‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ มีทิศทางดีดตัวฟื้นขึ้นในปี 2567

นางดอร์สาติ มาดานิ (Dorsati Madani) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก (WB) กล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีแนวโน้มดีดตัวฟื้นขึ้นมาในปี 2567 และปี 2568 และระบุว่าประเทศคู่ค้าสำคัญของเวียดนาม อาทิเช่น สหรัฐฯ ยุโรปและจีน ต่างได้รับผลกระทบเชิงลบในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์โลกที่อ่อนแอ ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และการส่งออกและนำเข้าที่หดตัวลง ตลอดจนมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ นาย Nguyen Anh Duong ผู้อํานวยการฝ่ายวิจัยธุรกิจภายใต้สถาบันกลางการบริหารจัดการเศรษฐกิจ (CIEM) มองว่าเวียดนามจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการจัดการนโยบาย และการรักษาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและเอื้ออำนวยต่อนักลงทุน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economic-growth-projected-to-rebound-from-2024/266184.vnp

‘เมียนมา-เวียดนาม’ ตั้งเป้าขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน

นาย U Kyaw Soe Win เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศเวียดนาม หารือกับนาย Chu Cong Phung ประธานสมาคมมิตรภาพเวียดนาม-เมียนมา ร่วมกันหารือในประเด็นของการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ และภาคส่วนต่างๆ เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วงการประชุม ประธานสมาคมฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการขยายการลงทุนและการค้าในเมียนมา รวมถึงยังหารือในด้านความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ และเล่าถึงความยากลำบากของธุรกิจเวียดนามในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-viet-nam-aim-to-increase-collaborations-in-trade-and-investment-sectors/#article-title

สปป.ลาว เริ่มดำเนินการโครงการพลังงานลมขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สปป.ลาว เริ่มติดตั้งกังหันพลังงานลมสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในจังหวัดเซกอง หลังจากกังหันและใบพัดจัดส่งมาถึงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (12 ส.ค.) ซึ่งโครงการดังกล่าววางแผนติดตั้งกังหันลมประมาณ 110 ตัว ในอำเภอดักจึง จังหวัดเซกอง และในอำเภอสานไชน แขวงอัตตะปือ 23 ตัว โดยการก่อสร้างโครงการได้เริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2023 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2025 ด้วยกำลังการผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ กระจายไปทั่วพื้นที่สัมปทานกว่า 1,000 เฮกตาร์ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งออกไปยังเวียดนามภายใต้กรอบสัญญาระยะเวลา 25 ปี

ขณะที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) รายงานว่าการก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าในระยะสั้น ทำให้ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าได้รับผลกระทบเป็นการชั่วคราว และการสร้างถนนสายใหม่ใกล้กับป่าก็อาจทำให้การล่าสัตว์ป่าของชาวบ้านเพิ่มขึ้นในระยะถัด โดยโครงการดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อภาคครัวเรือนในแขวงเซกองกว่า 360 ครัวเรือน และอีก 36 หลังคาเรือนในแขวงอัตตะปือ ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการพลังงานลม

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/08/14/installation-of-turbines-begins-in-laos-for-se-asias-largest-wind-power-project/

ในช่วง 5 ปี จังหวัดพระตะบองของกัมพูชา ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 2.6 ล้านคน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จังหวัดพระตะบองดึงดูดนักท่องเที่ยวท้องถิ่นประมาณกว่า 2.32 ล้านคน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.57 แสนคน ตามการรายงานของกระทรวงสารสนเทศ (MoI) ด้าน Chuon Chan Phearun รองอธิบดีฝ่ายสารสนเทศกล่าวเสริมว่าพระตะบองเคยเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกัมพูชาตั้งอยู่ในจังหวัดที่สวยงามและมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกรุงพนมเปญ โดยขึ้นชื่อในด้านวัฒนธรรมอันร่ำรวย สถานที่ทางประวัติศาสตร์ และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจังหวัดตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์จึงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของทั้งนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันจังหวัดพระตะบองมีโรงแรมเปิดให้บริการประมาณ 46 แห่ง และเกสต์เฮาส์ 97 แห่ง โดยรวมห้องพักทั้งหมด 3,153 ห้อง

นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารกว่า 191 แห่ง และชุมชนท่องเที่ยว 4 ชุมชน ด้านรัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมจังหวัดพระตะบองให้เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รองจากจังหวัดเสียมราฐ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ประวัติศาสตร์ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ เพื่อหวังดึงดูดนักท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342421/battambang-attracts-over-2-31-million-tourists-in-five-years/

อินโดนีเซียเล็งนำเข้าข้าวกัมพูชา

Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ให้คำมั่นสัญญากับนายกรัฐมนตรี Hun Sen เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ส.ค.) ถึงการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพื่อยกระดับการค้าทวิภาคี โดยทางอินโดนีเซียจะส่งคณะผู้แทนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลกัมพูชาและอินโดนีเซียเคยได้ลงนามในข้อตกลงการซื้อข้าวระหว่างกันในปี 2012 เป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้สรุปโควตาปริมาณการส่งออกและประเภทของข้าว

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ชื่นชมความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยเรียกร้องให้อินโดนีเซียลงทุนในภาคอุตสาหกรรมข้าวในกัมพูชา ซึ่งนักลงทุนอินโดนีเซียสามารถถือครองสัดส่วนการลงทุนได้สูงถึงร้อยละ 100 ในการจัดตั้งโรงสี โกดัง และเครือข่ายรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงในการส่งออก สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 329,633 ตัน ไปยัง 52 ประเทศทั่วโลก โดยเน้นการส่งออกไปที่ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 229 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ซึ่งในขณะเดียวกันกัมพูชาส่งออกข้าวเปลือก ณ ชายแดนประเทศกว่า 2.2 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 578 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342422/indonesia-eyes-cambodian-rice-imports/

‘ครั้งแรก’ บริษัทอินโดนีเซียส่งออกชาอู่หลงไปยังเวียดนาม

บริษัท PT Perkebunan Nusantara (PTPN) ของอินโดนีเซีย และกลุ่มบริษัท PT Suntory Garuda Beverage เปิดเผยว่าธุรกิจทำการส่งออกชาอู่หลง (Oolong tea) ไปยังเวียดนาม นับเป็นครั้งแรกและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างสองบริษัทในการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง สำหรับเครื่องดื่มแบบพร้อมดื่ม (RTD) ทั่วตลาดเอเชีย โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อเริ่มต้นการส่งออกในปี 2564 และผ่านขั้นตอนการเตรียมการต่างๆ รวมถึงการทดลอง การประเมินและการตรวจสอบชาอู่หลงที่ผลิตโดยกลุ่มบริษัท PTPN ที่ได้รับการรับรองจากระบบมาตรฐานแห่งชาติ (SNI) และผ่านการประเมินปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชด้วยสารออกฤทธิ์ที่จำเป็น 268 รายการ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/indonesian-firms-export-first-batch-of-oolong-tea-to-vietnam-post1038334.vov

ผลสำรวจชี้ ‘ธุรกิจเยอรมนี’ เล็งขยายการลงทุนในเวียดนาม

คณะผู้แทนอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของเยอรมันในเมียนมา (AHK) เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเยอรมนี พบว่าธุรกิจเยอรมนีส่วนใหญ่ 91% กำลังวางแผนที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม ในขณะที่ 40% มีแผนที่จะจ้างพนักงานมากขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายหลายประการ อาทิเช่น ภาวะเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและอิทธิผลทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลาง รวมไปถึงได้รับแรงหนุนมาจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และนโยบาย “China Plus One” ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานการผลิตไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการไหลเข้าของเงินลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/most-of-surveyed-german-firms-plan-expansion-in-vietnam/265966.vnp

