ประเมินสถานะ SMEs จากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ COVID-19 ปี 2563

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจประเมินสถานะ SMEs จากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ COVID-19 ระหว่างวันที่ 11-18 กันยายน 2563 ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในระดับมาก อีกทั้งหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจะส่งผลให้กิจการต้องปิดตัวลงภายในระยะเวลา 5 เดือน

ทั้งนี้ ประเด็นแนวทางการปรับตัวของธุรกิจ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่าไม่ปรับปรุงองค์กรหรือแนวทางการบริหารงานใหม่ เนื่องจากไม่รู้จะปรับปรุงอะไร ไม่มีเงินทุนในการปรับปรุง เป็นต้น

ข้อเสนอต่อภาครัฐฯ ในการเร่งดำเนินแก้ไขปัญหานั้น ต้องการให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการสนับสนุนการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และมาตรการช่วยเหลือด้านการลดหย่อนภาษี

ที่มา: https://bit.ly/3oIKaJQ

EIC CLMV Outlook Q4/2020

เศรษฐกิจ CLMV ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 หลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการ lockdown ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนปี 2020 แม้กัมพูชาและลาวสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จ แต่เมียนมาและเวียดนามกลับเผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 โดยเวียดนามกลับมาประกาศใช้มาตรการ lockdown ในบางพื้นที่และสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม ขณะที่เมียนมายังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV ยังคงฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง โดยระดับการฟื้นตัวที่แตกต่างกันมากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวแบบช้า ๆ และไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจโลก อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น ระดับการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และประสิทธิภาพของมาตรการรองรับ รวมทั้งปัจจัยเฉพาะในรายประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ เศรษฐกิจเวียดนามกลับมาฟื้นตัวได้ดีด้วยแรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง ขณะที่การระบาดของ COVID-19 และการถูกเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA บางส่วนจะยิ่งซ้ำเติมการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศในกัมพูชา ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจลาวยังเผชิญแรงกดดันจากข้อจำกัดในการทำนโยบายการคลัง (fiscal space) และความเสี่ยงที่สูงขึ้นในประเด็นการผิดชำระหนี้ สำหรับเมียนมา การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข้มงวดขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในปีงบประมาณ 2020/2021

  • กัมพูชา  อุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังอ่อนแอจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา
  • สปป.ลาว ข้อจำกัดในด้านการทำนโยบายการคลังและความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นความท้าทายหลัก
  • เมียนมา การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข็มงวดขึ้นจะส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมียนมา
  • เวียดนาม แม้เผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 แต่เศรษฐกิจเวียดนามยังขยายตัวได้ดี จากการควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็วและการส่งออกที่แข็งแกร่ง

ที่มา : SCB EIC

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7175

เวียดนามส่งออกพุ่ง ดันเศรษฐกิจโตแซงเพื่อนบ้านใน ASEAN

โดย Marketeer

ทัพปัจจัยบวกหนุนเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้โตจนประเทศเพื่อนบ้านต้องอิจฉา โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจเวียดนามจะโต 2.4% หลังสามารถสกัดการระบาดของโควิด-19 ได้เร็ว และยอดส่งออกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ต่างจากชาติสมาชิก ASEAN ที่ยังไม่ฟื้นจากวิกฤตโควิด แม้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์และปิดประเทศ ไม่ต่างจากเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ ASEAN และอีกหลายประเทศทั่วโลก

ตามรายงานล่าสุดของ IMF ระบุว่า เวียดนามเป็นเพียงประเทศเดียวใน ASEAN ที่เศรษฐกิจกลับสู่ขาขึ้น โดยปีนี้เศรษฐกิจจะโต 2.4% และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะโต 1.6% แม้เป็นอัตราที่น้อยแต่ยังดีกว่าสิงคโปร์กับมาเลเซียที่จะหดตัว 6% และไทยที่ยัง ‘’ป่วยหนัก’’ GDP ถดถอยถึง 7.1%

การกลับสู่ขาขึ้นของ เศรษฐกิจเวียดนาม มาจากหลายปัจจัย โดยนอกจากสกัดวิกฤตโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีแรงหนุนจากตัวเลขส่งออก ไตรมาส 3 ปีนี้การส่งออกโต 11% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สินค้า Made in Vietnam ที่ได้เป็น ’พระเอก’ ในไตรมาสที่ผ่านมาคือคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก ที่ยอดส่งออกโต 20% หลังเกิดการระบาดรอบใหม่จนหลายประเทศต้องกลับมาทำงานและเรียนที่บ้านกันอีกครั้ง ทั้งนี้ เวียดนามยังเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งผลทางบวก โดยโรงงานในเวียดนามของ Foxconn และ Luxshare ที่ผลิต Smartphone และ Device เช่น ฟูฟัง ป้อนให้ Apple และ Samsung ต่างกลับมาเดินเครื่องผลิตเต็มตัว

