รมว.เกษตรฯ กัมพูชา ชักชวนประเทศเช็ก นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่ม

เพื่อกระตุ้นความสัมพันธ์ที่อันดี Dith Tina รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ได้เชิญชวนสาธารณรัฐเช็ก พิจารณาผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของกัมพูชาและผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารที่มีศักยภาพอื่นๆ โดยกระทรวงหวังว่าจะดึงดูดผู้นำเข้าจากเช็กมากขึ้น ตามถ้อยแถลงของกระทรวงฯ Dith Tina ได้ตั้งข้อสังเกตว่าความร่วมมือในระดับทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศมุ่งเน้นไปที่การค้าสินค้าเกษตรเป็นหลัก ซึ่งรัฐมนตรีหวังให้สาธารณรัฐเช็กเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับสินค้าเกษตรของกัมพูชาเพิ่มเติม ด้านกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา รายงานว่า สาธารณรัฐเช็กถือเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับกัมพูชา โดยมีมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศเฉลี่ยรวมในช่วงปี 2020-2021 ที่มูลค่า 80 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501289971/minister-of-agriculture-invites-czech-republic-to-import-more/

ม.ค.-เม.ย. การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาลดลง 25.17%

การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาลดลงร้อยละ 25.17 ที่มูลค่ารวม 2.149 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.7 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่า 7,234.123 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ตามการรายงานล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) แสดงถึงการลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยในเดือนเมษายนการส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาลดลงถึงร้อยละ 32.65 คิดเป็นมูลค่า 494.924 ล้านดอลลาร์ เทียบกับการส่งออกในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ 735.35 ล้านดอลลาร์ สำหรับการส่งออกเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ (ผ้าถัก) ปรับตัวลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 31.8 คิดเป็นมูลค่า 347.692 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 510.021 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงการส่งออกเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ (ไม่ถักแบบนิตติ้ง) ลดลงร้อยละ 8 ที่มูลค่า 147.232 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501289922/cambodias-apparel-exports-down-25-17-to-2-149-billion-in-jan-apr-2023/

“ดองเวียดนาม” เป็น 1 ใน สกุลเงินที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในเอเชีย

รายงานการวิเคราะห์ตลาดของบริษัท มิแร แอสเซ็ท ซีเคียวริตีส์ เวียดนาม (Mirae Asset Securities Vietnam) แสดงให้เห็นว่าในเดือน เม.ย. อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐต่อดองเวียดนาม ปรับตัวลดลง 0.2% และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 23,500 ดอง/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวอยู่ในระดับทรงตัวตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. ในขณะที่ธนาคารยูโอบี (UOB) ได้จัดอันดับให้สกุลเงินดองของเวียดนามเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในเอเชีย ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและความไม่มีเสถียรภาพของระบบธนาคารในสหรัฐฯ ตลอดจนการประมาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-dong-one-of-most-stable-currencies-in-asia-experts/252792.vnp

“เวียดนาม” ชี้ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม เม.ย. ปรับตัวดีขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ดัชนีภาคอุตสาหกรรมในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าและนโยบายการเงินแบบรัดตัวในหลายๆประเทศ ส่งผลให้การบริโภคของประเทศคู่ค้าลดลง และทำให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าและการส่งออกปรับตัวลดลงตามไปด้วย ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 นอกจากนี้ การกลับมาเปิดประเทศของจีน จะช่วยให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นสำหรับสินค้าเวียดนามในตลาดส่งออกสำคัญของประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/industrial-production-increases-in-april/252778.vnp

“เมียนมา” เผยเดือน เม.ย. ส่งออกข้าวลดลง 47,888 ตัน

กลุ่มสหพันธ์ข้าวของเมียนมา (MRF) เปิดเผยว่าปริมาณการส่งออกข้าวของเมียนมาในเดือน เม.ย. 2566 ลดลงเหลือ 47,888 ตัน หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 144,034.86 ตัน โดยมาเลเซียเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเมียนมาในเดือน เม.ย. ด้วยปริมาณ 8,050 ตัน ขณะที่เบลเยียมเป็นผู้นำเข้าข้าวหัก (Broken Rice) มากที่สุดจากเมียนมา มีปริมาณการนำเข้าสูงถึง 15,725 ตัน ทั้งนี้ เมียนมาทำรายได้จากการส่งออกข้าวและปลายข้าว อยู่ที่ 853,472 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นปริมาณการส่งออกมากกว่า 2.2 ล้านตัน ในช่วงปีงบประมาณ 2565-2566 นอกจากนี้ ข้าวเป็นพืชผลทางการเกษตรที่มีการเพาะปลูกมากที่สุดในเมียนมา รองลงมาถั่วและถั่วพัลส์ (Pulses)

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2023/05/10/myanmar039s-rice-exports-decline-to-47888-tonnes-in-april