‘เมียนมา’ เผยราคาข้าวในประเทศพุ่ง

ศูนย์ค้าส่งข้าวเมียนมา (วาดัน) รายงานว่าราคาพันธุ์ข้าว ปอว์ ซาน (Pawsan) เกรดพรีเมี่ยม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 135,000 จ๊าตต่อกระสอบ เนื่องจากความตื่นตระหนกของชาวเมียนมาที่แห่ซื้อข้าว ภายหลังจากที่ธนาคารกลางเมียนมาออกธนบัตรใหม่ที่มีมูลค่า 20,000 จ๊าต ในวันที่ 31 ก.ค. 2566 ส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น ไม่เพียงแต่ราคาพันธุ์ข้าว ปอว์ ซาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ข้าวพันธุ์อื่นๆ ในตลาดก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาข้าว ทางสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ร่วมมือกับบริษัทส่งออกและโครงการอื่นๆ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ในการกำหนดการขายข้าวและราคาข้าว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/surge-in-prices-detected-in-domestic-rice-market/#article-title

ทางการ สปป.ลาว รายงานสถานการณ์ชายฝั่งน้ำโขงใกล้ถึงจุดอันตราย

ระดับแม่น้ำโขงจะยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเข้าใกล้ระดับอันตราย หลังจากฝนตกหนักเป็นระยะเวลาหลายวัน จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยา รายงานว่าระดับน้ำโขง ณ จุดกิโลเมตรที่ 4 ในเวียงจันทน์บันทึกไว้ที่ 8.85 เมตร ในวันที่ 8 ส.ค. โดยคาดการณ์ว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.86 เมตร ในวันที่ 9 ส.ค. และเพิ่มขึ้นเป็น 11.92 เมตร ในวันที่ 11 ส.ค. ซึ่งถึงจุดที่สูงกว่าระดับในการเตือนภัยที่ 11.50 เมตร และใกล้ระดับอันตรายที่กำหนดไว้ที่ 12.50 เมตร ขณะเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา บางพื้นที่น้ำได้ล้นตลิ่งและค่อยๆ ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางส่วนในหมู่บ้านสีทันเตย์ของแขวงหาดไซฟองในเวียงจันทน์ ส่งผลทำให้หลายครัวเรือนได้รับผลกระทบ โดยทางการกำลังจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหลังมีการพยากรณ์ฝนตกหนักทั่วประเทศในช่วงวันที่ 9-15 ส.ค. พร้อมกับให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากน้ำท่วมควบคู่ไปกับการดูแลของทางภาครัฐฯ-เอกชน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Mekong154.php

อีคอมเมิร์ซกัมพูชาเติบโตต่อเนื่อง หลังสื่อสังคมออนไลน์ขยายตัว

สื่อสังคมออนไลน์กำลังเข้าครอบคลุมภาคอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาอย่างรวดเร็ว โดยธุรกิจท้องถิ่นเกือบทั้งหมดส่งเสริมสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นสำคัญ ซึ่งข้อความดังกล่าวได้รายงานไว้ใน The Consumer Report 2023 ที่เผยแพร่โดย Standard Insights ผ่านความร่วมมือกับ Confluences ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโซเชียลมีเดียในระบบเศรษฐกิจภายใต้ชื่อเรื่อง “e-Commerce – Online Shopping Penetration” โดยจากการประมาณการต่างๆ พบว่าในกัมพูชามีผู้ใช้โซเชียลมีเดียถึง 10.95 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 65 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเน้นไปที่แพลตฟอร์มชื่อดังเช่น Facebook ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 10.45 ล้านคนในกัมพูชา ตามมาด้วย Facebook Messenger ที่มีผู้ใช้ 7.20 ล้านคน, TikTok ผู้ใช้ 7.06 ล้านคน, Instagram ผู้ใช้ 1.75 ล้านคน, LinkedIn ผู้ใช้ 530,000 คน และ Twitter ผู้ใช้ 393,200 คน เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ที่มีซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ สำหรับชาวกัมพูชามากกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 29.97) มีการซื้อสินค้าออนไลน์หลายครั้งต่อเดือน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพนมเปญ อย่างไรก็ตามรายงานยังย้ำว่าโซเชียลมีเดียยังคงเป็นแหล่งข้อมูลยอดนิยมที่ผู้คนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ซึ่งพบว่าลูกค้ากว่าร้อยละ 61.90 ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram หรือ Twitter ในเรื่องของการตัดสินใจซื้อสินค้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501340001/social-media-platforms-taking-over-e-commerce-segment/