ปัจจัยบวกทั้งหมดจะทำให้ปี 2021 เศรษฐกิจของเวียดนามขยายตัว 6.5% โดยแน่นอนว่าเมืองที่เงินลงทุนจากต่างชาติจะสะพัดและเงินในกระเป๋าของประชาชนจะเพิ่มขึ้นมากสุดคือ “Bac Giang” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://marketeeronline.co/archives/198699

โควิดทุบลงทุน ‘เมียนมา’ คลายมนต์ขลัง

การที่เมียนมาเปิดประเทศได้กลายเป็นขุมทรัพย์ที่คอยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก แต่ ณ เวลานี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ถือว่ามาแรงและเร็วที่สุดในอาเซียน โดยในช่วงเพียงชั่วเวลาไม่กี่สัปดาห์ยอดจำนวนผู้ติดเชื้อ “เมียนมา” ขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ซึ่งส่งผลต่ออนาคตการเป็นแหล่งลงทุน ความเลวร้ายครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนมีการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 นี้ ยังคงเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไปท่ามกลางอนาคตเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ความมั่นคงทางการเงินและเสถียรภาพทางการคลังยังอยู่จุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง

ล่าสุดธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจขยายตัวลดลงเหลือ 1% เปรียบเทียบกับกับเดือนเมษายนที่อาจจะขยายตัว 4.2% และจะฟื้นตัวในปี 2564 ที่สำคัญกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนโดยต่างจากต่างชาติ (FDI) ที่อาจต้องชะลอตัวลง ในเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 134,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 99,904 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงไฟฟ้า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และโรงงานอุตสาหกรรม แต่จากเกิดภาวะดีมานด์-ซัพพลายช็อค และการระบาดของโควิด 19 ที่ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง

ก่อนหน้านี้ในรายงานเรื่องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลก (WorldBank) ประจำปี 2563 ได้จัดอันดับให้เมียนมาอยู่ที่อันดับ 165 จากทั้งหมด 190 ประเทศ แสดงถึงความน่าลงทุนน้อยที่สุดในอาเซียน จากปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นในระดับสูงและกฎระเบียบที่ยุ่งยาก ความตึงเครียดทั้งจากสถานการณ์โควิด 19 และแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ทำให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งวางนโยบายเพื่อดึงดูดทุนต่างชาติที่อาจจะหันเหไปประเทศเพื่อบ้านอย่าง ประเทศเวียดนาม ไทย หรือกัมพูชา

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว ยังมีความได้เปรียบในการเป็นแหล่งลงทุนใหม่ สามารถเติบโตได้อีกมาก ทั้งความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบ ต้นทุนแรงงานต่ำ เพียงแต่สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติต้องการ คือการสร้างระบบกฎหมายที่เป็นมาตรฐาน การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจสร้างบรรยากาศการลงทุน ทั้งเรื่องการจัดตั้งธุรกิจที่สะดวกและรวดเร็ว การจ้างงาน การหาลูกค้า และนักลงทุนต่างก็คาดหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมหากเข้าไปลงทุนอีกด้วย

ที่มา: https://www.bangkokbanksme.com/en/covid-affects-myanmar-investment

เจาะลึกความสามารถในการแข่งขันของเวียดนาม

โดย ธนวัฒน์ พนิตพงศ์ศรี และ ณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล I FAQ Issue 178 I Bank of Thailand

เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งด้านศักยภาพการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่โดดเด่น ความได้เปรียบในด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำ กำลังซื้อในประเทศที่เติบโตต่อเนื่องและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน ทิศทางการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่องของเวียดนาม ส่วนหนึ่งเกิดจากการเน้นส่งเสริมพัฒนาในอุตสาหกรรมที่ประเทศมีความถนัด ส่งผลให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น

เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างน่าจับตามองในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก สะท้อนจาก GDP ที่ขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 6.7 ต่อปี1 ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ตั้งแต่การเริ่มใช้นโยบาย Doi Moi ในปี 2529 เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

โครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามโดยสังเขป : เศรษฐกิจเวียดนามถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ สะท้อนจากสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของ GDP โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 7.4 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากกำลังซื้อในประเทศที่ขยายตัวตามค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่แรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกประการคือการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีทิศทางขยายตัวดีจาก (1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ (2) การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้า สอดคล้องกับการขยายตัวของสังคมเมือง และ (3) การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งส่งผลให้เวียดนามสามารถเกินดุลการค้าได้ในระยะหลัง

โครงสร้างตลาดส่งออกและสินค้าส่งออกหลัก : โครงสร้างตลาดส่งออกของเวียดนามกระจุกตัวอยู่ใน 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คิดเป็นร้อยละ 67 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด ในปี 2562 จากร้อยละ 58 ในปี 2552 ขณะที่ ในมิติของกลุ่มสินค้า สินค้าส่งออกกระจุกตัว ได้แก่ (1) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ (2) เครื่องนุ่งห่ม และ (3) รองเท้า คิดเป็นร้อยละ 42 11 และ 8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดในปี 2562 ตามลำดับ

ความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย : ในช่วงที่ผ่านมา ระดับการค้าขายของไทยกับเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าการค้าที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.7 ต่อปี ในช่วงปี 2558 – 2562 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับเวียดนามมาโดยตลอด

ไทยและเวียดนามมีความเป็นคู่ค้ามากขึ้นชัดเจน สะท้อนจากระดับการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าหลักของไทยจากเวียดนามคือโทรศัพท์มือถือ ขณะที่สินค้านำเข้าหลักของเวียดนามจากไทยคือรถยนต์

การเป็นคู่แข่งระหว่างไทยและเวียดนาม แม้ว่าไทยและเวียดนามมีความสัมพันธ์ทางการค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทั้งสองประเทศก็เป็นคู่แข่งทางการค้าเช่นกัน โดยการส่งออกของเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในบางหมวดสินค้าอย่างชัดเจน เช่น ระหว่างปี 2552 – 2561 ไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดในหมวดรองเท้า  ให้แก่เวียดนามใน 3 ประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดในหมวดสิ่งทอเพิ่มขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ปัจจุบันและปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม : ก่อนวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2550 – 2551 FDI ของเวียดนามส่วนใหญ่อยู่ในการผลิตน้ามันดิบ และการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ สะท้อนถึงการลงทุนที่เน้นเฉพาะข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานต่ำ

อย่างไรก็ตาม หลังช่วงปี 2552 เป็นต้นมา FDI ในเวียดนามมีความหลากหลาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2562 เวียดนามมีมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงสุทธิสะสมกว่า 161,111 ดอลลาร์ สรอ อยู่ในการผลิตร้อยละ 59 ในอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 16 และในการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 7 โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งการลงทุนของเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตได้ดี สะท้อนจากข้อมูลมูลค่าการลงทุนที่ไหลเข้าเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อ่านต่อ : https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/Pages/FAQ178.aspx

ข้อกำหนดกฎหมายการลงทุนแฟรนไชส์ในเวียดนาม

โดย SME Go Inter

ตลาดแฟรนไชส์ในเวียดนามยังคงเป็นที่น่าศึกษา ติดตามเพื่อขยายฐานการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจสินค้าบริการอาหารและเครื่องดื่มแบบแฟรนไชส์ที่ไปได้ดีและโตแรง ขณะที่รูปแบบการนำแฟรนไชส์จากต่างประเทศมาเปิดดำเนินการในเวียดนามมีรูปแบบ ที่หลากหลายทั้งแบบสัญญา แฟรนไชส์โดยตรง (Direct franchising) ที่มีการพัฒนาให้สิทธิ์ในการเปิดกิจการได้มากกว่าหนึ่งแห่ง ตัวอย่างเช่น รูปแบบแฟรนไชส์ที่มีการให้สิทธิ์ในการเปิดดำเนินธุรกิจได้หลายสาขา (multi-unit) หรือการให้สิทธิ์แบบ Development agreements รวมทั้งแบบสัญญาแฟรนไชส์หลัก (Master franchise agreements) เป็นต้น

