การค้าระหว่าง กัมพูชา-ไทย เติบโตกว่า 26%

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 26.46 หรือคิดเป็นมูลค่า 2.781 พันล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 2.199 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 559 ล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การส่งออกของไทยมายังกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.222 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.85 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ สินค้าเกษตร ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ รถยนต์ เชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งกัมพูชายังคงขาดดุลการค้ากับไทยอยู่ที่มูลค่า 1.663 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเกือบ 4 เท่า ของมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501139113/kingdom-thailand-trade-goes-up-over-26/

“เวียดนาม” เผยยอดส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP มีมูลค่า 31 พันล้านดอลลาร์

สถานการณ์การส่งออกของเวียดนามในกลุ่มประเทศสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้ว่าเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยจากตัวเลขการส่งออกของเวียดนามไปยังสมาชิก CPTPP ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 21.43% เมื่อเทียบปีต่อปี ด้วยมูลค่า 31.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (14.48% ของการส่งออกรวม) ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่านับตั้งแต่ CPTPP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นที่เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีมูลค่า 13.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.39%YoY รองลงมาแคนาดาและมาเลเซีย เป็นต้น

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-exports-to-cptpp-members-amount-to-us31-billion/

 

“เวียดนาม” กวาด FDI 16.8 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้

กรมส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ (FIA) กระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนาม (MPI) เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 20 ส.ค. พบว่าเวียดนามมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประมาณ 16.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 12.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และมูลค่าของทุนจดทะเบียนใหม่ปรับตัวลดลงอย่างมีข้อน่าสังเกต 43.9% คิดเป็นมูลค่า 6.35 พันล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกัน มูลค่าการปรับเพิ่มเงินทุนในโครงการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อยู่ที่ 7.5 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 50.7% และการเข้าซื้อหุ้นกิจการ 2.9 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนที่น่าสนใจ แต่สถานการณ์ทั่วโลกในปัจจุบัน อาทิ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและภาวะเงินเฟ้อ ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการไหลเข้าของเม็ดเงินทุนจากต่างประเทศในเวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-attracts-nearly-16-8-bln-usd-in-fdi-in-eight-months-2053966.html

น้ำมันปาล์มขวดลดอีก 2-3 บาท แต่ผลิตภัณฑ์นมยังไม่ขึ้นราคา

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ราคาปาล์มขวดเริ่มทยอยลดลงตามต้นทุนแล้ว ส่วนกรณีที่ร้านสะดวกซื้อ ยังขายสูงถึงขวดละ 59-60 บาท น่าจะเป็นสินค้าสต๊อกเก่า สำหรับผลิตภัณฑ์นมจะปรับขึ้นราคาขายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบกิโลกรัม (กก.) ละ 1.50 บาท มาเป็น กก.ละ 20.50 บาทหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตยื่น เรื่องขอปรับราคาเข้ามา แต่หากยื่นเข้ามาจะพิจารณาให้เป็นรายผู้ผลิตรายผลิตภัณฑ์ เพราะต้นทุนแต่ละรายไม่เท่ากัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่หากพิจารณาแล้ว พบว่าต้นทุนสูงขึ้นเล็กน้อย จะขอความร่วมมือให้ตรึงราคาขายไว้ก่อน เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2484855

คาด RCEP FTA ส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

คาดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรี กัมพูชา-จีน (CCFTA) จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ด้าน Bun Chanthy ปลัดกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (MoC) ได้กล่าวว่าข้อตกลงการค้าเสรีทั้งสองฉบับข้างต้น จะทำให้คู่ค้าโดยเฉพาะจีนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของกัมพูชาได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และข้าวโพด เป็นต้น ในขณะที่รายงานของ MoC ยังได้รายงานอีกว่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาไปยังสมาชิก RCEP มีมูลค่ารวมถึง 3.28 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากมูลค่า 2.99 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในช่วง มกราคม-มิถุนายน จุดหมายปลายทางสำคัญ 3 อันดับแรกของกัมพูชา ได้แก่ เวียดนามมูลค่าการส่งออก 1.17 พันล้านดอลลาร์, จีน 612 ล้านดอลลาร์ และ ญี่ปุ่น  542 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501138613/rcep-cambodia-china-fta-significantly-contribute-to-boosting-cambodias-economy/

คาด! การพัฒนาถนนสาย NR67 ส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว กัมพูชา-ไทย

การพัฒนาถนนแห่งชาติหมายเลข 67 (NR67) ซึ่งเชื่อมระหว่างกัมพูชาและไทย ในช่วงรอยต่อของอำเภอหลงแวง อุดรมีชัย และช่องสะงำ ของกัมพูชา โดยเชื่อมกับเขตอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนระหว่างกัน ตามรายงานของรัฐบาลกัมพูชาและไทย ที่ได้ทำการตกลงพัฒนาถนนสาย NR67 ด้านบางกอกโพสต์รายงานว่ารองโฆษกรัฐบาล ไตรศุลี ตัยศรานากุล กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีของไทยได้อนุมัติข้อเสนอเงินกู้ให้แก่กัมพูชาจำนวน 983 ล้านบาท เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 ส.ค.) เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างถนนเส้นนี้ นอกจากนี้ยังจะสร้างการเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกของประเทศไทย (EEC) ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501138219/nr67-development-to-boost-cambodia-thailand-trade-tourism/

รัฐบาลมั่นใจศก.โต3.5% ส่งออกพุ่งท่องเที่ยวฟื้น-เก็บภาษีทะลุเป้า

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลมั่นใจเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ยังขยายตัวต่อเนื่อง และจีดีพีทั้งปี 2565 มีโอกาสขยายตัว 3.5% เนื่องจากปัจจัยบวกจาก การท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นตัวชูโรงขณะที่การจัดเก็บรายได้ 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ’65 ยอดเงินกว่า 2.03 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท หรือ 5.5% โดยกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ 1.67 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2.06 แสนล้านบาท หรือ 14.1% กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ 4.28 แสนล้านบาทต่ำกว่าประมาณการ 6.89 หมื่นล้านบาท หรือ 13.9% เนื่องจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ส่วนกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ 8.99 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6.38 พันล้านบาท หรือ 7.6%

ที่มา : https://www.naewna.com/business/675763

“เวียดนาม” เผยภาคเครื่องนุ่งห่ม จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน FDI เหตุบรรลุเป้าส่งออก

ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในชุมชน มีความต้องการเม็ดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าสู่กระบวนการผลิตผ้า เส้นด้ายและวัตถุดิบอื่นๆ เนื่องจากธุรกิจต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านการส่งออกจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยจากข้อมูลของกระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีจำนวนโครงการ FDI ทั้งสิ้น 2,787 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 31.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ 18 พ.ค.) ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม กล่าวว่าโครงการ FDI มีส่วนร่วมในการเพิ่มกำลังการผลิตและขนาดการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออก จะพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 มาอยู่ที่ 40.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าการส่งออกรวม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/garment-sector-requires-greater-fdi-for-export-target-fulfilment-post965641.vov