและบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางชีวภาพของบุคคลที่อายุเกิน 10 ปี ทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นใบรับรองประจำตัวประชาชนที่มีหมายเลข 10 หลัก และบริหารจัดการโดยกรมตรวจคนเข้าเมืองและประชากรที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myawady-mae-sot-border-requires-uid-certificate-for-entry-exit/#article-title

การท่าเรือเมียนมา : เรือคอนเทนเนอร์ 52 ลำมีกำหนดเทียบท่าในเดือนพฤษภาคม

การท่าเรือเมียนมาประกาศว่า เรือคอนเทนเนอร์จำนวน 52 ลำจะเทียบท่าที่ท่าเรือย่างกุ้งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ประกอบด้วยเรือคอนเทนเนอร์จำนวน 7 ลำดำเนินการโดยสายเรือ Maersk A/S Line, 6 ลำ โดยสายเรือ Cosco Shipping Line และ Samudera Shipping Line, 5 ลำ โดยสายเรือ MSC Line และ SITC Shipping Line, 4 ลำ โดยสายเรือ Ti2 Container Line, 3 ลำ โดยสายเรือ BLPL Shipping Line, CMA CGM ONE Line และ RCL Line และ 2 ลำโดยสายเรือ Evergreen Line, IAL Shipping Line และ PIL Line อย่างไรก็ดี การท่าเรือเมียนมาระบุว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเรือคอนเทนเนอร์เข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือย่างกุ้ง ในเดือนมกราคม มี 49 ลำ ในเดือนกุมภาพันธ์ 53 ลำ ในเดือนมีนาคม 55 ลำ และในเดือนเมษายน 50 ลำ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanma-port-authority-52-container-vessels-scheduled-to-call-in-may/#article-title

นโยบายด้านการลงทุนฉบับใหม่ของกัมพูชา หนุนระดับการลงทุนใหม่ภายในประเทศ

นายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต กล่าวว่า นโยบายการลงทุนฉบับใหม่ของรัฐบาลกัมพูชาคือการรักษาการลงทุนที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการลงทุนใหม่ด้วย โดยได้กล่าวไว้ในแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ (28 เม.ย.) ระหว่างการประชุมกับคณะผู้แทนเศรษฐกิจนอกระบบมากกว่า 5,000 คน ณ OCIC กรุงพนมเปญ ซึ่งในอดีต กัมพูชามีแนวทางในการผลักดันภาคเอกชน องค์กร และโรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะภาคการธนาคาร การท่องเที่ยว และการเกษตร แต่ด้วยการมีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนยังกัมพูชาเพิ่มขึ้น ทางการจึงต้องพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้อุตสาหกรรมในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501479676/cambodias-investment-policy-preserves-existing-investments-while-fostering-new-ones-peace-and-stability-are-crucial-pm-says/

การส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 18.4%

การส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 มีมูลค่ารวมถึง 365 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นยังทำให้มั่นใจได้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายปลายทางด้านการส่งออกของกัมพูชาที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของกัมพูชาในอนาคต ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 5.8 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา สำหรับปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 5 ของกัมพูชา โดยมีมมูลค่าการค้าทวิภาคีสูงถึง 507 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้กัมพูชาคงเกินดุลการค้ากับญี่ปุ่นราว 223 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษและอุปกรณ์สำนักงาน และเครื่องหนัง ด้านสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501479402/cambodias-exports-to-japan-rise-18-4/

กษัตริย์บรูไน-รัฐบาลไทย หารือความร่วมมือหลายด้าน พร้อมลงนาม MOU 2 ฉบับ

วันที่ 29 เมษายน 2567 สมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม และรัฐบาลไทย ออกถ้อยแถลงร่วม พร้อมทั้งลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) 2 ฉบับ ได้แก่  (1) บันทึกความเข้าใจระหว่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของไทยและสำนักงานการลงทุนบรูไนฯ (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยวแห่งบรูไนดารุสซาลาม ทั้งนี้ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม มีวาระระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2567

ที่มา : https://www.prachachat.net/world-news/news-1552771

‘เวียดนาม’ เผยดัชนี CPI ปรับขึ้น 4.4% เหตุราคาน้ำมันพุ่ง

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน เม.ย.67 เพิ่มขึ้น 0.07% และเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องมาจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในประเทศที่เพิ่มขึ้น 4.78% และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 2.01% ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งและบริการ เพิ่มขึ้น 1.95% โดยเฉพาะค่าขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก 10.42% มาจากความต้องการเดินทางแออัดในช่วงวันหยุดยาว 5 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. ในขณะเดียวกัน ราคายาและค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ เพิ่มขึ้น 0.92% เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งจากการติดเชื้อโรคปอดบวม อีสุกอีใสและโรคมือเท้าปากเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนต้องซื้อยา เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 0.17% จากเดือนก่อน และ 2.79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/cpi-in-april-rises-44-year-on-year-on-petroleum-price-hike-post1092103.vov

‘เวียดนาม’ ส่งออก เม.ย. พุ่ง 10.6% ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัว 6.3%

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในเดือน เม.ย. จะขยายตัวได้ประมาณ 10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่า 30.94 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะขยายตัว 19.9% มูลค่า 30.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าราว 680 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจเวียดนาม พบว่าผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัว 6.3% ต่อปี ตามมาด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 4.4% จากปีก่อน และยอดค้าปลีก เพิ่มขึ้น 9.0% ต่อปี

นอกจากนี้ เวียดนามตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับปี 2567 จะขยายตัว 6.5% ถือว่าขยายตัวดีกว่าปี 2566 ที่ขยายตัว 5.05%

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/business/vietnam-april-exports-106-y-y-industrial-output-63-4299461

ญี่ปุ่นสนับสนุงบปรับปรุงถนน-สะพานเส้นทางหมายเลข 13, 11 และ R2 ใน สปป.ลาว

รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ สปป.ลาว ในการซื้ออุปกรณ์และยานพาหนะมูลค่า 1,500 ล้านเยนญี่ปุ่น หรือประมาณ 9.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซ่อมแซมถนนและสะพานในพื้นที่ยุทธศาสตร์ เงินช่วยเหลือนี้จะนำไปใช้ในการปรับปรุงถนนและสะพานในเส้นทางหมายเลข 13, 11 และ R2 ทางตอนเหนือของลาวและถนนอื่นๆ ที่เป็นเส้นทางเชื่อมโยงที่สำคัญไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ได้กล่าวระหว่างพิธีลงนามฯ ว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญต่อความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจของทุกประเทศ รัฐบาล สปป.ลาว ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนน เนื่องจากเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของประเทศในกรณีที่ไม่มีท่าเรือทางทะเล ซึ่งจะส่งเสริมการขนส่ง การค้า และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศอย่างมาก ตลอดจนกระตุ้นการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของลาว ทำให้ชาวลาวสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_80_Japan_y24.php