ไทยเร่งยกระดับความร่วมมืออาเซียน เพิ่ม FTA หนุนเศรษฐกิจฟื้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ที่ผ่านมาณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ที่ผ่านมาได้พิจารณาประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งการเร่งติดตามความคืบหน้าในการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (FTA)

ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบประเด็นเรื่องการประชุมดังกล่าว ซึ่งในปีนี้เน้นย้ำถึงประเด็น บทบาทอาเซียนที่มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเจริญเติบโต (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth) พร้อมตั้งเป้าให้เศรษฐกิจอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และยั่งยืน

นอกจากนี้ในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน ยังได้เร่งผลักดันประเด็น การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของ MSMEs การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน การลดกำแพงภาษี ระหว่างภูมิภาค รวมถึงขยายความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค

ที่มา: https://www.thansettakij.com/business/economy/556633

“พาณิชย์-DITP” ชี้เป้านักลงทุนไทยลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนาม

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจาก นางสาวธนียา ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ถึงการติดตามสถานการณ์การแข่งขันของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเวียดนาม และโอกาสในการเข้าไปลงทุนด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเวียดนามว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นาย เล มินห์ ไค รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ลงนามในข้อมติ No.163/NQ-CP ว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินการงานหลักเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศ เพื่อพัฒนาบริการโลจิสติกส์ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับการพัฒนาการผลิตสินค้า การนำเข้า การส่งออก และการค้าภายในประเทศ และการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านบริการโลจิสติกส์ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสการลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในเวียดนามของนักลงทุนไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการคลังสินค้าและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.thailandplus.tv/archives/670257

กรมการค้าต่างประเทศเตือน ระวังสินค้าเสี่ยงสวมสิทธิ์ไทย

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ปรับปรุงแก้ไขบัญชีสินค้าเฝ้าระวัง หรือสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงที่จะแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าจากไทยส่งออกไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มเติมอีก 8 รายการ รวมเป็น 48 รายการ เพื่อให้สอดคล้องกับรายการสินค้าที่สหรัฐฯ และอียูได้ตรวจสอบ รวมถึงป้องกันประเทศอื่นสวมสิทธิ์ไทยส่งออก โดยสินค้า 8 รายการเป็นสินค้าเฝ้าระวังส่งออกไปสหรัฐฯ 6 รายการ คือ 1.พื้นไม้อัด 2.ผ้าแคนวาส 3.เหล็กลวดคาร์บอน 4.ท่อเหล็กคาร์บอน 5.ตะปูเหล็ก 6.ลวดเย็บกระดาษ และส่งออกไปอียู 2 รายการ คือ 1.เหล็กลวดคาร์บอน 2.อะลูมิเนียมเส้นหน้าตัด

อย่างไรก็ตาม มีสินค้า 1 รายการที่นำออกจากรายการสินค้าเฝ้าระวังส่งออกไปอียู ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า และสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ 1 รายการ ได้แก่ ฟูกที่นอน โดยมีผลวันที่ 1 ก.พ.66 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่ต้องการส่งออกสินค้าทั้ง 48 รายการไปสหรัฐฯ และอียู ต้องยื่นขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าจากกรม เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบในการขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (ฟอร์มซีโอทั่วไป) ก่อนส่งออก.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2629101

เร่งเอฟทีเอ “อาเซียน-จีน” เสร็จปีหน้า

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้เป็นประธานฝ่ายอาเซียน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 เพื่อหารือการเริ่มเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีน ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมธุรกิจในปัจจุบัน และสามารถรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลก

 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ อาเซียนและจีนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแผนงานการเจรจา ระเบียบวิธีการประชุม โครงสร้างข้อบทที่จะอยู่ในความตกลง และตั้งเป้าหมายเจรจาให้เสร็จสิ้นภายในปี 67 ซึ่งจะช่วยขยายมูลค่าการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายให้เติบโต ผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงให้มากขึ้น รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น สำหรับความตกลง ACFTA ฉบับเดิม เริ่มมีผลใช้บังคับด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ตั้งแต่ปี 2548 2550 และ 2553 ตามลำดับ อาเซียนและจีนจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงเพื่อยกระดับความตกลงดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน โดยช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 65 การค้าระหว่างกัน มีมูลค่า 530,327 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 9.68% เทียบช่วงเดียวกันของปี 64 โดยอาเซียนส่งออก 210,928 ล้านเหรียญฯ และอาเซียนนำเข้า 319,399 ล้านเหรียญฯ.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2628191

คาดส่งออกไตรมาส 1 ติดลบ 3-5%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า คาดภาวะการส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2566 อาจเติบโตน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าจะติดลบ 3-5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้การส่งออกในเดือน ม.ค. 2566 จะขยายตัวได้ดีกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนก็ตาม แต่ทั้งปียังมั่นใจว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 1-2% สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.ปริมาณสินค้าคงคลังของคู่ค้ายังคงทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้า 2.ต้นทุนการผลิตยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ และจำเป็นต้องส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค (Consumer) และ 3. สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาต่อประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่มีค่าเงินอ่อนกว่าไทย 4. ราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ คาดราคาจะอยู่ที่ระดับ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล ทั้งนี้ มองว่า แม้จะมีปัจจัยลบหลายเรื่อง แต่เชื่อว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีกับภาคการส่งออกได้มากกว่า

