เมียนมาส่งออกข้าวโพดไปไทย ลดฮวบ !

นาย U Aye Chan Aung ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดของเมียนมา กล่าวว่า การส่งออกข้าวโพดไปไทยลดลงอย่างมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะสามารถส่งออกข้าวโพดได้ 150,000 ตันต่อเดือน แต่พบว่าการส่งออกเมื่อเดือนก.ค.2565 ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วถึง 30%  ซึ่งเกิดจากการอ่อนค่าของเงินจัตจาก 1,850 จัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 2,500 จัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและการค้าที่ลดลงอย่างมาก เพราะเงินจัตที่อ่อนค่าจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ สูงขึ้น อีกทั้งปัญหาขั้นตอนทางกฎหมายและกฎระเบียบที่ยุ่งยากและซับซ้อน (red tape) ในการออกใบอนุญาตส่งออกข้าวโพดมีความล่าช้า ส่งผลให้มีสต็อกข้าวโพดในตลาดในประเทศตกค้างเป็นจำนวนมาก  ปัจจุบันราคาข้าวโพดอยู่ที่ประมาณ 800-820 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ในตลาดย่างกุ้ง ที่ผ่านมาไทยให้ไฟเขียวการนำเข้าข้าวโพดภายใต้ภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ (แบบ Form-D) ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. ถึง 31 ส.ค.2565 อย่างไรก็ตาม ไทยได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสูงสุด 73% เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดของไทย โดยในปีงบประมาณ 2563-2564  เมียนมาส่งออกข้าวโพด 2.3 ล้านตันไปยังต่างประเทศ ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังไทย และบางส่วนจะถูกส่งออกไปยังจีน อินเดีย และเวียดนาม

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/corn-exports-to-thailand-plummet/#article-title

สปป.ลาว คาดสถานการณ์น้ำมันใกล้กลับมาสู่ภาวะปกติ

ผู้อยู่อาศัยภายในจังหวัดเวียงจันทน์ มีความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการขาดแคลนเชื้อเพลิง โดยสถานีบริการน้ำมันหลายแห่งในเมืองถูกปิดตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากสต็อกน้ำขาดแคลน แต่อย่างไรก็ตามภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ให้ความมั่นใจว่าเร็วๆ นี้ สถานการณ์ทางด้านน้ำมันเชื้อเพลิงภายในจังหวัดจะกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งเจรจากับสมาคมเชื้อเพลิงและก๊าซแห่ง สปป.ลาว เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าเชื้อเพลิงจากแหล่งอื่น เนื่องจากคาดว่าสต็อกในปัจจุบันจะหมดลงภายในสิ้นเดือนนี้ และหวังว่าการนำเข้าเชื้อเพลิงจะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลใช้มาตรการรุนแรงเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ช่วยป้องกันไม่ให้ค่าเงินกีบมีมูลค่าลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยรัฐบาลได้พยายามลดต้นทุนการขนส่งโดยการลดค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้กับกองทุนบำรุงรักษาถนน เช่นเดียวกับการลดภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่จ่ายโดยธุรกิจ เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าโดยภาพรวมสูงขึ้นไปมากกว่านี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Association149.php

กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังจีนมูลค่า 89 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี

กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณ 169,766 ตัน ไปยังจีนในช่วง 7 เดือนแรกของปี สร้างรายได้เข้าประเทศ 89 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ครองสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 48.3 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด ซึ่งกัมพูชาคาดหวังเป็นอย่างมากที่จะส่งออกข้าวไปยังจีนมากขึ้น ผ่านความตกลงการค้าเสรี RCEP โดยนอกจากการส่งออกแล้ว ทางการกัมพูชายังคาดหวังที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ รวมถึงในอุตสาหกรรมการผลิตข้าว เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปยังประเทศกลุ่มสมาชิก RCEP ซึ่งตามรายงานของ CRF กัมพูชาส่งออกข้าวสารทั้งหมดทั้งสิ้น 350,902 ตัน ไปยัง 56 ประเทศทั่วโลก ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบเป็นรายปี สร้างรายได้รวม 218 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501125411/cambodia-earns-89-million-from-milled-rice-export-to-china-in-jan-july/

สินเชื่อเพื่อการบริโภคกัมพูชาขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2

