‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 3 อยู่ในระดับทรงตัว

จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 5.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการเติบโต 4.1% ในไตรมาสที่ 2 ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะมีทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยได้รับสัญญาณมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้ธนาคารปรับคาดการณ์เศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับทรงตัว คาดว่าจะขยายตัว 5.4% ในปีนี้

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnams-q3-gdp-poised-for-growth-standard-chartered-reports-105431.html

‘เมียนมา’ ตั้งเป้าส่งออกข้าว ต.ค.-ธ.ค. ทะลุ 2 แสนตัน

นายเย มิน ออง ประธานสหพันธ์ข้าวเมียนมา กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ว่าเมียนมาได้ตั้งเป้ายอดส่งออกข้าวเฉลี่ยมากกว่า 2 แสนตันในช่วง 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.) และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกข้าวมากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ถึงแม้ว่าการส่งออกข้าวจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงแรกของปีงบประมาณนี้ ทั้งนี้ ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่ง เป็นผลมาจากการที่อินเดียระงับการส่งออกข้าว อาจส่งผลให้การส่งออกข้าวของเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-set-to-export-exceeding-200000-tonnes-of-rice-per-month-in-oct-dec/#article-title

BOL สปป.ลาว แนะภาคธุรกิจใช้ระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนมากขึ้น

ดร.บุญเหลือ สินไซวอระวง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศลาว กล่าวในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำจีน-อาเซียนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินและการพัฒนา ครั้งที่ 15 ณ หนานหนิง ประเทศจีน ว่า สปป.ลาว พร้อมส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนและการใช้สกุลเงินท้องถิ่น ในการชำระราคาค่าสินค้าที่เกิดขึ้นระหว่างพรมแดน โดยความคิดเห็นของผู้ว่าการยังสอดคล้องกับมุมมองของ นาย Xiu Xiayu, หัวหน้าสาขาธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีน (AgBank) ซึ่งได้เข้าร่วมหารือกับธนาคารแห่งประเทศลาว สำหรับประเทศในอาเซียนก็ได้มีพยายามที่จะส่งเสริมการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่น โดยใช้ระบบชำระเงินร่วมเพื่อสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจผ่านระบบชำระเงินที่ได้มีการพัฒนาร่วมกัน โดย สปป.ลาว และกัมพูชา ได้เปิดใช้งานระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR-Code ไปแล้วในปีนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลเรียลของกัมพูชา ใกล้เคียงกันกับการเปิดให้ใช้งานในประเทศไทยและเวียดนาม

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/09/25/bol-chief-calls-for-more-cooperation-in-launching-cross-border-payment-systems/

นายกฯ กัมพูชา คาดสนามบินนานาชาติเสียมเรียบดึงนักท่องเที่ยวมายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเนต กล่าวว่า สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ ซึ่งเป็นสนามบินแห่งใหม่ของกัมพูชา ด้วยเม็ดเงินลงทุนมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ พร้อมรองรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้าน บริษัท Angkor International Airport Investment (Cambodia) Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ลงทุนในโครงการสนามบินนานาชาติดังกล่าวได้ปรับยอดการลงทุนจาก 880 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 เป็นมูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 โดยสนามบินนี้จะเริ่มเปิดให้บริการในช่วงกลางเดือนตุลาคมปีนี้ สำหรับกัมพูชายังมีแผนที่จะก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ในจังหวัดตาแก้วบนพื้นที่ขนาดกว่า 2,600 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 20 กิโลเมตร จะเริ่มการก่อสร้างและแล้วเสร็จภายใน 2 ปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366062/video-cambodian-pm-says-new-siem-reap-international-airport-is-a-big-hope-for-tourism/