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/318850/

เปิดโผสินค้าที่พร้อมฝ่าพิษเศรษฐกิจ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รายงานสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมไทยในปีนี้ว่า มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังต้องปรับตัวเผชิญกับความท้าทาย ทั้งความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ และภัยธรรมชาติ ขณะที่อุตสาหกรรมที่จะมีการเติบโตและขยายตัวได้โดดเด่นในปีนี้ มีอาทิ ยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีความต้องการใช้ที่สูงขึ้นมาก จากการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล ในทุกอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผ่นวงจรรวม (IC) และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) ขณะที่อาหารและเครื่องดื่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ อาหารเสริม อาหารทางการแพทย์ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องดื่มสมุนไพร เติบโตจากกระแสรักษ์และดูแลสุขภาพ, เครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เช่น สามารถดักจับฝุ่น PM 2.5, พลาสติกชีวภาพ ที่ปลอดสารพิษและย่อยสลายได้ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบ สำหรับทำบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม, เภสัชภัณฑ์ โดยเฉพาะยาเม็ดสกัด จากสมุนไพรได้รับการตอบรับที่ดี เช่น ฟ้าทะลายโจร แคปซูลขมิ้นชัน ลูกประคบสมุนไพร ส่งผลให้มีการผลิตเพิ่มมากขึ้น รองรับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งภายในและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2622956

หอค้าเชียงใหม่ ผวา ‘นอมินีจีน’ ขยับลงทุนฮุบธุรกิจ ‘โรงแรม-ร้านอาหาร-สถานบันเทิง-ทัวร์’

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และท่องเที่ยวในเชียงใหม่ และภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร สปา สถานบันเทิง และทัวร์ เพื่อนำนักท่องเที่ยวจีนมายังเชียงใหม่และภาคเหนือ แต่นักลงทุนดังกล่าว ส่วนมากถือวีซ่าท่องเที่ยว จึงไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ได้เปรียบนักลงทุนท้องถิ่น เพราะต้นทุนต่ำกว่า ประกอบกับค่าเงินหยวนแข็ง ทำให้ได้เปรียบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น มีอำนาจซื้อและต่อรองสูงขึ้น ซึ่ง ททท.ประเมินว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวจีนเข้าสู่เชียงใหม่ และภาคเหนือ กว่า 2 ล้านคน โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การลงทุนแบบแอบแฝง หรือธุรกิจสีเทา ที่นำไปสู่อาชญากรรมข้ามชาติ และการฟอกเงินที่ผิดกฎหมาย อาทิ ยาเสพติด บ่อนกาสิโน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่บ่อนทำลายและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นรัฐต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามจริงจัง พร้อมบังคับใช้กฎหมายการสงวนอาชีพคนไทยไม่ให้ต่างชาติลงทุน หรือประกอบอาชีพได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิ รักษาผลประโยชน์นักลงทุน ผู้ประกอบการในประเทศ และท้องถิ่น

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3807262

เจรจา FTA ไทย-อียู จุรินทร์ทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารเข้าหารือกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (H.E. Mr. Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เพื่อหารือประเด็นเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู หากนับย้อนกลับไปการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะไทยได้เริ่มเจรจากับ EU มาแล้ว 4 รอบ นับตั้งแต่ปี 2557 ตามข้อมูลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าประมาณ 7% ของการค้ากับโลก และไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17% ซึ่งจากการที่ไทยปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้มีความทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1191554

“พาณิชย์-DITP”ชี้เป้าส่งออก “เครื่องดื่ม”เจาะตลาดเวียดนามแนะเน้นสินค้าพรีเมียมเพื่อสุขภาพ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทาง และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจาก นางสาวธนียา ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ถึงแนวโน้มตลาดสินค้าเครื่องดื่มในเวียดนาม และโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเครื่องดื่มของผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนาม

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานสถานการณ์ตลาดเครื่องดื่มในเวียดนามในปี 2566 มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น หลังจากซบเซาจากโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยฟื้นตัวทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริโภคยังให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้น โดยต้องการเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน

ที่มา : https://www.thailandplus.tv/archives/664609

เมียนมาตั้งเป้าส่งออกข้าวโพดกว่า 2 ล้านตัน ในฤดูกาลผลิตปี 66

สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดแห่งเมียนมา เผย ปี 2566 เมียนมามีผลผลิตข้าวโพดรวมทั่วประเทศ 3 ล้านตัน โดยมีเป้าส่งออกมากกว่า 2 ล้านตัน และเก็บไว้บริโภคภายในประเทศอีก 1 ล้านตัน ซึ่งตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ไทย จีน อินเดีย เวียดนาม ในปัจจุบันราคาข้าวโพดพุ่งสูงสุดถึง 1,280 จัตต่อ viss (1 viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) จากความต้องการของต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกข้าวโพด 2.3 ล้านตัน ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังไทย และบางส่วนส่งออกไปยัง จีน อินเดีย และเวียดนาม ปัจจุบันการปลูกข้าวโพดของเมียนมาส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉาน รัฐกะฉิ่น รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง ภาคมัณฑะเลย์ ภาคซะไกง์ และภาคมะกเว โดยมีฤดูกาลปลูกอยู่ 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูมรสุม ส่วนผลผลิตข้าวโพดต่อปีอยู่ที่ 2.5-3 ล้านตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-sets-over-2-mln-tonnes-of-corn-export-target-this-season/#article-title