สินเชื่อเพื่อการผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานโดยเครดิตบูโรกัมพูชา (CBC) ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 คำขอสินเชื่อเพื่อการผู้บริโภคลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ยอดขอสมัครบัตรเครดิตปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วร้อยละ 23 โดยในปัจจุบันจำนวนบัญชีสินเชื่อรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.41 หรือคิดเป็นจำนวนบัญชีประมาณ 1.43 ล้านบัญชี ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.28 สู่มูลค่า 13.03 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงไตรมาส 2 ของปี นอกจากนี้ ลูกค้าโดยส่วนใหญ่มีบัญชีสินเชื่อผูกกับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 71.72 ส่วนที่เหลือร้อยละ 28.28 มีการเปิดบัญชีกับสถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501125021/consumer-credit-performance-strong-in-second-quarter/

ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาของ “อาเซียน”

สํานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 หรือ “แอมโร” องค์กรวิชาการอิสระ ที่ตั้งขึ้นตามกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้เผยแพร่ข้อมูลออกมาเมื่อเดือน ก.ค. 2022 คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของชาติสมาชิกอาเซียนในปีนี้น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.2 โดยประเทศที่มีภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในกลุ่มอาเซียนได้แก่ สปป.ลาว เงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันในสิงคโปร์เมื่อเดือน พ.ค. สูงขึ้นเกือบ 1 ใน 5 ของระดับราคาในช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน โดยในไทยราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเกือบ 1 ใน 3 ส่วนในฟิลิปปินส์ ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นถึงร้อยละ 86 ลักษณะคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นกับธัญพืชทั้งหลายที่ราคาถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก เพราะภาวะขาดแคลนในระดับโลก บวกกับต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อในเอเชียไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว กระทั่งอาจถึงจุดสูงสุดและเริ่มต้นลดระดับลงแล้วด้วยซ้ำ

ที่มา : https://www.prachachat.net/world-news/news-997137

“เวียดนาม” ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

ตามข้อมูลหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม (FIA) เปิดเผยตัวเลขเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อยู่ที่ 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.5% ในแง่ของจำนวนโครงการ และ 48.2% ในแง่ของเงินทุน อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มในทิศทางเชิงบวกต่อการไหลเข้าของเงินทุนไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การปรับเพิ่มเงินทุนที่สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ เนื่องมาจากความตึงเครียดทางการเมืองและการค้า แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในด้านเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนาม

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11739302-vietnam-remains-a-safe-destination-for-foreign-investors.html

“เวียดนาม” เผยยอดธุรกิจเลิกกิจการพุ่ง หลังเผชิญการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 4

กระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม (MPI) เปิดเผยว่าจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือนก.ค. 65 มีจำนวน 94,600 ราย เพิ่มขึ้นราว 15,000 ราย จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ธุรกิจหยุดกิจการชั่วคราว มีจำนวน 56,000 ราย เพิ่มขึ้น 39.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่บริษัทอื่นๆ 28,200 รายรอการเลิกกิจการ ทั้งนี้ หากพิจารณาภาพรวมจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศในช่วง 7 เดือนแรกของปีที่แล้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 80,000 ราย เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบเป็นรายปี สาเหตุสำคัญมาจากการต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ มองว่าการปิดกิจการ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการปิดกิจการบางส่วน เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของโควิดและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/more-businesses-exit-market-after-fourth-covid-wave/

เดือนเม.ย.-ก.ค.65 เมียนมาส่งออกข้าวไปแล้วกว่า 733,000 ตัน สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) เผย 4 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ (เม.ย.-ก.ค.2565) เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักจำนวน 733,098 ตัน โดยมีรายได้ประมาณ 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังพบว่าการส่งออกในเขตชายแดนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วสาเหตุความล่าช้าเกิดจากความเข้มงวดของชายแดนจีน ปัจจุบันมีการส่งออกข้าวและข้าวหักมากกว่า 10,000 ถุง ผ่านชายแดนมูเซไปยังจีนทุกวัน ส่วนใหญ่เมียนมาส่งออกข้าวไปยัง 20 ประเทศ เช่น จีน (92,622 ตัน) และฟิลิปปินส์ (91,374 ตัน) เป็นต้น โดยราคาพันธุ์ข้าวขาวอยู่ที่ประมาณ 325-360 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน และพบว่าราคาข้าวของเมียนมาค่อนข้างต่ำกว่าคู่แข่งอย่างไทยและเวียดนาม ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมามีรายได้ถึง 700 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ จากการส่งออกข้าว 2 ล้านตันไปยังต่างประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-249-mln-worth-of-over-733000-mt-of-rice-in-past-4-months/