ดังนั้นการเข้าไปเล่นตลาดแฟรนไชส์ในเวียดนาม จะต้องดำเนินกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และกฎระเบียบข้อบังคับของกฎหมายการลงทุนแฟรนไชส์ในเวียดนาม เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. ควรทำการสำรวจตลาดก่อนที่จะมีการตั้งราคาของผลิตภัณฑ์และค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์
  2. เลือกผลิตภัณฑ์/บริการที่มีศักยภาพหรือเป็นที่นิยม แม้ว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะยังคงเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
  3. เน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีการเติบโตสูง
  4. เข้าร่วมงานแสดงสินค้าหรือเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ สร้างความรับรู้และจดจำสินค้าแก่ผู้บริโภค อย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน จะทำให้คู่ค้าเกิดความคุ้นเคยต่อแบรนด์สินค้า
  5. เลือกทำเลที่เหมาะสมและราคาไม่แพง ในเมืองที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น นครโฮจิมินห์ และกรุงฮานอย ที่ยังมีทำเลให้เลือกมาก
  6. ปรับกลยุทธ์ให้เข้าถึงตลาดที่มีวัฒนธรรมแตกต่าง ด้วยการศึกษาวัฒนธรรม นิสัยและรสนิยมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จของธุรกิจ

การขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจแฟรนไชส์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม

  1. เอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ประกอบไปด้วย สำเนาเอกสารแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์ (The Franchise Introduction Statement) และข้อตกลงของแฟรนไชส์ รวมไปถึงใบสมัครและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. ข้อตกลงแฟรนไชส์ในเวียดนาม กฎหมายของประเทศเวียดนามไม่ได้บังคับให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมใดๆ ในข้อตกลงธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์และผู้รับสิทธิ์ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ มีอิสระที่จะเจรจาข้อกำหนดและเงื่อนไขของข้อตกลงแฟรนไชส์
  3. ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม ถึงแม้ว่าเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ต่างชาติจะไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจในเวียดนาม แต่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้รับสิทธิดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม และถือเป็นการทำสัญญาระหว่างบริษัทเวียดนามกับบริษัทต่างชาติ จึงจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับค่าธรรมเนียมใดๆ ที่เรียกเก็บจากผู้รับสิทธิดำเนินกิจการ
  4. การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเวียดนาม การเข้ามาลงทุนธุรกิจในเวียดนาม เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมถึงการจด URL และเว็บไซต์กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติเวียดนาม
  5. การเป็นผู้รับสิทธิดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศในเวียดนาม นักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นผู้รับสิทธิ์ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ได้ เมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม สามารถเปิดธุรกิจเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโดยชาวต่างชาติตามที่เวียดนามได้ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)
  6. การจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม โดยส่วนใหญ่ไม่มีการกำหนดเงินทุนขั้นต่ำสำหรับการดำเนินการธุรกิจในเวียดนาม

สำหรับคำแนะนำในการเข้าไปดำเนินธุรกิจในเวียดนามของผู้ประกอบการไทยนั้น มีรูปแบบดังนี้

  1. ลงทุนร่วมกับผู้ซื้อแฟรนไชส์ชาวเวียดนามโดยเป็นการลงทุนลักษณะ Offshore
  2. การจัดตั้งกิจการในแบบบริษัทต่างชาติ (Foreign-own company)
  3. การควบรวมและการซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions (M&A)
  4. เลือกพันธมิตรหรือคู่ค้าที่เหมาะสม โดยบริษัทท้องถิ่นหลายแห่งอาจไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงในแบรนด์สินค้า รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์

ที่มา :

/1 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ศูนย์สนับสนุนธุรกิจใน AEC.ธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม.2562

/2 https://www.bangkokbanksme.com/en/franchise-investment-law-requirements-in-vietnam

EIC CLMV Outlook Q3/2020

การประกาศมาตรการ lockdown ที่เข้มงวดส่งผลให้กลุ่มประเทศ CLMV ประสบความสำเร็จ ในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 และสามารถผ่อนคลายมาตรการ lockdown ได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ดี อุปสงค์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าจะยังซบเซาต่อไปในระยะข้างหน้า โดยเป็นผลจากอัตราว่างงานที่สูงขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และการขยายระยะเวลาปิดพรมแดน ด้วยเหตุผลข้างต้น EIC จึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV ทั้ง 4 ประเทศในปี 2020 ทั้งนี้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจยิ่งเพิ่มความเปราะบางของกลุ่มประเทศ CLMV ต่อปัจจัยเสี่ยงด้านโครงสร้างและปัจจัยเสี่ยงในระยะยาว ทั้งจากฐานะทางการคลังและฐานะระหว่างประเทศที่อ่อนแอลง รวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อแนวโน้มและอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (sovereign credit rating) นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะ รายประเทศยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตา ทั้งผลกระทบของการถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA บางส่วนซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2020 ต่อเศรษฐกิจกัมพูชา ผลกระทบจากการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือและความเสี่ยงในประเด็นความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงของสปป.ลาว การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาในเดือนพฤศจิกายน และการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ในเวียดนาม ทั้งนี้จากความเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ บวกกับผลกระทบและความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ COVID-19 คาดว่าเศรษฐกิจ CLMV ในระยะข้างหน้าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีระยะการฟื้นตัวช้าเร็วแตกต่างกันในแต่ละประเทศและภาคอุตสาหกรรม