โอกาสสำหรับนักธุรกิจอเมริกาในประเทศกัมพูชา

สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยมีสินค้าส่งออกรวมร้อยละ 37 ของยอดการส่งออกทั้งหมดที่มูลค่า 4.2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 กล่าวโดยนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต หลังเข้าพบกับสมาชิกสมาคมกลุ่มนักธุรกิจอเมริกันในวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ก.ย.) ในระหว่างงาน “US-Cambodia Business Forum” ในนครนิวยอร์ก ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคธุรกิจของอเมริกันในการพบปะกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา รวมถึงกัมพูชาพร้อมที่จะสนับสนุนต่อบริษัทอเมริกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ามาลงทุนยังกัมพูชาเพิ่มขึ้น เพื่อหวังดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนกัมพูชา เนื่องด้วยกัมพูชาสามารถเป็นซัพพลายเชนส่งต่อไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงมีโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจแบบ 100% ในการครอบครองธุรกิจ

อีกทั้งภาคแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานคนหนุ่มสาวกว่าร้อยละ 65 ของกลุ่มประชากร รวมถึงกัมพูชายังอยู่ภายใต้โครงการ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่เอื้อต่อภาคการส่งออกของกัมพูชา และกัมพูชายังมีสิทธิพิเศษอื่นๆ อาทิเช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ ข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ (CKFTA) เอื้อต่อภาคการส่งออกของประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501365721/an-opportunity-for-american-business-in-cambodia/

ไทยเข้าเกียร์เดินหน้าทำเอฟทีเอหวังแซงเวียดนามขึ้นเบอร์ 1 อาเซียน

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐฯ โดยประเด็นหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์คือ แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลที่แล้วไม่ได้ให้ความสนใจในการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีมากนัก ทำให้ไทยยังตามหลังเวียดนาม ซึ่งต้องเร่งเดินหน้าเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA) เพื่อเปิดตลาดการค้าใหม่ ซึ่งการทำเอฟทีเอเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ต่อรัฐสภา โดยในประเทศกลุ่มอาเซียน ประเทศเวียดนามถือเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนที่ทำเอฟทีเอมากที่สุด โดยเวียดนามมีเอฟทีเอ รวม 15 ฉบับ คลอบคลุม  53  ประเทศ (ทั้งระดับพหุภาคีและทวิภาคี) ได้แก่ 1.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน  2. อาเซียน-จีน  3.อาเซียน-เกาหลีใต้  4. เวียดนาม-ญี่ปุ่น  5.เวียดนาม-เกาหลีใต้  6.อาเซียน-อินเดีย 7.อาเซียน- ออสเตรเลีย –นิวซีแลนด์ 8.เวียดนาม-ชิลี  9.เวียดนาม-เกาหลีใต้ ขณะที่ไทยมีเอฟทีเอเพียง 14 ฉบับ 18 ประเทศ ซึ่งน้อยทั้งจำนวนน้อยกว่าประเทศอื่นประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย  เวียดนาม ทั้งจำนวนฉบับและประเทศที่คลอบคลุม

โดยเอฟทีเอไทย 14 ฉบับประกอบด้วย  1.อาเซียน 9 ประเทศ 2. อาเซียน-จีน 3. อาเซียน-ญี่ปุ่น 4.อาเซียน-เกาหลีใต้ 5.อาเซียน-ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ 6.อาเซียน- อินเดีย 7.อาเซียน-ฮ่องกง 8.ไทย-ออสเตรเลีย 9..ไทย-นิวซีแลนด์ 10.ไทย-ญี่ปุ่น 11.ไทย- เปรู 12.ไทย-ชิลี 13.ไทย-อินเดีย และ14.ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)  ซึ่งเป็นเอฟทีเอเป็นฉบับล่าสุดของไทย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1089953