เมษายน สปป.ลาว ขาดดุลการค้าแตะ 17 ล้านดอลลาร์

สปป.ลาว ขาดดุลการค้า 17 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนเมษายน โดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวรวมอยู่ที่ 947 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการส่งออกแตะ 465 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การนำเข้ารวมอยู่ที่ประมาณ 482 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของ สปป.ลาว ได้แก่ ทองคำผสมและทองคำแท่ง, เกลือ และผลิตภัณฑ์จากกระดาษ สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล, ยานพาหนะทางบก และอุปกรณ์เครื่องจักรกล เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten88_laostrade_y23.php

Q1 กัมพูชานำเข้าเชื้อเพลิงมูลค่าแตะ 400 ล้านดอลลาร์

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 กัมพูชานำเข้าน้ำมันเบนซินและดีเซล มูลค่ารวมกว่า 400 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนับเป็นการนำเข้าน้ำมันเบนซินมีมูลค่า 197 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 21 ในขณะที่การนำเข้าน้ำมันดีเซลมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 211 ล้านดอลลาร์ สำหรับการนำเข้าเชื้อเพลิงอากาศยานมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 17 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 77 ด้าน Pen Sovicheat โฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวเสริมว่า อุปทานน้ำมันของกัมพูชาปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่เริ่มกลับมาดำเนินได้อย่างปกติ โดยเชื้อเพลิงที่กัมพูชาใช้นำเข้ามาส่วนใหญ่นำเข้าจาก สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันราคาขายปลีกที่กำหนดโดยกระทรวงพาณิชย์ เช่น น้ำมันเบนซินที่ขายในสัปดาห์นี้อยู่ที่ 4,200 เรียล และดีเซลอยู่ที่ 3,950 เรียลต่อลิตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501287333/cambodia-spends-more-than-400-million-on-domestic-fuel-imports-in-q1/

สถาบันสินเชื่อกัมพูชา พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กล่าวว่า สถาบันสินเชื่อในชนบท (RCA) มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือภาคประชาชนในการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ ของผู้มีรายได้น้อย โดยสถาบันสินเชื่อในชนบทได้ให้สินเชื่อแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบริการไมโครเครดิต สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการเงินเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้บริการทางการเงินของทางการได้อย่างทันท่วงที เหมาะสม ประหยัด และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งตามรายงานของ NBC ปัจจุบันมีหน่วยงานสินเชื่อในชนบทจำนวน 223 แห่ง ที่ดำเนินงานในกัมพูชา โดยมีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้คนเป็นวงเงินรวม 51.3 ล้านดอลลาร์ โดยภาคเกษตรกรรมได้รับการอนุมัติมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 32.5 ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด สำหรับภาคครัวเรือนปล่อยกู้ที่ร้อยละ 29 รองลงมาคือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ร้อยละ 20 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 8.5 กระจายไปยังภาคส่วนอื่นๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501287567/rural-credit-institutions-help-people-improve-livelihoods-nbc-says/

ส.อ.ท. คาดส่งออกอาหารโต 1.5 ล้านล้านบาท จากความต้องการทั่วโลกสูงขึ้น

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยหลังหารือร่วมกับภาคเอกชน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% จากปีที่ผ่านมา และเป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ ความต้องการของทั่วโลกที่สูงขึ้น จากการเปิดประเทศหลังโควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การขาดแคลนอาหาร ความกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร ทำให้หลายประเทศสำรอง อาหารเพิ่มมากขึ้น เพราะอาหารของไทยมีคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย เมื่อจีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการซีโร่ โควิด ทำให้ปริมาณการค้าสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้า ที่มีตลาดทางตอนใต้ของจีน เช่น ไก่แช่แข็ง สำหรับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จากราคาพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส จึงขอเสนอให้รัฐบาลใหม่พัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร เพราะเป็นรากฐานและเป็นซอฟต์เพาเวอร์ หากได้รับการสนับสนุน จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนฐานราก ช่วยยกระดับประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูงได้ “ไตรมาส 1 ปีนี้พบว่า ไทยส่งออกอาหารได้ 346,379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สินค้าที่การส่งออกขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้น 37%, ข้าว เพิ่มขึ้น 29%, ไก่ เพิ่มขึ้น 14%, ผลไม้สด เพิ่มขึ้น 59% แต่ยังมีสินค้าที่หดตัว เพราะวัตถุดิบลดลง ราคาสูงขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรด และคาดว่าไตรมาส 2 การส่งออกจะหดตัว และกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง”

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/feature/2692913

“เวียดนาม-อินโดนีเซีย” ตั้งเป้าการค้าปี 71 แตะ 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายโจโค วิโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้หารือกับนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ที่จัดขึ้นในเมืองลาบวน บาโจ ประเทศอินโดนิเซีย โดยผู้นำทั้งสองประเทศได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าที่จะบรรลุเป้าหมายกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571 ตลอดจนมีการตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีการลงทุนเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ ตามข้อมูลการค้าระหว่างอินโดนีเซียและเวียดนาม มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 13.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 เพิ่มขึ้นราว 11.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://jakartaglobe.id/business/indonesia-vietnam-aim-for-15-billion-trade-by-2028