  • กัมพูชา  EIC ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจกัมพูชาจากการหดตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยประเมินว่าเศรษฐกิจจะหดดตัว -3.0% ในปี 2020F
  • สปป.ลาว EICปรับลดคาดการร์การเติบโตขอเศรษฐกิจสปป.ลาวลงเป็น 0.5% ในปี 2020F นอกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงแล้ว ข้อจำกัดด้านการคลังและเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่น่ากังวลจะยิ่งทำให้ผลกระทบจากสถานกาณ์ Covid-19 ทวีความรุ่นแรงยิ่งขึ้น
  • เมียนมา EIC ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมาลงเป็น 1.5% ในปี 2020F สะท้อนถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในเกือบทุกภาคส่วน
  • เวียดนาม จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่กลับมาเพิ่มขึ้นในหลายเมืองหลักน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวมากกว่าคาด EIC จึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตขอเศรษฐกิจเวียดนามลงเป็น 2.3% ในปี 2020F

ที่มา : scbeic

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7015

เวียดนาม-อินโดนีเซีย สองประเทศน่าลงทุน

โดย SME Go Inter

กองส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ หนึ่งในหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มองเห็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญให้กับนักลงทุนไทยในอนาคต คือ “เวียดนามและอินโดนีเซีย”

เวียดนาม

  • มีการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
  • เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จาก GDP โดยเฉลี่ยของเวียดนามอยู่ที่ระหว่าง 6-7%
  • จุดแข็ง FTA มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะความตกลงการค้าเสรียุโรป (EVFTA), ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)
  •  ความพร้อมด้านแรงงาน โดยมีแรงงานในวัยหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ อุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้า ผลิตรองเท้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อีกทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
  • ประชาชนชั้นกลางมีกำลังซื้อสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการที่พักอาศัยในเมืองสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะคอนโดมีเนียม

อย่างไรก็ตาม การดำเนินในเวียดนามมีข้อคำนึงในเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ ซึ่งนักลงทุนควรทำการศึกษาให้ดีก่อนทำการลงทุน

จึงเป็นโอกาสอันดีที่อุตสาหกรรมสนับสนุนของไทย ทั้งในด้านการผลิตชิ้นส่วนและบริการ จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ประเทศเวียดนามมีความต้องการ

อินดีนีเซีย

  • ตลาดใหญ่ ปัจจุบันประชากรมีมากกว่า 270 ล้านคน รวมถึงทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์
  • อุตสาหกรรมเกษตรมีความโดดเด่น ได้แก่ เมล็ดกาแฟ น้ำมันปาร์ม ยางพารา
  • สินค้าไทยที่ขายดีในอินโดนีเซีย เช่น เครื่องสำอาง สินค้าอุปโภคบริโภค
  • อุตสาหกรรมที่เป็นดาวรุ่งในช่วงนี้ ได้แก่ ธุรกิจอีคอมเมิร์ส อุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vietnam-indonesia-countries-worth-investing

ภาพรวมเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หลัง COVID-19

หัวข้อสำคัญของเอกสาร มีดังต่อไปนี้

1.สภาวะเศรษฐกิจสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

2.สถานการณ์การค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว

3.ผลกระทบทางธุรกิจที่นักธุรกิจไทยในสปป.ลาวควรรู้ในสถานการณ์ COVID-19

4.โอกาสของนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาวหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

5.นโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการไทย

6.สรุปมาตรการการรับมือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของสปป.ลาว

เรียบเรียงโดย : นายชลันธร จิววุฒิพงค์ นางสาวศิกาญจน์ รักใหม่

ที่มา : ISB, World Bank, IMF, CEIC, Globthailand , scbeic

ภาพรวมเศรษฐกิจของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หลัง COVID-19

หัวข้อสำคัญของเอกสาร มีดังต่อไปนี้

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2563
  2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
  3. แนวโน้มเศรษฐกิจเมียนมา หลัง COVID-19

ที่มา:

  • CEIC DATA
  • International Monetary Fund (IMF)
  • Statista
  • Directorate of Investment and Company Administration (DICA)
  • Ministry of Commerce (Myanmar)
  • Economic Intelligence Center (EIC)
  • Asian Development Bank (ADB)
  • World bank