‘เวียดนาม’ หนึ่งในซัพพลายเออร์ยางพารารายใหญ่ของเกาหลีใต้

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าในปัจจุบัน เวียดนามเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่อันดับ 4 ของเกาหลีใต้ รองจากไทย อินโดนีเซียและจีน โดยการส่งออกยางพาราของเวียดนามไปยังเกาหลีใต้ มีมูลค่า 18.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 15% และปริมาณ 12,470 ตัน เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ราคาส่งออกยางพาราของตลาดเกาหลีใต้ อยู่ที่ 1,517 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปรับตัวลดลง 19.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ กรมศุลกากรเกาหลีใต้ ระบุว่าไทย อินโดนีเซีย จีน เวียดนามและญี่ปุ่นเป็นซัพพลายเออร์ยางพารารายใหญ่อันดับ 5 ของตลาดเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้มีการเพิ่มสัดส่วนการนำเข้ายางพาราจากอินโดนีเซียและจีนมากขึ้น แต่ลดการนำเข้าจากไทย เวียดนามและญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับปี 2565

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-among-largest-rubber-suppliers-to-rok-post125709.html

‘เวียดนาม’ แม่เหล็กดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

‘Global Finance’ นิตยสารการเงินการธนาคารชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่าเวียดนามกลายเป็นหนึ่งประเทศชั้นนำของการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลมาจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบหลายประการ รวมไปถึงประชากรของเวียดนามกว่า 100 ล้านคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี

ทั้งนี้ เธียร์รี่ เมอร์เม็ท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท SOA กล่าวว่าบริษัทมองหาโอกาสทางการธุรกิจในเวียดนามและอาเซียน เนื่องมาจากเวียดนามแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และเม็ดเงินจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีมูลค่าราว 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.5% อีกทั้ง ตัวชี้วัดที่สำคัญที่มีความได้เปรียบของเวียดนาม คือ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ เหตุจากการที่บริษัท VinFast เพิ่งกลายมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และเมื่อพิจารณามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด พบว่าตามหลังเพียงแค่เทสลา (Tesla) และโตโยต้า (Toyota)

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-powerful-magnet-for-foreign-direct-investment-post129700.html

‘Panko Corporation’ ขยายการลงทุนไปยังภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของเมียนมา

สหพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรม (UMFCCI) เปิดเผยว่า ‘Panko Corporation’ บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ ได้ดำเนินการขยายการลงทุนไปยังภาคการผลิตฝ้าย เสื้อผ้าทอและผ้าที่มีลวดลาย โดยสหพันธ์ฯ จะเร่งเจรจากับผู้ประกอบการ เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการลงทุน เนื่องจากรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมภาคการผลิต ขณะที่นาย U Aye Win ประธาน UMFCCI ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบถึงการขยายการลงทุนในธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น และเชื่อว่าธุรกิจนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ นอกจากนี้ยับช่วยกระชับความสัมพันธ์มิตรภาพของทั้งสองประเทศ นอกเหนือจากการทำธุรกิจ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/panko-corporation-to-ramp-up-investment-in-myanmars-apparel-manufacturing-sector/#article-title

ADB คาดการณ์ GDP สปป.ลาว ลดลงเหลือร้อยละ 3.7

ตามข้อมูลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) การเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว จะชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนยังซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญยังคงอ่อนแอ รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการทำการเกษตรในประเทศ และความกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ร่วมกับการอ่อนค่าของเงินกีบ โดยการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ในฉบับประจำเดือนกันยายน ได้ปรับลดลงการเติบโตทางเศรษฐกิจมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 จากการคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 4 สำหรับในปี 2024 สำหรับค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือนลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์พุ่งไปแตะกว่าร้อยละ 41.3 ร่วมกับการอ่อนค่าของสกุลเงินกีบ โดยเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์เกิดการอ่อนค่าถึงเกือบครึ่งหนึ่ง หรือคิดเป็นอ่อนค่ากว่าร้อยละ 44 รวมถึงภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าหลักที่มีการเติบโตด้านการส่งออกที่ลดลง เป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของ สปป.ลาว เติบโตอย่างชะลอตัว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/09/21/adb-lowers-economic-growth-rating-for-laos/